แค่จับปลา หรือค้าคน? : ความลับที่มากับท้องทะเล

29 ตุลาคม 2561

บทความโดย Smiling Sun

ภาพถ่าย จีรวัฒน์ สุขานนท์

กลิ่นคาวปลาในระดับความเน่าเปื่อยต่างๆ พุ่งเข้ากระแทกหน้าเหมือนหมัดตรงทันทีที่ประตูรถเปิดออก ตามด้วยหมัดเสยจากความร้อนระอุแดดบ่ายสามที่เหมือนเอาไฟลนหน้า ผู้เขียนและเพื่อนร่วมงานพากันทำใจให้กับสภาพแวดล้อมก่อนจะลงจากรถกันได้ ตัวแทนแรงงานเดินพาเราไปจุดนัดพบด้านหลังที่มีคนสองสามคนนั่งรอกันอยู่ ก่อนที่จะรีบลุกมารับไหว้พวกเราที่ไปเจอกับพวกเขา ซึ่งก็คงจะไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร 

 

"ถ้าพวกเขามีมืออยู่ครบ"

 IMG_9249.JPG

 

 

หนึ่งคนไร้มือซ้าย อีกคนมือหายไปครึ่ง คนสามนิ้วหายไปสองข้อ สภาพขาดแคลนอวัยวะดึงดูดสายตาทันที แม้เราจะพยายามเตือนตัวเองไม่ให้เสียมารยาท พวกเรายืนรวมกันเมื่อตัวแทนแรงงานแนะนำให้เรารู้จักกับคนใหม่ทั้งสามในฐานะแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิแรงงาน โดยทั้งสามล้วนสูญเสียอวัยวะไปกับอุบัติเหตุบนเรือประมง และต้องต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อให้ได้รับเงินชดเชย

 

“เขาเอาไปส่งที่โรงพยาบาล แล้วก็หายไปเลย”

 

นายมิน (นามสมมุติ) ชาวเมียนมาจากรัฐมอญ เล่าให้พวกเราฟัง ตัวเขาเองเป็นคนที่ครั้งหนึ่งเคยลักลอบเข้ามาหางานทำในประเทศไทย จนเมื่อปี 2004 ที่ถูกเอเยนท์ชาวเมียนมาด้วยกันหลอกว่าจะพาไปทำงานโรงงาน ซึ่งเป็นงานที่ชาวเมียนมาล้วนอยากได้กันมาก แต่เมื่อเดินทางมาถึงมหาชัยเมืองประมง เขาจึงได้พบความจริง

 

ว่าได้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เสียแล้ว

 

นายมิน (นามสมมุติ) ถูกขังอยู่ในห้องแคบๆแออัดกับคนงานคนอื่นๆในเมืองมหาชัยนานหลายเดือน ก่อนจะถูกส่งลงเรือประมงที่ “จ่าย” ค่านายหน้าล่วงหน้าให้เขาไว้ถึง 25,000 บาท ซึ่งไต้ก๋งเรือถือว่าเขาต้องชดใช้ให้ด้วยแรงงานของเขา เรือประมงที่เขาอยู่นั้นจะไปทุกที่ที่มีปลา ซึ่งทำให้เขาต้องล่องทะเลตั้งแต่ในอ่าวไทยยาวไปจนถึงน่านน้ำอินโดนิเซีย โดยไม่เคยได้ขึ้นฝั่งเลยนานถึง 11 ปี

 IMG_9211.JPG

งานประมงเป็นอาชีพที่หนักหนาและอันตราย อย่างที่Tun Linชี้ให้พวกเราดูถึงเครื่องมือชนิดหนึ่งบนเรือประมงที่จอดเทียบท่าอยู่ใกล้ๆ เครื่องยนต์ดังกล่าวคือกว้านชักอวนที่ทำงานด้วยความเร็วสูง โดยมีคนงานใช้มือเปล่าในการป้อนเชือกให้รอกที่กำลังหมุนอย่างน่าหวาดเสียว ซึ่งเป็นเครื่องมือชนิดเดียวกันกับเครื่องที่ตัดมือของเขา

 

“เวลาจับปลาหมุนเร็วกว่านี้อีก มันจะดึงอวนมาด้วย ตอนนั้นเอามือออกไม่ทัน มันเลยดึงมือไป (รัดกับม้วนเชือก)ด้วย”

 

ประโยคดังกล่าวจากนายมิน (นามสมมุติ) มีเสียงซีดรับอย่างพร้อมเพียงกัน พวกเราพร้อมใจกันหันไปมองกว้านชักที่กำลังหมุนติ้ว และหันกลับมาดูมือที่หายไปครึ่งหนึ่งของเขา แต่อย่าว่าแต่เครื่องมือบนเรือประมงเลย เพราะลำพังสถานที่ทำงานก็เป็นพื้นที่อันตรายแล้ว

 

ก็พื้นสะพานปลาดันลื่นไหลไปด้วยเมือกคาวจากสัตว์ทะเลที่หนาจนแทบเหยียบไม่ถึงพื้น และกลาดเกลื่อนไปด้วยซากปลาเล็กปลาน้อย ปลาหน้าตาประหลาด และสิ่งที่เยอะที่สุดจนน่าขนลุกก็คือแมงกระพุนขนาดใหญ่กว่าศีรษะผู้เขียนนี่ล่ะ ขนาดใส่รองเท้าที่เคยเดินไต่น้ำตกได้สบายๆ ผู้เขียนยังแทบจะลื่นล้มขาฉีกหัวฟาดพื้นเอาเสียหลายหน ซึ่งก็สภาพไม่ต่างจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่ได้แต่เดินยงโย่เหมือนนกกระยางกันไปหมด ผู้เขียนเองก็แอบดูว่าคนที่นั่นเขาเดินอย่างไรกัน แต่นอกจากคนคุมงานที่มีรองเท้าบูตยางแล้ว แรงงานที่ยืนคัดปลาและขนของไปมาก็ล้วนแต่ใส่รองเท้าแตะช้างดาวเหรือยี่ห้อต่างๆตามมีตามเกิดเองทั้งนั้น หลายๆคนเดินเท้าเปล่าก็มี

 IMG_3018.JPG

ความอันตรายที่สุดของงานประมงไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์หรือสถานที่

แต่เป็นคนด้วยกัน

 

เพราะติดค้างค่านายหน้า ไต้ก๋งเรือจึงบอกกับนายมิน ว่าค่าจ้างทั้งหมดต้องเอาไปใช้หนี้ก่อน ทว่าตลอด 11 ปีที่อยู่บนเรือทาส นายมินไม่เคยได้รับค่าแรงเลยแม้ซักครั้งเดียว มีก็แต่อาหารเท่านั้นที่ได้ แต่ก็ขาดแคลนบ่อยครั้งเพราะต้องรอแลกเปลี่ยนกับเรือแม่ที่มารับปลาที่กลางทะเล ครั้นเมื่อข้าวสารอาหารแห้งหมดลง เขาและเพื่อนคนงานก็ต้องกัดกินปลาที่จับมาดิบๆ ทั้งอย่างนั้นเพื่อประทังชีวิต อีกทั้งไต้ก๋งและลูกน้องคนสนิทต่างทุบตีทำร้ายคนงานเป็นอาจิณ ใช้ความเจ็บปวดในการเร่งมือคนงานไม่ให้หยุดพัก ซึ่งเวลางานอาจยาวนานข้ามวันข้ามคือหากที่นั้นมีปลาเยอะเป็นพิเศษ ก็ต่อเมื่อไม่เหลือมูลค่าใดๆใต้ทะเลเท่านั้นที่ นายมิน และเพื่อนๆจึงจะได้ล้มตัวลงพักผ่อน แม้จะต้องอัดแน่นในเก๋งเรือสองชั้นที่เล็กและอึดอัด แต่ต้องแบ่งกันกับอีกเกือบยี่สิบชีวิต

IMG_9600.JPG“ไม่อยากมีปัญหา” นายมินกล่าวเมื่อเราถามว่าทำไมพวกเขาถึงไม่รวมตัวแล้วสู้ไต้ก๋งกลับ “เรามาเพราะต้องการหางาน ไม่อยากมีปัญหา”

นอกจากความไม่ต้องการมีเรื่องของคนงาน อีกหนึ่งสาเหตุที่พวกเขาไม่เคยลุกฮือต่อต้านไต้ก๋งเรือ ก็คงเพราะการที่ไต้ก๋งเองก็หยิบยื่นความตายให้คนงานอย่างเหลือเฟือ นายมินเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อการทุบตีรุนแรงเกินไปจนคนงานเสียชีวิต ไต้ก๋งเรือก็ให้โยนศพลงทะเลไปราวกับเป็นเศษขยะ เช่นเดียวกับคนที่ขัดใจก็จะถูกเป่าหัวลงทะเลเช่นกัน ซึ่งหลายๆครั้งที่คนงานถูกทะเลกลืนหายไปเพียงเพราะเขาเจ็บป่วยเกินกว่าจะทำงานไหวเท่านั้น

 IMG_9274.JPG

จะเรียกว่าโชคช่วยหรือหมดกรรมก็ดี แต่ในที่สุด นายมินก็ได้ออกจากเรือลำนั้น แต่แลกกับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส เพราะเมื่อกว้านชักอวนปาดมือของเขาจนรุ่งริ่ง แทนที่เขาจะได้ไปโรงพยาบาลทันที ไต้ก๋งกลับให้เขาแค่ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด และแล่นเรือหาปลาต่อไปอีกยาวนานนับเดือน จนกระทั่งเรือได้เข้าเทียบท่าที่มหาชัยอีกครั้ง และมือของเขาก็ติดเชื้อและเน่าเปื่อยจนนิ้วมือหลุดหายไปเกือบหมด ไต้ก๋งจึงเอาเขาไปทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล และหนีหายไม่เคยเป็นที่พบเห็นอีกเลย

 

เมื่อแพทย์อนุญาติให้เขาออกจากโรงพยาบาลได้ ตม.ก็ส่ง นายมินกลับเมียนมาทันทีเพราะเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ทันทีที่สามารถเข้าไทยได้อีกครั้ง มินกลับมามหาชัยอีกครั้งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย โชคดีที่ความที่เขาสามารถพูดภาษาไทยได้ และได้พบกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ซึ่งช่วยให้เขาแกะรอยไปพบกับผู้มีชื่อเป็นเจ้าของเรือลำดังกล่าว ที่แม้จะไม่สามารถสาวตัวไปนำไต้ก๋งมารับโทษทางอาญาได้ แต่ก็ยินยอมจ่ายค่าเสียหายให้ Tun Lin 360,000 บาท

 

เรื่องราวของเขาจบลง แต่การได้ร่วมงานกับมูลนิธิทำให้เขาได้เห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกมาก ที่เป็นแรงงานที่พูดภาษาไทยไม่ได้ และถูกใช้แรงงานทาสบนเรือประมงจนกระทั่งความพิการช่วยให้ออกมาได้ แต่ก็สิ้นเนื้อประดาตัวอย่างที่อาจจะไม่สามารถหวนคืนเพราะความพิการของตน นายมินในปัจจุบันจึงทำงานเป็นล่ามชาวเมียนมาให้กับทางมูลนิธิ โดยอดีตคนงานอีกสองคนที่มากับเขาในวันนี้ก็คือคนที่นายมินช่วยเป็นล่ามให้จนได้รับค่าเสียหายในที่สุด โดยในขณะที่พวกเขาเตรียมที่จะกลับบ้านที่เมียนมา นายมินจะยังคงอยู่ในไทยต่อไป เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ต่อไป

 

แต่แม้จะไม่ถึงกับเป็นแรงงานทาส แต่นายมินยืนยันกับเราว่าแรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากยังคงถูกละเมิดสิทธิในทุกๆด้าน ตั้งแต่การเบี้ยวค่าแรง กดขี่ข่มเหง ยึดเอกสารประจำตัว ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศที่มีรายงานเข้ามายังมูลนิธิแทบทุกวัน โดยที่ผู้กระทำไม่เคยได้รับการลงโทษ เพราะกำแพงทางภาษาและข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้คดีเหล่านี้มีการรายงานน้อยกว่าที่เกิดขึ้นจริงมาก เพราะแรงงานกลัวกันว่ายังไม่ทันจะได้อ้าปากก็อาจจะโดนส่งกลับชายแดนไปเสียแล้ว

 IMG_9242.JPG

ถึงตอนนี้ แสงแดดสีส้มแดงที่เลียพวกเราจนเหนื่อยล้าพาอยากจะให้เรากลับที่พัก แต่ในฐานะงานสื่อที่ดี เมื่อฟังความฝ่ายแรงงานแล้ว เราก็ต้องฟังฝ่ายทางการเช่นกัน (ส่วนฝ่ายเจ้าของเรือเราคงต้องละไว้ เพราะนอกจากจะหาไม่ได้ในเวลานั้นแล้ว สายตาของคนแปลกหน้าที่มาเดินด่อมๆมองๆ อย่างไม่เป็นมิตรก็ทำให้เราตัดสินใจว่าออกมาห่างๆเรือน่าจะดีกว่า) เราจึงไหว้ลา นายมินและเพื่อนก่อนจะเดินฝ่าเมือกปลาไปข้ามลานทรายก่อสร้าง โดยมีเป้าหมายคือศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) ประจำสะพานปลาสมุทรสาคร ซึ่งเราได้รับการชี้นำจากผู้อำนวยการสะพานปลาที่มาพบเราก่อนหน้า ว่าเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่ขึ้นกับกระทรวงแรงงานและทหารเรือเพื่อดูแลด้านแรงงานประมงโดยตรง

 

เมื่อก้าวข้ามธรณีประตูสำนักงานตู้คอนเทนเนอร์ พวกเราก็ยินดีกับลมเย็นจากระบบปรับอากาศที่ทำให้สำนักงานดังกล่าวเป็นเหมือนโอเอซิสกลางแดด ภายในเราพบเจ้าหน้าที่สองคนที่ยินดีให้ข้อมูลกับเราแม้จะขอสงวนชื่อ โดยพวกเขาอธิบายการทำงานของ PIPO ว่าเป็นจุดที่เรือประมงทุกลำที่ใช้สะพานปลาแห่งนี้จะต้องเข้ามารายงานตัวทุกครั้งที่เข้าและออกจากท่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจความเป็นอยู่ของคนงานที่เรือ และเลือกคนงานโดยสุ่มเพื่อนำมาคุยโดยไม่มีนายจ้างกำกับ เพื่อให้โอกาสคนงานในการรายงานความผิดปกติหากอยู่ภายใต้อันตรายจากนายจ้าง รวมถึงเช็คการจ่ายเงินเดือนคนงานโดยจะต้องมีเอกสารให้ลูกเรือเซ็นชื่อรับทราบเพื่อเทียบกับstatementจากธนาคารว่ามีเงินเข้าบัญชีลูกจ้างตามจำนวนจริง

 

“ที่นี่มีเรือประมงเวียนเข้ามาตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เจ้าหน้าที่เองก็เลยต้องเข้ากะทีละยี่สิบสี่ชั่วโมงเหมือนกัน” เจ้าหน้าที่ PIPO บอกกับเราพลางยิ้มแหย เพราะแม้จะทำงานด้านสิทธิแรงงาน แต่ตัวเองก็ชั่วโมงงานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน

 IMG_9604.JPG

อีกทางหนึ่งที่ PIPO ควบคุมเรือประมงคือการที่เรือแต่ละชนิดมีระยะเวลาที่อนุญาตให้ออกทะเลได้อย่างจำกัด เพื่อให้มั่นใจว่าเรือประมงจะสามารถบริหารเสบียงได้พอ เช่น เรืออวนดำให้ออกเรือได้ไม่เกิน  3 วัน และเรืออวนล้อมออกเรือได้ 5-10 วัน และหากฝ่าฝืน ทางทหารเรือจะออกทะเลไปลากเรือดังกล่าวกลับเข้าฝั่งให้ และจะมีการสอบสวนเกิดขึ้นทันทีเพื่อหาสาเหตุการกลับช้า ซึ่งการสอบสวนนี้รวมไปถึงกรณีที่มีการกลับก่อนกำหนด รวมถึงเหตุลักษณะอื่นๆที่มีพิรุธอีกด้วย ทั้งนี้ เรือทุกชนิดจะออกจากฝั่งได้ก็ต่อเมื่อมีลูกเรือครบตามเอกสารที่ทำกับ PIPO เท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็ออกทะเลไม่ได้

 

แต่ก็อย่างที่รู้กัน เช่นเดียวกับที่เจ้าหน้าที่เองก็ยอมรับ ว่ามีการหลุดรอดจากระบบอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นการที่คนงานถูกข่มขู่และติวคำตอบมาแล้วโดยนายจ้าง การริบเอกสารทันทีที่พ้นสายตาเจ้าหน้าที่ รวมถึงกลเม็ดหลายๆอย่างที่บางครั้งแม้เจ้าหน้าที่จะรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ระเบียบราชการที่ไม่ครอบคลุมก็ทำให้พวกเขาทำอะไรไม่ได้

 IMG_9347.JPG

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นเมื่อนโยบายใบอนุญาตทำงาน MOU เกิดขึ้น นั่นคือการที่ใบอนุญาตจำกัดอาชีพที่ทำมาแล้ว ทำให้คนงานที่ทำ MOU งานประมงเข้ามาแล้วพบว่าไม่ประสงค์จะทำต่อ ก็ไม่สามารถย้ายงานได้ ต้องอยู่ทำจนกว่าจะหมดหนี้ หรือถูกนายจ้างกักตัวไว้จนกว่าใบอนุญาตจะหมดอายุ ซึ่งหมายถึงการถูกบังคับใช้แรงงานไปถึง 2 ปี

 

นอกจากนี้ การที่งานประมงนับเป็นงานตามฤดูกาลที่มีช่วงเวลาของปีที่ทำงานได้หรือต้องหยุด ทำให้อาชีพประมงไม่เข้าข่ายการรับประกันสังคม ทำให้คนงานต้องใช้จ่ายกับการรักษาตัวมาก ซึ่งก็ซ้ำเติมไปอีกกับการที่งานประมงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากอยู่แล้ว แถมไต้ก๋งยังไม่ค่อยส่งลูกเรือมาอบรมด้านความปลอดภัยอีกต่างหาก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เลยทำได้แค่ตรวจว่าเรือทุกลำมีเครื่องมือปฐมพยาบาลหรือไม่เท่านั้น

 

กว่าจะคุยกันเสร็จฟ้าก็มืดสนิทเสียแล้ว แม้ผู้เขียนและเพื่อนร่วมงานกำลังจะได้เลิกงานและกลับไปยังที่พัก แต่คนงานคัดแยกปลาก็ยังคงทำงานกันอย่างไม่มีทีท่าจะได้หยุด เพราะเมื่อเรือประมงขนปลาลงหมดท้องเรือแล้ว ก็มีเรือใหม่ผลัดเข้ามาไม่ขาดสาย แต่ก็เป็นโชคดีของคนเรือที่ยังได้นั่งพักก่อนที่เรือจะหันหัวออกสู่ทะเลไปอีกครั้ง โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไปทำงานในฐานะคนงานทั่วไปที่มีรายได้และความคุ้มครองของกฎหมาย หรืออาจจะต้องออกไปพบกับความโหดร้ายอย่างเช่นที่นายมิน ได้เจอมา