ถึงบิลลี่ จากความทรงจำ
“ความตั้งใจของเขาเราจะไม่ทิ้ง ความตั้งใจและความหวังของเขาที่ต้องการให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีและกลับไปใช้ชีวิตบนบางกลอยใจแผ่นดิน เราจะไม่ทิ้งเราจะเป็นผู้สานต่อให้”
-แบงก์ รุ่นน้องบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ-
ชาวบ้านปกาเกอะญอ หมู่บ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี
17 เมษายน 2557 เช้าวันนั้นบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญเดินทางออกจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อไปตัวอำเภอแก่งกระจาน พยานที่พบเห็นบิลลี่เป็นครั้งสุดท้าย ระบุว่า เขาเห็นบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับกุมตัวที่ด่านมะเร็ว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี แต่ไม่รู้ว่าพาไปไหนต่อ…. ซึ่งเป็นระยะกว่า 9 ปีที่บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ชาวบ้านปกาเกอะญอ แห่งหมู่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้หายตัวไป ต่อมา 3 กันยายน 2562 DSI แถลงยืนยันว่าพบกระดูกของเขาใกล้กับถังน้ำมันในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
9 ปีที่บิลลี่หายตัวไป มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในหมู่บ้านบางกลอย ความฝันอันสำคัญของบิลลี่และชาวบ้านบางกลอย คือการได้กลับไปยังใจแผ่นดิน ผืนป่าอันเป็นชีวิต เป็นแหล่งกำเนิด ไม่ใช่การถูกบังคับไล่ออกมาในพื้นที่ที่รัฐจัดหาให้ โดยไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของพวกเขา วัฒนธรรม การดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้จากการทำเกษตรหมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีการดำรงชีวิตดั้งเดิมของพวกเขา แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนไป การถูกจับย้ายให้อยู่ในพื้นที่อันจำกัด จากการดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง ต้องเปลี่ยนมาเป็นออกไปรับจ้างในเมือง จากที่เคยปลูกผัก ทำไร่ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นซื้อ จากที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ก็ต้องพบเจอกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอก นอกจากนี้ในปี 2564 ชาวบ้านบางกลอยส่วนหนึ่งได้เดินเท้ากลับไปยังใจแผ่นดิน ผืนดินบรรพบุรุษของพวกเขา แต่แล้วพวกเขาก็ถูกสกัดกั้น ถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวชาวบ้านบางกลอย 85 คนกลับลงมาสู่ผืนดินข้างล่างอีกครั้ง และ 30 คนถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี ก่อนถูกโกนหัว ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งเรียกทนายความ และบางคนไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าตนผิดอะไร เพราะฟังภาษาไทยไม่ถนัดนัก .. หลังจากนั้นชาวบ้านบางกลอยส่วนหนึ่งได้ลงมาเรียกร้องยังกรุงเทพฯ โดยร่วมกับกลุ่มพีมูฟ เพื่อที่พวกเขาจะได้กลับบ้านไปยังใจแผ่นดิน ผืนดินแห่งบรรพบุรุษและชีวิตของพวกเขา
9 ปีที่ผ่านมา มีผู้คนมากมายต่างระลึก พูดถึง การจากไปของบิลลี่ เสียงหลายเสียงได้ย้ำเตือนถึงชีวิตของคนธรรมดาที่อยากกลับไปอยู่บ้านของตนเอง และวันนี้เราจะชวนทุกคนฟังเสียงอีกหนึ่งเสียง ในนามของรุ่นน้อง แบงก์ ชายหนุ่มจากบ้านบางกลอย จากเด็กวัยรุ่นที่มีชีวิตปกติทั่วไป จนกระทั่งได้มีโอกาสฟังเรื่องเล่าของพี่ชายคนหนึ่งนามว่าบิลลี่ เขาได้ฉุกคิด ตั้งคำถาม และหลังจากบิลลี่หายไป แบงก์ก็คือหนึ่งในชาวบ้านบางกลอยที่มีคำถามว่าทำไมเขาถึงกลับบ้านใจแผ่นดินไม่ได้ และนำมาสู่การตั้งคำถามและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง
จากไร่เลื่อนลอยในหนังสือเรียน สู่ไร่หมุนเวียนจากบิลลี่
“…มันไม่ได้เรียกว่าไร่เลื่อนลอย มันเรียกว่าไร่หมุนเวียน…”
ความทรงจำแรกที่แบงก์จำได้ขึ้นใจ คือบทสนทนาสั้น ๆ ระหว่างบิลลี่กับตัวเขาและกลุ่มเพื่อน ตอนนั้นเขาเพียงแต่แปลกใจที่มันมีคำเรียกอื่นด้วยหรอ หลังจากนั้นไม่นานแบงก์ได้รับรู้ถึงความหมายของคำนั้นอย่างแท้จริงว่าทำไมถึงไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย
“วันนั้นผมนั่งดื่มกับเพื่อนตามประสาวัยรุ่นทั่วไป.. ผมกับเพื่อนเราคุยกันเรื่องเราจะทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งตอนนั้นบิลลี่เขาได้ยินก็เลยบอกพวกผมว่ามันไม่ใช่ไร่เลื่อนลอยมันคือไร่หมุนเวียน ผมก็ตกใจที่บิลลี่บอกกับผมแบบนั้น ผมบอกว่าผมรู้จักไร่เลื่อนลอยมาจากหนังสือ บิลลี่ก็เลยชวนเราคุย หลังจากนั้นเราก็แยกย้ายกัน จำได้ว่าคุยกันประมาณชั่วโมงสองชั่วโมงกว่า แกก็มีชวนเราไปงานนู่นงานนี่บ้าง แต่สมัยก่อนผมก็ไม่ได้ค่อยใส่ใจ มันเป็นช่วงวัยรุ่น”
1 ปีกว่าหลังการพูดคุย บิลลี่ได้หายตัวไป วันนั้นแบงก์บอกกับเราว่า เขาออกไปจับปลา พอกลับมาก็งง สับสน ว่าเกิดอะไรขึ้น “ผมก็สับสน ว่าหายไปได้ยังไง หลังจากนั้นก็ติดตามดูในข่าวเรื่อย ๆ ตามในทีวีหรือในโทรศัพท์บ้าง” นอกจากนี้แบงก์ยังบอกกับเราถึงความกลัวที่เกิดขึ้นทั้งกับชาวบ้านและตัวเขาเอง ความกลัวของชาวบ้านบางกลอย ที่ไม่แม้แต่จะกล้าเอ่ยคำว่าเจ้าหน้าที่อุทยานด้วยซ้ำ
“เท่าที่จำได้คนกลัวกันมากเลย ชาวบ้านกลัวกันจนว่าชื่ออุทยานเขาไม่กล้าเรียกเลย บางคนไปไหนมาไหนไม่กล้าไปคนเดียว สำหรับผม เพิ่งมาหายกลัวช่วงหลังปีสองปีนี้เอง มันพึ่งมาเริ่มหายในช่วงที่ผมเริ่มออกมาเรียกร้อง”
จากเด็กหนุ่มในวันนั้น สู่การออกมาเรียกร้องและยืนหยัดกับพี่น้องบางกลอย
แบงก์เล่าว่าตอนเขาเป็นวัยรุ่นเขาไม่ได้สนใจอะไร ออกไปใช้ชีวิตในเมืองทำงาน กินดื่มเหมือนคนทั่วไป แต่แล้วชีวิตเขาก็มีเรื่องให้ต้องหักเห และตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงต้องออกมารับจ้าง ซึ่งแบงก์โดนนายจ้างโกงค่าแรง เอาเปรียบ และสุดท้ายก็ทำอะไรนายจ้างคนนั้นไม่ได้ แต่แบงก์บอกกับเราว่าเขาไม่ได้รู้สึกโกรธ แต่เขาตั้งคำถามว่าถ้าเขามีชีวิตในวิถีแบบเดิม เขาคงไม่มาเจอเรื่องอะไรแบบนี้ และนั่นก็ได้ทำให้เขาหวนคิดถึงคำของบิลลี่ก่อนบิลลี่จากไปเรื่องไร่หมุนเวียนไม่ใช่ไร่เลื่อนลอย และทำไมคน ๆ หนึ่งถึงยอมสละชีวิตตัวเองได้เพื่อคนอื่น…
“น่าจะช่วงปี 2557 – 2558ผมลงไปทำงานข้างล่างแล้วผมโดนนายจ้างโกงค่าแรง เอาเปรียบ ทะเลาะกัน สุดท้ายเราทำอะไรเขาไม่ได้… เราเลยมานั่งคิดถึงสิ่งที่บิลลี่เรื่องไร่หมุนเวียน นึกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่สมัยก่อนที่เราไม่ต้องมาเป็นลูกจ้างเขาเราก็อยู่ได้ เราก็เลยเริ่มเข้าสู่ขบวนการต่อสู้นั่นเอง…”
“มันทำให้ผมคิดว่าทำไมบิลลี่ต้องยอมสละชีวิตตัวเอง บิลลี่เคยบอกกับพี่ผมว่า ถ้าอยากให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี ถึงต้องแลกด้วยชีวิตเขาก็ยอมแลก มันทำให้ผมคิดว่า ทำไมคนคนหนึ่งถึงยอมเสียสละชีวิตตัวเองด้วย ด้วยความอยากรู้อยากเห็นผมก็เลยมาศึกษา ทบทวนทั้งอดีตและปัจจุบันซึ่งมันก็จริงอย่างที่เขาพูด”
บนท้องถนนในเมือง
จากบางกลอยสู่คอนกรีต
แบงก์บอกกับเราว่าเขาพยายามสื่อสารมาโดยตลอด ก่อนที่จะออกไปบนท้องถนน แต่มันไม่มีผล จนกระทั่งได้มีการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ คนในหมู่บ้านบางกลอย จนเกิดเป็นแฮชแท็ก#SAVEบางกลอยขึ้น ซึ่งกลุ่มภาคีเซฟบางกลอยก็มีจุดเริ่มต้นมาจากตรงนั้น
