“ใครจะต้อนรับวิธีไหน ผมรับได้หมด”
คำพูดที่ฟังดูหนักแน่นของ ทักษิณ ชินวัตร ดังขึ้นท่ามกลางเสียงระเบิดที่ก้องกังวานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่เขาจะเดินทางมาถึง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 ภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย วัย 75 ปี ที่กลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในรอบ 19 ปี ซึ่งเต็มไปด้วยบาดแผลทางประวัติศาสตร์ กลายเป็นจุดสนใจของการเมืองและความขัดแย้งในดินแดนปลายด้ามขวานของประเทศไทย แต่สิ่งที่สะเทือนใจมากกว่าระเบิด 2 จุดในวันนั้น ที่ส่งสัญญาณเหมือนคำข่มขู่ก่อนที่เขาจะบินตรงลงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ คือ “คำขอโทษ” ของเขาต่อ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ โศกนาฏกรรมเมื่อ 20 ปีก่อน ที่ยังเป็นปมบาดลึกในใจของผู้คน แต่คดีกลับต้องหมดอายุความลงไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยที่หลายคนยังตั้งคำถามถึงความยุติธรรมว่ามีจริงหรือไม่
20 ปีเหตุการณ์ตากใบ คดีแห่งความเงียบ และคำขอโทษที่ได้รับ
“เรื่องตากใบ ตอนที่ผมเป็นนายกฯ ผมมีความตั้งใจห่วงใยพี่น้อง 100% แต่การทำงานมีความผิดพลาดได้บ้าง ถ้าผมมีอะไรผิดพลาด ที่ไม่เป็นที่พอใจ ก็ขออภัยด้วยครับ เพื่อเราจะได้หันกลับมาช่วยกันแก้ปัญหาด้วยกัน ไม่อยากให้มีความเกรงใจเล็กๆ น้อยๆ แต่พี่น้องมุสลิมถูกสอนมาว่า รักสันติสุข รู้จักให้อภัยเพราะฉะนั้นเมื่อเราขออภัยในสิ่งที่ผมอาจจะทำเป็นที่ไม่ถูกใจหรือผิดพลาดบ้างต้องขออภัยด้วยครับ”
ทักษิณ ชินวัตร
นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ ทักษิณ ชินวัตร พูดถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ด้านหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 อย่างเต็มปากเต็มคำหลังเกิดเรื่องขึ้นมาจนคดีหมดอายุความลงไปออกผ่านสื่อระหว่างการลงพื้นที่ แต่ความผิดพลาดในวันนั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการเมือง แต่คือบาดแผลของมนุษยธรรม บางแผลในใจของคนที่อยู่ในเหตุการณ์และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบมาถึงทุกวันนี้
วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ผู้ประท้วงที่ถูกควบคุมตัวจากหน้า สภ.ตากใบ ถูกบังคับให้นอนซ้อนทับกันระหว่างการเคลื่อนย้าย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย ส่วนใหญ่ถูกทับทำให้ขาดอากาศหายใจ เหตุการณ์นี้ไม่เพียงทำให้ไฟแห่งความไม่พอใจปะทุขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ แต่ยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับชาวบ้านในพื้นที่ ทุกวันนี้เวลาผ่านไปสองทศวรรษ หรือ 20 ปี คดีสิ้นสุดลง ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิด แต่ความเจ็บปวดยังคงอยู่ เมื่อทักษิณกลับมา “ขออภัย” หลังคดีหมดอายุความไป คำถามคือประโยคนี้ เพียงพอหรือไม่? สำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ทักษิณกับสันติภาพ กลับมาเพื่อปิดเกมในจังหวัดชายแดนใต้?’
นอกจากคำขอโทษแล้ว ทักษิณ ยังประกาศวิสัยทัศน์ของเขาระหว่างลงพื้นที่เกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีใจความสำคัญว่า “วันนี้ผมเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เขากล่าวอย่างมั่นใจ โดยเชื่อว่า ปีนี้จะเห็นสัญญาณดี ปีหน้าอาจจบ จึงเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่านี่คือคำมั่นสัญญาหรือเพียงการให้ความหวังลมๆ แล้งๆ กับคนในพื้นที่?แต่ปัจจัยที่ทำให้ทักษิณมั่นใจว่ามีแนวโน้มจะทำได้ คือการได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ โดยเฉพาะ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ที่ส่งสัญญาณร่วมมือในการเจรจาสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะทบทวนนโยบาย 66/2523 ซึ่งเคยใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีตในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่มีการประกาศชัดเจน ให้ “ยุติสงครามกลางเมืองด้วยการเมืองนำการทหาร”
นโยบาย 66/2523 ทางออกที่เป็นไปได้ในจังหวัดชายแดนใต้?
การพูดคุยเรื่องสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้หยุดแค่คำขอโทษ แต่ทักษิณ ชินวัตร ยังโยงไปถึงแนวทางที่รัฐบาลกำลังพิจารณา นั่นคือ นโยบาย 66/2523 นโยบายที่เคยถูกใช้เพื่อ “เอาชนะคอมมิวนิสต์” ในยุคหนึ่ง กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ อธิบายให้เข้าใจง่ายเกี่ยวกับนโยบายนี้คือ หัวใจสำคัญของ 66/2523 คือ การรุกทางการเมือง แทนที่จะใช้กำลังทหารเป็นหลัก แต่มีเป้าหมายคือการทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการปกครอง และขจัดความไม่เป็นธรรมที่เป็นรากลึกของความขัดแย้ง รวมถึงการให้โอกาสกับผู้คนที่เคยจับอาวุธได้กลับคืนสู่สังคม
และหากถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน นโยบายนี้เคยช่วยให้ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ล่มสลายไปในที่สุด เพราะเปลี่ยนการเผชิญหน้าเป็นการพูดคุย เปลี่ยนปืนเป็นการเมือง หากรัฐบาลสามารถนำหลักการนี้มาใช้กับผู้เห็นต่างในจังหวัดชายแดนใต้ได้จริง ก็อาจเป็นแนวทางที่ช่วยคลี่คลายปัญหาได้ในระยะยาวได้ แต่ปัญหาคือ ความขัดแย้งในภาคใต้แตกต่างจากสงครามคอมมิวนิสต์ ในอดีต เพราะไม่ใช่แค่การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องของ อัตลักษณ์ ศาสนา และประวัติศาสตร์ รวมถึงกลุ่มผู้เห็นต่างมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีเครือข่ายเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มขบวนการระดับสากล และความรู้สึกไม่ไว้วางใจรัฐฝังรากลงไปในหมู่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำให้การปรับใช้ 66/2523 อาจต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงการคัดลอกสูตรสำเร็จจากอดีตที่เคยทำมาแล้ว
ทักษิณ ชินวัตร คนสุดท้ายที่รอคอย หรือแค่หมากบนกระดาน?
เมื่อทักษิณถูกถามระหว่างลงพื้นที่โดยมีใจความสำคัญว่า “พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มองเขาเป็นแสงสว่างสุดท้าย แล้วจะต้องรออีกนานแค่ไหน?” คำตอบที่เขาให้ผ่านสื่อมวลชนคือ “ไม่ต้องรอ ภายในปีนี้จะเห็นสัญญาณที่ดี และปีหน้าน่าจะจบ” แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสอนเราว่า สันติภาพเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าคำมั่นสัญญา
- ตากใบยังเป็นแผลสดที่ไม่มีใครรับผิด
- การเจรจากับผู้เห็นต่างในพื้นที่ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม
- เจ้าหน้าที่ทหารยังคงมีบทบาทสำคัญในพื้นที่ในการจัดการต่างๆ
ทำให้ต้องจับตาดูว่าการกลับมาของ ทักษิณ ชินวัตร อาจเป็นหมากสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐบาลเพื่อไทย หรืออาจเป็นความพยายามครั้งสุดท้ายของเขาในการปิดฉากปัญหาที่คาราคาซังมานาน ส่วนที่มีการพูดถึงว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มีจริง หรือเป็นเพียงแสงของไฟที่ยังคุกรุ่น? นี่อาจเป็นคำถามที่มีเพียง “เวลา” เท่านั้นที่จะให้คำตอบ
20 ปี…ตากใบ ‘แบมะรีกะห์’ ผู้รอดชีวิตและบาดแผลที่ไม่มีวันเลือน เส้นแบ่งระหว่างอำนาจรัฐและความเป็นมนุษย์ถูกทำให้เลือนราง
สำหรับใครบางคนตากใบอาจเป็นเพียงเหตุการณ์ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ แต่สำหรับคนที่อยู่ตรงนั้น คือชีวิตที่พลิกผัน ความทรงจำที่ไม่เคยเลือน และคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ มามะรีกะห์ บินอุมา หรือ “แบมะ” คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากวันนั้น ทุกวันนี้เขาอายุ 62 ปีแล้ว ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทุกเช้าเขาตื่นไปกรีดยางในสวน พอมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว เวลาผ่านไป 20 ปี แต่ทุกครั้งที่ถึงเดือนรอมฎอน ความทรงจำจากวันนั้นก็ย้อนกลับมา เพราะวันนั้นเขาแค่จะไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น… ไม่คิดว่าเขาจะยิง
20 ปีของการรอคอย นราธิวาสที่อยากเห็น
“ตอนนี้ก็ยังอยู่กันได้ ไปมาหาสู่กันได้เหมือนเดิม แต่ความหวาดระแวงก็ยังมีอยู่” แบมะบอกกับเราด้วยเสียงเนิบช้า ดวงตาของเขามองออกไปไกล เหมือนกำลังนึกย้อนถึงนราธิวาสในวันวานที่ทุกคนในพื้นที่ไม่มีเหตุให้หวาดระแวงกันเหมือนทุกวันนี้ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ
“สมัยก่อน เวลามีงานวัด พวกเราก็ไปดูหนังกลางแปลงได้ คนพุทธกับมุสลิมก็นั่งกินข้าวยำร้านเดียวกัน ไม่ได้มีอะไรอยู่ในใจ แต่พอตากใบเกิดขึ้น คนเริ่มตั้งคำถามว่าใครยิงใคร มันทำให้ทุกคนหวาดระแวง”
สำหรับแบมะหากถามว่า 20 ปีผ่านไปแล้ว อะไรดีขึ้นบ้างไหมในจังหวัดชายแดนใต้? เขาตอบกลับ “มันก็ค่อยๆ ดีขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะดีขึ้นจริงหรือเปล่า อาจจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม หรืออาจจะไม่… ไม่รู้เหมือนกัน”
วันที่ชีวิตพลิกผันของแบมะ วันที่ 25 ตุลาคม 2547 แบมะไม่ได้ตั้งใจจะไปชุมนุม ไม่ได้ไปเพื่อประท้วง แต่ไปเพราะได้ยินว่ามีการจับตัว ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) และอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พอเดินทางไปถึงหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ พบคนเยอะเป็นพันๆ คน ตอนแรกเขายืนดูอยู่แนวหลัง ตรงศาลาข้างขวา เพียงแค่สังเกตการณ์ จากนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้น
“เขาไม่ได้ยิงขึ้นฟ้า เขายิงแนวราบ”
“ตอนนั้นหมอบลงทันที คลานลงน้ำ นึกว่าจะโดนแล้ว ตอนนั้นเริ่มรู้แล้วว่าไม่ปลอดภัย”
เหตุการณ์บนรถบรรทุกของทหาร 25 คัน เสียงร้องที่ไม่มีใครได้ยิน
แม้เวลาจะผ่านไป ในบางครั้งแบมะก็ยังคงระแวงทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เขาไม่รู้ว่ากลัวใคร เจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่เห็นต่างในพื้นที่ เมื่อถามว่าให้อภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ แบมะตอบเพียงว่า “ช่างมันเถอะ” แต่คำตอบนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาจะลืมสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะบางเรื่อง อาจถูกกาลเวลาโอบล้อมไว้ให้เลือนลาง แต่ไม่เคยจางหายไปจากใจคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อย่างแบมะในตอนนั้น เขาถูกจับให้นั่งอยู่ชั้น 4 ของรถทหารคันหนึ่ง จากรถทั้งหมด 25 คัน และทุกคันอัดแน่นไปด้วยคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว
“ตอนที่กระสุนยิงมา นึกว่าจะโดนกระสุนแล้ว”
“ตอนที่ขึ้นรถได้ยินเสียงคนร้องขอชีวิต แม่ช่วยด้วย พ่อช่วยด้วย จะตายแล้ว”
“ข้างล่างตะโกน ‘ช่วยด้วย หายใจไม่ออก’ บางคนร้องเรียกแม่เรียกพ่อ แต่ไม่มีใครช่วยได้”
“ทหารตะโกน ‘เงียบนะพวกมึง กูเกลียดมานานแล้วพวกมึง’”
“หนักใจที่สุดก็ตอนที่ได้ยินเสียงปืนด้านหลัง คนเริ่มขาดอากาศ คนที่อยู่ล่างสุดไม่มีที่หายใจ บางคนก็หมดลมหายใจไปตรงนั้นเลย”
แบมะถูกควบคุมตัว 16 วันในค่าย เขายอมรับว่าต้องมีชีวิตที่ไม่มีวันเหมือนเดิม เพราะหลังจากนั้นก็ถูกคุมตัวอยู่ 16 วัน ในค่ายทหาร ต้องไปศาลทุกเดือนนาน 24 เดือน สุดท้ายศาลถอนฟ้อง “เขาไม่ชนะเรา แต่เราก็ไม่ได้ชนะเหมือนกัน” แม้จะออกจากเรือนจำมาแล้ว แต่ทำให้แบมะต้องนอนไม่หลับนานอยู่ 3 เดือน ตกกลางคืนไม่กล้าออกจากบ้าน ต้องปิดหน้าต่างทุกบาน
20 ปีผ่านไป แต่ทำไมยังรู้สึกไม่ปลอดภัย?
