สิทธิในการชุมนุมกับความเป็นเยาวชนที่ถูกมองข้าม

29 เมษายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เรื่องและภาพโดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์

สำหรับบางคนการชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย อาจเป็นเพียงเรื่องของผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องของเด็ก และบางคนอาจมีภาพจำว่าการออกมาชุมนุมเรียกร้องเช่นนี้มักจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นเสมอ จึงคิดว่านี่ไม่ใช่พื้นที่สำหรับเด็กและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่หากมองย้อนกลับไปดูการชุมนุมในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเริ่มมีเด็กและเยาวชนออกมาชุมนุมเรียกร้องกันมากขึ้น และในบางครั้งแกนนำการชุมนุมกลับเป็นเด็กและเยาวชนเอง

ในหลายๆ การชุมนุมทางการเมือง เด็กกลายเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เข้ามามีบทบาท เพราะพวกเขาเหล่านี้มักจะถูกกดดันและกีดกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การออกมาชุมนุมเรียกร้องจึงเป็นการออกมาพบปะพูดคุยกับคนที่มีความคิดเห็นตรงกัน แต่ถึงกระนั้น พื้นที่ในการชุมนุมก็ใช่ว่าจะปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนเสมอไป เพราะหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุม จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ซึ่งหนึ่งในนั้นย่อมมีเด็กและเยาวชนรวมอยู่ด้วย

 

เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ

เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ แต่ถ้าสังคมที่เป็นอยู่ไม่เอื้อต่อสิ่งที่อนาคตของชาติต้องการ เด็กและเยาวชนเหล่านั้นจึงเลือกที่จะออกมาเรียกร้องเพื่อให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็น เพราะในอีกไม่กี่ปี คนเหล่านี้ก็ต้องเติบโตไปเป็นกำลังของชาติ ซึ่งถ้าหากสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ดี แล้วในอนาคตจะดีได้เช่นไร

 

เยาวชนก็แสดงออกทางการเมืองได้เช่นกัน

หลายครั้งที่เยาวชนมักจะถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพไม่ให้แสดงออกทางการเมือง เพราะบางคนยังคงมีความเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ตามหลักของสังคมประชาธิปไตยแล้ว ทุกคนล้วนมีสิทธิและเสียงในการแสดงออกทางการเมืองในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งเยาวชนเองก็ถือว่าเป็นประชาชนเช่นเดียวกัน หากเพียงแต่พวกเขาเหล่านี้ยังคงมีอายุที่น้อยอยู่ การออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของเหล่าเยาวถือเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ ตามหลักของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 19 เสรีภาพในการแสดงออก

“ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกรวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน”

 

เมื่อพื้นที่การชุมนุมไม่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน

ถึงแม้ในการชุมนุมจะมีเด็กและเยาวชนอยู่ ก็ใช่ว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะยังคงมีการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในการเข้าสลายการชุมนุมอยู่ อันจะเห็นได้จากข่าวการชุมนุมในหลายๆ ครั้ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ตรงนั้นควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เยาวชนควรได้รับการปกป้องไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิเพียงแค่การเข้าร่วมชุมนุม เพราะการชุมนุมในแต่ละครั้งไม่ควรมีการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เล็งเห็นถึงปัญหาในส่วนนี้ จึงได้มีการร่วมมือกับองค์กรด้านสิทธิเด็ก อย่าง สายเด็ก (Child Line) กลุ่มหิ่งห้อยน้อย บ้านฟื้น นักจิตบำบัดอิสระ อาสาสมัคร และคนทำงานที่สนใจด้านสิทธิเด็ก ร่วมทำโปรเจค Child in Mob เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ดูแลปกป้อง และสนับสนุนสร้างพื้นที่ปลอดภัยต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ

 

“เพราะเราเชื่อว่าเด็กและเยาวชนทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง”