แสงแห่งความหวัง: กำลังใจจากจดหมายถึงนักโทษทางความคิดในเรือนจำ

การได้รับกำลังใจในวันที่โดดเดี่ยวเป็นสิ่งที่ช่วยให้มีแรงฮึดสู้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักโทษในคดีทางการเมืองที่ถูกจองจำในเรือนจำ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้ชีวิตท่ามกลางความเหงา เมื่อถูกพรากจากบ้านและครอบครัว จดหมายจึงกลายเป็นช่องทางการสื่อสารเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถเชื่อมโลกของคนในเรือนจำกับเพื่อนที่อยู่นอกเรือนจำได้

“จดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ” เป็นอีกหนึ่งแคมเปญของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่เริ่มต้นขึ้นเพื่อสร้างกำลังใจให้กับนักโทษคดีทางการเมืองในวันที่รู้สึกโดดเดี่ยวและท้อถอย เป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขากลับมาฮึดสู้กับความอยุติธรรม พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพวกเขาเหล่านี้โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในอดีตนักโทษทางความคิดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเคยได้รับจดหมายจากเพื่อนข้างนอกเรือนจำในแคมเปญ “จดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ” และแม้ในวันนี้ที่เขาได้รับอิสรภาพแล้ว จดหมายก็ยังคงเป็นเหมือนเพื่อนและเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สมยศกลับมามีแรงใจต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่เขาถูกจองจำ ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สมยศเล่าว่าชีวิตข้างในค่อนข้างกดดัน เพราะการเป็นนักโทษทางความคิดทำให้เขารู้สึกแตกต่างจากนักโทษทั่วไป เขาคิดอยู่ทุกวันว่าการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกนั้นมีความผิดอย่างไร ทำไมเขาต้องถูกจองจำในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ไร้อิสรภาพ และไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งที่สิ่งที่เขาทำล้วนแล้วแต่มาจากความปรารถนาดีที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่กลับถูกมองว่าเป็นบุคคลที่มีความอันตรายต่อประเทศชาติ

“พวกเรานักโทษทางความคิดนี่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสังคมเลย
พวกเราแค่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม และมีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง
เช่น อานนท์ นำภา ที่เป็นนักกฎหมายที่คอยช่วยเหลือสังคมด้านสิทธิมนุษยชน
ทำไมถึงต้องถูกดำเนินคดี ทั้งๆ ที่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจและอยากเห็นผลประโยชน์สาธารณะ”

สมยศเล่าต่ออีกว่า สำหรับนักโทษทางความคิด หากไม่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจ จะมีโอกาสสูงมากที่จะประสบปัญหาด้านชีวิต ทั้งเรื่องของครอบครัว ความรู้สึกนึกคิด รวมถึงสภาพจิตใจที่อาจไม่แน่นอนจากการถูกกระทำให้ทนทุกข์อยู่ในเรือนจำ และถูกจัดให้อยู่ในสถานการณ์เป็นบุคคลที่มีความอันตรายต่อสังคม

ปรากฏการณ์ #FreeSomyot (ฟรีสมยศ): ความหวังท่ามกลางความมืดมน

หลังจากถูกพรากอิสรภาพและจองจำอยู่ในเรือนจำมาเป็นระยะเวลา 6 เดือน จดหมายก็เริ่มหลั่งไหลส่งเข้ามาหาสมยศภายในเรือนจำ ในขณะนั้นเขาไม่รู้เลยว่าจดหมายหลายฉบับที่ทยอยส่งเข้ามานั้นเป็นของใคร เนื่องจากการอยู่ในเรือนจำนั้นทำให้เขาไม่สามารถรับรู้ข่าวสารภายนอกได้ เพราะเรือนจำเปรียบดั่งโลกอีกใบจำกัดสิทธิและเสรีภาพของนักโทษทางความคิดที่ใช้สิทธิของตัวเอง

จดหมายหลายต่อหลายฉบับที่ถูกส่งเข้ามาในเรือนจำล้วนแต่เป็นกำลังใจ บอกเล่าข่าวสารและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายนอกให้สมยศได้รับรู้ และจดหมายแต่ละฉบับก็จะมีความแตกต่างกันออกไป บางฉบับถูกเขียนขึ้นจากประสบการณ์การท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ นำมาร้อยเรียงผ่านตัวหนังสือให้สมยศได้จินตนาการตามไปในห้วงเวลาอันแสนสุข บ้างก็เล่าเรื่องราวเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกภายนอก หรือบางคนก็เลือกที่จะเล่าในเรื่องธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารการกินที่บรรจงขับกล่อมผ่านตัวหนังสือเพียงไม่กี่บรรทัด แต่มันก็มีค่าราวกับเป็นแสงสว่างในวันนักโทษทางความคิดต้องเผชิญกับความมืดมน

“จดหมายส่วนใหญ่เป็นกำลังใจ ทำให้เรารู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว และก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราได้ต่อสู้มา
ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย การต่อสู้กับความอยุติธรรม
หรือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นต่างๆ
มันยังมีคนรับรู้ และมีคนที่เขายังคงอยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้เรา”

กำลังใจที่ได้รับมานั้นมีคุณค่าต่อจิตใจของเขามาก สมยศจึงเก็บรักษาจดหมายที่ได้รับไว้ใต้หมอนเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ตัวเองรู้สึกฟุ้งซ่านในวันที่โหดร้าย เพราะจดหมายเหล่านี้คือเพื่อนเพียงหนึ่งเดียวที่คอยอยู่เคียงข้างท่ามกลางความว่างเปล่าของโชคชะตานักโทษทางความคิด

“การได้อ่านจดหมายที่มีเรื่องราวต่างๆ มากมาย ก็สามารถช่วยให้เรารู้สึกไม่ถูกตัดขาดจากสังคมภายนอกได้”

‘เทียน’ แห่งความหวัง

จดหมายฉบับโปรดจากคนภายนอกที่สมยศยังคงรู้สึกขอบคุณจนถึงปัจจุบัน คือจดหมายที่เล่าเรื่องราวของ “เทียนแห่งความรักและความหวัง” เป็นจดหมายให้ข้อคิดและบทเรียนแก่ผู้อ่านได้อย่างดี เป็นเรื่องราวของแสงไฟที่เคยดับไป สู่วันที่กลับมาโชติช่วงอีกครั้ง เหมือนชีวิตของสมยศในวันนั้นที่ความหวังช่างดูเลือนราง แต่จดหมายฉบับนี้กลับจุดประกายเป็นแสงสว่างนำทางให้เขาสามารถดึงตัวเองขึ้นมาจากหลุมแห่งความมืดนั้นขึ้นมาได้อีกครั้ง และแม้ว่าวันนี้เขาจะได้รับการปล่อยตัวให้มีชีวิตที่อิสระแล้ว จดหมายฉบับนี้ยังคงเป็นจดหมายที่ประทับอยู่ในก้นบึ้งของหัวใน และถูกหยิบขึ้นมาเล่าเว็บไซต์ เพื่อส่งต่อความรู้สึกและกำลังใจคนอื่นๆ ผ่านชื่อ “เทียนแห่งความหวัง”

ถึงแม้จะมีจดหมายหลายฉบับที่ถูกส่งเข้าไปในเรือนจำ แต่ไม่ใช่ทุกฉบับจะสามารถผ่านเข้าไปถึงมือผู้รับได้ เพราะด้วยกฎเกณฑ์และข้อบังคับของเรือนจำ ที่ทำให้บางเรื่องไม่สามารถถูกเล่าผ่านตัวอักษรบนแผ่นกระดาษไม่กี่แผ่นได้ โดยเฉพาะนักโทษในคดีความทางการเมือง สมยศเล่าว่าช่วงเวลานั้นจดหมายที่พูดถึงเรื่องการเมืองมักจะถูกเซนเซอร์ ดังนั้นเนื้อหาส่วนใหญ่ที่สามารถผ่านเข้าไปได้จึงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้เขียนและการให้กำลังใจที่ปราศจากเรื่องราวทางการเมือง

“สิ่งเดียวที่ทำให้นักโทษมีความหวังและมีชีวิตอยู่ได้คือกำลังใจหรือการสื่อสารกับโลกภายนอก
ถ้าหากคุณไปตัดสิทธิของเขาในส่วนนั้น มันก็ดูรุนแรงเกินไป
มันไม่ควรจะมีการเซนเซอร์หรือการจำกัดการสื่อสารของจดหมาย”