สำหรับแบมะก็เพราะว่าหลายอย่างในพื้นที่สำหรับเขายังไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้น แล้วความยุติธรรมสำหรับแบมะคืออะไร?
“ถ้าผิดก็ต้องยอมรับผิด แต่ที่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครออกมายอมรับอะไรเลย”
แม้คดีสลายการชุมนุมตากใบจะหมดอายุความลงไป แต่แบมะยังคงเชื่อในความยุติธรรมว่ามีอยู่จริง แม้ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ของเขา ไม่รู้ว่าจะไม่ได้เห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ก็ตาม ระหว่างคุยกันเขาย้ำถึงคำนี้ว่า “ความยุติธรรมมีจริง แต่การกระทำอาจไม่เหมือนคำพูด” โดย 20 ปีที่ผ่านมา สำหรับเขาที่เห็นเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่เพียงแต่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวบ้านที่เปลี่ยนไป แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมในพื้นที่ก็บอบช้ำ เขายอมรับว่าบางครั้งความหวาดระแวงได้ฝังลึกในจิตใจคนรุ่นนั้นและถ่ายทอดมาถึงรุ่นปัจจุบันอยู่บ้าง
ผ่านพ้น 20 ปีเหตุการณ์ตากใบ แต่รอยแผลยังไม่เคยจางหาย ในบั้นปลายชีวิตของแบมะ เขาบอกเพียงว่าทุกวันนี้ไม่ได้โกรธใครแล้ว เพราะไม่อยากคิดอะไรมากมาย ด้วยเพราะอายุที่มากขึ้นทุกวันจึงหวังเพียงแค่อยากให้ลูกหลานไม่ต้องเจอเหตุการณ์เหมือนตากใบแบบที่เขาเคยเจออีก แบมะพูดสั้นๆ ในฐานะชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งว่า ถ้าอยากให้สันติภาพเกิดขึ้นที่นี่ อาจต้องเข้าใจวัฒนธรรมในพื้นที่ ผู้นำหรือใครที่จะมาอยู่บ้านเราอาจต้องทำการบ้านให้มากกว่านี้ และอาจต้องตระหนักให้มากขึ้นว่า ปลายกระบอกปืนหรือความรุนแรงในรูปแบบใดก็ตาม อาจไม่ใช่ทางออกของสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้
“เหตุการณ์ตากใบต้องทำให้เจ้าหน้าที่รัฐได้รับบทเรียน เจ้าหน้าที่ที่จะมาทำงานที่นี่ต้องทำการบ้านเยอะๆ ต้องเข้าใจวัฒนธรรมของคนที่นี่ให้มากขึ้น ภาษามาลายูก็สำคัญนะ อยากให้เรียนรู้สักนิดหน่อยก็ยังดี”
มามะรีกะห์ บินอุมา
เพราะสำหรับแบมะและคนที่อยู่ตรงนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันนั้น ไม่ใช่แค่ ความผิดพลาดแต่คือความล้มเหลวของรัฐในการปฏิบัติต่อประชาชนของตัวเองในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน