Amnesty International
ท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำยมในพื้นที่บ้านสะเอียบ จังหวัดแพร่ ชื่อของกลุ่ม “ตะกอนยม” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่ยาวนานนับทศวรรษเพื่อหยุดยั้งโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่ยังคงมุ่งมั่นเพื่ออนาคตของบ้านเกิด บทสัมภาษณ์นี้นำพาทุกคนไปพบกับ พี่แป๋ว อาริศราพรดิ์ สะเอียบคง ผู้ก่อตั้งกลุ่มตะกอนยม ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทาง การต่อสู้ และความหวังในวันข้างหน้าของชุมชนแห่งนี้ผ่านเรื่องเล่าของเขาและเพื่อนพ้องที่ต่อสู้มาด้วยกันตั้งแต่เยาวน์วัยจวบจนเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ต้องการรักษาสิทธิชุมชนและที่อยู่อาศัยให้ทุกคน

จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ของกลุ่มตะกอนยม บ้านสะเอียบ จ.แพร่
พี่แป๋วเริ่มเล่าถึงความเป็นมาในวันที่ธรรมชาติของบ้านสะเอียบกำลังเผชิญกับวิกฤตจากโครงการของรัฐบาล “พี่เกิดและเติบโตที่นี่ ตอนนั้นพี่อายุแค่ 12-13 ปี มีรุ่นพี่จากมูลนิธิกระจกเงามาออกค่ายให้เด็กๆ ร่วมกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม ทำให้เราได้รู้ว่าบ้านเกิดของเรามีทรัพยากรที่มีค่า” เธอเล่าย้อนถึงช่วงแรกของการเข้าร่วมกิจกรรมในท้องถิ่นที่เปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล
เมื่อข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นแพร่กระจายเข้ามาสู่ชุมชนบ้านสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญที่อาจจมอยู่ใต้บ่อน้ำลึก หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้เรียนรู้เรื่องปัญหาชุมชนจากค่ายต่างๆ ที่มาให้ความรู้ แล้วค้นพบความหมายของชีวิตว่าการมีโครงการเขื่อนเข้ามาที่บ้าน จะทำให้ชีวิตไม่สงบสุขอย่างที่เราเคยคิด แม้จะได้เงินชดเชยเยียวยาหรือได้รับการจัดสรรที่ดินให้อยู่กิน แต่การมีเขื่อนยังถูกมองว่าจะทำให้ทรัพยากรในบ้านของพวกเขาถูกทำลาย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอคิดรวมกลุ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อบ้านเกิด
จากกลุ่มเยาวชนในเวลานั้นมีจำนวนเพียง 10 คน พวกเขาตัดสินใจตั้งชื่อกลุ่มว่า “ตะกอนยม” เพื่อสื่อถึงสิ่งเล็กๆ ที่อยู่ในลุ่มน้ำยม ซึ่งแม้จะดูไม่มีความสำคัญ แต่กลับมีบทบาทในการเลี้ยงชีวิตสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำ
“เราก็จะมีบทเพลงเป็นบทกวีบทเพลงแต่งเพลงขึ้นมา หลังจากนั้น ปี 2536 ก็รวบรวมทั้งกลุ่มลูกแม่ยมแล้วก็เยาวชนกลุ่มหนุ่มสาว มาตั้งชื่อใหม่เป็นกลุ่มของเราที่ตั้งขึ้นเอง สุดท้ายมาหยุดอยู่ตรงที่ชื่อว่าตะกอนยม ที่เปรียบดั่งตะกอนของแม่น้ำยมที่เหมือนจะไม่มีประโยชน์ เหมือนเป็นสิ่งเล็ก ในลุ่มน้ำยม แต่ความหมายของกลุ่มเราคือตะกอนที่ให้มูลค่า มีประโยชน์ ให้สารอาหารกับพืชแล้วก็สัตว์ที่อยู่ในใต้น้ำ เราก็เลยคิดว่าเราก็เป็นเหมือนกับตะกอนยมเลยตั้งชื่อนี้ขึ้นมา”
นิทรรศการเพื่อสื่อสารเรื่องราวชาวสะเอียบและแม่น้ำยม

การต่อสู้ของกลุ่มตะกอนยมเริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาสื่อสารต่อชุมชน ในตอนนั้นที่ยุคสมัยที่การสื่อสารยังไม่หลากหลาย ทำให้ชาวบ้านหลายคนไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อน กลุ่มตะกอนยมจึงจัดนิทรรศการที่โรงเรียนทั้งในและนอกพื้นที่ เช่น ที่อาชีวศึกษาแพร่ โรงเรียนพิริยาลัย เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาเขื่อนแก่งเสือเต้น พี่แป๋ว อาริศราพรดิ์ เล่าถึงวิธีที่พวกเขานำเสนอเรื่องราวของธรรมชาติที่บ้านสะเอียบ และผลกระทบของโครงการเขื่อนที่อาจเกิดขึ้น
นิทรรศการของพวกเขาในตอนนั้นมีหลากหลายสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย บทกวี และงานศิลปะที่เด็กๆ ร่วมกันสร้างสรรค์เพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติที่พวกเขาต้องการปกป้อง “เราอยากให้คนที่เข้ามาชมเห็นความงดงามของบ้านสะเอียบ ที่มีทั้งทรัพยากรที่สมบูรณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์”
รูปแบบของการสื่อสารผ่านนิทรรศการจะเน้นเรื่องของบ้านสะเอียบว่า มีอะไรดีงามที่ควรค่าต่อการรักษาให้คงอยู่ ร่วมไปถึงการจัดค่ายเด็กและเยาวชนให้มาสำรวจพื้นที่ศึกษาที่นี่ทุกปี ส่วนใหญ่เป็นค่ายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในที่ต่างๆ ที่เห็นพลังของกลุ่มตะกอนยม
“แต่ก่อนบ้านสะเอียบจะถูกมองว่าเป็นพื้นที่ป่าเถื่อน ไม่ยอมให้คนอื่นเข้ามา แต่จริงๆ แล้วเรามีอะไรหลายอย่างที่อยากให้เขาเห็น อยากให้เขาสัมผัส การออกค่ายเป็นการนำเพื่อนๆ จากข้างนอกเข้ามาเรียนรู้ มามีประสบการณ์ ได้สัมผัสถึงความอบอุ่น แล้วก็สัมผัสธรรมชาติร่วมกับเรา เขาจะได้รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว ป่าแม่ยมมีอะไรน่าหวงแหนเยอะมาก เราก็เริ่มจากตรงนั้น”
แก่งเสือเต้น…การต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้นที่บ้านสะเอียบ
แป๋ว อาริศราพรดิ์ เล่าว่าแม้ว่าชาวกลุ่มตะกอนยมจะเป็นเพียงกลุ่มที่เยาวชนตั้งกันขึ้นมา แต่การทำงานของกลุ่มยังคงทำต่อเนื่องมาอย่างยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน “ตั้งแต่ปี 2536 ที่เราเริ่มต้น จนถึงปี 2537 เราได้จัดตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการ และจัดค่ายทุกปีเพื่อสร้างความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่”
พี่แป๋วกล่าวถึงการเดินทางที่ยาวนานถึง 32 ปีของกลุ่มตะกอนยม ที่การต่อสู้ของกลุ่มไม่ใช่เรื่องง่าย อุปสรรคและความท้าทายมากมายเข้ามาทดสอบความมุ่งมั่นของพวกเขา เพราะในช่วงแรกๆ มีคนมองว่ากลุ่มตะกอนยอมเป็นแค่เด็กเยาวชนที่อายุยังน้อย อาจไม่ควรเข้ามายุ่งเรื่องแก่งเสือเต้นที่เป็นโครงการใหญ่ระดับชาติ แต่ที่ผ่านมาพวกเขายังไม่เคยยอมแพ้ พยายามทำให้ชุมชนเชื่อว่าเยาวชนอย่างพวกเขาก็ทำได้ แม้ว่าตอนแรกพ่อแม่ผู้ปกครองจะไม่เห็นด้วยในตอนเเรกเพราะเป็นห่วงชีวิตและความปลอดภัย แต่เมื่อฟังเหตุผลของลูกหลานซึ่งเป็นเด็กเยาวชนที่ยืนยันเจตนารมณ์และอุดมการณ์การหนักแน่น คือขอร่วมต่อสู้เพื่อบ้านเกิดของพวกเขา จึงทำให้ผู้ปกครองหันมาสนับสนุนในท้ายที่สุด
“ยุคก่อนๆ คำว่าผู้หญิง เด็กนักเรียน ไม่ควรเข้ามายุ่งในเรื่องของการต่อสู้ร่วมกับประชาชนหรือชาวบ้าน ทำให้เรารู้สึกว่านอกจากแข่งกับคนข้างนอกแล้ว เราต้องมาทำให้คนในชุมชนเห็นหรือพ่อแม่พี่น้องเราเห็นว่าเราสามารถทำได้ เราจะไม่ยอมอยู่เฉยๆ เราจะหยุดอยู่กับที่แล้วปล่อยให้พ่อแม่พี่น้องเราต่อสู้เพียงลำพังไม่ได้”

มาถึงตรงนี้หากพูดถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา บทบาทของเยาวชนผ่านสายตาของ พี่แป๋ว อาริศราพรดิ์ พบว่าการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชนได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ความเข้มข้นของการรณรงค์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือความมุ่งมั่นของคนในชุมชนที่จะรักษาบ้านเกิดของพวกเขาไว้ โดยเฉพาะเสียงของเยาวชนที่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเคลื่อนไหว ซึ่งช่วยเสริมพลังให้การต่อสู้นี้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
