จากหนุ่มนักกิจกรรม สู่การเป็นนักศึกษาฝึกงานในองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก

19 เมษายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เรื่องและภาพโดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์

ชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยของใครหลายคนอาจจะแค่เพียงเรียนหนังสือเท่านั้น แต่สำหรับ ซี หรือ เฝาซี ล่าเต๊ะ นักศึกษาหนุ่มผู้ซึ่งไม่เพียงแค่เรียนอย่างเดียว แต่เขายังเป็นสมาชิกของกลุ่มนักกิจกรรม ม.อ.ปัตตานีที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน จึงเลือกมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงาน และวันนี้แอมเนสตี้จึงถือโอกาสพาทุกคนมารู้จักกับหนุ่มนักกิจกรรมหนุ่มคนนี้ให้ยิ่งมากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้กัน

 

แนะนำตัวเองหน่อย

ชื่อซี หรือ นายเฝาซี ล่าเต๊ะ ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นนักกิจกรรมในกลุ่มของนักกิจกรรมม.อ.ปัตตานี

 

รู้จักแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้อย่างไร?

ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ยังเรียนอยู่ปีหนึ่งก็ยังไม่รู้จักกับแอมเนสตี้มากนัก แต่ก็พอได้ยินชื่อมาบ้าง เพราะภายในมหาวิทยาลัยมีคลับของแอมเนสตี้อยู่ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร รู้เพียงแค่ว่าเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แต่ที่รู้จักแอมเนสตี้  ประเทศไทยจริงๆ ก็เป็นช่วงก่อนที่จะมาฝึกงาน เพราะต้องศึกษาประวัติความเป็นมาขององค์กร และหลังจากนั้นก็ทำให้ได้รู้จักกับแอมเนสตี้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ทำไมถึงสนใจฝึกงานที่แอมเนสตี้ ประเทศไทย?

จริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดที่จะฝึกที่แอมเนสตี้ โดยได้ส่งขอฝึกงานไปสำนักนายกรัฐมนตรี แต่เขาไม่รับเพราะมีเด็กฝึกงานเต็มจำนวนแล้ว ซึ่งถ้ากลับมาคิดตอนนี้ถือว่าเป็นโชคดีที่ตอนนั้นเขาไม่รับ เพราะเพิ่งรู้ว่าไม่ใช่ทางของเรา หลังจากนั้นจึงหันมามองหาหน่วยงานที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ (International)จึงได้เลือกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพราะหลังจากที่ถามคนในคลับแอมเนสตี้ที่มหาวิทยาลัยแล้ว เห็นว่าองค์กรนี้มีแนวทางการทำงานที่เหมาะกับนักกิจกรรมอย่างเรา นอกจากนั้นยังได้ปรึกษารุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน เขาแนะนำว่าการทำงานกับแอมเนสตี้เป็นสิ่งที่ตรงกับความรู้ที่เราเรียนมาที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากเราจะได้ใช้ทักษะในการติดต่อสื่อสาร และทักษะทางการทูต จึงทำให้ตัดสินในมาฝึกงานที่นี่

 

ความคาดหวังที่มีต่อแอมเนสตี้ก่อนเข้ามาฝึกงาน?

ความคาดหวังแรกก่อนที่จะมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ คือเราอยากทำงานด้านสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นสิ่งที่เหมาะกับเรามาก ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเราเป็นนักกิจกรรม จึงมีความคาดหวังว่าเราจะเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนได้มากกว่าคนอื่นๆ และเมื่อสิ้นสุดการฝึกงานก็ได้ตามที่หวัง คือได้เข้าใจถึงสิทธิมนุษยชนที่มากกว่าคนอื่น และได้ทักษะในการทำงาน ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลให้เราอยากพัฒนาตัวเองต่อไป และเป็นแรงผลักดันให้อยากเรียนต่อทางด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อนำความรู้กลับมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม

 

คำนิยามของนักศึกษาฝึกงานของแอมเนสตี้?

อดทน เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรมาตอนไหน เช่น มีการจับกุมเด็กโดยไม่ชอบธรรม ซึ่งตัวเราเองก็ต้องพร้อมตลอดเวลา และต้องอดทนไปพร้อมๆ กัน

 

สิทธิมนุษยชนด้านใดที่เรากำลังสนใจอยู่ตอนนี้?

เมื่อก่อนสนใจในเรื่องของ สิทธิในที่ดิน (Land Rights) ของคนในพื้นที่ และเราก็เป็นคนจะนะ ซึ่งกำลังมีประเด็นการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะอยู่ จึงทำให้เกิดการชุมนุมเพิ่มมากขึ้น พอเข้ามาเป็นนักศึกษาฝึกงานก็ได้เห็นว่ามีคนที่ถูกจับจากการแสดงออกทางการเมือง หรือเด็กที่ถูกจับกุมจากแสดงออกทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เราเริ่มหันมาสนใจในเรื่องของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิเด็กมากขึ้น และในฐานะที่เป็นนักกิจกรรม เราก็มีความสนใจอยู่แล้วในเรื่องที่เราจะสามารถแสดงออกทางการเมืองได้อย่างอิสระ

 

งานที่เราได้ทำมีอะไรบ้าง และมันมีความท้าทายอย่างไร?

งานที่เราได้ทำในองค์กรส่วนใหญ่จะเป็นในส่วนของนโยบายอยู่ในฝ่ายรณรงค์ (Campaign) ซึ่งความท้าทายหลักคือเราเองไม่เก่งภาษาอังกฤษ และต้องไปพบปะกับผู้คนที่ต้องใช้ภาษาอยู่เสมอๆ อย่างเช่น นักการทูต นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในเรื่องของอัยการและในส่วนของศาลต่างๆ เพราะเราเรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์จึงไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนิติศาสตร์มากนัก ทำให้ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และอีกงานที่เราทำคือการเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมที่ต้องใช้ทักษะทางด้านไหวพริบ เพราะถ้าหากเราประมาทก็จะเกิดอันตรายได้

 

อยากให้แอมเนสตี้ ประเทศไทยทำอะไรในอนาคต?

สิ่งที่อยากเห็นอนาคตคืออยากให้แอมเนสตี้ ประเทศไทยเน้นสิทธิในทุกๆ เรื่อง ไม่เฉพาะเพียงแค่การละเมิดสิทธิของรัฐที่กระทำต่อประชาชน แต่อยากให้โฟกัสในเรื่องของประชาชนกับประชาชนด้วยกัน อย่างเช่น ปัญหาการข่มขืน ซึ่งตอนนี้แอมเนสตี้ ประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้โฟกัสงานในส่วนนี้ เพราะในปัจจุบันปัญหาการละเมิดสิทธิกันระหว่างประชาชนกับประชนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากนี่ให้แอมเนสตี้ได้ลองทำในอนาคต

 

อยากจะบอกอะไรกับเพื่อนๆ ที่สนใจจะมาฝึกงานกับแอมเนสตี้?

เราต้องวางตัวให้เป็นกลางในหน้าที่การงาน ซึ่งคนที่ทำงานด้านนี้ก็ต้องมีความเข้าใจรัฐบาลไทยที่เป็นอยู่ตอนนี้กับบทบาทของเอ็นจีโอ (NGO) เพราะถ้าหากเราอยู่กันคนละขั้วกันก็อาจจะทำให้การทำงานมีความยากลำบาก ดังนั้นเราจึงต้องวางตัวให้ดีว่าเราควรอยู่แบบไหน และสุดท้ายอยากจะฝากว่าการที่เรามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าตอนนี้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนค่อนข้างมีน้อยมากในประเทศไทย เราจึงอยากให้ลองมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ เพราะองค์กรนี้ให้อะไรมากกว่าที่คุณคิด