ข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของ Sex Workers

19 สิงหาคม 2558

เรื่อง : ชำนาญ จันทร์เรือง
เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 19 สิงหาคม 2558

 

จากการที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีมติรับรองนโยบายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ Sex Workers(ผมขอใช้ทับศัพท์ไปก่อน) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ในการประชุม International Council Meeting ณ กรุงกรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ โดยมีผู้แทนจากทั่วโลก ซึ่งผมและคณะจากประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งมติดังกล่าวเน้นไปที่การยกเลิกโทษทางอาญา(decriminalization)จึงมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยตามมาอย่างมากมาย และบางส่วนยังสงสัยในแนวนโยบายนี้ นั้น ผมจึงขอนำขอสงสัยที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับและประมวลเป็นคำถามคำตอบมาเสนอโดยย่อ ดังนี้

 

1) ทำไมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงจำเป็นต้องมีนโยบายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ Sex Workers


Sex Workers เป็นหนึ่งในกลุ่มที่อยู่ชายขอบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก ในหลายประเทศพวกเขา(ทั้งหญิงทั้งชายและทุกเพศสภาพ)ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรงและการปฏิบัติมิชอบอยู่เสมอ ซึ่งในหลายๆกรณีพวกเขาถูกละเมิดและปฏิบัติมิชอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและลูกค้ารวมถึงจากบุคคลที่สามด้วย ตัวอย่างจากการสำรวจเมื่อปี 2010 ที่ปาปัวนิวกินี 50% ถูกรุมข่มขืนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มลูกค้า


2) อะไรคือความแตกต่างระหว่างการทำให้ถูกกฎหมาย(legalization)กับการยกเลิกโทษทางอาญา(decriminalization) ทำไมถึงแอมเนสตี้ฯถึงไม่เรียกร้องให้การขายบริการทางเพศ( Sex Work) เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย


การยกเลิกโทษทางอาญา(decriminalization)ก็หมายความว่าเมื่อมีการขายบริการทางเพศ Sex Workers จะไม่เป็นผู้ที่ละเมิดกฎหมายอาญาอีกต่อไป พวกเขาจะไม่ถูกบีบบังคับให้อยู่นอกกฎหมายและจะทำให้การกำหนดกรอบคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทำได้ดีกว่า


ส่วนการทำให้ถูกกฎหมาย(legalization)นั้นหมายความว่ารัฐจะสามารถทำกฎหมายและนโยบายเฉพาะมากำหนดเกี่ยวกับการขายบริการทางเพศ(sex work) มันจึงทำให้เกิดระบบที่เรียกว่า “สองระดับ(two tier system)” ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อยู่นอกกฎหรือนโยบาย(เช่น การจดทะเบียน – ผู้เขียน)ยังเป็นผู้ที่จะต้องถูกลงโทษทางอาญาอยู่


เมื่อพวกเขาไม่ถูกปฏิบัติเยี่ยงอาชญากรแล้ว ความเสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติอย่างแข็งกร้าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมลดลง การยกเลิกโทษทางอาญาจะเป็นการคืนสิทธิแก่พวกเขาที่จะประกอบอาชีพโดยไม่ต้องมีสังกัด


3) การยกเลิกโทษทางอาญาจะส่งเสริมให้มีการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นหรือไม่


แอมเนสตี้ฯมีความชัดเจนในการประณามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบอย่างรุนแรง และเมื่อพวกเขาไม่ถูกปฎิบัติเช่นผู้ประกอบอาชญากรรมแล้ว พวกเขาสามารถให้ความร่วมมือกับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่จะชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ค้ามนุษย์และใครเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์


องค์กรต่างๆ เช่น Global Alliance Against Trafficking Women,Anti-Slavery International และ International Labour Organization ต่างก็เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษทางอาญา(decriminalization) ว่าจะเป็นส่งเสริมให้มีการรับรองสิทธิของผู้ที่ขายบริการทางเพศและและช่วยยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีต่อพวกเขา ซึ่งรวมถึงการค้ามนุษย์อีกด้วย


4) การยกเลิกโทษทางอาญา(decriminalization)ของการขายบริการทางเพศจะช่วยคุ้มครองสิทธิสตรีอย่างไร


นโยบายของแอมเนสตี้ฯนี้มุ่งที่จะจัดให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงซึ่งบ่อยครั้งที่เป็นผู้ที่อยู่ชายขอบของสังคม ซึ่งความไม่เสมอภาคทางเพศและการเลือกปฎิบัติเป็นสาเหตุหลักของผู้หญิงที่เข้ามาสู่การขายบริการทางเพศ


5) อะไรคือหลักฐานที่แอมเนสตี้ฯใช้สนับสนุนนโยบายนี้


แอมเนสตี้ฯใช้เวลา 2 ปีในการพัฒนานโยบายโดยมีพื้นฐานจากการวิจัยที่แน่นหนาและการหารือกับองค์กรต่างๆรวมถึงประชาชนด้วย แอมเนสตี้ฯทำงานร่วมกับ World health Organization,UN AIDS,the UN Special Rapporteur on the Right to Health และ องค์กรอื่นๆของสหประชาชาติ เรามองถึงจุดยืนของ UN Women,Anti-Slavery International,the Global Alliance in Trafficking in Women


แอมเนสตี้ฯได้ทำวิจัยโดยการสัมภาษณ์Sex Workersมากกว่า 200 คน อดีตSex Workers,ตำรวจ,เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานต่างๆในอาร์เจนตินา ฮ่องกง นอร์เวย์ และปาปัวนิวกินี นอกจากนั้นยังได้มีการหารือร่วมกับ groups representing survivors of prostitution,abolitionist organizations,feminist and other women’s rights representative,LGBTI activists,anti-trafficking agencies,HIV/AIDS activist และกลุ่มอื่นๆอีกมากมาย


6) ผู้ที่ขายบริการทางเพศจำเป็นต้องมีการปกป้อง เหตุใดจึงคุ้มครอง “แมงดา(pimps)”ด้วย


นโยบายของแอมเนสตี้ฯไม่ได้มุ่งคุ้มครองแมงดา บุคคลที่สามที่เอารัดเอาเปรียบและกระทำทารุณต่อ Sex Workers ยังต้องถูกลงโทษลงโทษทางอาญาอยู่


7) เหตุใดแอมเนสตี้จึงไม่สนับสนุนNordic model (เอาผิดเฉพาะผู้ซื้อบริการ-ผู้เขียน)


ในความเป็นจริงแล้วในโมเดลที่ต่อต้านการซื้อบริการฯนี้ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ Sex Workers เพราะจะถูกนำให้ไปยังที่อยู่ของผู้ซื้อบริการเพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่Sex Workers จะถูกทารุณกรรมมากกว่าการขายบริการในสถานที่ของตนเอง


8) เหตุใดแอมเนสตี้ฯจึงเชื่อว่าการซื้อบริการทางเพศเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง


นโยบายของแอมเนสตี้ฯไม่ใช่เฉพาะการคุ้มครองการซื้อบริการทางเพศ แต่เป็นการคุ้มครอง Sex Workers ทั้งหมดที่ต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเชื่อมโยงไปยังการถูกดำเนินคดีอาญา


9) ในฐานะของององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน การลงมติรับรองนโยบายนี้หมายความว่าแอมเนสตี้ฯส่งเสริมให้มีการขายบริการทางเพศใช่หรือไม่


ไม่ใช่ จากพยานหลักฐานชี้ให้เห็นว่าบ่อยครั้งที่Sex Workers เข้ามาสู่วงการนี้ด้วยเหตุเพราะมีทางเลือกทางนี้เท่านั้นที่จะทำให้มีชีวิตรอดโดยไม่มีทางเลือกอื่น


10) อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากที่แอมเนสตี้ฯรับรองนโยบายนี้


จะเป็นการนำไปสู่การพัฒนานโยบายที่ดีที่สุดสำหรับการนำมาใช้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ Sex Workersตามพันธสัญญาของแอมเนสตี้ฯต่อไป

 

กล่าวโดยสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายๆก็คือว่าแอมเนสตี้ฯสนับสนุนให้มีการยกเลิกโทษทางอาญาในการมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของผู้ที่เป็นผู้ใหญ่แล้วด้วยกัน และการขายบริการทางเพศที่เกิดขึ้นจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับขู่เข็ญ การเอารัดเอาเปรียบหรือการทารุณกรรมครับ