สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 30 กรกฎาคม -  5 สิงหาคม 2565

7 สิงหาคม 2565

Amnesty International

 

เมียนมา: ผู้ถูกควบคุมตัวถูกทรมานเพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

วันที่ 2 สิงหาคม 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยในการเปิดตัวรายงานสรุปใหม่ พบเจ้าหน้าที่ในเรือนจำและสถานที่สอบปากคำของทางการเมียนมา มักควบคุมตัวบุคคลที่ต่อต้านการทำรัฐประหารในปี 2564 อย่างต่อเนื่องเพื่อทรมานและปฏิบัติที่โหดร้ายหรือการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นเวลากว่าหนึ่งปีครึ่งหลังการยึดอำนาจที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองของพลเรือนต้องยุติลง 

จากการสัมภาษณ์ 15 ครั้งในเดือนมีนาคม 2565 กับอดีตผู้ถูกควบคุมตัว ทนายความของนักโทษ และผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการทบทวนรายงานใหม่กว่า 100 ฉบับ ในรายงานสรุปชิ้นนี้ที่ชื่อว่า  “15 วันแต่เหมือนกับ 15 ปี” (15 Days Felt like 15 Years)  บันทึกข้อมูลประสบการณ์ที่โหดร้ายของบุคคล ตั้งแต่ขณะถูกจับกุม จนถึงการสอบปากคำและคุมขัง รวมทั้งหลังได้รับการปล่อยตัว 

นับแต่รัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาจับกุมประชาชนกว่า 14,500 คน และสังหารอีกกว่า 2,000 คน ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) 

ตั้งแต่การจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และการบังคับให้รับสารภาพ ไปจนถึงการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างอื่น การบังคับให้สูญหาย การตอบโต้สมาชิกในครอบครัว และการห้ามไม่ให้ผู้ถูกควบคุมตัวติดต่อกับครอบครัวและทนายความ หน่วยงานทหารได้ละเมิดกฎหมายในทุกขั้นตอนของกระบวนการจับกุมและควบคุมตัว 

สถานการณ์ที่โหดร้ายเช่นนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน จากการประหารชีวิตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อชายสี่คนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่เป็นนักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยคนสำคัญและเป็นอดีต ส.ส. หลังจากศาลทหารมีคำสั่งประหารชีวิตพวกเขา การประหารชีวิตครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี โดยยังมีผู้ถูกคุมขังในแดนประหารอีกกว่า 70 คนในเมียนมา ขณะที่มี 41 คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตจากการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ตามข้อมูลของ AAPP

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เมียนมาได้ตกต่ำลงอย่างไม่อาจจินตนาการได้ ทั้งการปฏิบัติที่โหดร้ายและโหดเหี้ยมต่อผู้ถูกควบคุมตัว โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่มีเจตนา เพื่อทำลายขวัญและกำลังใจของพวกเขา และบังคับให้ประชาชนเลิกต่อต้านการทำรัฐประหารปี 2564 

“แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นตรงกันข้าม ประชาชนชาวเมียนมายังคงไม่ยอมแพ้ แม้จะถูกละเมิดอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ รวมทั้งการประหารชีวิตที่น่าละอายและน่ารังเกียจมากสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่เกิดขึ้นกับจ่อ มิน ยู หรือโก จิมมี, เพียว เซยา ตอร์, ถา เมียว อ่อง และอ่อง ทุรา ซอ

“กองทัพเมียนมาต้องถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในการปล่อยตัวประชาชนหลายพันคน ที่ยังคงถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้สิทธิของตน และปล่อยให้เขากลับไปอยู่กับครอบครัว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องเพิ่มแรงกดดันต่อกองทัพเมียนมา โดยจะต้องส่งกรณีของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องประกาศใช้มาตรการห้ามซื้อขายอาวุธระดับโลก และใช้มาตรการคว่ำบาตร” เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3Q0zG6M



 

สหรัฐอเมริกา : สำนักงานตำรวจนครนิวยอร์กได้รับคำสั่งให้ส่งเอกสารรายละเอียดการสอดแนมการประท้วง Black Lives Matter หลังการฟ้องร้องดำเนินคดี

วันที่ 1 สิงหาคม 2565

 

จากกรณีที่สำนักงานตำรวจนครนิวยอร์กได้รับคำสั่งให้เปิดเผยบันทึกนับพันรายการที่ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดหาและใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าต่อผู้ประท้วงเพื่อความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและสีผิว (Black Lives Matter)  หลังจากศาลฎีกานครนิวยอร์กได้เห็นด้วยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและโครงการกำกับดูแลเทคโนโลยีการสอดส่อง (S.T.O.P) ในคดีตามมาตรา 78 ร่วมกัน

แมทท์ มาห์มูดิ นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์และสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ชาวนิวยอร์กที่กำลังเรียกร้องความยุติธรรมทางเชื้อชาติมีสิทธิที่จะรู้รายละเอียดทั้งหมดของการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าของสำนักงานตำรวจนครนิวยอร์กในระหว่างการประท้วง Black Lives Matter การพิจารณาคดีนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า สำนักงานตำรวจนครนิวยอร์กฝ่าฝืนการระงับการใช้ข้อมูลดังกล่าวและเป็นขั้นตอนสำคัญในการให้สำนักงานตำรวจนครนิวยอร์กรับผิดชอบต่อการใช้การสอดส่องอย่างเลือกปฏิบัติ คำฟ้องได้ชี้ให้เห็นการขาดความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสาธารณะชนของสำนักงานตำรวจนครนิวยอร์ที่ใช้กฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมายของเจ้าหน้าที่

“ การห้ามการจดจำใบหน้าสำหรับการสอดส่องจำนวนมากเป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็นมากในการถอนรากถอนโคนการเหยียดผิวในนครนิวยอร์ก เราต่างมีสิทธิในการประท้วงอย่างสันติโดยปราศจากความกลัวจากการสอดส่อง” แมทท์กล่าว

ลอเรนซ์ เลิฟ ผู้พิพากษาศาลฎีกานครนิวยอร์กได้ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าข้ออ้างที่ระบุว่าการการระงับเอกสารของสำนักงานตำรวจนครนิวยอร์กและข้อโต้แย้งที่ว่าปริมาณข้อมูลจะเป็นภาระต่อสำนักงานตำรวจนั้นถูกหักล้างอย่างสิ้นเชิงโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ทั้งนี้ผู้พิพากษาเลิฟได้สั่งให้สำนักงานตำรวจนครนิวยอร์กแบ่งปันเอกสารและอีเมลจำนวน 2,700 ฉบับระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 1 กันยายน 2563 ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและการใช้การสอดส่องด้วยการจดจำใบหน้าในการประท้วง Black Lives Matter ตามคำขอของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและโครงการกำกับดูแลเทคโนโลยีการสอดส่องสามารถสืบสวนอย่างละเอียดในการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าทั่วนครนิวยอร์กของสำนักงานตำรวจนนครนิวยอร์ก

“ มันเป็นเรื่องที่ผิดสำหรับสำนักงานตำรวจนครนิวยอร์กที่สอดส่องผู้ประท้วง Black Lives Matter และเป็นเรื่องที่ผิดในการซ่อนหลักฐานต่างๆ ” อัลเบิร์ต ฟอกซ์ คาห์น (Albert Fox Cahn) ผู้บริหารโครงการกำกับดูแลเทคโนโลยีการสอดส่องกล่าว

“สำนักงานแห่งนี้ได้ซ่อนวิธีการสอดส่องพวกเราอย่างเป็นระบบ แต่วันนี้การปกปิดการสอดส่องนี้ใช้การไม่ได้แล้ว การพิจารณาคดีนี้ชัดเจนมากว่า สำนักงานตำรวจนครนิวยอร์กได้ฝ่าฝืนกฎหมายโดยการปิดบังการบันทึก เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการภายใต้เงามืดและละเมิดกฎหมายที่กำกับดูแล ไม่เพียงแต่เป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยสาธารณะแต่ยังรวมไปถึงประชาธิปไตยอีกด้วย ผมหวังว่า นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กอดัมส์จะปฏิบัติตามคำสั่งอย่างรวดเร็ว ชาวนิวยอร์กสมควรที่จะรู้ว่ามีการปราบปรามความขัดแย้งทางการเมืองในเมืองนี้อย่างไร ที่สำคัญกว่านั้น บันทึกเหล่านี้สามารถช่วยเราป้องกันการละเมิดได้มากขึ้นในอนาคต” อัลเบิร์ตระบุ

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3oQZVk8

 

 

ยูเครน: แอมเนสตี้แถลงแผนการรบของยูเครนทำให้พลเรือนตกอยู่ในอันตราย 

วันที่ 4 สิงหาคม 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า กองกำลังยูเครนทำให้พลเรือนตกอยู่ในอันตรายโดยตั้งฐานปฏิบัติการและติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ในเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่ รวมทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาล ขณะที่กองกำลังยูเครนได้เริ่มขับไล่การรุกรานของรัสเซียมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

ยุทธวิธีของกองกำลังยูเครนนี้ได้ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและเป็นอันตรายต่อพลเรือนอย่างยิ่ง เนื่องจากกองกำลังยูเครนกำลังทำให้พลเรือนกลายเป็นเป้าหมายทางทหาร โดยผลที่ตามมาจากการต่อต้านรัสเซียในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่นี้ทำให้พลเรือนหลายรายเสียชีวิตและทำลายโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีกจำนวนมาก 

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เราได้จัดเก็บข้อมูลรูปแบบของกองกำลังยูเครนที่ทำให้พลเรือนตกอยู่ในความเสี่ยงและละเมิดกฎหมายสงครามในขณะที่พวกเขาปฏิบัติการในพื้นที่มีประชากรอาศัยอยู่

“การที่กองทัพยูเครนอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับการป้องกันไม่ได้เป็นข้อยกเว้นให้กองทัพยูเครนไม่เคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” ดร.แอกเนส กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า การโจมตีของรัสเซียไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบนี้ทุกครั้ง ในสถานที่อื่นๆ ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพอสรุปได้ว่า รัสเซียได้ก่ออาชญากรรมสงคราม รวมทั้งในบางพื้นที่ของเมืองคาร์คีฟซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่พบหลักฐานว่ามีการจัดตั้งกองกำลังของยูเครนในเขตพลเรือนที่เป็นเป้าหมายการโจมตีอย่างผิดกฎหมายของกองทัพรัสเซีย

ทั้งนี้ในระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการตรวจสอบการโจมตีของกองทัพรัสเซียในภูมิภาคคาร์คีฟ ดอนบัส และมือกอลายิว โดยตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกโจมตีและสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต รวมทั้งเหยื่อและญาติของเหยื่อที่ถูกโจมตี รวมทั้งวิเคราะห์การตรวจจับระยะไกลและอาวุธ

จากการสอบสวนนี้ นักวิจัยพบหลักฐานที่ชี้ว่ากองกำลังยูเครนได้ยิงจรวดจากพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ รวมทั้งจัดตั้งฐานปฏิบัติการในพื้นที่อาคารพลเรือนใน 19 เมืองและหมู่บ้านตามภูมิภาคต่างๆ โดยห้องปฏิบัติการวิเคราะห์หลักฐานในภาวะวิกฤตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อยืนยันเหตุการณ์เหล่านี้

นอกจากนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของพลเรือนที่ถูกทหารเข้าไปจัดตั้งฐานปฏิบัติการนั้นอยู่ห่างจากแนวหน้าเพียงไม่กี่กิโลเมตร ดังนั้นควรมีแนวทางอื่นที่สามารถดำเนินการได้และไม่เป็นอันตรายต่อพลเรือน อย่างเช่น จัดตั้งฐานปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ป่าหรือโครงสร้างต่างๆ ก็ควรอยู่ห่างจากพื้นที่ที่มีประชากร 

สำหรับกรณีที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เก็บข้อมูลนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่ได้ตระหนักว่าทหารยูเครนที่จัดตั้งฐานปฏิบัติการในอาคารของพลเรือนในพื้นที่มีประชากรอยู่นั้นได้ขอให้หรือช่วยเหลือพลเรือนในการอพยพไปยังอาคารใกล้เคียงซึ่งเป็นความล้มเหลวในการป้องกันความเป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อปกป้องพลเรือน

 

อ่านต่อ : amnesty.or.th/index.php?cID=2354

 

 

กินี : แอมเนสตี้ประณามการจับกุมโดยพลการและการใช้กำลังมากเกินไป 

วันที่ 2 สิงหาคม 2565

 

จากกรณีที่มีการจับกุมและกักขังสมาชิกแนวหน้าแห่งชาติเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ (National Front for the Defence of the Constitution) รวมทั้งมีการใช้ความรุนแรงในการควบคุมการประท้วงในเมืองโคนาครีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยมีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 รายและมีผู้บาดเจ็บจากการถูกยิงอย่างน้อย 3 ราย ฟาเบียน ออฟเนอร์ นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางกล่าวว่า ทางการกินีต้องหยุดการใช้กำลังที่รุนแรงต่อการประท้วงขนาดใหญ่นี้ รวมทั้งการประท้วงที่เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคมที่มีผู้เสียชีวิต 5 ราย 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ปล่อยผู้ที่ถูกจับกุมและคุมขังโดยพลการทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขและยกเลิกข้อหาทั้งหมด 

“จากคำให้การที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รวบรวมพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนจริงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมในขณะที่พวกเขาประท้วงอยู่บนท้องถนนในเมืองโคนาครี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอให้ทางการตระหนักว่าภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศนั้น การใช้กองกำลังในการควบคุมต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเป็นสัดส่วนซึ่งการใช้อาวุธปืนนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม นอกจากมีเหตุคุกคามที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส” ฟาเบียนกล่าว

“ทางการต้องดำเนินการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอิสระและเป็นกลางในกรณีที่สงสัยเกี่ยวกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อกระสุนปืนและเมื่อดำเนินการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วก็ต้องดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยด้วยกระบวนการที่เป็นธรรมในชั้นศาลที่เป็นอิสระและเป็นกลาง” ฟาเบียนกล่าวย้ำ  

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3vDLBzd

 

 

อิหร่าน : ปฏิบัติการแข็งกร้าวจากนานาชาติจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยุติวงจรการประท้วงอันนองเลือด

วันที่ 3 สิงหาคม 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า ประชาคมโลกต้องพิจารณาให้ทางการอิหร่านรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ดำเนินการต่อผู้ประท้วงในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่านเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 

การสรุปงานวิจัยชิ้นใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล  “They are shooting brazenly”: Iran’s militarized response to May 2022 protests ได้เก็บข้อมูลที่ทำให้เห็นว่ากองกำลังรักษาความปลอดภัยของอิหร่านได้ใช้กระสุนจริงยิงและกระสุนลูกยิงนก (Birdshot) อย่างผิดกฎหมายในเดือนพฤษภาคม 2565 เพื่อสลายการประท้วงอย่างสงบท่ามกลางราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นและการอาคารต่างๆ ที่ถล่มลงมา 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ตรวจสอบพบว่ามีประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงเสียชีวิต 4 ราย นอกจากนี้แอมเนสตี้ยังได้เก็บข้อมูลลักษณะการบาดเจ็บจากกระสุนลูกนกซึ่งถือว่าเป็นการทรมานผู้ประท้วงและผู้คนที่ผ่านไปมา รวมทั้งเด็กๆ ด้วย นอกจากนี้ทางการยังได้ปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารต่างๆ ไม่ให้ประชาชนสามารถสื่อสารถึงกันและกันได้ และปกปิดอาชญากรรมที่ทางการได้ก่อขึ้น

“ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประชาชนได้ออกไปตามท้องถนนในเมืองต่างๆ ทั่วทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่านเพื่อประท้วงราคาอาหารที่แพงขึ้น และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากอาคารที่ถล่มลงมา ทั้งนี้การตอบโต้ทางทหารของทางการได้เผยให้เห็นอีกครั้งว่าพวกเขาไม่สนใจชีวิตของมนุษย์และมาตรฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการใช้กำลังและอาวุธปืนเลย” ไดอานา เอลทาฮาวี (Diana Eltahawy) รองผู้อำนวยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือกล่าว

ความโกรธแค้นอันชอบธรรมของประชาชนชาวอิหร่านเกี่ยวข้องกับการทุจริตของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อ การว่างงาน ค่าจ้างต่ำหรือไม่ได้รับค่าจ้าง ความไม่มั่นคงทางอาหาร รวมถึงการปราบปรามทางการเมืองล้วนมีแนวโน้มนำไปสู่การประท้วงที่มากขึ้น ขณะที่กองกำลังความมั่นคงของอิหร่านเองก็ยังสังหารและทำร้ายผู้ประท้วงต่อไป หากพวกเขาจะไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และด้วยหนทางสู่ความยุติธรรมภายในประเทศได้ปิดสนิท แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการจัดตั้งกลไกการสืบสวนและความรับผิดชอบที่เป็นอิสระในการรวบรวม เก็บรักษาและวิเคราะห์หลักฐานการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่กระทำโดยทางการอิหร่านสำหรับใช้ในการดำเนินคดีในอนาคต

ในการสอบสวนการใช้กำลังที่ผิดกฎหมายของทางการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ตรวจสอบและวิเคราะห์คลิปวิดีโอ รวมทั้งแถลงการณ์อย่างเป็นทางการและรายงานของสื่อภาครัฐ อีกท้ังยังได้พูดคุยกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักข่าวโดยติดต่อกับบุคคลและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3P2Y7iu

 

 

อิสราเอล : การคุมขังนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่ถูกขังเดี่ยวตั้งแต่เด็กต้องยุติ

วันที่ 3 กรกฎาคม 2565

 

จากกรณีที่กรมราชทัณฑ์ อิสราเอลได้ตัดสินใจขยายระยะเวลาการกักขังเดี่ยวของนายอาห์หมัด มานาสรา (Ahmad Manasra) นักโทษชาวปาเลสไตน์ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตรุนแรง หลังจากเขาถูกจับกุมตัวตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เฮบา โมราเยฟ ( Heba Morayef ) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือกล่าวว่า การตัดสินใจขยายระยะเวลาการกักขังเดี่ยวของนายอาห์หมัด มานาสรา เป็นเรื่องเลวร้าย การคุมขังอาห์หมัด มานาสราต่อไปเรื่อยๆ ในสภาพที่ไร้มนุษยธรรมถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้ความยุติธรรมอย่างไม่ไยดี แม้อาห์หมัดเองได้ถูกวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคจิตเภทและมีอาการซึมเศร้าอย่างรุนแรง

“ตอนที่อาห์หมัดถูกจับกุมตัวเขาอายุเพียง 13 ปีเอง การตัดสินคุมขังเขาควรเป็นมาตรการสุดท้ายและเป็นระยะเวลาที่สั้นที่สุด ตอนนี้เขาถูกกล่าวขานว่าเป็นเงาของตัวเองในอดีตและขู่ว่าจะปลิดชีวิตตัวเอง ทางการอิสราเอลต้องเพิกถอนการตัดสินใจขยายระยะเวลาการกักขังเดี่ยวของเขาทันทีและปล่อยตัวเขาอย่างเร่วด่วน” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือกล่าว

ทั้งนี้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์อิสราเอลได้ปฏิเสธคำขอให้ย้ายอาห์หมัดออกจากกักขังเดี่ยวที่เรือนจำอีเชล (Eshel) โดยในวันที่ 16 สิงหาคมนี้จะมีการพิจารณาคดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพของเขาที่ถูกขังเดี่ยวที่ศาลแขวงเมืองเบียร์ชีบา (Beersheba) นอกจากนี้ทนายของเขา นายคาเล็ด ซาบาร์กา (Khaled Zabarqa) ได้บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เขากำลังตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต อันตรายที่แท้จริงและการกักขังเดี่ยวซ้ำแล้วซ้ำเล่ากำลังทำลายชีวิตเขา

 

อ่านต่อ : https://bit.ly/3zSQhTl