“ก่อนที่จะออกไปยังท้องถนน ผมพยายามพูดไปแต่ละเวที ไม่ว่าจะเวทีใหญ่หรือเวทีเล็กว่าพี่น้องบางกลอยยังไม่มีที่ทำกิน ชาวบ้านต้องกลับไปอยู่ข้างบน ที่ผมพูดทั้งหมดทั้งมวลก็ยังไม่มีผล จนมาถึงช่วงสองปีที่แล้ว ชาวบ้านรวมตัวกัน ทนไม่ได้ อยู่ไม่ไหว รวมตัวกันกลับขึ้นไป จนเกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมา และจนมาเกิดเป็นกลุ่มภาคีเซฟบางกลอยขึ้น”
“ความรู้สึกคือดีใจมาก เรารู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว เราเห็นทั้งภาคีเห็นทั้งเด็กคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มนักศึกษามาร่วมกับเรา เราก็รู้สึกดีใจที่มีคนเห็นความสำคัญ มันมีหลายคนมาให้กำลังใจมาให้ความช่วยเหลือ”
9 ปีที่บิลลี่จากไป ชุมชนเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่มีใครได้กลับใจแผ่นดิน
แบงก์เล่าให้เราฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านบางกลอย มีโครงการพัฒนาต่าง ๆ เข้ามาเยอะมาก แต่สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องยังไม่เคยเกิดขึ้นเหมือนที่บิลลี่ได้พยายามทำไว้
“ผมคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก การพัฒนาคุณภาพชีวิต โครงการอะไรพวกนี้มันเข้ามาเยอะมาก มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากก็จริงแต่สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องมันยังไม่เกิดขึ้น อย่างที่บิลลี่ได้เรียกร้องให้ชาวบ้านกลับมาทำไร่หมุนเวียน กลับไปใจแผ่นดิน มันยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่ แต่สิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้เรียกร้องก็เข้ามาเยอะมาก”
นอกจากนี้แบงก์ยังเสริมอีกว่า หากบิลลี่อยู่บิลลี่จะมีศักยภาพพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงแปลงได้
“ถ้าบิลลี่ยังอยู่ก็อาจจะช่วยได้เยอะ แล้วถ้ามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ออกมาอย่างพวกผมไปช่วยเขาก็น่าจะดี เพราะว่าบิลลี่ก็มีศักยภาพพอที่จะแต่พวกผมที่ออกมาทีหลัง ต้องออกมาหาข้อมูลเอง เราเพิ่งจับตำราใหม่เราเพิ่งมาเรียน มันก็ค่อนข้างยากแต่เราก็พยายามแต่ถ้าบิลลี่ยังอยู่ก็น่าจะช่วยได้เยอะ”
ถ้าบิลลี่ยังอยู่อยากบอกอะไรกับเขา
“ถ้ามีโอกาสจะบอกกับเขาว่า ความตั้งใจของเขาเราจะไม่ทิ้ง ความตั้งใจและความหวังของเขาที่ ต้องการให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีและกลับไปใช้ชีวิต บนบางกลอยใจแผ่นดินจะไม่ทิ้งเราจะสานต่อให้”
นี่คือหนึ่งเสียงของคนที่มีชีวิตอยู่ ที่เติบโตในผืนแผ่นดินบางกลอย ที่มีความฝันร่วมกันกับทั้งบิลลี่และพี่น้องทุกคนคือการกลับไปยังใจแผ่นดิน ผืนป่าอันเป็นวิถีชีวิตของพวกเขา เรื่องเล่าของแบงก์ได้ทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญได้ร่วมทำมา ก่อนที่เขาจะถูกบังคับให้สูญหายโดยรัฐ และต่อมาพบว่าเขาได้เสียชีวิตลงจากการพบกระดูกของเขาใกล้กับถังน้ำมันในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานปี 2562 ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของการที่คน ๆ หนึ่งจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง
9 ปีผ่านไปความยุติธรรมยังไม่มาถึง สิ่งที่พวกเราจะทำได้คือการจดจำ
เมื่อคนคนหนึ่งหายไป สิ่งที่ยังอยู่ต่อคือความทรงจำ
การจดจำเพื่อคืนยุติธรรมจึงเป็นเรื่องที่เราต่างทำได้
จนกว่าจะถึงวันนั้น…
#REMEMBERME