โลกที่ปรารถนายังไม่มีอยู่จริง จึงชวนสร้างโลกใบนั้น ด้วยพลังของสมาชิกแอมเนสตี้

การขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มาจากแรงผลักดันของผู้คนที่เข้ามาเป็นสมาชิก เพราะการเป็นสมาชิกแอมเนสตี้เปิดโอกาสให้คุณมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการทำงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยและระดับสากล

ดังนั้นการปกป้องคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมนุษยชนให้เป็นจริงและยั่งยืนได้ จึงเริ่มต้นได้ด้วยตัวคุณเอง

ชวนอ่านเรื่องราวของสมาชิกแอมเนสตี้สามราย ซึ่งแต่ละคนต่างก็มีเป้าหมายในการสร้างสังคมที่ผู้คนต่างเคารพในสิทธิของกันและกัน เป็นโลกที่น่าอยู่

ทำแท้งปลอดภัย ทำทางไปสู่สิทธิมนุษยชน

กลุ่มทำทาง คือภาคประชาสังคมกลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการด้านสุขภาพที่ปลอดภัยจากการยุติการตั้งครรภ์มาตั้งแต่ปี 2553 ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการรณรงค์แก้ไขกฎหมายและผลักดันเชิงนโยบาย

จากวันแรกของกลุ่มทำทางถึงวันนี้ สุไลพร ชลวิไล แห่งกลุ่มทำทาง บอกว่า ยังมีผู้คนที่แสวงหาบริการที่ปลอดภัยและข้อมูลที่ถูกต้องกับ กลุ่มทำทาง อยู่ตลอดเวลา          

“แทบไม่มีวันไหนที่ไม่มีคนติดต่อเข้ามาเพื่อเข้าถึงบริการค่ะ” สุไลพรกล่าว สะท้อนให้เห็นความต้องการเข้าถึงบริการของประชาชนที่สวนทางกับบทบาทการให้ข้อมูลของภาครัฐ

เดือนธันวาคม ปี 2563 สุไลพรสมัครเป็นสมาชิกแอมเนสตี้ โดยมีเป้าหมายในการนำวาระของกลุ่มทำทาง นั่นคือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมและนโยบายของรัฐในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ให้เป็นวาระหลักในการขับเคลื่อนของแอมเนสตี้ ประเทศไทย เพื่อทำให้เรื่องนี้ถูกขับเคลื่อนอย่างมียุทธศาสตร์และความสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง

“เราจะเห็นว่าผู้เล่นคนสำคัญในเรื่องสิทธิทำแท้งปลอดภัยในระดับสากลคือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แต่เราสงสัยว่าทำไม แอมเนสตี้ ประเทศไทย ไม่เคยพูดเรื่องทำแท้งเลย” สุไลพรเกริ่นถึงจุดเริ่มต้นในการเข้ามาเป็นสมาชิกแอมเนสตี้

จากข้อสงสัยข้างต้น ผลักดันให้สุไลพรตั้งคำถามกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย คำตอบที่ได้รับทำให้เธอเดินเข้ามาสมัครเป็นสมาชิก

“เราถามเขาว่าทำไมแอมเนสตี้ ประเทศไทย ไม่รณรงค์เรื่องทำแท้งปลอดภัย เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้บอกว่า ประเด็นการขับเคลื่อนของแอมเนสตี้จะถูกขับเคลื่อนด้วยสมาชิก ถ้าอยากให้ประเด็นของเราถูกขับเคลื่อน เราต้องเข้ามาเป็นสมาชิก” สุไลพร กล่าว

จากการเป็นสมาชิก ทำให้สุไลพรและกลุ่มทำทางได้พบกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ พวกเขาล้วนแต่สนับสนุนสิทธิในการทำแท้งปลอดภัย เช่นเดียวกับที่สุไลพรก็สนับสนุนแง่มุมอื่นๆ ของสิทธิมนุษยชนที่เพื่อนแต่คนละคนกำลังผลักดันเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย

จากนั้น กลุ่มทำทาง เป็นโต้โผจัดงานเสวนาระดับนานาชาติและทำแคมเปญ นี่คือครั้งแรกในประเทศไทยที่ภาคประชาชนสังคมและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกันยืนยันว่า “สิทธิในการทำแท้งปลอดภัยคือสิทธิมนุษยชน” โดยได้รับการสนับสนุนจากแอมเนสตี้ ทั้งในเชิงข้อมูลระดับสากล งบประมาณ และเครือข่าย

ในปัจจุบัน ประเทศไทยอนุญาตการยุติการตั้งครรภ์ ให้เป็นไปตามการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ในมาตรา 301 และมาตรา 305 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ. 2564

กฎหมายกำหนดให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ที่ทำแท้ง ไม่ถือว่ามีความผิดทางอาญา นอกจากนี้ หญิงที่มีอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ต้องตรวจและรับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น

สุไลพรและกลุ่มทำทางเสนอให้มีการยกเลิกมาตรา 301 ซึ่งลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้งที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ โดยให้มีแนวทางกาาแก้ไขกฎหมายที่สอดรับกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล แยกออกมาจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ โดยมองว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิมนุษยชนและเป็นการเข้าถึงบริการสุขภาพ

ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สิทธิหญิงท้องไม่พร้อมยุติตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยโดยจัดสรรงบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แต่กระนั้นประชาชนก็ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลที่ถูกต้องและบริการที่ปลอดภัย แม้ว่าจะมีกฎหมายรองรับ รวมถึงสิทธิในการเบิกจ่าย

ปัจจุบันมีสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ให้บริการการยุติการตั้งครรภ์ใน 47 จังหวัด

“เราต้องการทำให้ทัศนคติคนเปลี่ยน ให้สังคมเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้นว่ามันมีความปลอดภัย เป็นบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ปลอดภัย และเป็นสิทธิมนุษยชน” สุไลพร กล่าว

ถามสุไลพรว่า วาระสำคัญต่อจากนี้ของกลุ่มทำทางคืออะไร สุไลพรบอกว่า การยกเลิกโทษทางอาญาแก่ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ และการเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ซึ่งเป็นงานยากและต้องการเพื่อนร่วมทาง

“เราต่อสู้ด้วยข้อเท็จจริง” สุไลพร กล่าว “ข้อเท็จจริงที่หนึ่ง…สิทธิในการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองจากสิทธิมนุษยชนสากล สอง…บริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น ถ้าคุณไม่ทำ เขาจะไปทำเถื่อน ซึ่งอันตราย ดังนั้นคุณต้องมีบริการที่ปลอดภัย เพื่อที่จะไม่มีผู้หญิงเสียชีวิต ทั้งที่การทำแท้งมีความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาคนไม่รู้และเข้าไม่ถึง รัฐไม่มีความพยายามจะสื่อสารให้คนรู้ ทั้งหมดอยู่ที่ทัศนคติของผู้ให้บริการค่ะ” สุไลพร กล่าว          

กลุ่มทำทางกำลังต่อสู้เพื่อเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการทำแท้ง แต่กระนั้น สุไลพรก็บอกว่า “แต่เราเคารพเรื่องความเชื่อที่แตกต่าง ถ้าหมอไม่อยากทำ เราก็ไม่อยากบังคับให้คนไม่อยากทำมาให้บริการ เพราะผู้รับบริการจะได้รับการบริการแบบไหนจากหมอที่ไม่อยากทำเรื่องนี้ แต่มีคนที่พร้อมจะทำ และมีข้อเท็จจริงที่สังคมควรรู้

“เราอยากให้แอมเนสตี้มาช่วยกัน เพราะมันไม่ได้จบแค่เพียงว่าเรามีกฎหมาย เพราะสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเรื่องนี้คือทัศนคติ” สุไลพร กล่าว

ถามสุไลพรว่าอะไรคือสิ่งที่ได้รับจากการเป็นสมาชิกแอมเนสตี้ เธอบอกว่า การเข้ามาเป็นสมาชิกแอมเนสตี้ฯทำให้เราได้รู้จักความทุกข์ของคน

“เราเชื่อเรื่องของการลงมือเปลี่ยนแปลง แต่มันต้องเริ่มจากการศึกษา การเป็นสมาชิกแอมเนสตี้จะทำให้คุณเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ถ้าโลกที่คุณปรารถนาคือโลกที่คนเคารพกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน มีความเคารพในสิทธิแก่กัน ก็ต้องบอกเลยว่าโลกใบนั้นยังไม่มีอยู่จริง จึงต้องมีคนอย่างแอมเนสตี้ มีคนอย่างกลุ่มทำทาง มีคนอีกหลายต่อหลายกลุ่มลุกขึ้นมาทำงาน และเราอยากได้เพื่อนที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วยกัน” สุไลพร กล่าว

ความหลากหลายทางเพศในห้องน้ำโรงเรียน

อนันตชัย โพธิขำ หรือ ครูแฮรี่ ของเด็กนักเรียนในโรงเรียนเมืองบุรีรัมย์ ไม่ได้มีเวทมนต์คาถาในการเสกให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในชั่วพริบตา หากแต่ต้องใช้เวลาและองค์ความรู้จนวันหนึ่งบุคลากรในโรงเรียนเกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อผู้ปกครองเสนอต่อคณะผู้บริหารโรงเรียนว่า ลูกหลานของพวกเขาควรจะมีห้องน้ำที่ปลอดภัยและคำนึงถึงความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ

“เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่คาดคิดครับ ตอนนี้ที่โรงเรียนมีห้องน้ำ All Gender Restroom ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ปกครองท่านหนึ่งได้ลุกขึ้นพูดในการประชุมผู้ปกครองว่า โรงเรียนน่าจะสร้างห้องน้ำให้กับบุตรหลานที่เป็น LGBTQ เพราะบางคนไม่กล้าเข้าห้องน้ำชายหรือห้องน้ำหญิง ผู้อำนวยการก็รับเรื่องมาทำทันที” ครูแฮรี่ เล่า

ทีแรกห้องน้ำแห่งนี้จะถูกติดป้ายว่าห้องน้ำ LGBTQ แต่ครูแฮรี่เสนอทีมผู้บริหารว่า ควรใช้ชื่อห้องน้ำว่า All Gender Restroom เพื่อให้คนทุกเพศสามารถเข้าใช้ได้

“เพราะเด็กบางคนยังไม่กล้าเปิดเผยตัวตน มันอาจจะยังเป็นช่วงที่เขายังศึกษาตัวเองอยู่ และไม่กล้าบอกเพื่อน เขาอาจจะถูกเพื่อนล้อ เราก็เลยคิดว่ามันควรใช้ชื่อห้องน้ำว่า All Gender Restroom ก็คือห้องน้ำสำหรับทุกเพศ ครู นักเรียน นักการภารโรง หรือใครก็ตามสามารถใช้ได้หมด” ครูแฮรี่บอก

ห้องน้ำแห่งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนท้องถิ่นและสื่อใหญ่ระดับประเทศ รวมถึง “รัฐมนตรีกระทรวงศึกษามาก็ดูงานที่ห้องน้ำนี้ด้วย” ครูแฮรี่เล่า

แต่ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน หากองค์ความรู้และวิธีการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ถูกสั่งสมมาตั้งแต่ครูแฮรี่ยังคงเป็นนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ครูแฮรี่เข้าร่วมเป็นสมาชิกแอมเนสตี้มาตั้งแต่ปี 2551 สมัยยังเป็นนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์เมื่อหลายปีก่อน          

“ช่วงนั้นผมเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังค้นหาตัวเองว่าอยากทำกิจกรรมอะไร ก็ได้ทำกิจกรรมกับ สนนท. รุ่นพี่ใน สนนท.ก็แนะนำให้มาค่ายเยาวชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ปี 2551 ที่แอมเนสตี้จัด ผมก็เป็นสมาชิกนับแต่นั้นมาจนถึงวันนี้” ครูแฮรี่ เล่าความหลัง

หลังจากนั้น ว่าที่ครูสังคมศึกษาผู้นี้อาสามาฝึกงานที่แอมเนสตี้ฯด้วยตนเอง เพราะสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

“มันเกี่ยวกับวิชาที่เราจะได้สอนเด็กด้วย วิชารัฐศาสตร์หรือวิชาหน้าที่พลเมือง ช่วงนั้นก็เป็นกิจกรรมที่เราสนใจเป็นพิเศษ เพราะเราสนใจงานเพื่อสังคม ที่แอมเนสตี้ก็ทำให้ได้เรียนรู้องค์ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับสากล” ครูแฮรี่ เล่า

หลังเรียนจบ ครูแฮรี่สอบบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา แต่ก็ยังทำงานร่วมกับแอมเนสตี้มาตลอด ตลอดระยะเวลาของการเป็นครูผู้สนับสนุนความรู้นอกห้องเรียนของเด็กๆ เขาได้สะสมองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการออกแบบการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่เยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ งบประมาณ การออกแบบสื่อการเรียนรู้ ฯลฯ ในการทำกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนสำหรับเยาวชนจากแอมเนสตี้

“เราทำค่ายสิทธิสำหรับเยาวชนตั้งแต่บรรจุที่โรงเรียนแรก โดยชวนผู้ใหญ่บ้าน และโรงเรียนมาทำค่ายร่วมกัน เจ้าหน้าที่จากแอมเนสตี้ก็มาช่วยงานนั้นด้วย พอย้ายมาอยู่โรงเรียนประจำอำเภอที่บ้านเกิดในบุรีรัมย์ ก็เป็นโรงเรียนมัธยมที่ใหญ่ขึ้น ผมเป็นที่ปรึกษาสภานักเรียน ก็ได้จัดอบรมค่ายสิทธิมนุษยชน โรงเรียนก็ให้การสนับสนุน นักเรียนก็ให้ความสนใจ เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ก็ลงมาช่วย จัดอบรมความรู้เรื่องสิทธิ

ปัจจุบันครูแฮรี่สอนสังคมศึกษาในโรงเรียนระดับมัธยมในจังหวัดบุรีรัมย์ ควบคู่กับการเป็นกรรมการมูลนิธิเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน และเป็นผู้ก่อตั้งเครือข่ายนวัตกรเพื่อเยาวชนไทย หรือ The Coalition of Innovators for Thai Youth (City) ทำงานด้านสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ

“เราทำนวัตกรรมการสื่อสาร นวัตกรรมการเรียนรู้ เราชวนเด็กๆ มาออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ในประเด็นสิทธิเด็กและความเท่าเทียมทางเพศตามความสนในของกลุ่ม”

สำหรับกิจกรรมในห้องเรียนของเรา ครูแฮรี่ออกแบบห้องเรียนให้เด็กได้เรียนรู้ความหมายหลากทางเพศ โดยใช้คอนเซ็ปต์ SOGIE (Sexual Orientation, Gender Identity and Expression)

“นักเรียนสนใจกันมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้เขาเรียนรู้ตัวตนทางเพศของตัวเองไปด้วย เด็กๆ ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น บางคนอาจจะไม่เคยกล้าพูดกับเรา พอเขาได้เรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศ เขากล้าพูดกล้าแสดงออก กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น บางคนเข้ามาปรึกษา บางคนเข้ามาถาม บางคนอยู่ในช่วงที่เขากำลังศึกษา เขายังไม่เข้าใจก็เข้ามาถามเรา ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เรามองเห็นพัฒนาการ” ครูบอก

ในวิชาหน้าที่พลเมือง ครูแฮรี่ได้นำความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศและสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์สิทธิความเท่าเทียมทางเพศบนโลกใบนี้มาแลกเปลี่ยนกับนักเรียนในโรงเรียน ย่อโลกอันหลากหลายเข้ามาอยู่ในห้องเรียนที่มีพื้นที่จำกัด

“ผมพยายามต่อยอดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศลงในวิชาหน้าที่พลเมือง เพราะมันเชื่อมโยงกับความเป็นพลเมือง ในฐานะที่เราเป็นพลเมืองไทย พลเมืองอาเซียน พลเมืองโลก ต้องเชื่อมโยงให้เห็นว่าเราต้องเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศไปทำไม เรากำลังเรียนรู้ผู้อื่น เรียนรู้ตัวเองด้วย เข้าใจผู้อื่น การอยู่ร่วมกันในสังคม มันก็คือหน้าที่พลเมืองเช่นกัน” ครูแฮรี่ บอก

ถามครูแฮรี่ว่า ในระยะเวลาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ได้อะไรจากการเป็นสมาชิกแอมเนสตี้ ครูบอกว่า “ความรู้”         

“อันดับแรกได้องค์ความรู้ ซึ่งสำคัญมาก ผมเป็นครูวิชาสังคม องค์ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากองค์ความรู้ ผมได้เรียนรู้วิธีทำสื่อการเรียน และยังได้รู้จักเครือข่าย เราได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ครูคนนี้อยู่จังหวัดนี้ทำอะไรบ้าง เขาใช้เครื่องมืออะไรในการขับเคลื่อนประเด็นของเขา เราได้แลกเปลี่ยนความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แต่ก็ไม่ได้มีเฉพาะครู เพราะแอมเนสตี้ยังมีเครือข่ายเยาวชน เครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะสมาชิกแอมเนสตี้มีหลากหลาย มีทุกสาขาอาชีพครับ”

นอกจากสิทธิประโยชน์ในการได้รับข่าวสารและรายงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ ครูแฮรี่บอกว่า หากกรรมการหมดวาระก็จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการ ซึ่งกรรมการจะมาจากสมาชิก ดังนั้น การสมัครเป็นสมาชิกแอมเนสตี้ “ก็จะได้มีส่วนในการผลักดันประเด็นที่ใหญ่ขึ้น และผลักดันประเด็นที่เราต้องการได้” ครูแฮรี่บอก

คลับนิติอาสาพัฒนาสังคม : นักศึกษาภาคสนาม

ณัฐพล อภิรักษ์ลี้พล หรือ เป๋า กำลังเตรียมตัวจะสอบตั๋วทนาย เขากำลังจะโบกมืออำลาชีวิตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เวลา 4 ปีในสถานศึกษาแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้เขาสนใจปัญหาสังคมและต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

“สอบตั๋วเก็บไว้ก่อนครับ แต่ใจก็อยากทำงานทางสังคมอยู่” เป๋า บอก

เป๋าเติบโตขึ้นมาในเมืองนนทบุรี ก่อนที่จะเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เปลี่ยนแปลงทั้งความคิดของเขาและสังคมไทยโดยสิ้นเชิง

“จุดเริ่มต้นของความสนใจปัญหาทางสังคมของผมมาจากการเข้าเรียนที่มหาลัยขอนแก่นครับ ตอนเข้ามาเรียน ผมมีโอกาสได้เจอรุ่นพี่ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย เรามีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปเห็นปัญหา จากที่อยู่นนทบุรี เราไม่เคยเห็นปัญหาเหล่านี้ แต่พอเราไปในหลายพื้นที่ ไปที่ไหนก็มีปัญหาเหมือนกันหมดเลย”

เขายกตัวอย่างปัญหาเหมืองแร่เหมืองเลยที่ทำให้เห็นตั้งแต่กระบวนการทำ EIA ซึ่งชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม รวมถึงการทำร้ายร่างกายชาวบ้านในพื้นที่ ยิ่งชี้ให้เห็นว่ากฎหมายไม่สามารถทำอะไรผู้มีอำนาจได้เลย การลงพื้นที่ศึกษาและค้นคว้าได้ชี้ลึกลงไปถึงสายสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับโครงข่ายอำนาจชนชั้นนำของสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ย้อนกลับมาตั้งคำถามกับวิชานิติศาสตร์ที่เขาร่ำเรียน

“ยิ่งเราเรียนคณะนิติศาสตร์ด้วย มันยิ่งรู้สึกว่ากฎหมายที่เราเรียนในห้องเรียน กับกฎหมายที่ไปเจอในชีวิตจริง เป็นเหมือนหนังคนละม้วน” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ผู้นี้มองว่า ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมาจากปัญหาโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างเศรษฐกิจ ปัญหาในระดับนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนและผู้มีอำนาจในมิติต่างๆ

เป๋าใช้เวลาของชีวิตในปี 2563 ไปกับการชุมนุมทางการเมือง เหมือนกับเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างคึกคักตลอดทั้งปี พอปี 2564 เขากับเพื่อนจึงก่อตั้งชุมนุมนิติอาสาพัฒนา ขึ้นมาเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคม

“ตอนปี 2563 ผมกับเพื่อนเคลื่อนไหวเรื่องข้อเสนอ 3 ข้อในการเรียกร้องประชาธิปไตย พอเราทำไปเรื่อยๆ ก็ได้ผ่านการเรียนรู้ สรุปบทเรียนว่าเราต้องขยายคน เราต้องทำงานทางความคิด เราก็เลยมาตั้งชุมนุมนิติอาสาพัฒนาในคณะเพื่อที่เราจะทำงานกับนักศึกษา”

ต่อมา เขาได้รู้จักกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย และตัดสินใจก่อตั้งคลับแอมเนสตี้ขอนแก่น เพราะมองเห็นว่าแอมเนสตี้ ประเทศไทยเป็นองค์กรที่ทำงานสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลาย และมีสมาชิกหลายล้านคนทั่วโลก จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มศักยภาพการทำงาน สื่อสารเรื่องสิทธิกับนักศึกษาและผู้คนในสังคม

“ผมมีโอกาสไปเจอกับเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ ก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรื่องการทำงานของคลับ ตอนนั้นผมกับเพื่อนมองว่ามันเป็นเงื่อนไขที่ดีในการขยายกลไกการทำงานของคลับเพิ่ม ทั้งในเรื่องหน้างานและชุดข้อมูลต่างๆ ที่จะทำงานกับนักศึกษาได้กว้างขึ้น ผมกับเพื่อนๆ ก็ตัดสินใจเอาชุมนุมนี้เข้าเป็นคลับของแอมเนสตี้กัน”

เดือนกรกฎาคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมค่ายนิติอาสาพัฒนาสังคม x HUMAN RIGHTS GEEK ON TOUR เดินทางไปยังเหมืองแร่เมืองเลย ที่บ้านหนองนาบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มีเป้าหมายสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach Club) และชมรมแอมเนสตี้ สังกัดคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (Amnesty UP Club)

“เป้าหมายหลักของเราคือการสร้างการรับรู้และความเข้าใจครับ คลับเราทำงานกับนักศึกษาเป็นหลัก เราก็เน้นไปที่วิธีที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจปัญหา พานักศึกษาออกไปเจอปัญหาในสังคม

เป๋าบอกว่า ภาคอีสานมีปัญหาทุกตารางนิ้ว “แต่สำคัญกว่านั้นคือเราพยายามโยงให้นักศึกษามองเห็นไปไกลกว่าประเด็นปัญหาเฉพาะในพื้นที่ โอเคปัญหาในพื้นที่มันแย่ แต่เราพยายามโยงไปให้เห็นว่าอะไรคือต้นตอที่ทำให้ทุกพื้นที่มีปัญหาเหมือนกันหมด”

จากการทำงานในคลับแอมเนสตี้ ทำให้เป๋าได้เรียนรู้และมีความรัดกุมในการจัดทำแคมเปญ สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ที่ได้จากการได้ทำแคมเปญและจัดกิจกรรมร่วมกับแอมเนสตี้

“ผมว่าผมเติบโตขึ้น ได้เรียนรู้ บางประเด็นที่เราไม่ได้ถนัด แต่เราได้เรียนรู้ ได้มีโอกาสได้เอาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ เจอปัญหากับจริงๆ ได้เจอคนใหม่ๆ ผมเรียนขอนแก่น คนส่วนใหญ่ที่เจอก็จะเป็นนักศึกษา นักรณรงค์ในขอนแก่น พอเราเป็นคลับแอมเนสตี้ เรามีโอกาสไปเจอนักศึกษาจากกรุงเทพฯ ภาคใต้ ภาคเหนือ ก็ยิ่งทำให้เรามองเห็นปัญหาชัดเข้าไปใหญ่ ว่าในแต่ละภูมิภาคล้วนก็มีประเด็นปัญหาเหมือนกัน ภายใต้กฎหมายเดียว ภายใต้โครงสร้างเดียวกัน

ดังนั้น สำหรับเป๋าจึงมองว่า การสนับสนุนแอมเนสตี้ด้วยการเป็นสมาชิก ในมุมหนึ่งก็คือการที่สมาชิกสามารถกำหนดวาระที่ต้องการ ประหนึ่งเป็นการจ้างให้แอมเนสตี้ทำงานร่วมกับเรา

“เหมือนเราจ้างแอมเนสตี้ทำงานร่วมกับเราครับ เราอยากให้สังคมดีขึ้น แต่ด้วยเงื่อนไขที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน ผมรู้สึกว่าการเป็นสมาชิกแอมเนสตี้มันเป็นการจ้างที่คุ้มค่านะ โดยส่วนตัวการร่วมงานกับแอมเนสตี้เป็นไปด้วยดีมาตลอด ผมเชื่อว่าการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของแอมเนสตี้เท่ากับว่าเราได้นำเอาวาระที่เราต้องการผลักดันติดตัวเข้าไปด้วย แอมเนสตี้เป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่น ทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีศักยภาพในการรองรับประเด็นที่เราต้องการผลักดัน เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่เราอยากให้เป็นได้” เป๋าบอก

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้