แม่ลาน้อย:สายน้ำ ผู้คน ชุมชน และเหมืองแร่ฟลูออไรด์  

กลัวค่ะ กลัวมาก”  

“ทำไมต้องมาสร้างเหมืองแร่ ต้องการอะไร
หนูว่าเขาอยากได้เงิน
แต่มันมีผลกระทบหลายอย่างกับพวกเรามากนะคะ” 

คือเสียงของแอน และ นานะ  เด็กจากบ้านหัวลา ตำบลสันติคีรี อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ที่ออกมาร่วมกับคนในชุมชนในการต่อสู้เพื่อต่อต้านการสร้างเหมืองแร่ฟลูออไรต์ในเขตป่าอันอุดมสมบูรณ์ของชุมชนที่ประกอบด้วยหลายหมู่บ้านของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองปกาเกอะญอ  

สำหรับพวกเขา แม่ลาน้อย คือผืนแผ่นดิน คือสายน้ คือผืนป่าและเป็นบ้านของผู้คนหลายชั่วอายุคน ที่ร่วมกันรักษาความอุดมสมบูรณ์ในผืนป่า เกิดเป็นความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติอันสำคัญที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงแค่วันเดียว  

3 ปี เราไม่เอาเหมืองแร่ฟลูออไรต์

23 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา พี่น้องชาติพันธุ์เครือข่ายรักษ์ลุ่มน้ำลา ในพื้นที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชนจากทั่วประเทศ ได้ร่วมกันจัดงาน ครบรอบ 3 ปี ขบวนต่อสู้ของคนลุ่มน้ำลา ภายใต้ชื่อ “สายน้ำ ภูเขา และผู้คน: 3 ปีแห่งการต่อสู้ของคนลุ่มน้ำลา” ณ สะพานข้ามแม่น้ำลา บ้านหัวลา ตำบลสันติคีรี อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

งานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงพลังของชุมชนท้องถิ่น ที่ยืนหยัดต่อต้านโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแหล่งน้ำ วิถีชีวิต และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการปนเปื้อนสารเคมีในแม่น้ำลาซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชน ทั้งนี้ ชาวบ้านยืนยันว่าการดำเนินโครงการเหมืองจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมในระยะยาว 

กะเหรี่ยงไม่ใช่คนทำลาย เรามีแต่การดูแลรักษา  

ในวัย 19 ปี ‘แอน เด็กจากบ้านหัวลา ผู้กำลังจะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย คือตัวแทนจากเด็กในหมู่บ้านที่จับไมค์พูดอยู่บนเวที เพื่อเล่าเรื่องราวและความสำคัญของพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่แม้จะเป็นครั้งแรกที่ได้เป็นตัวแทนจากหมู่บ้านที่ขึ้นพูดบนเวที แต่เสียงของเธอก็ยังดังก้องไปทั่วสะพานข้ามแม่น้ำลา เธอบอกกับเราว่า “นี่เป็นการขึ้นเวทีครั้งแรก ตื่นเต้นมากค่ะ ตอนแรกหนูก็ไม่รู้ว่าหนูจะต้องได้พูด แต่ลุง ๆ ป้า ๆ ในหมู่บ้านก็ส่งให้หนูเป็นตัวแทน ยอมรับว่ามีความกังวลว่าจะทำออกมาไม่ดีเหมือนกันค่ะ”  

เราชวนแอนคุยหลังจากงานจบลง เธอตื่นเต้นและกังวล เพราะนี่คือครั้งแรกที่แอนให้สัมภาษณ์ เธอย้ำอีกว่า ตอนพูดบนเวทีก็ตื่นเต้นเหมือนกัน แต่ก็ทำออกมาได้ ส่วนหนึ่งคือได้รับกำลังใจจากคนในชุมชน  

แอนร่วมต่อสู้ร่วมกับคนในชุมชนตั้งแต่อายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวันแรกที่เธอรู้ว่ากำลังจะมีเหมืองแร่ฟลูออไรต์เกิดขึ้น  

