Amnesty International Thailand
หลังผลการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ผลปรากฏว่าประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติดำรงตำแหน่งตามวาระปี 2568 – 2570 จะชวนมาทบทวนคำสัญญาและบทบาทหน้าที่ สิ่งที่ต้องดำเนินการ ความรับผิดชอบที่รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตาม เพื่อตรวจสอบและเรียกร้องตามมาตรฐานสากล ให้ประเทศไทยได้ยืนอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เต็มภาคภูมิ
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคืออะไร?
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือ United Nations Human Rights Council เรียกแบบย่อว่า HRC เป็นกลไกระหว่างรัฐที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตาม มติสมัชชาแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2549 ถือเป็นองค์กรภายใต้สหประชาชาติ มีหน้าที่ในการพิจารณาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และตรวจสอบสถานการณ์ในแต่ละประเทศ โดยมีหน้าที่สำคัญในการสอดส่องดูแล การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก พร้อมหยุดยั้งการละเมิดสิทธิ มนุษยชนที่เกิดขึ้น สร้างบรรทัดฐานของการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พร้อมให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถสำหรับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ
HRC มีกี่ประเทศ เป็นสมาชิกได้นานแค่ไหน?
HRC ประกอบด้วยสมาชิก 47 ประเทศ และสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสิทธิมนุษยชน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการให้สิทธิมนุษยชนได้รับการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ แต่ละประเทศจะเป็นสมาชิกได้วาระละ 3 ปี ติดต่อกันได้มากที่สุด 2 วาระ โดยในการเลือกตั้งปีนี้มี 19 ประเทศที่ลงสมัครเพื่อชิง 18 ที่นั่ง โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีผู้สมัคร 6 ประเทศชิง 5 ที่นั่ง ได้แก่ ไซปรัส หมู่เกาะมาร์แชล กาตาร์ เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และ ไทย โดยประเทศไทยเคยเป็นสมาชิกมาแล้วหนึ่งครั้ง ในวาระปี 2553 – 2556
ความพร้อมของประเทศไทยด้านสิทธิมนุษยชน?
เมื่อเดือนกันยายน 25661 รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพรับรองผู้แทนจากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมเพื่อเปิดตัวการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) ของไทย วาระปี 2568 – 2570 โดยแสดงความมุ่งมั่นในการ
- ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและค่านิยมประชาธิปไตย และคุ้มครองสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
- ใช้มาตรการคุ้มครองดูแลผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง อาทิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การศึกษาเพื่อปวงชน
- ส่งเสริมความเสมอภาค ความเท่าเทียม และความยุติธรรมทางสังคม
- สนับสนุนงานและการกำหนดทิศทางของ HRC ภายใต้บริบทของความท้าทายใหม่ในโลกที่เปลี่ยนแปลง เช่น ความขัดแย้งต่างๆ การฟื้นตัวจาก Covid-19 ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมให้ HRC มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น รองรับประเด็นสิทธิมนุษยชนสำหรับคนรุ่นหลังในอนาคต
- เป็นบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างการหารือ และการเป็นผู้ประสานท่าทีต่าง ๆ (bridge-builder) อย่างสร้างสรรค์ ประกาศจุดยืนว่าจะทำงานร่วมกับทุกประเทศและทุกภาคส่วนเพื่อความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน
- ประสานความร่วมมือทางวิชาการและการเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านสิทธิมนุษยชน
เสียงตอบรับจากองค์กรภาคประชาสังคม
หลังจากการเปิดตัวดังกล่าว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในด้านสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ชุมนุม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองเช่น ศูนย์ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนานิรโทษกรรมประชาชน เพื่อร่วมหาคำตอบ ถกคำถาม และร่วมกันประเมินว่าประเทศไทยพร้อม เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือไม่? โดยในวงเสวนาครั้งนั้น ได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ ว่าได้ช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกมากถึงปีละ 30 – 40 คดี ขณะที่ปี 2563 ที่เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนทำให้ศูนย์ทนายฯ ต้องช่วยเหลือมากถึงปีละ 234 คดี ส่วนคดีมาตรา 112 ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออกของกลุ่มคนที่เห็นต่างพบว่ามีคนถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนสูงถึง 378% ภายหลังการชุมนุมใหญ่ปี 2563
ทางด้านข้อมูลของ Mob Data Thaialnd เปิดเผยว่า ปี 2563 มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 3,582 ครั้งจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการชุมนุมที่เกิดขึ้นมีหลากหลายประเด็นที่เชื่อมโยงกับสิทธิของประชาชนทั้งหมด เช่น ความเท่าเทียม สิทธิในที่ดินทำกิน และการเมือง ซึ่งเผยให้เห็นรอยแผลในสังคม และสะท้อนความล้มเลวของการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทย สำหรับข้อเสนอจากฝั่งนักกิจกรรม ก็ได้พูดถึงการผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นผลดีกับผู้ถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่ในเรือนจำ จำนวน 39 คน (41 คนในปัจจุบัน) และส่งผลดีต่อภาพลักษณ์โดยรวมของไทยที่ได้เข้าสู่การเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยทางเครือข่ายได้รวบรวมข้อเสนอ ซึ่งสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานที่ดีในการทำงานในฐานะสมาชิกต่อไป อ่านรายละเอียดข้อเสนอได้ที่ สัญญาณเตือน ‘รัฐบาลไทย’ก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ‘คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ’ สู่ข้อเสนอ ‘นิรโทษกรรมประชาชน’ ปลดพันธนาการ สร้างความปรองดอง
นอกจากนี้ องค์กรด้านประชากรข้ามชาติ, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, Solidarity Center, มูลนิธิด้านความยุติธรรมและสิ่งแวดล้อม ยังได้จัดงานเสวนาเพื่อวิเคราะห์ถึงความพร้อมของรัฐบาลไทย และยื่นข้อเสนอในประเด็นสิทธิมนุษยชน เพื่อให้รัฐบาลได้นำไปพิจารณาต่อ อ่านข้อเสนอฉบับเต็มได้ที่ มองสถานการณ์แรงงานและประชากรข้ามชาติ ไทยพร้อมแค่ไหน ? กับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ?
ประกาศคำมั่นเพื่อย้ำความตั้งใจ
หลังจากงานเปิดตัว ตัวแทนไทยยังได้เข้าร่วมกิจกรรมประกาศคำมั่นของประเทศผู้สมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในฐานะตัวแทนประเทศไทยในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นงานที่ร่วมจัดโดย Amnesty International และ International Services for Human Rights (ISHR) เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาขิกได้แสดงวิสัยทัศน์และให้คำสัญญากับคณะมนตรีโดยรวม
เนื้อหาหลักของตัวแทนไทยยังย้ำถึงเจตจำนงค์และความสำคัญของการเป็นสมาชิก HRC ตามที่ได้เสนอไว้ตอนเปิดตัว พร้อมด้วยคำมั่นว่าจะดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งสิทธิทางการเมือง พลเรือน และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ ตัวแทนประเทศไทยยังได้ตอบคำถามจากองค์กรภาคประชาสังคมและนักข่าวต่างชาติ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 และการส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาข้ามแดน ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก และการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งมีแนวโน้มฝ่าฝืนภาคีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบััติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี สามารถติดตามเนื้อหาการประกาศคำมั่นพร้อมคำตอบฉบับเต็มได้ที่: https://bit.ly/3XXAT3X
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ถึงวันนี้
ทางการไทยยังคงปราบปรามการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับเด็กหลายร้อยคนที่ยังคงถูกพิจารณาคดีหรือดำเนินคดีอาญาจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคุกคามผ่านกระบวนการยุติธรรมและรูปแบบอื่น ๆ กฎหมายใหม่ที่เอาผิดกับการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหายยังไม่ได้ส่งผลให้เกิดการรับผิดชอบที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงกรณีการหายตัวไปของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองเมื่อปี 2557 มีการจัดตั้งกลไกใหม่เพื่อคัดกรองผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยแล้ว แต่หลายคนยังคงถูกกักตัวโดยไม่มีกำหนดในสภาพที่เลวร้าย ซึ่งส่งผลให้ผู้ต้องขังสองคนเสียชีวิต
ข้อเสนอจากผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ
ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติได้ปาฐกถาในหัวข้อ ”Thailand – In search of the rights way” ใจความสำคัญได้เน้นเรื่องบทบาทของประเทศไทย โดยขอให้รัฐบาลพิจารณาสิ่งที่เคยสัญญาไว้กับภาคประชาชน ทำตามอนุสัญญาต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนระดับสากลที่ได้ลงนามไว้ เช่น เรื่องการใช้ความมั่นคง การปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับสิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้เทคโนโลยีที่ต้องได้รับความปลอดภัยไม่ถูกละเมิดหรือถูกคุกคาม รวมถึงแนวทางรองรับการใช้สิทธิมนุษยชนในอนาคต ถึงแม้จะมีข้อได้เปรียบจากการเคยเป็นสมาชิก วิทิตมองว่าการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในครั้งนี้เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก เพราะประเทศไทยมีหลายอย่างที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น เช่น การใช้กฎหมายที่ขัดกับสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี ความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจ การตีความมั่นคงตามหลักสากล ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทำตามหน้าที่ของตน และปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับองค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนไทยทุกคน