Amnesty International
สยาม ธีรวุฒิ เติบโตมาเป็นเด็กที่ใครๆ ต่างก็รัก ในสายตาของ กัญญา ธีรวุฒิ ผู้เป็นแม่ สยามเป็นลูกชายที่มีนิสัยอ่อนโยน รักครอบครัว ไม่เคยเป็นพิษเป็นภัยกับใครอื่น ความที่เป็นคนใจดี ทำให้มีเรื่องราวเกิดขึ้นในชีวิต โดยไม่คิดว่าจะร้ายจนลูกชายต้องหายตัวไป แต่ถึงอย่างไร…สำหรับแม่ที่ให้กำเนิด สยามยังเป็นทั้งความทรงจำ ปัจจุบัน และอนาคตสำหรับแม่ในการขับเคลื่อนชีวิตให้เดินหน้าต่อ
“สยามชอบทำกับข้าว ชอบอ่านหนังสือ รักเพื่อน และรักการละคร”
เป็นประโยคติดปากจากผู้เป็นแม่ แม้ว่าลูกชายชื่อว่า ‘สยาม’ จะไม่ได้เป็นนักแสดงโดยกำเนิด แต่เมื่อได้รับคำขอความช่วยเหลือเพื่อให้รับบทนักแสดงในละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ทำให้สยามตบปากรับคำกับเพื่อนทันทีโดยไม่มีทีท่าปฏิเสธ เพราะเป็นคนรักเพื่อนตามที่แม่เคยบอกไว้
สำหรับกัญญาเชื่อว่าการขึ้นเวทีครั้งนั้นของลูกชาย ไม่ใช่ความทะเยอทะยานทางศิลปะ แต่เป็นการตอบรับคำขอเพียงเพราะรักเพื่อนก็เท่านั้น สำหรับกัญญาเชื่อว่าไม่มีใครคาดคิด ว่าการรับบทแสดงแทนจะเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตของเธอและลูกชายไปตลอดกาล
คำพูดที่เป็นลางก่อนจากกันไกลลับตา….
กัญญา แม่ของสยาม ธีรวุฒิ เล่าว่า ก่อนสยามจะหายตัวไป เขาพูดกับแม่บ่อยขึ้นถึงการเดินทางไปสถานที่ห่างไกล เหมือนเป็นสัญญาณเตือนใจ ว่าให้แม่ทำใจเป็นระยะก่อนที่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไป “แม่ช่วยแลกเงินต่างประเทศให้ผมได้ไหม?” ตอนนั้นแม่ถามด้วยความสงสัย “จะเอาไปทำอะไร?” สยามตอบแม่เพียงว่า “เผื่อผมไปธุระไกลๆ” คำพูดเหล่านั้นดูเหมือนลางร้ายที่ไม่มีใครรับรู้ได้ แม้กระทั่งแม่ผู้ให้กำเนิด
ไม่ห่างจากวันนั้นกัญญาเล่าว่า สยาม ผู้เป็นลูกชายกลับมาพูดกับแม่อีกครั้ง “แม่ ถ้าผมไม่อยู่ แม่จะทำงานยังไง?” แม่ที่รับฟังได้แต่หัวเราะกลบเกลื่อนทั้งที่หัวใจเปื้อนน้ำตา แม่บอกลูกชายอันเป็นที่รักว่า “ก็เสียใจสิ ถ้าหนูไม่อยู่ หนูจะไปไหน?” ตอนนั้นสยามไม่ตอบตามตรง แม่จึงเอ่ยไปว่า “เอาเถอะแม่ มันมีโอกาสก็ต้องไปไกลๆ ก่อน”
ในที่สุดวันสุดท้ายของกัญญากับลูกชายเดินทางมาถึง เขาทั้งสองต้องพรากจากกันหลังสยามถูกดำเนินคดี ในตอนนั้นสยามสะกิดแม่เบาๆ บอกไปเพียงว่า “แม่ ผมจะต้องไปจริงๆ แล้วนะ” ในวันที่ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า ตอนนั้นเขาเลือกคุยกับแม่เพียงคนเดียว กัญญาเล่าว่าพอได้ยินลูกชายพูดออกมาทำให้ตกใจหนัก ปักหลักความคิดไม่ค่อยถูก ได้แต่ถามลูกชายไปว่า “ไปไหนลูก หนูจะทิ้งพ่อกับแม่เหรอ ถ้ามีหมายจับก็ไปมอบตัวเถอะ หนูไม่ได้ทำอะไรผิด”
แต่สยามส่ายหน้าเบาๆ ให้กับกัญญา ตอบกลับผู้เป็นแม่เพียงว่า “ไม่แม่ ผมไม่ยอมติดคุก ผมแค่เล่นละคร จะให้ติดคุกได้ยังไง” คำพูดในวันนั้นไม่มีใครรู้เลยว่า จะเป็นคำพูดสุดท้ายของสยามกับแม่ในบ้านหลังเล็กๆ ที่เช่าเปิดร้านรับจ้างซ่อมแอร์และตู้เย็น
บทละครที่เปลี่ยนชีวิตครอบครัว ‘กัญญาวุฒิ’
กัญญา แม่ของสยาม ธีรวุฒิ ไม่เคยคิดว่า “เจ้าสาวหมาป่า” ละครเวทีสั้นๆ จะกลายเป็นข้อกล่าวหายิ่งใหญ่ในมาตรา 112 เธอได้แต่คิดถ้าในวันนั้น เพื่อนที่เป็นนักแสดงหลักไม่ติดภารกิจ จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับลูกชายหรือไม่ ช่วงขวบปีแรกหลังลูกชายหายตัวไปในปี 2562 กัญญายอมรับ คิดวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อคลำหาทางออกให้ครอบครัวและลูกชาย
สำหรับกัญญาที่เรียนไม่สูงนัก การที่อ่านเขียนไม่ได้ ยิ่งทำให้เธอหนทางมืดมนในตอนนั้น เธอไม่รู้จะสู้ในกระบวนการยุติธรรมให้กับลูกชายอันเป็นที่รักได้อย่างไร เพราะกัญญาไม่เคยคิดหรือทำใจว่า การที่ลูกชายไปแสดงละครเรื่องนี้จะถูกดำเนินคดีในมาตรา 112
“รู้ว่าเล่นละครเจ้าสาวหมาป่า รู้ว่าเล่นเป็นเศรษฐีปลอมตัวมาขายที่ดินให้พระราชา แต่ไม่รู้ว่าลูกตัวเองกำลังจะโดนหมายจับ ม. 112”
แม่พูดด้วยเสียงแผ่วเบา ช่วงเวลานั้น ไม่มีใครในครอบครัวรู้อนาคตของลูกชาย ว่าชีวิตกำลังถูกปิดกั้นให้จางหายอย่างช้าๆ เพราะหลังแสดงละครเสร็จ สยามยังกลับบ้าน ทำงานช่วยกับครอบครัวปกติ กระทั่งมีข่าวคราวว่า ผู้เกี่ยวข้องกับการแสดงละคร ‘เจ้าสาวหมาป่า” จะถูกดำเนินคดีทั้งหมด จนในที่สุดสยามก็หายตัวโดยไม่หวนกลับถึงวันนี้
เสียงที่เงียบหายของลูกชายชื่อสยาม สวนทางกับความในใจของกัญญา ที่ยังตั้งตารอคอยลูกชาย “สยามหายไปเกือบหกปี เดือนพฤษภาคมปีนี้ 2568 ก็ครบหกปีเต็มแล้ว แต่ความเงียบก็ยังเป็นความเงียบ ไม่มีข่าว ไม่มีเบาะแส ไม่มีแม้แต่เงาของเขา” แม่พูดด้วยเสียงสั่นเครือ
คำพูดของกัญญาที่เปล่งออกมาขณะคุยกัน ยังมีความรู้สึกที่ยังคงติดค้างอยู่ในห้วงเวลาและห้วงแห่งการรอคอย ช่วงเวลาที่สยามไม่อยู่ในปีแรกๆ กัญญาบอกว่าบ้านเต็มไปด้วยความอึดอัด เช้า สาย บ่าย เย็น ละแวกบ้านเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐแวะเวียนมาตามหาสยาม
“ลูกชายอยู่ไหน?” คือคำถามจากตำรวจทุกครั้งที่เจอกัน แต่กัญญายอมรับว่าถึงรู้ว่าสยามอยู่ไหน คงตอบกลับไปว่า “แม่จะไม่พูดอยู่ดี” เพราะรู้ดีว่าการเปิดเผย อาจหมายถึงการพรากลูกชายไปจากอกแม่ แต่ความจริงที่กัญญาต้องเจอคือ “แม่ไม่รู้เลยว่าลูกชายเป็นตายร้ายดียังไง” หลังถูกติดตามนานหลายปี สุดท้ายตำรวจพากัญญาไปโรงพัก เพื่อซักถามประวัติข้อมูล ก่อนปล่อยตัวกลับบ้านพร้อมความรู้สึกหนักอึ้งในใจ กัญญายอมรับว่า “บ้านที่เคยอบอุ่นกลายเป็นบ้านที่ต้องระวังภัยคุกคาม”
สายโทรศัพท์จาก “สยาม ธีรวุฒิ”
ธันวาคม ปี 2557 เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ปลายสายคือสยาม ธีรวุฒิ “แม่ ผมอยู่ที่ลาวนะ หนาวมากเลย เดี๋ยวจะหาที่ที่มันไม่หนาวแล้วค่อยคุยกัน” คำพูดของลูกชายทำให้หัวใจแม่เต้นแรงทันที นั่นเป็นครั้งแรกที่กัญญาได้ข่าวจากลูกชายหลังหายตัวไป ความรู้สึกหลากหลายประเดประดังเข้ามาในใจแม่ กัญญารู้สึกทั้งโล่งใจที่รู้ว่าลูกชายยังมีชีวิต แต่อีกใจก็กังวลว่าลูกจะใช้ชีวิตอย่างไรในต่างแดน “แล้วทำยังไงดีลูก หนาวมากเหรอ จะให้แม่ช่วยอะไรไหม?” กัญญาถามด้วยความห่วงใย
แต่สยามไม่ได้ต้องการอะไรจากกัญญา เขาบอกแม่เพียงว่าต้องการหนีไปไกลๆ เท่านั้น กัญญาถามลูกชายกลับว่า “ทำไมไม่เลือกบวชหนีไปอยู่ในวัดเหมือนตอนคุยกัน” สยามบอกแม่ว่ามีพระที่สตูลเตือนว่า “บวชก็หนีไม่พ้น หนีออกนอกประเทศยังรอด แต่ถ้าอยู่ไทย หนียังไงก็ไม่พ้น”
กัญญารับฟังแล้วใจสั่นไหว ไม่คิดว่าลูกชายต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย ไปใช้ชีวิตหลบซ่อนในต่างแดน แต่หลังจากนั้นสยามก็เงียบหายไป ไม่มีใครติดต่อได้ ไม่มีข่าวคราวใดๆ ทำให้คนเป็นแม่ทำได้แค่รอและคอย พร้อมภาวนาให้ลูกชายปลอดภัยวันต่อวัน กระทั่งปี 2558 กัญญาเล่าว่า สยามติดต่อหาน้องสาวและแม่อีกครั้ง หลังเงียบหายไป คราวนี้เขาบอกครอบครัวว่า “ผมมีที่อยู่แล้ว อยู่กับเพื่อนหลายคน” เริ่มแรกสยามไม่ได้บอกกัญญาว่าตัวเขาอยู่ที่ไหน ผู้เป็นแม่จึงทำได้เพียงส่งของไปให้ ปลาเค็ม หนังสือ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์ คือสิ่งของที่กัญญาส่งไปให้ลูกชายผ่านการใช้ชื่อของคนอื่น เพื่อเลี่ยงการถูกตรวจจับและทำให้ลูกชายปลอดภัย
มาถึงปี 2559 ครอบครัวธีรวุฒิ ตัดสินใจเดินทางไปลาวเพื่อหาสยามตามที่อยู่ พวกเขาเดินทางไปที่เวียงจันทน์ ได้พบกับ “ลุงสนามหลวง” ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินในตอนนั้น และกลุ่มเพื่อนที่อยู่ร่วมกัน กัญญาเล่าว่าห้องของสยามเต็มไปด้วยเครื่องอัดเสียง เครื่องเล่นเทป และอุปกรณ์ดนตรี ระหว่างนั้นสยามพูดกับกัญญาว่า
“แม่ ผมแต่งเพลงไว้อยู่นะ เพลงหนึ่ง เดี๋ยวจะร้องให้แม่ฟัง”
นับแต่นั้นมา กัญญายังไม่เคยได้ฟังเพลงของลูกชาย คำพูดของสยามกลายเป็นเพียงลมที่ผ่านไป เพราะไม่นานหลังจากแม่กลับไทย สยามก็เงียบหายไปอีกครั้ง
31 ตุลาคม ปี 2561 วันเกิดของสยาม กัญญาเล่าว่าปีนั้น ไม่มีสายโทรศัพท์และเสียงปลายสายจากลูกชาย พฤษภาคมปี 2562 จึงเริ่มทำใจว่า “สยาม ธีรวุฒิ หายตัวไปอย่างสมบูรณ์” หลังจากนั้นกัญญาเดินทางไปยื่นหนังสือตามหาสยามหลายแห่ง กองบังคับการปราบ ศูนย์ราชการ กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หรือแม้แต่ที่องค์กรสหประชาชาติ หรือ UN เธอเดินทางไปทุกที่ที่แม่คนหนึ่งพอจะมีแรงทำได้ แต่แม้จะพยายามแค่ไหน ในตอนนั้นก็ไม่มีใครให้คำตอบเรื่องลูกชายของกัญญาได้เลย
ก่อนหน้านั้นหลายปี ตั้งแต่สยามหายตัวไป แทบไม่มีวันไหนที่ครอบครัวไม่ถูกจับตามอง บางเวลามีตำรวจนอกเครื่องแบบคอยเฝ้าดูอยู่หน้าบ้าน กระทั่งตุลาคมปี 2565 กัญญาตัดสินใจบอกตำรวจไปตามตรง
“ถ้าไม่เชื่อก็เอาหมายค้นมาเลย แม่จะให้ค้น ไม่ต้องมาเฝ้ากันทุกวันแบบนี้”
หลังประโยคนั้นก็ทำให้ตำรวจไม่มาให้เห็นที่บ้านอีกเลย
6 ปีแห่งการรอคอยที่ยังไม่มีคำตอบ
เกือบ 6 ปีเต็มที่กัญญายังคงรอคอย ‘สยาม ธีรวุฒิ’ 6 ปีที่ผ่านไป ไม่มีเสียง ไม่มีเงา ไม่มีข่าวใดๆ จากลูกชายอันเป็นที่รัก ธุรกิจที่บ้านซบเซาลง พ่อป่วยด้วยโรคเบาหวาน ตาซ้ายเริ่มมองไม่เห็น งานที่เคยมีลูกค้าแน่นขนัดลดถอยลงไปตามกาลเวลา
ปัจจุบันภาระแทบทั้งหมดตกอยู่บนบ่าแม่ แต่ภาระที่หนักที่สุด ไม่ใช่เรื่องเงินทองหรือปากท้อง หากแต่เป็นภาระในหัวใจของกัญญา ธีรวุฒิ เพราะความสงสัยว่าลูกชายหายไปไหน เขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และถ้ายังมีชีวิตอยู่ ตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน “ทุกวันนี้ความเงียบยังเป็นความเงียบ และแม่ก็ยังคงรอคอยลูกต่อไป”
“อย่าทำเหมือนเราไม่มีตัวตน อย่าทำเหมือนกำลังเรียกร้องอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เพราะการที่คนในครอบครัวเราหายไป เงินก็หายไป อาชีพการงานก็ลำบาก ทุกอย่างยากขึ้นหลายเท่า ถ้าคุณยังมีน้ำใจ ยังเห็นว่าเราเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็ช่วยสงเคราะห์เยียวยาเราบ้างเถอะ อย่าทรมานเราทั้งเป็นเลย ขอร้อง”
แม้จะผ่านมาจะครบ 6 ปี กัญญายังจำได้เสมอว่า ลูกชายของเธอเป็นใคร เป็นเด็กที่ช่วยเพื่อน ช่วยครอบครัว เป็นคนที่ใครๆ ต่างรัก แต่ในวันนี้ บ้านที่เคยมีเสียงหัวเราะ เต็มไปด้วยความเงียบงัน เธอยังเฝ้าถามตัวเอง ถ้าวันนั้นเอ่ยปากขอให้ลูกอยู่ต่อ จะเปลี่ยนอะไรได้ไหม? แต่ทุกคำถามกลับไม่มีคำตอบแล้ว เหลือไว้เพียงความคิดถึงที่คิดแต่ไม่รู้ไปถึงสยามหรือไม่ และคงเป็นความคิดถึงที่ไม่มีวันสิ้นสุด ทุกวันนี้บางวันกัญญายังไม่หยุดเรียกลูกชายได้ เพราะยังไม่รู้ชะตากรรมของลูก แม้จะบอกว่าทำใจว่าลูกเป็นบุคคลสาบสูญแล้วก็ตาม
“สิ่งที่ครอบครัวแม่ต้องการตอนนี้ ไม่ใช่แค่การรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คือการได้รับเอกสารรับรองว่าสยามเป็นบุคคลสาบสูญ เพื่อที่ครอบครัวจะสามารถทำธุรกรรมทางกฎหมายได้ จะได้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ แต่ทุกวันนี้เราก็ยังคงรอ ยังคงเฝ้าติดตาม และยังคงไม่มีคำตอบใดๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ”
กัญญา ธีรวุฒิ
“แม่ต้องสู้อยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อยอมรับความจริง แต่เพื่อตามหาความจริงว่า คุณทำกันไปทำไม? ทำไมต้องทำแบบนี้? คนเรากินข้าวเหมือนกัน คุณก็กินข้าว แม่ก็กินข้าว แล้วทำไมถึงมองคนไม่เท่ากัน ทำไมถึงพรากลูกของแม่ไป แม่อยากให้คุณเข้าใจความรู้สึกของความเป็นคนบ้าง อยากให้คุณรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำลงไป”
“เราสูญเสียลูกไปแล้ว แต่ถ้าคุณไม่มีหัวใจ ถ้าคุณไม่มีความเห็นอกเห็นใจต่อความสูญเสียของผู้อื่น แม่ว่าคุณอาจจะไม่มีความเป็นคนหลงเหลืออยู่แล้วก็ได้ หรือถ้าเขาเยียวยา ช่วยเหลือ ก็อาจจะเป็นการยอมรับว่าเขาทำผิด
ทำให้ทุกวันนี้เรื่องยังคาราคาซังไม่จบ”
เส้นแบ่งระหว่างอำนาจรัฐและความเป็นมนุษย์ถูกทำให้เลือนราง
การหายตัวไปของสยาม ธีรวุฒิ หรือ ‘ไอซ์’ นักกิจกรรมทางการเมืองและศิลปินละครเวที กลางปี 2562 สร้างความสั่นสะเทือนวงการสิทธิมนุษยชนไทยและนานาชาติ เขาคนนี้คือหนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หนีออกจากประเทศไทย หลังการรัฐประหาร 2557 ก่อนที่ร่องรอยของเขาจะถูกตัดขาดไปอย่างเงียบเชียบ ภายใต้เงามืดของอำนาจรัฐ เรื่องราวที่เกิดขึ้นมัดรวมเรื่อง ศิลปะ การเมือง และชีวิตที่ถูกทำให้สูญหาย เข้าอยู่ด้วยกัน
สยาม ธีรวุฒิ ไม่ได้เป็นเพียงนักกิจกรรมทางการเมือง แต่เขายังเป็นนักละครเวทีที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสะท้อนปัญหาสังคม ผลงานของเขาเชื่อมโยงกับคำถามถึงเสรีภาพในการแสดงออกและอำนาจของรัฐที่ครอบงำประชาชน เขาเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกออกหมายจับด้วยข้อหาตามมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ทุกวันนี้มีนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก ถูกกระบวนการยุติธรรมนำข้อหานี้มาใช้บ่อยครั้ง จนทำให้ความคิดเห็นที่แตกต่างถูกปิดกั้น ขณะที่บางคนถูกกฎหมายมาตรานี้ลุกลามไปถึงการถูกจำกัดอิสรภาพในรั้วหลังกรงขัง
การลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือทางเลือกเดียวของเขา เช่นเดียวกับนักกิจกรรมอีกหลายคนที่ถูกผลักให้กลายเป็น “คนนอกแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน” แต่การลี้ภัยไปต่างประเทศไม่ได้หมายถึงความปลอดภัยเสมอไป เพราะภายใต้โครงสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับภูมิภาค ยังพบการบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศอยู่ร่ำไป เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำโดยปราศจากความรับผิดชอบ เห็นได้จากสถานการณ์ปัจจุบันที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ เปิดฉากด้วยการประกาศนโยบายล้างแผนดินสหรัฐอเมริกา ด้วยการระงับความช่วยเหลือเรื่องผู้ลี้ภัยหลังเข้ารับตำแหน่ง รวมถึงหยุดให้งบประมาณองค์กรไม่แสวงหากำไรที่รับทุนจากรัฐบาบของสหรัฐ
ส่งกลับแล้วหายไป ? วัฏจักรของการอุ้มหาย
ย้อนกลับไปวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ประเทศไทยมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่า สยาม ธีรวุฒิ ถูกจับกุมอยู่ที่เวียดนามพร้อมกับผู้ลี้ภัยไทยอีกสองคน คือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และ กฤษณะ ทัพไทย ตอนนั้นทั้งสามคนถูกส่งตัวไปทางการไทยผ่านทางลาว นับตั้งแต่นั้นก็ไม่มีใครพบเห็นหรือได้รับข่าวสารเกี่ยวกับพวกเขาอีกเลย
แม้ว่ากรณีของสยามจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้มี สุรชัย แซ่ด่าน และผู้ติดตามอีกสองคนที่ขอลี้ภัยไปยังลาวก็หายตัวไปในลักษณะเดียวกัน และต่อมาพบศพของสองในสามลอยขึ้นที่แม่น้ำโขง ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมจนแทบไม่เหลือเค้าร่างเดิมได้เห็น ขณะที่สุรชัยหายไปอย่างไร้ร่องรอยจนถึงวันนี้ ไม่ต่างจากการหายตัวไปของสยามและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฏจักรความรุนแรง โดยรัฐที่บุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายไม่เคยได้รับความยุติธรรม
ชีวิตเดินทางมาถึงความเงียบที่ไม่สงบ แม้จะมีกฎหมาย 2 ปี
เมื่ออำนาจรัฐสามารถลบตัวตนของคนๆ หนึ่งได้โดยไม่มีคำอธิบาย ความเงียบที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่สัญลักษณ์ของความสงบ แต่เป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น นั่นคือ “ความปกติใหม่” ที่การอุ้มหายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ
ข่าวคราวที่ผ่านมา หากเรามองไปที่เส้นทางของผู้ลี้ภัยทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นเครือข่ายความร่วมมือระหว่างรัฐ ที่ช่วยให้การอุ้มหายเกิดขึ้นได้ง่ายดาย ความร่วมมือนี้ไม่ได้ถูกพูดถึงในที่แจ้ง แต่ดำเนินไปอย่างเป็นระบบภายใต้เงื่อนไขของการรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ในความเป็นจริงก็คือการรักษาอำนาจของกลุ่มผู้ปกครองมากกว่าการรักษาความปลอดภัยของประชาชน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 2 ปีที่ผ่านมา บางคราถูกเปรียบเปรยจากครอบครัวที่ได้รับผลกระทบว่า กฎหมายป้องกันการทรมานอุ้มหายฯ เป็นเหมือนกฎหมายแห่งความหวังบนความมืดมนที่ไม่รู้จุดหมายปลายทาง เพราะบังคับใช้แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือครอบครัวของกัญญา แม่ของ “สยาม ธีรวุฒิ” ที่ตามหาลูกชาย
“ทำใจแล้ว”
คือทำสุดท้ายที่เธอจบบทสนทนาในวันที่ลูกชายจะหายตัวไปครบรอบ 6 ปีในเดือนพฤษภาคม 2568 กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
แม้เรื่องราวของสยามจะถูกกลบฝังไว้ด้วยความเงียบงันของรัฐถึงทุกวันนี้ แต่เสียงของเขาไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำของผู้คน หลายปีที่ผ่านมามีนักกิจกรรมและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ยังคงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเขาและผู้สูญหายคนอื่นๆ รวมถึงสื่อมวลชนอิสระที่ช่วยให้เรื่องราวเหล่านี้ไม่ถูกลืม
ขณะที่เส้นแบ่งระหว่างอำนาจรัฐกับความเป็นมนุษย์ทุกวันนี้ อาจถูกทำให้เลือนรางบางเวลา แต่ทุกคนที่สู้ต่างเชื่อว่า ไม่เคยมีอำนาจใด ลบเลือนเสียงเรียกร้องความยุติธรรมได้อย่างสิ้นเชิง ตราบใดที่ยังมีผู้คนที่ไม่ยอมจำนนต่อความเงียบ
สยาม ธีรวุฒิ และผู้สูญหายทางการเมืองทุกคน จะยังคงมีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในวันครบรอบ 2 ปี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และในทุกๆ วันจากนี้ไป
แสงสว่างแห่งความยุติธรรม กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหายในประเทศไทย
ในโลกที่ความเงียบงันอาจดังกึกก้องยิ่งกว่าคำพูด และความกลัวสามารถบดบังเสรีภาพจนมืดมน มีผู้คนมากมายที่ถูกทำให้หายไป ร่างกายของพวกเขาลับหายไปในเงามืดของอำนาจ แต่เสียงของพวกเขายังคงก้องสะท้อนอยู่ในความทรงจำของครอบครัว คนรัก และสังคมไทย
การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายไม่ใช่แค่เรื่องราวของเหยื่อ หากแต่เป็นบาดแผลของสังคม เป็นรอยร้าวที่บอกเล่าถึงความเปราะบางของหลักนิติธรรม และเป็นคำถามที่ยังค้างคา ว่าเราจะปล่อยให้มันเป็นเพียงเรื่องราวที่ถูกกลืนหายไป หรือจะเปลี่ยนมันให้เป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง
แสงแห่งกฎหมาย การเดินทางสู่ความยุติธรรม
22 กุมภาพันธ์ 2566 เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หมุดหมายสำคัญของความยุติธรรมได้ถูกปักลงในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้เป็นมากกว่าข้อความบนกระดาษ แต่เป็นหลักประกันใหม่ให้กับชีวิตของประชาชน เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ใครต้องหายไปในความเงียบงัน และเป็นสัญญาณว่าสังคมไทยกำลังก้าวข้ามความมืดมนของอดีตไปสู่ความยุติธรรมที่แท้จริง
“การทรมาน” ตามกฎหมายนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่บาดแผลที่ปรากฏบนร่างกาย หากรวมถึงทุกความเจ็บปวดที่กัดกินจิตใจ การใช้ความรุนแรงเพื่อบีบบังคับ ข่มขู่ หรือทำให้ใครสักคนรู้สึกหมดสิ้นหนทาง ทั้งหมดล้วนเป็นอาชญากรรมที่ไม่อาจเพิกเฉย
ขณะเดียวกัน “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ไม่ใช่เพียงเป็นเรื่องของคนที่หายไป แต่คือโศกนาฏกรรมของครอบครัวที่ต้องรอคอยโดยไร้คำตอบ กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นเหมือนแสงริบหรี่ที่ส่องเข้ามาในอุโมงค์มืด เป็นคำมั่นสัญญาว่าการหายไปของใครบางคนจะไม่จบลงด้วยความเงียบ แต่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความยุติธรรมที่รอวันคืนกลับมา
บททดสอบของกฎหมาย เส้นทางที่ยังทอดยาว
ทว่า เส้นทางสู่ความยุติธรรมไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ กฎหมายฉบับนี้ยังต้องเผชิญกับบททดสอบมากมาย จากช่องโหว่ในการตีความข้อกฎหมาย ไปจนถึงโครงสร้างอำนาจที่อาจยังคงเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิได้
- นิยามคำว่าการทรมานใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ พบประเด็นที่อาจไม่สอดคล้องกับนิยามการทรมานในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
- การตีความมาตรา 3 และ 7 ยังคงเป็นข้อถกเถียงว่าสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวจะได้รับการคุ้มครองเพียงพอหรือไม่
- อำนาจของหน่วยงานรัฐ ที่มีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมาย จะสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระและโปร่งใสหรือไม่
- การใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน อาจยังเป็นช่องทางให้การควบคุมตัวบุคคลเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรับผิดชอบ
กฎหมายอาจเขียนขึ้นด้วยหมึก แต่ความยุติธรรมต้องถูกจารึกลงด้วยการกระทำจริง สิ่งเหล่านี้คือบททดสอบว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นเพียงอักษรที่นิ่งสนิทในสมุดกฎหมาย หรือจะกลายเป็นหลักประกันที่มีชีวิตที่มีเสียง และมีความหมายต่อทุกคนในสังคม
จากเถ้าถ่านของอดีต สู่อนาคตที่ต้องร่วมกันสร้าง
เราไม่อาจย้อนเวลากลับไปเพื่อลบล้างความเจ็บปวดของผู้ที่เคยสูญหายไปแล้ว แต่เราสามารถทำให้แน่ใจว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็นมากกว่ากฎหมาย แต่คือสัญลักษณ์ของความหวัง คือคำสัญญาต่อเหยื่อและครอบครัวที่รอคอยคำตอบ และเป็นเครื่องเตือนใจ ว่าสังคมไทยจะไม่ยอมปล่อยให้ใครหายไปโดยไม่มีคำอธิบาย ไม่มีคำตอบ
แต่กฎหมายเพียงลำพังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้ หากปราศจากแรงผลักดันจากสังคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงยังคงยืนหยัดเคียงข้างผู้สูญหายและครอบครัวของพวกเขา เพื่อเฝ้าจับตาการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะสิทธิในการมีตัวตน สิทธิในการมีเสียง และสิทธิในการได้รับความยุติธรรม สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก คือสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมีและไม่มีใครควรถูกพรากมันไป