ตอนนั้นที่เขาจะมาทำเหมืองแร่ ชาวบ้านก็รู้ หนูก็รู้จักผ่านพ่อกับแม่มาบอก และหนูก็กลัว (เสียงสูง) กังวล แรก ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าเหมืองแร่คืออะไร ก็นึกว่าไม่ค่อยมีผลกระทบอะไร รู้ว่ามันน่ากลัวมากขึ้นจากตอนที่มีหน่วยงานองค์กรมาให้ความรู้  

สำหรับนานะ ที่ปัจจุบันอายุ 15 ปี ยังเด็กมากในวันนั้น แต่เธอก็ยังจำความรู้สึกได้

“ตอนนั้นที่ได้ยินจากแม่ว่าจะมีเหมืองในหมู่บ้าน รู้สึกตกใจมาก คนในหมู่บ้านรู้ว่าถ้าบริษัทมาทำเหมืองแร่จะส่งผลกระทบหลายอย่าง รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตในน้ำ พืชผักที่เราปลูกก็จะไม่มีน้ำให้รด เพราะน้ำไม่สะอาด”  

สำหรับทั้งสองคน ความกลัวว่าป่าอันอุดมสมบูรณ์จะหายไปไป คือแรงผลักดันที่ทำให้ตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องเหมืองแร่ฟลูออไรต์  

แอนและเพื่อน ๆ  ภาพเบื้องหลังจากเวที ถ่ายโดยเด็กบ้านหัวลา 

เหมืองแร่ฟลูออไรต์ 

ราว 30 ปีที่แล้ว มีการให้สัมปทานเหมืองแร่ฟลูออไรต์ในพื้นที่ โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2532 ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีนโยบายปิดป่า จึงทำให้มีการยกเลิกสัมปทานเหมืองแร่นี้ไปด้วย 

กระทั่งในปี 2562 บริษัท ยูนิเวอร์แซลมายนิ่ง จำกัด ได้มีการยื่นขอสัมปทานเหมืองแร่นี้ข้นมาใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน กินพื้นที่ 114 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา โดยพื้นที่นี้เป็นเหมืองเก่าตั้งอยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติและเป็นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี โดยมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ อยู่ห่างจากชุมชนบ้านห้วยตะพาบ ต.สันติคีรี ประมาณ 300 เมตร ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด(สอจ.)แม่ฮ่องสอน ได้ติดประกาศการขอประทานบัตร ทำให้ตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ สอจ.แม่ฮ่องสอน ก่อนจะประสบกับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 

ต้นปี 2565 บริษัทผู้ขอสัมปทาน ได้ว่าจ้างให้บริษัทเอกชนอีกรายหนึ่งจัดทำ EIA (Environmental Impact Assessment Report: รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) โดยชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม และปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำเหมือง นอกจากนี้ชาวบ้านออกมารวมตัวคัดค้านและขอให้ยุติโครงการ โดยการทำเหมืองแร่นี้คาดว่าจะมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 5 ตำบล ได้แก่ สันติคีรี แม่ลาหลวง แม่โถ แม่นาจาง และขุนแม่ลาน้อย1  

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านหลายหมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลสันติคีรี อ.แม่ลาน้อย ซึ่งอยู่ต้นน้ำ รวมไปถึงชาวบ้านในเขตพื้นที่ ต.แม่ลาหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่กลางน้ำ ที่อาศัยน้ำจากลำน้ำแม่ลา เพื่อใช้ทำประปาภูเขา และใช้ทำการเกษตร พากันรวมตัวคัดค้าน2 

ภาพชิ้นส่วนแร่ฟลูออไรต์ (กล้องโทรศัพท์มือถือ) 

คนในชุมชนเล่าว่า พวกเขายังจำวันที่มีการขุดเจาะเหมืองแร่ในอดีตได้ เสียงกึกก้องจากการขุดเจาะที่ดังไปทั่วผืนป่าจนถึงหมู่บ้านยังคงนำมาซึ่งความหวาดกลัว โดยอุตสาหกรรมเหมืองแร่ขนาดใหญ่นี้กินพื้นที่เป็นวงกว้าง นำมาสู่ความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการปนเปื้อนสารเคมีในลำธารที่เป็นสายเลือดหลักในการดำรงชีวิต 

6 ปีหลังจากวันนั้น เรานั่งหลังกระบะของพ่อหลวงบ้านห้วยตะพาบ เข้าไปในพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์เพื่อเข้าไปดูร่องรอยของการขุดเจาะแร่ฟลูออไรต์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ถ้ำขนาดใหญ่และร่องรอยของการระเบิดเพื่อเปิดปากถ้ำกว่า 20 แห่งปรากฏในสายตา ตอกย้ำว่าเรื่องราวเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง  

ถ้ำนี้อยู่ท่ามกลางป่าอันอุดมสมบูรณ์มีแม่น้ำแม่ลาสายใหญ่ไหลผ่าน เป็นแหล่งทรัพยากรที่ทุกคนในชุมชนกว่า 5 ตำบลได้ใช้ โดย 3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่บริษัทเหมืองจะเข้ามาทำเหมืองแร่นั้น ชาวบ้านในชุมชนรวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมต่อต้านเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวน จัดกิจกรรมงานเสวนา รวมถึงการทำข้อตกลงร่วมกันในการบวชป่า ซึ่งนั่นหมายความว่า จากเมื่อก่อนที่คนในชุมชนเคยเข้ามาจับปลาหรือหาของป่า ก็จะไม่สามารถทำได้อีก  นับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญ เพื่อประกาศว่า ผืนป่าในลุ่มน้ำลา คือแหล่งทรัพยากรที่ทำให้ทุกคนมีชีวิตและมีอาหาร เมื่อคนในพื้นที่บวชป่า คนนอกพื้นที่ก็ไม่มีสิทธิเข้ามาขุดเหมืองในบ้านของพวกเขาเช่นกัน 

ภาพสะพานข้ามแม่น้ำลา  

กว่าจะถึงวันนี้… 
ป้ายผ้า ธง และคำประกาศ  

ก่อนจะถึงวันที่  23 กุมภาพันธ์ คนในชุมชนช่วยกันเตรียมงานกันอย่างแข็งขัน รวมไปถึงการได้รับความช่วยเหลือจากพี่น้องในชุมชนอื่น เช่น บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่เดินทางมาช่วยเตรียมงานกันตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ เช่นเดียวกับเสียงตามสายและกลุ่มไลน์ ที่ประชาสัมพันธ์บอกกล่าวกับทุกคนให้มาช่วยกันคนละไม้คนละมือก่อนจะถึงวันงานจริง  

แอนยังได้ช่วยเล่าภาพที่คนในชุมชน รวมถึงเด็ก ๆ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ รังสรรค์ให้งานวันนี้เกิดขึ้น  

เรากับพี่น้องชาวบ้านเตรียมงานกันมานานมาก ตั้งแต่วันที่ 19 .. ก็จะมีการประชาสัมพันธ์ให้คนในหมู่บ้าน บ้านละ 1 คนมาทำงานที่ใต้โบสถ์ ทุกคนก็มาช่วยกันอย่างดีค่ะ ป้ายที่เป็นธง ชาวบ้านในหมู่บ้านก็ช่วยกันเขียน  และก็จะมีแม่บ้านทำอาหารให้กินตอนเตรียมงานและในวันงาน มีเตรียมสถานที่ไปตัดไม้ไผ่ ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายไปตัด หนูกับเพื่อน ๆ ก็จะช่วยกันเขียนป้ายผ้าค่ะ 

นานะ เด็กวัย 15 ปี คือคนที่อ่านแถลงการณ์ในตอนจบของงาน นอกจากนี้เธอยังเป็นตัวแทนในการแสดงรำ 5 ภาค 5 ชนเผ่า ของคนแม่ลาหลวง แม้จะบอกกับเราด้วยความเขินอายและตื่นเต้นว่ารำไม่ค่อยได้ แต่สำหรับเด็กอายุ 15 ปี ในสายตาของทุกคนนั้น เธอคือตัวแทนของเด็กหลาย ๆ คนที่อยากจะออกมาบอกกล่าวว่าไม่เอาเหมืองแร่ฟลูออไรต์ เพราะที่นี่คือบ้านที่เธอเกิด เติบโต และใช้ชีวิต  

เธอเสริมว่า “เรากับพี่น้องเตรียมงานกันมานานมาก มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในหมู่บ้าน บ้านละ 1 คนมาร่วมกันทำงาน ป้ายผ้าที่เป็นธงคนในหมู่บ้านก็ช่วยกันเขียน บางคนช่วยกันทำอาหารทั้งตอนเตรียมงานและในวันจัดงานด้วยค่ะ”  

ภาพเวทีงานเสวนา จากเด็กบ้านหัวลา

การแสดงจากเด็กในพื้นที่ เพื่อนำเสนอภาพแทนเมื่อคนนอกเข้ามาจะทำลายพื้นที่ป่าชุมชน

นอกจากนี้แอนยังสมทบด้วยว่าเธอนั้นรู้สึกดีใจแค่ไหนที่ไม่ได้ต่อสู้เพียงคนเดียวและมีพี่ ๆ น้อง ๆ จากกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองอื่น ๆ มาร่วมด้วย รู้สึกดีใจมากเลยคะ ที่ได้เห็นว่าเราไม่ได้ต่อสู้แค่ในหมู่บ้านตามลำพัง แต่มีคนอื่นมาต่อสู้กับเราด้วย 

หนึ่งในผู้ร่วมช่วยจัดงานคือตัวแทนจากบ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ต่อสู้เรื่องเหมืองแร่ถ่านหินมาเป็นเวลากว่า 4 ปี จนท้ายที่สุดศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวกรณีการทำเหมืองถ่านหินอมก๋อย จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา3 

พี่ดวง (พรชิตา ฟ้าประทานไพร เยาวชนจากหมู่บ้านกะเบอะดินอ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่) มางานตั้งแต่วันแรก ๆ ช่วงเตรียมงาน มาเขียนป้าย ตอนนี้หนูอยู่ ม.6 หนูเลยปิดเทอมก่อนน้อง ๆ ในหมู่บ้าน หนูก็จะเป็นตัวแทนที่ไปช่วยหลัก ๆ ช่วยพี่เขา เพราะน้อง ๆ ไปเรียน วันที่ 20 เป็นต้นไปน้อง ๆ ก็มาช่วยกันค่ะ พึ่งรู้จักพี่ดวงคือครั้งแรกที่งานนี้ และพี่ดวงอยู่ที่อมก๋อยที่ต่อต้านเหมืองแร่”  

แม่ ๆ และเด็ก ๆ ในชุมชนช่วยกันล้างจานหลังงานจบงาน  

บ้านใครใครก็รัก 

ทั้งสองคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากเกิดเหมืองแร่ขึ้นในชุมชนจะทำลายอาชีพเกษตรกรรม และพวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะหาน้ำสะอาดจากไหน แอนกล่าวว่านึกไม่ออกเลยว่าหอมกับกระเทียมในไร่จะอยู่อย่างไร และชาวบ้านจะประกอบอาชีพอะไรหากปลูกพืชผักไม่ได้  

น่าจะเป็นวิถีชีวิตของผู้คนเพราะคนส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม และถ้ามีการทำเหมืองแร่ก็จะเกิดมลพิษต่าง ๆ ในน้ำ ชาวบ้านก็ไม่น่าจะมีพื้นที่ในการทำมาหากิน กระเทียมและหอมแดงก็จะไม่มีความสมบูรณ์ อาจเสียรายได้ตรงนั้นไปค่ะ”  

นานะฝากคำถามถึงกลุ่มคนที่ทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ว่า อยากจะถามเขาก่อนว่าทำไมต้องมาสร้างเหมืองแร่ ต้องการอะไร หนูว่าเขาอยากได้เงิน แต่มันมีผลกระทบหลายอย่างมากเลยค่ะ ก็จะบอกเขาตาที่เรารู้ข้อมูล ไม่อยากให้มีเหมืองในหมู่บ้าน 

กะเหรี่ยงหรือชาติพันธุ์ไม่ใช่คนทำลายพื้นที่ตัวเอง เรามีแต่การดูแลรักษาแอนเสริม 

ไม่อยากให้เขามองเราในด้านที่ไม่ดี อยากให้ทุกคนให้กำลังใจ และมาเที่ยวในพื้นที่แห่งนี้ มีความสุขและเป็นกันเอง บ้านเรา มาเที่ยวที่หมู่บ้านเราเพื่อที่จะได้เห็นเป็นยังไง และมีความสุข 

ความกลัวไม่อาจทำลายพลังของชุมชน: ก้าวต่อไปในฐานะหนึ่งเสียงจากเด็กบ้านหัวลา  

ในระหว่างที่พูดคุยกัน แอนมักจะเริ่มต้นประโยคกับเรา จากความรู้สึกหวาดกลัวต่อการสร้างเหมืองแร่ฟลูออไรต์ แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ยังบอกพร้อมรอยยิ้มว่า “กลัวแต่ก็ต้องสู้ค่ะ”  

อยากต่อสู้ อยากช่วยประชาสัมพันธ์ อาจจะสร้างเพจในหมู่บ้าน และไม่อยากให้คนมาทำเหมืองแร่ ประชาสัมพันธ์วิถีชีวิตของบ้านเรา วิถีชีวิตบ้านเราสวยงามมากเลยค่ะ ชาวบ้านในหมู่บ้านมีความสามัคคีเป็นพี่น้องกัน และวัฒนธรรมของเราก็มีมายาวนานมากเลยค่ะ เด็ก ๆ มีความเป็นพี่น้อง คือที่เราภูมิใจกับพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่บ้านของเรา เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ และเข้าใจกัน”  

นานะ ในฐานะตัวแทนของเด็กและคนในหมู่บ้านที่อยู่กับแม่น้ำลา ได้กล่าวปิดท้ายด้วยถ้อยคำในประกาศที่เธออ่านบนเวที ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของคนในชุมชนร่วมกันว่า เราไม่เอาเหมืองแร่ 

เราจะขอยกช่วงท้ายของแถลงการณ์ที่ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อให้ประจักษ์ในการต่อสู้ไม่เอาเหมืองแร่ฟลูออไรต์ของคนลุ่มน้ำลา ตำบลสันติคีรี อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

ภาพตัวแทนชุมชนและเครือข่ายองค์กร

พวกเราใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกัน พวกเรามองว่าภูผาคือร่างกายเรา สายน้ำคือสายเลือดหล่อเลี้ยงเรา ประกอบกันเป็นร่างกายและชีวิตเรา จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ 

ฉะนั้นในวันนี้และวันต่อ ไป พวกเราทุก คน จะร่วมปกป้องและรักษาทรัพยากร ภูผาและสายน้ำที่สวยงามแห่งนี้ด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ พวกเราขอประกาศ ณ ที่แห่งนี้บ้านเกิดเรา ว่า พวกเรา 

ไม่เอา ไม่เอา และไม่เอาเหมืองแร่ฟลูออไรด์” 

บริษัททำเหมืองแร่ฟลูออไรด์ออกไป ออกไป” 

ด้วยความเคารพต่อภูผา สายน้ำ และการต่อสู้ 

ณ สะพานแม่น้ำแม่ลาหลวง บ้านหัวลา 

23 กุมภาพันธ์ 2568 

แอน จากบ้านหัวลา หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์

*ภาพประกอบจาก Disposable Film Cameras โดยเด็กบ้านหัวลา และเจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ ประเทศไทย