ส่งกำลังใจไปให้ถึงเพื่อนในเรือนจำ

ในวันที่แอมเนสตี้เริ่มรณรงค์ให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิด สมยศก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่แอมเนสตี้เรียกร้องให้ได้รับการปล่อยตัว สมยศเล่าว่า แม้จะมีความรู้จักกับองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อยู่บ้าง แต่ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในเคสที่ใช้รณรงค์ สมยศก็รู้สึกปลื้มปิติเป็นอย่างมาก เพราะแคมเปญนี้ทำให้เขาได้รับจดหมายจากเพื่อนข้างนอกนับพันฉบับในแต่ละเดือนที่ต้องถูกจองจำอยู่ในกรงขัง และจดหมายเหล่านั้นก็ทำให้คนที่อยู่ในสภาวะไร้ทางสู้ได้กลับมามีกำลังใจ และพร้อมทำทุกอย่างให้วันเวลาที่ผ่านไปไม่สูญเปล่า ซึ่งเขาก็ยึดมั่นที่จะต่อสู้ให้ถึงที่สุด

“เราไม่ได้เข้ามาอยู่ในคุกเพื่อนับวันที่จะออกจากคุก แต่เราเข้ามาอยู่ในคุกเพื่อยืนยันว่าสิทธิและเสรีภาพคือหัวใจ คือความจำเป็นของมนุษย์ที่คนอื่นไม่สามารถละเมิดได้”

วันเวลาผันผ่าน และวันที่โลกเปลี่ยนไป

จากวันที่ก้าวเข้าสู่กรงขังในยุคแอนะล็อก (Analog) สู่วันที่ได้รับอิสรภาพในโลกดิจิทัล การปรับตัวกลายเป็นความท้าทายสำหรับนักโทษทางความคิดผู้ที่ต้องอยู่ห่างไกลจากสังคมมาเป็นเวลานานกว่า 7 ปี ตลอดระยะเวลาที่สมยศต้องทนทุกข์อยู่ในนั้น ถ้าหากไร้ซึ่งจดหมาย การปรับตัวให้ทันกับโลกภายนอกคงเป็นเรื่องยากอยู่พอสมควร เพราะทุกเรื่องราวที่ถูกบอกเล่าผ่านตัวอักษรล้วนแล้วแต่เปรียบเสมือนแบบทดสอบให้เขาเตรียมพร้อมรับมือกับโลกภายนอกในวันที่ได้รับอิสรภาพ

อย่างไรก็ตาม ในด้านเทคโนโลยีอาจไม่ใช่ปัญหาหลัก หากแต่ด้วยค่านิยมของสังคม อดีตนักโทษทางความคิดหลายคนถูกผลักไสให้ออกห่างจากการมีชีวิตแบบคนอื่น เพราะด้วยการมีคดีความติดตัว หลายบริษัทจึงปฏิเสธรับเข้าทำงาน หน้าที่การงานที่เคยมีจึงต้องสูญหายไป บางคนอาจต้องเริ่มต้นใหม่จากชีวิตที่ติดลบ และสมยศเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพียงเพราะเขาเคยเป็นนักโทษในเรือนจำมาก่อน

“สำหรับคนที่มีประวัติของการเคยถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดี ก็อาจจะมีข้อจำกัดที่ทำให้คุณนั้นสูญเสียอาชีพการงานไป และสำหรับใครที่ถูกจองจำมานาน การจะเข้ามาอยู่ในโลกยุคสมัยใหม่ก็จะเป็นเรื่องยาก
เพราะคุณก็จะตามไม่ทันโลกแล้ว”

ทั้งนี้ สมยศใช้เวลาอยู่สักพัก จนสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารและโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ที่คนในสังคมทั่วไปใช้กัน แต่หลายสิ่งที่สูญเสียไปในช่วงที่ตกเป็นนักโทษทางความคิดก็ยากที่เรียกคืน

ปัจจุบัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ดำเนินการรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดและนักโทษคดีการเมืองผ่านแคมเปญ FreeRatsadon (ฟรีราษฎร) ซึ่งจะเป็นการเชิญชวนทุกคนมาร่วมลงชื่อและเขียนจดหมายให้กำลังใจเพื่อนๆ ที่ยังคงอยู่ในเรือนจำ โดยในปัจจุบันผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องทางการเมือง รวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 43 คน และเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับอิสรภาพและการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข สามารถร่วมเขียนจดหมายเพื่อเรียกร้องได้ที่ : freeratsadon.amnesty.or.th

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้