ไขข้อข้องใจ: ทำไมชาวโรฮิงญาจึงกลายเป็นผู้ลี้ภัย? ต้องเสี่ยงภัยเดินทางในทะเล? แล้วเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือเปล่า?

11 มิถุนายน 2563

Amnesty International

© K M Asad/LightRocket/Getty Images

ภาพวีดิโออันน่าตกใจของผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กชาวโรฮิงญาที่ได้รับการช่วยชีวิตขึ้นจากเรือที่เก่าคร่ำคร่า ภายหลังเสี่ยงภัยเดินทางในทะเล ยังเป็นภาพที่มีการถ่ายทอดต่อกันไปทั่วโลก 

ตามรายงานต่าง ๆ ยังมีเรืออีกหลายลำที่บรรทุกประชากรชาวโรฮิงญาอีกหลายร้อยคน และติดอยู่กลางทะเล พวกเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เรือเหล่านี้ไม่สามารถขึ้นฝั่งที่ใดได้ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ เพิกเฉยต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่จะต้องอนุญาตให้บุคคลขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย โดยอ้างมาตรการในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 และใช้เป็นเหตุผลเพื่อไม่ให้เรือที่ลอยลำอยู่กลางทะเลขึ้นฝั่งที่ประเทศของตน

นโยบายเหล่านี้ทำให้เสี่ยงที่อาจเกิดความผิดพลาดที่อันตรายแบบเดียวกับปี 2558 จากการปราบปรามเครือข่ายค้ามนุษย์ ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายพันคนติดค้างอยู่กลางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอใช้โอกาสนี้อธิบายว่า เหตุใดชาวโรฮิงญาจึงยอมเสี่ยงภัยเพื่อหาทางหลบหนีจากที่พักพิงอันแออัดในบังกลาเทศ และการเลือกปฏิบัติอย่างระบบในเมียนมา

เรายังขออธิบายว่าเหตุใดประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้สามารถให้การช่วยเหลือ และเหตุใดจึงไม่ควรส่งตัวประชากรชาวโรฮิงญากลับไปเมียนมา

 

ประชากรชาวโรฮิงญาคือใคร?

ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมในเมียนมา ก่อนหน้านี้ ประชากรของพวกเขาที่มีกว่าล้านคนอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของประเทศ ใกล้กับพรมแดนบังกลาเทศ

ชาวบ้านแทบทุกคนถูกเพิกถอนสัญชาติ และไม่มีเหตุอันควรที่จะขอสัญชาติจากประเทศอื่นได้ เมียนมายืนยันว่าไม่มีประชากรกลุ่มดังกล่าวในประเทศ และอ้างว่าพวกเขาเป็น “ผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” จากบังกลาเทศ การปฏิเสธไม่ยอมรับพวกเขาในฐานะพลเมืองส่งผลให้พวกเขาส่วนใหญ่กลายเป็นประชากรผู้ไร้รัฐ

การขาดสัญชาติส่งผลกระทบที่ลึกซึ้งในหลายด้านต่อชีวิตของพวกเขา ส่งผลให้ทางการเมียนมาสามารถควบคุมจำกัดอย่างเข้มงวดต่อเสรีภาพในการเดินทางของพวกเขา เท่ากับแบ่งแยกกีดกันพวกเขาออกจากประชากรส่วนอื่น ๆ ของสังคม พวกเขาต้องต่อสู้เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการมีงานทำ การเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบถึงขั้นเป็น ระบบการแบ่งแยกสีผิว ซึ่งเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศ 

 

มีชาวโรฮิงญากี่คนที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศในฐานะผู้ลี้ภัย?

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ชาวโรฮิงญากว่า 740,000 คนหลบหนีออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตนในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา หลังจากกองทัพได้เริ่ม ปฏิบัติการกวาดล้างที่รุนแรงและทารุณ ต่อพวกเขา 

ในระหว่างปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการตอบโต้ต่อการโจมตีอย่างเป็นระบบของกลุ่มติดอาวุธที่เรียกตนเองว่า กองทัพปลดแอกชาวโรฮิงญาแห่งอาระกัน (ARSA) ต่อค่ายทหารของเมียนมา ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ส่งผลให้กองทัพเมียนมาสังหารประชากรชาวโรฮิงญาหลายพันคน ข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ลากตัวผู้ชายและเด็กผู้ชายไปควบคุมตัว และทรมานพวกเขา ทั้งยังเผาทำลายบ้านเรือนหลายร้อยหลังและหมู่บ้านหลายร้อยแห่งจนราบเป็นหน้ากลอง ซึ่งชัดเจนว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

คณะทำงานของสหประชาชาติได้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีข้อสรุปว่าอาชญากรรมเหล่านี้ อาจถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หนึ่งปีหลังปฏิบัติการสังหารครั้งนี้ ชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งยังคงหลบหนีข้ามพรมแดน เพื่อให้รอดพ้นจากการประหัตประหารและการขัดกันด้วยอาวุธที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในรัฐยะไข่ เดือนตุลาคม 2561 ตัวแทนของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงระบุว่า “ยังคงมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างต่อเนื่อง” ในเมียนมา

แม้ว่าวิกฤติในรัฐยะไข่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ส่งผลให้เกิดการพลัดถิ่นฐานอย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวโรฮิงญาตกเป็นเหยื่อการขับไล่จากบ้านเรือน หมู่บ้าน และประเทศของตน ด้วยความรุนแรงจากรัฐบาลเมียนมา ช่วงปลายทศวรรษ 1970 และช่วงต้นทศวรรษ 1990 ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนถูกบีบให้ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ โดยเป็นผลมาจากปฏิบัติการในการปราบปรามของกองทัพครั้งใหญ่ พร้อมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ในปี 2559 ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นบริบทที่นำไปสู่ความรุนแรงในปี 2560 ชาวโรฮิงญาเกือบ 90,000 คนถูกบีบให้ต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ หลังกองทัพเมียนมาปฏิบัติการตอบโต้การโจมตีต่อป้อมตำรวจโดยกองกำลัง ARSA เป็นปฏิบัติการความรุนแรงที่มีเป้าหมายทำลายชุมชนทั้งหมด ในขณะนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อสรุปว่า ปฏิบัติการเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

ในปัจจุบัน คาดว่ามีจำนวนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศเกือบหนึ่งล้านคน 

 

เหตุใดชาวโรฮิงญาจึงยังต้องหลบหนีทางเรือ?

การใช้ชีวิตอยู่ในระบบการแบ่งแยกสีผิวในเมียนมา และการถูกจำกัดโอกาสในการหาเลี้ยงชีพระหว่างอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาพยายามหลบหนีไปประเทศมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ แต่เนื่องจากพวกเขาไม่มีวีซ่า ไม่มีหนังสือเดินทาง และยังถูกควบคุมเสรีภาพในการเดินทางอย่างเข้มงวด ทำให้ไม่สามารถเดินทางในทางถนนทั่วไปได้ การเดินทางด้วยเรือจึงมักเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ 

แม้ว่ารัฐบาลบังกลาเทศจะกรุณารองรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยกับพวกเขาเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้พวกเขาไม่มีสถานภาพทางกฎหมายในทั้งสองฝั่งของพรมแดน บังกลาเทศไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 

ในบังกลาเทศ ชาวโรฮิงญาถูกบีบให้อยู่รวมกันในที่พักพิงอันทุรกันดาร บ้านของพวกเขาสร้างจากผืนผ้าใบที่กันน้ำและไม้ไผ่ที่ไม่ทนทาน ในช่วงฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึงในเดือนมิถุนายน คาดว่าบ้านหลายหลังคงถูกทำลายไปเช่นเดียวกับปีก่อนหน้านี้ คอกซ์บาซาร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเป็นส่วนใหญ่ เสี่ยงต่อเหตุการณ์ดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน พายุไซโคลนในช่วงนี้จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ที่พักพิงเหล่านี้มีความแออัดเป็นอย่างมาก โดยมีความหนาแน่นของประชากรที่ 40,000 คนต่อตารางกิโลเมตร พื้นที่ซึ่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ มีขนาดใหญ่เท่ากับเมืองที่ใหญ่อันดับสี่ของบังกลาเทศ โดยมีประชากรเกือบล้านคน รวมทั้งพลเมืองของบังกลาเทศเอง 

ทางการบังกลาเทศได้สั่งให้ปิดบริการอินเตอร์เน็ตในค่ายผู้ลี้ภัย ส่งผลให้ชุมชนเหล่านี้อยู่อย่างโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการคุ้มครองตนเองระหว่างที่เกิดโรคระบาด ในขณะที่โรคโควิด-19 เสี่ยงที่จะทำให้ผู้ที่อาศัยในค่ายอันแออัดเช่นนี้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หลังมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกในเดือนนี้

 

เราจะช่วยเหลือประชากรชาวโรฮิงญาที่ติดอยู่กลางทะเลได้อย่างไร?

รัฐบาลในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเริ่มปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิตโดยทันที เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่ติดค้างอยู่กลางทะเล นำอาหาร ยาไปให้พวกเขา รวมถึงช่วยให้พวกเขาได้ขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย ทางการต้องไม่ผลักดันเรือออกนอกชายฝั่ง และไม่ควรอ้างมาตรการรับมือต่อโรคโควิด-19 เพื่อขัดขวางไม่ให้ชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย และแสวงหาที่ลี้ภัย 

ทางการควรประกันว่า หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติรวมทั้ง UNHCR สามารถเข้าถึงผู้ที่เดินทางจากทางเรือได้อย่างเต็มที่และไม่ปิดกั้น เราไม่ควรปล่อยให้ชาวโรฮิงญาต้องได้รับความทุกข์ทรมาน มากกว่าความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับพวกเขาอยู่แล้ว เว้นแต่จำเป็นต้องกักตัวและรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานด้านมนุษยธรรม 

รัฐบาลบังกลาเทศและเมียนมาต้องปฏิบัติตามพันธกิจที่ประกาศว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจะต้องเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย โดยสมัครใจ และอย่างมีศักดิ์ศรี รัฐบาลทั้งสองประเทศต้องประกันว่า ผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศสามารถตัดสินใจได้อย่างเสรีและมีข้อมูลมากพอว่าจะเดินทางกลับไปเมียนมาหรือไม่ ทั้งนี้เป็นผลจากการเข้าถึงข้อมูลอย่างเต็มที่และไม่ลำเอียงเกี่ยวกับสภาพที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ และความสนับสนุนที่จะได้รับหากพวกเขาตัดสินใจที่จะอาศัยอยู่ต่อไปในบังกลาเทศ  

รัฐบาลทั้งสองประเทศต้องประกันว่า จะปรึกษาหารือกับชาวโรฮิงญา และให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกประการที่กระทบต่ออนาคตของพวกเขา ในปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญายังไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมในการเจรจา ทั้งยังไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง การตัดสินใจที่ผ่านมาเกิดขึ้นโดยที่พวกเขาไม่ได้รับรู้ และชัดเจนว่าไม่ได้เกิดจากความยินยอมของพวกเขา

ช่วงต้นเดือนนี้ ประชากรชาวโรฮิงญาที่ได้รับการช่วยชีวิตจากทางการบังกลาเทศ ถูกพาไปอยู่ที่ภาชาน ชาร์ ซึ่งเป็นเกาะที่ห่างไกลนอกชายฝั่ง ใกล้กับบริเวณค่ายผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงญา ทางการระบุว่า พวกเขาถูกพาไปกักตัวเพื่อป้องกันโรค แต่มีข้อกังวลมากมายเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกในเกาะภาชาน ชาร์ รวมทั้งความสามารถในการรับมือกับพายุไซโคลนที่โหดร้าย ซึ่งเป็นภัยคุกคามอย่างสม่ำเสมอในบังกลาเทศ ที่สำคัญ องค์การสหประชาชาติยังอยู่ในระหว่างการประเมินความเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของเกาะแห่งนี้ ชาวโรฮิงญาจึงไม่ควรถูกนำมากักตัวที่เกาะแห่งนี้หากพวกเขาไม่ยินยอมพร้อมใจ 

ทางการควรเปิดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเสรีและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ทั้งในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดในบังกลาเทศ พื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่และทางตอนใต้ของรัฐชินในเมียนมา ซึ่งปัจจุบันมีการปิดกั้นอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้เพื่อให้ชาวโรฮิงญามีความรู้ความเข้าใจอย่างเต็มที่ต่อมาตรการในการรับมือกับโรคระบาด และวิธีป้องกันตนเองและครอบครัว 

นอกจากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ยังจำเป็นต้องมีการใช้มาตรการเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่สูงวัย เนื่องจากพวกเขาจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ อีกทั้งยังจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยให้พวกเขาเข้าถึงน้ำสะอาด สบู่ และความช่วยเหลือให้สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้ เพื่อให้ผู้ลี้ภัยทุกคนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพอย่างเต็มที่ขณะเกิดโรคระบาด  

ประชาคมระหว่างประเทศยังต้องทำงานอีกมากเพื่อสนับสนุนบังกลาเทศ และแบ่งเบาความรับผิดชอบ และภาระด้านการเงิน อันเป็นผลมาจากการรองรับผู้ลี้ภัยเกือบล้านคน ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศก็ได้รับการกดดันจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากโรคระบาดอยู่แล้ว ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาควรมีสิทธิที่จะขอที่ลี้ภัยต่อไป และรัฐต่าง ๆ ต้องเปิดพรมแดนเพื่อรับผู้ลี้ภัย ซึ่งยังคงหลบหนีอันตรายในปัจจุบันหรือในอนาคต 

 

ปลอดภัยเพียงพอที่ประชากรชาวโรฮิงญาจะกลับไปอยู่ในเมียนมาหรือไม่?

ประชากรชาวโรฮิงญาเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในเมียนมา กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลักการไม่ส่งกลับ ห้ามไม่ให้รัฐส่งบุคคลกลับไปยังที่ ๆ อาจมีความเสี่ยงร้ายแรงต่อชีวิตหรือเสรีภาพของเขา 

อันที่จริงองค์การสหประชาชาติได้เคยแถลงการณ์หลายครั้งแล้วว่า สภาพแวดล้อมในเมียนมาไม่เหมาะสมสำหรับการเดินทางกลับประเทศของพวกเขา สภาพแวดล้อมในเมียนมายิ่งเลวร้ายมากขึ้นภายหลังการสู้รบกับกองทัพอาระกัน ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องอำนาจการปกครองตนเองมากขึ้นสำหรับชาวพุทธรัฐยะไข่ ในขณะที่กองทัพเมียนมาก็เพิ่มปฏิบัติการมากขึ้นในเดือนมกราคม 2562  

ชาวโรฮิงญามีสิทธิมนุษยชนแต่กำเนิดที่จะต้องสามารถเดินทางกลับและอาศัยอยู่ในเมียนมา ซึ่งเป็นบ้านของพวกเขา และหากพวกเขาตัดสินใจเช่นนั้น พวกเขาก็ต้องได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับ แต่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องไม่บังคับให้พวกเขาเดินทางกลับ เว้นแต่จะเป็นการเดินทางที่ปลอดภัย เกิดจากความสมัครใจ ยั่งยืน และมีศักดิ์ศรี 

ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาคือ ทำลายการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบและการแบ่งแยกกีดกันที่ฝังรากลึก อันเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาต้องหลบหนีออกมา การเดินทางกลับอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีหมายถึงการรับประกันว่า เมื่อเดินทางกลับไปแล้ว พวกเขาจะมีสิทธิอย่างเท่าเทียมและมีสัญชาติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางและเป็นระบบรวมทั้งอาชญากรรมต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องยุติลง  

การเดินทางกลับที่ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อชาวโรฮิงญาถูกนำตัวมาลงโทษ แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ผู้กระทำผิดแทบทั้งหมดยังคงลอยนวลพ้นผิด ไม่ได้ถูกลงโทษ ทั้งยังอยู่ในอำนาจต่อไป ซึ่งอำนวยให้พวกเขาสามารถทำการละเมิดสิทธิเพิ่มขึ้นได้อีก เราไม่อาจปล่อยให้ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่กับความหวาดกลัวว่าจะเกิดความรุนแรงรอบใหม่ ซึ่งหากพวกเขารอดชีวิตไปได้ ก็อาจต้องหลบหนีข้ามพรมแดนมาอีกครั้งเพราะความรุนแรงเหล่านี้ 

ในเดือนมกราคม 2563 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) สั่งการให้เมียนมาใช้ “มาตรการชั่วคราว” เพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชุมชนชาวโรฮิงญา หลังจากแกมเบียได้ฟ้องคดีกล่าวหาเมียนมาว่าละเมิดพันธกรณีของตนตามอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491 แต่ที่ผ่านมาทางการเมียนมาแทบไม่ได้ทำอะไรเลย เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งศาล 

อย่างไรก็ดี ศาลแห่งนี้ไม่มีอำนาจในการไต่สวนบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติมิชอบต่อชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในรัฐยะไข่ คะฉิ่น และตอนเหนือของรัฐฉาน ด้วยเหตุดังกล่าว คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องส่งกรณีปัญหาเนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมา เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICJ)