คุยกับ ต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ในวันที่สิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยยังมีความหวัง

7 พฤษภาคม 2561

สัมภาษณ์โดย วิรดา แซ่ลิ่ม

ถ่ายภาพโดย ยศธร ไตรยศ

 

“ก็เป็นคนธรรมดานี่แหละค่ะ ชื่อต้น ตอนนี้ก็ทำธุรกิจกับครอบครัว มีนวดแผนโบราณและทำบ้านเช่าเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยในเชียงใหม่ อีกส่วนหนึ่งคือเป็นนักรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ”

 

ประโยคแนะนำตัวของ ต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ บุคคลที่มักจะสังเกตได้ง่ายที่สุดในงานกิจกรรมต่าง ๆ เพราะการแต่งกายด้วยชุดที่ออกแบบเอง มีสีรุ้งเป็นองค์ประกอบอันโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ แต่ภายใต้ลิปสติกและอายแชโดว์สีฉูดฉาด ต้นเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัวชาวจีนอพยพจากเวียดนาม ที่โตมากับการเรียนพระคัมภีร์ในโบสถ์คาทอลิกทุกวันอาทิตย์


ภายใต้เงื่อนไขของสังคมเดียวกัน คุณอาจพบว่า หลายมิติในชีวิตของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนนี้ แทบไม่ต่างไปจากคนที่มีความหลากหลายทางเพศคนอื่น ๆ ที่ยังคงต้องต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เราล้วนมีเท่ากัน


ต่อจากนี้คือเรื่องราวและมุมมองความคิดจากบทสนทนาช่วงบ่ายวันหนึ่ง ณ บ้านของเขาในจังหวัดเชียงใหม่

 

พี่ต้น1.jpg

 

เวลาพูดคำว่าสิทธิมนุษยชน หลายคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ จะนิยามคำนี้ให้ใกล้ตัวและง่ายอย่างไร?

สิทธิมนุษยชนก็คือสิทธิที่อยู่รอบตัวเรานี่แหละ คือสิทธิของการเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ถ้าเอาแบบง่าย ๆ ก็คือสิทธิความเป็นคนนั่นแหละ


จุดไหนในชีวิตที่ตระหนักถึงความสำคัญของคำนี้?

มันอาจจะหลายจุดนะ ตั้งแต่เกิด ครอบครัวเป็นคนเวียดนาม อพยพมาแบบยังมีบัตรต่างด้าวอยู่เลยนะ ตอนเด็กๆ จำได้ว่าพ่อแม่พี่น้องทุกคนยังถือบัตรต่างด้าวอยู่ และมีบางช่วงที่เราต้องไปหลบในตู้เสื้อผ้าด้วย ตอนตม. และตำรวจมาตรวจที่บ้าน เราจะเป็นคนที่รอดที่สุด เพราะตอนเกิดมาพ่อไม่อยากให้เรามีปัญหาเรื่องการศึกษาแบบพี่คนอื่น พ่อจึงให้เพื่อนคนไทยที่รู้จักกันไปแจ้งเกิดให้ และใช้นามสกุลของเขา ทำให้ตอนนี้ตัวเองนามสกุลคนละนามสกุลกับของพ่อแม่ แต่เราก็อยู่บ้านกับพ่อแม่ของเรานี่แหละ ตอนนั้นมันต้องทำแบบนี้ เพราะถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เราก็จะไม่ได้เรียน พอผ่านไปสักช่วงป.2 พ่อแม่ก็ได้บัตรประชาชนไทย


คำว่าสิทธิมนุษยชนเราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก คือ หนึ่ง เรารู้สึกว่าเราไม่ได้สิทธิเป็นคนไทย เรารู้สึกแปลกแยก สอง จะแปลกแยกมากเวลาไปเรียนหรืออยู่ในสังคมเพราะคนจะแซว สมัยก่อนคนเวียดนามเขาไม่ใช้คำว่าญวน ญวน นี่คือสุภาพนะ เขาจะเรียกว่า แกว เป็นคำไม่สุภาพ ‘บ้านนี้เป็นแกวนะ’ เรียกแบบนี้มาตลอดเลย ทำให้เรารู้สึกแปลกแยก รู้สึกแตกต่าง นี่คือตั้งแต่เกิดมามันก็จะเป็นความรู้สึกถูกกดทับแบบนั้น


ที่โรงเรียน แน่นอน ความตุ้งติ้งของเราทำให้ถูกละเมิด ถูกรังแก ถูกแซวตลอดเวลา


ตอนมัธยมมีครั้งหนึ่งโดนรุนแรงมากต่อหน้าคนอื่น ตอนเข้าแถวจะเรียนวิชาพละศึกษา บางคนเข้าแถว บางคนไปเข้าห้องน้ำ เราก็ถือพัดเดินเข้ามา “โอ๊ยร้อนมากเลย” เพื่อนก็แซวกันใหญ่เลย “คุณครู วิกตอเรีย แบคแฮมมาแล้วค่ะ” เพราะเรามีไอดอลเป็นวิกตอเรีย แบคแฮม เราชอบทำตัวเป็นวิกตอเรีย แบคแฮมทุกอย่างเลย เริด เชิด หยิ่งอะไรงี้ “มาแล้วค่ะ คนสวยของเรามาแล้ว” ครูชี้หน้าด่าหน้าเสาธงเลย “มึงจะเป็นใครมาจากไหนก็แล้วแต่ จะมาทำตัวแบบนี้ไม่ได้ กูไม่ชอบ ทำตัวด๊อกแด๊ก ถ้าเห็นอีกนะจะกระโดดถีบให้หลังหักเลย” โอ้โห น่ากลัวมาก จริงๆ พูดเยอะกว่านี้นะ


หลังจากนั้นก็กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของโรงเรียนเลย เราก็เศร้าสร้อย เสียใจมาก เพื่อนๆ เขาก็ไปเล่าให้พ่อแม่เขาฟัง พ่อแม่บางคนก็ไม่เห็นด้วยบอกว่า “พูดแบบนี้กับต้นได้ยังไง” นับจากวันนั้นมา เวลามีประชุมผู้ปกครอง เราไม่พาใครไปเลยนะ เพราะรู้สึกว่ามันหดหู่ เวลารับใบเกรดไม่พาใครไปเลย บอกที่บ้านว่าไม่ต้องไปก็ได้ สายตามันเปลี่ยนไปแล้วหลังจากนั้น คือทำไมต้องมาด่าเราแบบนั้น มันรู้ทั้งโรงเรียนเลยนะ


ถ้าตอนเด็กๆ จะรู้สึกจัดการตัวเองไม่ได้ รู้สึกเจ็บปวด รู้สึกอยากร้องให้ อยากอยู่คนเดียว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร อยู่บ้านก็เงียบๆ เป็นอย่างหนึ่ง อยู่โรงเรียนก็อีกอย่างหนึ่ง ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่นะ


อยู่ที่บ้านเป็นอย่างไร?

ก็พูด ‘ครับ’ ที่บ้านจะไม่รู้ว่าเราแต่งหญิง


แสดงว่ายังไม่เคยบอก?

ไม่เคยบอก เฉพาะกับพ่อแม่นะ แต่พี่สาวรู้เพราะอยู่ด้วยกันที่นี่


ทุกวันนี้ที่บ้านเขายังแซวอยู่เลยเวลากลับไปตรุษจีนทุกปี เวลาจัดงานตรุษจีน เขาก็จะเลี้ยงทั้งหมู่บ้าน ปิดถนนเลย แถวบ้านเขาก็จะมาถามว่า “แต่งงานรึยังลูก มีเมียรึยัง” วันนั้นพ่อก็มาบอกว่าว่ามีผู้หญิงอยากแนะนำให้รู้จัก เป็นครู เขาก็แนะนำอะไรไป ทุกวันนี้ที่บ้านก็ยังพยายามเสาะหาสิ่งเหล่านี้ให้เราอยู่ แม้กระทั่งเขามาเที่ยวเชียงใหม่ มาหาเราบ่อยๆ เวลาขับรถไปโบสถ์ต้องผ่านตรงสะพานเนาวรัตน์ที่เขาตกปลากัน เขาก็จะถามว่า “ต้นเคยมาตกปลาไหม” เราก็บอก ไม่เคย ไม่ตก “ก็พาสาวมาตกสิ” เราก็ เออๆ ไป มันก็จะเป็นแบบนี้อยู่ทุกวัน นี่คือบรรยากาศกับพ่อแม่นะ พอออกจากบ้านมาปุ๊บ ก็เป็นตัวของเรา คือเราเป็นจีนด้วย เวียดนามด้วย คริสต์ด้วย คาทอลิกด้วย ก็จะค่อนข้างเข้มงวด


ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เรียนมหาวิทยาลัยคริสเตียน ผูกโยงกับสภาคริสตจักร ถึงแม้อธิการบดีจะใหญ่ที่สุดตามตำแหน่ง แต่ฝ่ายที่ใหญ่จริง ๆ ก็คือฝ่ายศาสนา ตอนนั้นชอบทำกิจกรรมและมหาวิทยาลัยก็ยังไม่เคยมี LGBT ที่เป็นแกนนำนักศึกษา เป็นประธานชมรม 4-5 ชมรม เป็นรองประธานขององค์กรนักศึกษา อยู่ๆ วันหนึ่งก็ถูกเรียกให้เข้าไปพบอาจารย์เฉยเลย


อาจารย์คนนี้เขาเก่งมากเรื่องศานาบำบัด เขาเชื่อว่าเขาจะบำบัดเราได้ บำบัดเรื่องความเป็นเกย์ กระเทยของเรา เขาก็เรียกมาคุยก่อนว่า “มีความสุขดีไหมทุกวันนี้ ทุกข์เรื่องอะไรบอกได้นะ ความเป็นเกย์กระเทยมันไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา แต่ถ้ามีอะไรเราช่วยเหลือกันได้” แน่นอนเรารู้ทางเขาอยู่แล้ว ก็ตอบไปว่า “อ๋อ มีความสุขดีค่ะ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ครอบครัวก็ยอมรับ” เราต้องพูดโกหกอะ เพราะเราไม่อยากให้เขามาบำบัดเรา ความคิดของเรามันไม่ใช่ละ จะมาเรียกฉันไปบำบัดมันไม่ใช่เรื่อง ฉันจะเป็นอย่างนี้อะ พูดง่ายๆ เขาอยากให้เราหาย


อะไรเป็นรากของการที่มีคนมองว่าการเป็น LGBT ต้องถูกบำบัด?

หนึ่ง ครอบครัว ความเป็นจีนและเวียดนาม เขาก็ต้องหวังว่าจะได้ลูกชายไว้สืบสกุล ส่วนศาสนา ในไบเบิลเขาก็จะสอนว่าในโลกนี้มีแค่อดัมกับอีฟ พอเราเป็นแบบนี้มันจะคล้ายๆ เป็นซาตาน เป็นแม่มดที่ต้องโดนล่าแบบสมัยก่อน ทั้งๆ ที่มันไม่ถูกบัญญัติในไบเบิลเลยนะว่าเกย์กระเทยนี่ผิดบาป แต่เขาบอกว่าอะไรที่ไม่เป็นไปตามคำสอนก็จะผิด เป็นพวกแม่มด เป็นพวกวิปริต สมัยก่อนแม่มดจะถูกล่าและฆ่าทิ้งถูกไหม เราก็เหมือนกัน ความวิปริตก็คือเป็นโรคจิตอะ เป็นร่างของผู้ชายแล้วเธอเอาผู้หญิงเข้ามาทำไม เธอไม่ใช่คนปกติละ มันก็เป็นคำสอนของศาสนาที่เราถูกกรอกหูทุกวัน เพราะสมัยก่อนเราต้องไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ ต้องตื่นเช้าไปกับพ่อ เรียนพระคัมภีร์ด้วย


ตอนมาเรียนก็เป็นมหาวิทยาลัยคริสต์อีก แน่นอนว่าเขาก็ต้องยึดในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว จำได้ว่ามหาวิทยาตอนนั้นไม่มีการประกวดดาวเทียม ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ มีแล้วนะ ตอนที่เรียนอยู่เราไฟท์มากว่าจะทำ แต่กระแสต่อต้านมาเยอะ อาจารย์ที่ปรึกษาเลยบอกให้ทำประชาพิจารณ์ ส่งรายละเอียดไปให้อาจารย์และคณบดีแต่ละคณะ จดหมายที่ได้กลับมาทุกคนไม่เห็นด้วยกับการประกวดดาวเทียมหมดเลย ให้เหตุผลว่ามันจะเป็นการส่งเสริม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยคริสต์ แค่เนี้ย

 

พี่ต้น4.jpg

 

ทุกวันนี้ก็ยังนับถือศาสนาคริสต์อยู่ แล้วเราตีความศาสนาและคำสอนอย่างไร?

ตีความว่าศาสนาก็คือที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างหนึ่ง เข้าไปแล้วทำให้ใจสงบ แค่นั้นเอง ทุกคนจะอยากมีหรือไม่มีศาสนาก็ได้ ตอนเด็กๆ เราก็นับถือศาสนาคริสต์เต็มที่เลย แต่พอโตขึ้นมารู้สึกว่าทุกศาสนามันดีหมด เราเลยกลายเป็นนับถือความดี อะไรที่มันดี เราทำได้ ไหว้พระเราก็ไหว้ได้ พระแม่กาลีที่กระเทยชอบไหว้ เราก็ไหว้ได้ ทั้งที่จริงทำไม่ได้นะ เป็นคริสต์ต้องไม่ไหว้พระ พ่อไม่ไหว้เลยเพราะเคร่งมาก พอเราโตขึ้น เราเห็นว่าฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทยไปวัดเขายังไหว้พระเลย แสดงว่ามันก็ต้องแยกแยะได้สิ ศาสนามีไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่อะไรที่มันเป็นความดีเราก็ทำได้เช่นกัน ดังนั้นการยึดติดกับคำที่บอกว่าเรามันผิดบาป ก็หายไป


เคยสารภาพบาปในสิ่งที่เราเป็นไหม?

เคย เพราะบาทหลวงเขารู้ เราก็ต้องสารภาพไปแบบกลางๆ ว่า “ก็ต้องขอโทษด้วยที่ไม่สามารถทำในสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา และสิ่งที่พระเจ้าและพ่อแม่คาดหวังได้”


ก็รู้สึกเสียใจว่าทำไมกูต้องมาสารภาพอะไรแบบนี้วะ แต่เผอิญว่ามันอยู่ในบทบัญญัติ อยู่ในความเชื่อ ถ้าเขาบอกเป็นบาปก็โอเค เราสารภาพไป แต่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นบาป เหมือนเวลาทะเลาะกับครูหรือพ่อแม่ บางทีเราไม่ผิดอะ แต่เราต้องยอมรับไป ครูบอกว่าเธอผิดต้องขอโทษ เพื่อให้เรื่องมันจบ ขอโทษก็ได้ แม้เราจะไม่รู้สึกว่าเราผิด ความรู้สึกเป็นแบบนั้น โอเคอยากให้ฉันพูดใช่ไหม แต่ถามว่าสำนึกในจิตใจไม่ได้รู้สึกว่าฉันบาป ทำให้มันเป็นไปตามพิธีกรรม ทุกวันนี้ไม่ค่อยสารภาพบาทแล้วนะ อาจจะมีบ้างเวลาบาทหลวงที่รู้จักกันถาม เช่น เราสารภาพไปว่าเราพูดคำหยาบนู่นนี่นั่น เขาก็จะถามว่า “มีอย่างอื่นอีกไหม เรื่องความเป็นตัวตนของเรา” เขาพูดออกมาเลย อาจเป็นเพราะเสียงเรามันออก ไม่เห็นหน้าแต่เสียงมันออก เราก็พูดไปเถอะ ไม่ได้ซีเรียส


อะไรคือจุดเปลี่ยนจากที่เคยถูกรังแกมาจนมาถึงวันนี้ที่ไม่ซีเรียสแล้ว?

มันกลายเป็นความไม่แคร์อะ แบบไม่ดีนะ เช่น มึงทำร้ายกู เยาะเย้ยกูเรื่องเชื้อชาติใช่ไหม แต่ทำไมมันกลายเป็นว่าคนที่ว่าเรากลับเป็นหนี้พ่อแม่เราหมดเลย กลายเป็นเอาจุดนี้ตอกกลับเลย อันนี้คือด้านมืดที่ไม่ดีที่เราใช้ปะทะกลับตอนเราอยู่มัธยม แต่พอโตขึ้นสักนิดนึง เอ๊ะ แบบนี้มันไม่ใช่ว่ะ บางทีมันก็น่าอายเหมือนกันที่เราไปโชว์พาวแบบนั้น กลายเป็นเปลี่ยนไป ทำกิจกรรมดีกว่า ชอบทำกิจกรรม พอทำเยอะขึ้นมันทำให้เราได้ไปเจอคน พี่ๆ เขาก็จะมาคุยกับเรา มันก็เลยสงบขึ้น การปะทะตอกกลับแบบด้านมืดก็หายไป เพราะได้เรียนรู้จากวิทยากรที่มาพูดเรื่อง การใช้ชีวิต ภาวะผู้นำ มันเปลี่ยนเรา เลยกลายเป็นว่ามาทำกิจกรรมดีกว่า มันทำให้เราคิดว่าการปะทะแบบนั้นมันไม่เวิร์คหรอก ความจริงมันไม่มีความสุขนะ จะว่าไปมันเหมือนกับเราหาอะไรที่เวอร์ๆ มาลบปมด้อยของตัวเอง


ถ้ามองสังคมสมัยก่อนกับตอนนี้ คิดว่าสังคมไทยเปิดรับ LGBT มากขึ้นไหม?

แน่นอนสิ เปิดรับมากขึ้น แต่มันไม่ทั้งหมด ไม่ 100% 

สมัยก่อนนี่อะไรก็จะเป็นเรื่องตลก จนทำให้เรารู้สึกว่าไม่กล้าจะไปพูดกับใครแม้กระทั่งชาวบ้านหรือร้านค้า ตอนเด็กๆ เราไม่กล้าเปิดตัวแม้กระทั่งกับครูและคนรอบข้าง แต่ตอนนี้จิตใจเราเข้มแข็งมากขึ้น เราก็เลือกว่า โอเค กับพ่อแม่ไม่เปิดไม่เป็นไร เราแคร์ครอบครัวมากที่สุด แต่กับข้างนอกเราเริ่มเปิดได้แล้ว สมัยก่อนกับแม่ค้า เราก็ “สวัสดีครับ” นะ 

 

สังคมไทยยอมรับ LGBT แต่เป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข?

สังคมยังไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นมนุษย์ แต่ดันไปให้ความสำคัญว่า ถ้าคุณเกิดมาแล้วคุณเป็นอะไรได้บ้าง ไม่ใช่แค่ LGBT นะ ทุกคนเลย ผู้หญิงก็เหมือนกัน คนพิการก็เหมือนกัน คนที่ไม่รวยก็เหมือนกัน คนที่ชีวิตย่ำแย่ก็เหมือนกัน คนที่ชีวิตเพอร์เฟ็กต์จะไม่ถูกมองแบบนี้ แต่ถ้าเป็น LGBT ปุ๊บก็จะมีเงื่อนไข “โตมาเป็นคนดีนะลูก อย่าติดยา” อะไรแบบนี้ “เรียนให้จบ เรียนให้ดี ๆ ให้เก่งๆ ไม่ทำตัวให้เดือดร้อน” หรือถ้าเป็นกระเทยก็ “ถ้าเป็นก็เป็นให้สวยไปเลยนะ อย่าเป็นแบบกล้ามใหญ่ ดำ หรือสกปรก ซกมก”


เคยเจอญาติบางคนบอกว่า “เอ๊ะ เป็นเกย์ทำไมทำตัวซกมกอะ ไม่ค่อยเก็บของเลย” หรือ “นี่เขาเป็นเกย์กันเหรอ แต่งตัวไม่เห็นเนี้ยบเลย” เราก็ เอ้า! มันเกี่ยวกันด้วยเหรอวะ? กลายเป็นว่าสังคมของ LGBT เองก็ใส่กรอบให้ตัวเองเหมือนกันว่า ถ้าจะเป็นเกย์ เป็นกระเทย ต้องสวย ไม่กล้ามเกร็ง ต้องดูละมุน ถ้าไม่ดูละมุนปุ๊บจะไม่สวย ดูสกปรก ถ้าไม่มีแบรนด์เนมก็จะถูกแบ่งแยกออกไป แบ่งแยกไปเรื่อยๆ เป็นกระเทยในเมือง กระเทยบ้านนอก กระเทยมีการศึกษา กระเทยโรงเรียนคริสต์ กระเทยโรงเรียนรัฐบาล มันมีไปหมดเลย ทุกวันนี้มันก็ยังมี กลายเป็นมีเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มเหล่านี้ต้องถีบตัวเองขึ้น พอถีบตัวเองขึ้นได้ปุ๊บก็รู้สึกภาคภูมิใจ


ใกล้ตัวเลย น้องบางคนบอกว่า “ทุกวันนี้หนูมีสิ่งเดียวที่พูดกับคนได้ คือหนูจบ มช.” เอ้า! มึงบ้ารึเปล่า กลายเป็นว่าการเรียนจบ หรือเข้า มช.ได้ถือเป็นความเริดเหรอ “มันก็อ้างได้ โชว์ได้” เราก็ต้องบอกเขาว่ามันไม่เกี่ยวกัน แสดงว่าเขาอยู่ในกรอบว่าเขาต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่โชว์ได้เพื่อจะเป็นที่ยอมรับในสังคม สวย รวย เก่ง จะถูกสนใจ แต่ถ้า ไม่สวย ไม่รวย ไม่เก่ง ทำตัวทั่วไป จะถูกมองข้ามและถูกตีตรา “เนี่ย เป็นกระเทยแล้วยังเรียนไม่เก่ง” อ้าว! คำถามคือ ผู้ชายผู้หญิงก็มีที่เรียนไม่เก่ง “เป็นกระเทยทำไมไม่สวย” อ้าว! ผู้ชายผู้หญิงไม่สวยไม่หล่อก็เยอะแยะ กลายเป็นมันก็เข้าสูตร สวย รวย เก่ง

ถ้าไม่เข้าแผนที่เกย์กระเทยกำหนดเอง และที่สังคมกำหนดให้ คุณก็จะถูกมองอย่างนี้ ถูกมองเปรียบเทียบไปเรื่อยๆ


กิจกรรมทั้งหมดที่ทำอยู่ทุกวันนี้ อยากทำเพื่อสร้างสังคมแบบไหน?

อยากสร้างสังคมให้เกิดความเท่าเทียมกัน เอาง่ายๆ อยากให้คนเริ่มต้นด้วยการมองคนที่ความเป็นมนุษย์เลย แค่นี้จบแล้วนะ ความเหลื่อมล้ำจะไม่มีและนโยบายต่างๆ ก็จะตามมา ใครเกิดมาสูง ต่ำ ดำ ขาวเพศไหนก็แล้วแต่ ถ้าคุณมองมนุษย์เป็นมุนษย์ เขาจะทำอะไรก็เรื่องของเขา เขาจะเป็นเพศอะไรก็เรื่องของเขา เขาจะอยากสวยแค่นี้มันก็เรื่องของเขา เขาอยากจะมีความสุขอยู่ตรงนี้ก็เรื่องของเขา สุดท้ายเขาเป็นมนุษย์ แค่นั้น ทุกวันนี้คนเราไม่มองว่าคนเป็นมนุษย์ไง ดันไปมองภายนอกของคนที่เดินมาว่าเขาทำอะไร เป็นเพศอะไร มีเงินเยอะไหม แต่งตัวสวยไหม มีรถขับไหม จะให้ความสำคัญตรงนั้น รถเบนซ์มาโอ้ แต่งตัวสวยมา โอ้ ได้ลัดคิว หรือได้รับความสำคัญเป็นพิเศษ เป็นกระเทย ถูกหัวเราะนิดนึง ถูกแซวนิดนึง เพราะเขาไม่มองสาระความเป็นมนุษย์ แต่มองสาระความเป็นภายนอก มองที่ความไม่เท่ากันของคน


เราต้องการให้มองคนว่าเท่าเทียม ไม่ต้องเท่ากัน เท่ากันนี่มันยาก จะให้คนเรามีเงินเท่ากันทั้งหมดได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้ เท่าเทียมคือความเป็นมนุษย์ กรีดเลือดออกมามันเป็นสีแดงเหมือนกัน จบไหม แต่คนเราไม่ได้ดูข้างในไง ความจริงกรีดเลือดออกมาเนี่ย ไม่ใช่ว่ากระเทยเป็นสีม่วงนะ เป็นสีแดงเหมือนกัน แปลว่าอะไร แสดงว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ทำไมทุกวันนี้คุณไปให้ความสำคัญกับหนังข้างนอก เสื้อข้างนอก การเดินตุ้งติ้งของเขา การใส่ส้นสูงของเขา การแต่งตัวแปลก ๆ ไปให้ความสำคัญตรงนั้นทำไม นั่นมันชีวิตเขา คุณควรจะเคารพเขาสิ ถ้าเขาไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้คุณ แต่ถ้าเขาไปทำความเดือดร้อนให้คุณหรือกระทบสังคม เออ อันนั้นค่อยว่ากัน

 

พี่ต้น3.jpg

 


ในสังคมไทยยังมีประเด็นไหนที่เลือกปฏิบัติต่อ LGBT?

เยอะแยะ ที่เห็น อยู่ก็ พ.ร.บ.คู่ชีวิต การรับรองเพศสภาพ คำนำหน้านาม เรื่องของอาชีพ พนักงานบริการ การไม่รับบริจาคเลือด การเลือกปฏิบัติเรื่องของการทำงานทั้งหมด ทุกอาชีพเลยนะ อย่างที่รู้อยู่บางอาชีพไม่รับกระเทยและคนข้ามเพศ เช่น อัยการ ผู้พิพากษา ตำรวจ คนข้ามเพศอาจจะทำไม่ได้ เรื่องการแต่งกายในระบบราชการให้ตรงกับอัตลักษณ์ที่เราเป็น หรือเรื่องระบบการศึกษาการแต่งตัวในวันรับปริญญา


มีความหวังไหม?

มีสิ ทุกอย่างมันมีความหวัง แต่ทุกอย่างมันก็มีเงื่อนไขอยู่ดี
อย่างการแต่งกายและคำนำหน้านาม ความหวังมันมี แต่เรายังหาจุดเชื่อมกันไม่ได้ระหว่างคนในสังคมกับ LGBT ด้วยกันเอง คนในสังคมก็จะมองว่า ถ้าอนญาตให้เปลี่ยนได้คนเขาจะสับสนรึเปล่า มองเดิม ๆ ว่ากระเทยจะไปหลอกผู้ชายรึเปล่า จะทำให้โลกมันวุ่นวาย ส่วนกลุ่ม LGBT กันเองก็จะรู้สึกว่า คนที่จะใช้คำนำหน้านามได้น่าจะต้องเปลี่ยนทั้งหมด เปลี่ยนทั้งหมดหมายความว่าถ้าคุณอยากได้นางสาว คุณก็ต้องมีนม ต้องผ่าตัดแปลงเพศ เพราะมันคือความสมบูรณ์ของการเป็นผู้หญิง ผู้ชายข้ามเพศก็เหมือนกัน ถ้าอยากได้คำว่านาย ก็ต้องแปลงเพศทั้งหมด


ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่นะ คำนำหน้านามมันน่าจะเป็นแค่เอกสารหนึ่งเท่านั้นเอง คล้าย ๆ กับชื่อที่จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมายังได้เลย ถ้าเกิดในวันหนึ่ง ฉันจะเปลี่ยนเพศเป็นสิบครั้งจะเป็นอะไรไป มันเป็นความพึงพอใจของฉันถูกไหม อย่างนามสกุลนี่เป็นสิ่งสำคัญเลยนะ ทำไมมันเปลี่ยนได้เป็นร้อยรอบตามฮวงจุ้ย แล้วคำนำหน้านามคุณจะไปซีเรียสทำไม มันไม่ควรมีด้วยซ้ำ อาจจะใช้คำว่า ‘คุณ’ ให้หมด แล้วคุณคนนี้จะแต่งงานกับใครก็แล้วแต่


แต่ปัญหาก็คือว่าคนกันเอง เกย์ กระเทย เขาก็มองว่าไม่ได้สิ เธอจะมาใช้นางสาวแบบฉันไม่ได้ ฉันต้องสู้ก่อนเพราะฉันแปลงเพศแล้ว แต่คุณอย่าลืมว่าบางคนใช้ชีวิตโดยมีจิตใจเป็นผู้หญิง เขาอาจจะมีปัญหา เช่น ไม่มีเงินแปลงเพศ มีเงินเยอะแต่สุขภาพไม่ดี ผ่าตัดใหญ่ไม่ได้ คุณหมอไม่ให้ผ่า แต่เขาใช้วิถีชีวิตที่เป็นคนข้ามเพศไปแล้ว แล้วคุณจะทำยังไงกับเขาอะ หรือกระเทยตามชนบท ฉันเป็นผู้หญิงมากเลย แต่ตัวและกล้ามเกร็งไปหมด เพราะทำงานหนัก มีแฟนเป็นผู้ชายแล้วใช้ชีวิตแบบครอบครัวทั่วไป คนที่เขาแปลงเพศก็จะมองว่า “ไม่เห็นเหมือนผู้หญิงเลย กล้ามก็เกร็ง” คนเราควรจะมองที่วิถีชีวิตสิ เมืองนอกเขาก็มองที่วิถีชีวิต เด็กบางคนถูกรับรองเพศสภาพตั้งแต่เด็ก

 

สุดท้ายมันกลับมาที่จู๋กับจิ๋มอีกแล้ว กลับมาสู่กรอบสองเพศ ทุกวันนี้เขาดันมองเป็นเครื่องเพศ ทำไมคุณไม่มองเป็นอวัยวะล่ะ เหมือนหู ตา จมูก ซึ่งคุณจะทำอะไรก็ได้ หูจะตกแต่งยังไงก็ได้ ทำไมคุณไม่มองอย่างนั้น ดันไปมองว่าจู๋กับจิ๋มเป็นอวัยวะเครื่องเพศ และเป็นสัญลักษณ์ความเป็นเพศของมนุษย์ ทำไมไม่มองว่าแก้มเป็นเครื่องเพศบ้างอะ คุณต้องมองให้เป็นอวัยวะอย่างหนึ่งเหมือนหู จมูก ปาก ส่วนคนเราจะไปใช้ยังไงก็เรื่องของเขา จะใช้ฉี่ก็เรื่องของเขา จะใช้สืบพันธุ์ก็เรื่องของเขา บางคนเกย์กระเทยจะไม่ใช้สืบพันธุ์ก็เรื่องของเขา คุณดันไปมองว่าการสืบพันธุ์คือชายหญิงนะ เอ้า! เกี่ยวไหม การสร้างครอบครัว การมีลูกอาจจะไม่ได้มาจากเฉพาะการสืบพันธุ์ก็ได้ การสร้างครอบครัวมันมีหลายอย่าง คุณอย่าไปมองว่าจู๋กับจิ๋มเท่านั้นที่จะสร้างครอบครัวได้ มันไม่ใช่ 

 

ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเรื่องความหลากหลายทางเพศ เจออุปสรรคอะไรบ้าง?

อุปสรรคที่น่ากลัวที่สุด คือความเป็น LGBT ด้วยกันเองนี่แหละ มันมองไม่ตรงกัน เราต้องการให้สังคมยอมรับเราและเคารพเรา แต่ LGBT ไม่เคารพกันเอง
LGBT บางคนที่สวยรวยเก่งไม่เคารพเกย์กระเทยที่ไม่สวยหรือไม่แปลงเพศ ‘ฉันจะไม่ให้คำว่านางสาวกับเขา ฉันจะไม่ยอมรับ’ เนี่ยเห็นไหมมันน่ากลัว นี่แค่ตัวอย่างหนึ่งนะ พอดูถูกกันเองปุ๊บ ให้คุณค่าไม่เท่ากันปุ๊บ มันก็ไม่ไปด้วยกันสิ บนเวทีบอกได้เลย ฝั่งที่แปลงเพศกับฝั่งไม่แปลงเพศ มองหน้ากันแล้วมีคนพูดว่า “เรื่องเยอะ เพศก็ไม่แปลงแล้วอยากจะได้นางสาวกับเขา” นี่คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด LGBT ไม่มองจุดเดียวกันและไม่เคารพกันเอง


อุปสรรคอันดับที่สอง คือสังคมยังไม่ให้การยอมรับ ด้วยเรื่องของศาสนา ความเป็นวิชาการอะไรก็แล้วแต่ เหมือนช่วงปี 2552 ที่พวกเราจะจัดงาน Gay Pride แล้วมันล่ม เพราะคนที่ไม่เห็นด้วยเขาบอกว่ามันผิดประเพณี เป็นกาลกิณีของสังคม มันทำให้เห็นว่า เออ ความเชื่อเรื่องนี้มันลึกจริง เกย์กระเทยกลายเป็นเรื่องไสยศาสตร์ไปเลย แต่เรามองว่ามันก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ เลยให้เป็นอุปสรรคที่มีความยากอยู่อันดับสอง


อันดับสาม ก็ทั่วไปแหละ โครงสร้างเชิงนโยบาย เรามองว่ามันง่าย ยังไงมันก็ง่าย ถ้าเราแก้ข้อหนึ่งได้พร้อมเพรียงกัน แก้กฎหมายก็ไม่น่าจะยาก ถึงแม้มันจะใช้ระยะเวลา แต่มันก็แก้ได้ อย่างกฎหมายข่มขืน สู้กันมาหลายปีสุดท้ายมันก็ได้ แต่เราต้องให้เวลากับนักกฎหมาย จำได้ไหม สมัยก่อนเกย์กระเทยถ้าถูกข่มขืนจะมีโทษแค่อนาจาร แต่มันสู้มาพร้อมกับผู้หญิงที่กฎหมายบอกว่าสามีไม่สามารถข่มขืนภรรยาได้ เราก็แก้ไปพร้อมกันเลย จะ 10 ปี 20 ปี 40 ปี ก็แก้ได้ แต่ย้อนกลับมาที่อุปสรรคข้อหนึ่ง ความป็นกระเทยที่ไม่เข้าใจกัน เกย์กระเทยมีมากี่พันปี ทำไมเรายังเข้าใจกันไม่ได้ เมืองนอก พ.รบ.คู่ชีวิตทำไมถึงผ่าน เพราะสังคม LGBT ของเขาเข้มแข็งมาก แต่ทุกวันนี้สังคมไทยยังเป็นแบบนั้นไมได้ เพราะทัศนคติภายในของ LGBT เองยังมองไม่ตรงกันและไม่เข้าใจ LGBT ด้วยกันเอง ยังยึดติดอยู่กับเงื่อนไขทั้งหลายแหล่

 

พี่ต้น2.jpg


ทุกคนเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้จริงไหม?

ทุกคนสามารถเป็นนักปกป้องสิทธิได้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะรู้ตัวหรือเปล่า ส่วนมากอาจจะไม่รู้ตัว

เอาแค่ที่โรงเรียน เมื่อมีการเลือกปฏิบัติในโรงเรียน แล้วมีเด็กคนหนึ่งบอกว่า เอ๊ะ ทำไมกูไม่ได้เป็นดรัมเมเยอร์วะ สมมตินะ แค่เขารู้สึกแค่เนี้ย แสดงว่าเขาเป็นนักปกป้องสิทธิแล้ว แต่เขาไม่คิดว่าเขาเป็นนักปกป้องสิทธิ เขาคิดว่าเขาเป็นเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ที่คิดว่าเอ๊ะ ทำไมกูไม่ได้เป็นดรัมเมเยอร์วะ เอ๊ะทำไมครูถึงไม่เลือกกู ทำไมครูถึงไม่สร้างกระบวนการคัดเลือกและรับสมัคร ถูกไหม หรือแม้แต่การเป็นตัวแทนไปแข่งวิชาการหรือแข่งรำ นี่ก็เคยคิดสมัยก่อน ทำไมเขาไม่ถามทุกคนวะ แข่งทำบายศรี แข่งเต้น แข่งวิชาการ หรือเวลาจะไปออกค่าย ทำไมเขาไม่ทำใบสมัคร เพราะส่วนมากครูจะเลือกคนที่ได้เกรดสี่ไปก่อน ใครสวยไปก่อน จะไม่มองคนที่ต่ำกว่า 1.5 หรือเด็กหลังห้อง แต่เด็กมันรู้สึกไง เอ๊ะทำไมเรารู้สึกว่าเราไม่ถูกเลือกอะไรเลย ทั้งที่บางอย่างเราก็ทำได้ มันต้องทำใบสมัครสิ แล้วให้เด็กสมัครด้วยความสมัครใจ อยากเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ไปสมัคร อยากแข่งขันวิชาการ ไปสมัครอยากไปเข้าค่าย สมัครสิ ทำไมเลือกเอาแต่พวกหน้าห้อง เราก็อยากไปนะ


คนเราคิดว่าฉันไม่ใช่นักปกป้องสิทธิ เพราะนักปกป้องสิทธิคือคนที่ทำงานในองค์กรสิทธิ ทั้งที่ทุกคนเป็นอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใครมาจุดประกาย ให้เขารู้สึกว่า สิ่งที่คุณคิดนั่นแหละ คุณกำลังจะลุกขึ้นมาเป็นนักปกป้องสิทธิแล้วนะ ไฟมันอยู่ในตัวแล้ว แต่เด็กบางคนอาจจะโชคดี อย่างแอมเนสตี้พยายามเข้าไปในโรงเรียน ไปออกบูธ ไปทำให้เขารู้สึกว่าแบบนี้มันใช่แล้วนะลูกนะ


นักปกป้องสิทธิมันไม่จำเป็นต้องประกาศตัวเอง หรือไปสมัครงานองค์กรสิทธิ คุณเป็นได้หมดเลยในโลกใบนี้ คุณจะเป็นแม่บ้านแล้วคุณได้รับเงินเดือนช้า คุณก็เป็นนักปกป้องสิทธิแล้วถ้าคุณลุกขึ้นมาพูดถามว่าทำไมฉันได้เงินช้า หรือพนักงานบางคนมาถามว่า ขอเบิกเงินได้ไหม ถ้าเราบอกว่าไม่ให้ มันก็อาจจะผิดกฎหมายแรงงาน ทุกคนเป็นได้หมดแหละ แค่เขารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมในตัวเขานิดนึง ก็เป็นนักปกป้องสิทธิแล้ว


อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้ยังคงทำในสิ่งที่ทำอยู่?

ง่ายๆ ก็คือ เรายังมีชีวิตอยู่ แล้วเราก็ยังมีพลังที่จะทำได้ และเราคิดว่าเรามีความสามารถในการที่จะทำได้ อีกอย่างปัญหามันยังไม่หมดไป มันยังมีอยู่ มันเลยทำให้เรากล้าทำ


ที่กล้าทำเพราะเรามองแล้วว่าเราทำแล้วมีความสุข เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง สังคมและคนรอบข้าง และเราคิดว่าความกล้าของเรามันก็เป็นส่วนเล็ก ๆ ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ เราทำทุกเรื่องด้วยนะ ไม่ได้ทำแค่ LGBT ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะถ้าฝั่งหนึ่งได้ อีกฝั่งก็ต้องได้อยู่ดี เช่น ไปช่วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตัวLGBTก็ต้องได้ประโยชน์อยู่แล้วเพราะ LGBT ก็คือคนหนึ่งในสังคม ทุกคนมันเชื่อมโยงกันในทุกประเด็นอยู่แล้ว เลยมองว่าถ้าเรากล้าที่จะทำในทุกประเด็น ไปช่วยประเด็นอื่นด้วย มันก็เอื้อประโยชน์ให้กันและกันในฐานะที่เป็นมนุษย์

////

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวแคมเปญ "กล้า" หรือ “BRAVE” เพื่อผลักดันให้รัฐบาลทั่วโลกมีมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้คนทั่วไปหันมาสนับสนุนงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีทีผ่านมาผู้กล้าทั่วโลกต่างลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ส่งผลให้พวกเขาตกเป็นเป้าโจมตีและคุกคามจากผู้เสียผลประโยชน์มากขึ้นเช่นกัน

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือใคร?

คือคนที่ลงมือทำเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยไม่ใช้ความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ หรือความรุนแรง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นใครก็ได้ ตั้งแต่นักข่าว ทนายความ อาจารย์ นักกิจกรรม ผู้นำชุมชน ไปจนถึงชาวไร่ชาวนาและคนธรรมดาทั่วไปที่กล้าออกมาทำเพื่อส่วนรวม

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือ "ผู้กล้า" ที่ออกมายืนหยัดเพื่อสิทธิของเราทุกคน ในวันที่พวกเขาถูกคุกคามจึงถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องแสดงพลังสนับสนุนการทำงานอันกล้าหาญของพวกเขา เพื่อให้พวกเขาทำงานได้อย่างปลอดภัยและเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

 

“ปลุกความกล้าในตัวคุณ!”