เธอในฐานะผู้ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชนมาตั้งแต่ยังเด็ก เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงของการรณรงค์ในแต่ละยุคว่า “ความเข้มข้นในใจมันไม่เคยลดลง แต่ก่อนกิจกรรมเยอะเพราะการสื่อสารยากไม่เหมือนทุกวันนี้ที่มีโซเชียลมีเดีย ความกดดันจากรัฐบาลก็สูง แต่ปัจจุบัน การสื่อสารทำได้ง่ายขึ้น ก็เลยอาจจะไม่ได้มีการจัดกิจกรรมใหญ่ ๆ บ่อยเหมือนเดิม”
พี่แป๋วเชื่อว่าแม้วันเวลาจะผ่านมานาน 32 ปี แต่ความเข้มข้นของความรู้สึกทุกคนที่อยู่บ้านสะเอียบและคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นผ่านกลุ่มตะกอนยมยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนคนในชุมชนยังรู้สึกถึงความสำคัญในการปกป้องพื้นที่ของตัวเอง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือวิธีการสื่อสารและแรงกดดันจากภายนอก
ส่วนบทบาทของเยาวชนบนเวทีการเคลื่อนไหว เธอเล่าว่าในช่วงปี พ.ศ. 2538 พบเยาวชนเริ่มมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชน พี่แป๋วเล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกที่เธอเข้าร่วมเวทีที่จัดโดยรัฐบาล เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนในชุมชนว่า ตอนนั้นเธอยังเด็ก ใส่ชุดนักเรียนขึ้นรถไฟไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อบอกนายกรัฐมนตรีว่า “เราไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนที่บ้านของเรา ความรู้สึกตอนนั้นมันไม่มีคำว่ากลัวเลยค่ะ เรามีแค่ความตั้งใจเดียวคือต้องการปกป้องบ้านเกิด”
เสียงของเยาวชนในวันนั้น ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนเริ่มตระหนักว่า ปัญหาการพัฒนาชุมชนไม่ใช่เรื่องที่ควรฟังเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ควรฟังเสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย ซึ่งนี่อาจเป็นการให้สิทธิเด็กเยาวชนที่เด่นชัดในยุคสมัยนั้นที่ยังไม่เปิดกว้างเหมือนทุกวันนี้
ความหวังของบ้านสะเอียบในวันข้างหน้า

ตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ชุมชนบ้านสะเอียบเผชิญกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น พี่แป๋วยังคงยืนยันจุดยืนเดิมที่ไม่เปลี่ยนแปลง “จุดยืนของเราชัดเจนว่าเราไม่ต้องการเขื่อนแก่งเสือเต้น เรายังคงต่อสู้เพื่อให้โครงการทั้งหมดถูกยกเลิก รวมถึงการสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่นๆ ด้วย”
ขณะที่การต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนและสิทธิของเด็กเป็นสิ่งที่พี่แป๋วให้ความสำคัญอยู่เสมอ สำหรับเธอสิทธิเด็กและสิทธิชุมชนสำคัญมาก เด็กและเยาวชนคืออนาคตของสังคม เธอเชื่อว่าเราทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง และมีสิทธิในการรักษาธรรมชาติและวัฒนธรรมของชุมชน ขณะที่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชนจากโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องที่บ้านสะเอียบ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับโครงการสร้างเขื่อนอย่าง “แก่งเสือเต้น” ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของชุมชน และยังส่งต่ออุดมการณ์เพื่อปกป้องชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น
พี่แป๋วสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวในอดีตและปัจจุบัน โดยเล่าว่าในอดีตนั้นการนัดพบและการวางแผนทำกิจกรรมเป็นเรื่องยาก เนื่องจากการติดต่อสื่อสารจำกัด เพราะสมัยก่อนการติดต่อกันไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนทุกวัน เมื่อก่อนกลุ่มตะกอนยมจะต้องนัดกันล่วงหน้าเป็นเดือนเพื่อประชุมวางแผน แต่ปัจจุบันสามารถตั้งกลุ่มไลน์หรือเฟซบุ๊กได้ นี่เป็นความสะดวกในการสื่อสารของปัจจุบันที่ทำให้การวางแผนกิจกรรมทำได้ง่ายขึ้น แต่พี่แป๋วเชื่อว่าความเข้มข้นของความรู้สึกในใจนั้นยังคงเหมือนเดิม แม้รูปแบบการเคลื่อนไหวจะมีการสื่อสารที่ปรับเปลี่ยนไป
บทบาทของป้ายผ้าและการสื่อสารที่เปลี่ยนไปผ่านยุคสมัยของกลุ่มตะกอนยม
แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปมาก แต่การสื่อสารผ่านป้ายผ้าก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ข้อมูลอาจไม่ได้เข้าถึงทุกคน
“การเขียนป้ายผ้านั้นมันเกิดจากความรู้สึกลึกๆ ของเราค่ะ มันไม่ต้องมีการเตรียมการอะไรซับซ้อน แค่เขียนออกมาในสิ่งที่เราเชื่อและรู้สึก ทุกคนมีจุดยืนในใจอยู่แล้ว พอถึงเวลาจริงก็แค่เขียนออกมาเท่านั้น”
พี่แป๋วอธิบายว่าการใช้ป้ายผ้าถือเป็นวิธีที่ง่ายและเข้าถึงได้เสมอ ไม่ว่าผู้คนจะมีหรือไม่มีโซเชียลมีเดีย ป้ายผ้ายังคงเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนสำหรับชุมชนที่ต้องการบอกเล่าความในใจ โดยอุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว พบว่าตั้งแต่กลุ่มเคลื่อนไหวในยุคแรก พวกเขามีจุดยืนที่ชัดเจนคือการคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มเลือกใช้การสื่อสารที่นุ่มนวลและสร้างสรรค์มากขึ้น เพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มคนที่กว้างขึ้น
“ในอดีตเราใช้คำว่าคัดค้านแบบตรงๆ แต่ปัจจุบันเราพยายามสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าของป่าไม้และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาจดูเหมือนว่าคำพูดซอฟต์ลง แต่มันยังคงหนักแน่นในเป้าหมายของเราเหมือนเดิม”
พลังของเยาวชนและการส่งต่ออุดมการณ์จากรุ่นสู่รุ่นตะกอนยม
แม้วันเวลาจะล่วงเลยมา 35 ปี แต่พี่แป๋วเห็นว่าเยาวชนในปัจจุบันยังคงมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชน เธอเล่าว่าแม้การสื่อสารจะเปลี่ยนไป แต่การร่วมมือกันระหว่างรุ่นยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการต่อสู้ สำหรับเธอนั้นการมีเยาวชนเข้ามาร่วมทำให้พลังของการเคลื่อนไหวมันมากขึ้น
“พวกเด็กๆ มีความรู้สึกหวงแหนต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนของพวกเขาเอง เราแค่ต้องให้พวกเขาได้สัมผัสกับธรรมชาติและวัฒนธรรมชุมชน พอพวกเขารู้คุณค่าแล้ว เขาก็จะรู้สึกอยากดูแลและปกป้องสิ่งเหล่านั้นต่อไปค่ะ”
การเดินทางของเด็ก-เยาวชน ‘กลุ่มตะกอนยม’ สู่กรุงเทพฯ ส่งเสียงเรื่องสิทธิ
พี่แป๋วยังเล่าอีกว่า เมื่อครั้งยังเป็นเยาวชน เธอได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครหลายครั้ง เพื่อสื่อสารกับส่วนกลางและภาครัฐให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างในพื้นที่ชุมชนของเธอ ประสบการณ์ในเวทีสิทธิเด็กเมื่อปี 2538 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิที่แท้จริงของเธอ เธอเป็นเด็กคนแรกที่เข้าร่วมเวทีสิทธิเด็กที่ทำเนียบรัฐบาลในฐานะนักเรียนมัธยมต้น ที่ใส่ชุดนักเรียนและนั่งรถไฟไปกับเพื่อนๆ และผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน เพื่อแสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนว่า “ทำไมคุณจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่บ้านเราโดยไม่ถามความเห็นของเด็ก“
การส่งต่ออุดมการณ์ ‘ตะกอนยม’ จากรุ่นสู่รุ่น
แม้ว่าสถานการณ์คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นปัจจุบันอาจจะดูสงบมากขึ้น แต่การส่งต่ออุดมการณ์เรื่องการปกป้องชุมชนยังคงเดินหน้าต่อไป พี่แป๋วเชื่อว่าความรู้สึกของการปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนยังคงแรงกล้าในใจของเยาวชนรุ่นใหม่ การมีส่วนร่วมของเยาวชนทำให้การเคลื่อนไหวมีพลังมากขึ้นและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว “ถ้าผู้ใหญ่ต่อสู้เพียงลำพัง ความเหนื่อยล้าจะสูงกว่านี้ แต่เมื่อมีเด็กเข้าร่วม พลังจะมากขึ้น” พี่แป๋วเน้นว่าความร่วมมือระหว่างคนหลายรุ่นจะทำให้การรณรงค์มีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างยั่งยืน
แม้ว่าเยาวชนรุ่นใหม่อาจไม่ต้องเผชิญกับความกดดันเหมือนในยุคก่อน แต่การสื่อสารที่เปิดกว้างและการรับรู้ข้อมูลที่หลากหลายทำให้พวกเขามีความคิดที่กว้างขึ้น ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในการกระจายข่าวสารและข้อเรียกร้องต่างๆ ของคนในชุมชน
“ในอดีตเราอาจจะถูกบังคับให้เชื่อเพียงสิ่งเดียว แต่ปัจจุบัน เยาวชนสามารถเรียนรู้และมองเห็นมุมมองที่หลากหลาย ทั้งด้านบวกและลบ”พี่แป๋วอธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้การเคลื่อนไหวของเยาวชนในยุคนี้มีความเฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างไปจากการรณรงค์ในอดีต
ขณะที่การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชนจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของอดีต แต่เป็นเรื่องของการส่งต่อและสร้างสรรค์อนาคต โดยการรวมพลังระหว่างเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ เพื่อรักษาและปกป้องสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตและวิถีชุมชนให้คงอยู่ การต่อสู้ของกลุ่มตะกอนยมยังไม่จบสิ้น พวกเขายังคงรักษาจุดยืนเพื่อปกป้องบ้านสะเอียบและแม่น้ำยมต่อไป ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ความหวังในการรักษาธรรมชาติและชุมชนยังคงสว่างไสวในดวงตาของเยาวชนเหล่านี้ “เราเชื่อว่าธรรมชาติจะยังคงงดงามและคงอยู่ให้รุ่นต่อๆ ไปได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับเรา” พี่แป๋วกล่าวปิดท้าย พร้อมกับแสงแห่งความหวังที่ส่องสว่างอยู่ในหัวใจของเธอและเยาวชนทุกคนที่เคียงข้างในการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและที่อยู่อาศัยที่บ้านสะเอียบตลอด 35 ปี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมีจุดยืนในการปกป้องสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนและที่อยู่อาศัย กรณีของ ครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นข้อพิพาทมาครบ 35 ปีในปีนี้ ระหว่างรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงการก่อสร้างเขื่อน และชุมชนท้องถิ่นที่คัดค้านอย่างหนัก เนื่องจากเกรงว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อที่ดินทำกิน วิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน รวมถึงสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าต้นน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของชุมชนในเขตแม่น้ำน่าน
แอมเนสตี้ ประเทศไทย ขอยืนหยัดเคียงข้างชุมชนท้องถิ่นในกรณีนี้ ด้วยการส่งเสริมให้ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ที่ถูกลิดรอนสิทธิ และคำนึงถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการที่อาจทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
กรณีแก่งเสือเต้นจึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แอมเนสตี้ ประเทศไทยไม่ได้เพียงแค่รณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการคุ้มครองสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อความยั่งยืนในระยะยาว หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่สนใจเรื่องสิทธิและชีวิตความเป็นอยู่ผู้คน สิ่งแวดล้อม ชุมชน และเสรีภาพในการแสดงออก มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนกับแอมเนสตี้ผ่านการเป็นสมาชิกกับเราได้ที่ https://bit.ly/3NX3WzG เพื่อมาร่วมกันทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้