การต่อสู้ที่มากกว่าชีวิต คุยกับ: ต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ สิทธิเสรีภาพ ความหลากหลาย และโทษประหารชีวิต

สิ่งที่รัฐและสังคมควรจะร่วมกันทำก็คือการแก้ไขปัญหาในเรื่องของนี้ตั้งแต่ระดับโครงสร้างทางสังคมว่าทำไมคนเราถึงตัดสินใจกระทำผิด ทำไมคนเราถึงเข้าสู่กระบวนเป็นอาชญากร”

ณ ร้านเล็กๆ มีแสงแดดส่องผ่านกระจก ในจังหวัดเชียงใหม่ เราได้พบกับ “ต้น” หรือ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายทางเพศและนักกิจกรรม ต้นคือหนึ่งในสมาชิกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ทำงานเพื่อคนชายขอบหลายกลุ่ม รวมถึงพนักงานบริการ (Sex Workers) และแรงงานข้ามชาติ เขาเป็นคนที่สะท้อนให้เห็นว่า “สิทธิ” ไม่ใช่แค่คำในกระดาษ แต่เป็นชีวิตที่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง และได้อิสรภาพทางความคิดในการส่งเสียงให้ถึงผู้มีอำนาจ

จุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ

“จริงๆ แล้ว ความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมันไม่ได้เกิดจากจุดเปลี่ยนใหญ่โตหรอกค่ะ แต่มันสะสมมาตั้งแต่เด็ก”

ต้นเริ่มเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความรู้สึกลึกซึ้งว่าตอนเด็กเขามักโดนล้อเลียน โดนบูลลี่ โดนเหยียดหยามอยู่ 3 เรื่อง คือ เรื่องของเชื้อชาติ เพราะมาจากครอบครัวญวนอพยพ ทุกคนในบ้านถือบัตรญวนอพยพหมดทั้งครอบครัว เรื่องต่อมาคือเพศสภาพเพียงเพราะเขาเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สมัยก่อนมักจะถูกเรียกว่ากะเทย และเรื่องสุดท้ายคือเรื่องสภาพร่างกายของเขาที่ไม่มีเส้นผมมาตั้งแต่เกิด ทั้งที่ในความเป็นจริงร่างกายที่เป็นอยู่ของเขาไม่ได้เกี่ยวกับการป่วย แต่ที่เป็นอยู่เพียงเพราะเขาเป็นตัวของตัวเอง

จากการถูกล้อเลียนและเหยียดหยามมาตลอด ทำให้ต้นต้องเจอกับคำพูดแย่ๆ ที่ฝังใจ เช่น “กะเทยหัวโล้น” หรือ “กะเทยตัวประหลาด” ซึ่งสะสมมาเรื่อยๆ จนทำให้ต้นรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่เขาต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ไม่ใช่แค่เพื่อเขาเองแต่เพื่อคนอื่นๆ ที่ถูกกดขี่เช่นเดียวกัน

การที่ต้นลุกขึ้นมาผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย เพราะเขามองว่าการทำหน้าที่ของรัฐยังมีช่องโหว่หลายประเด็น จึงวาดหวังว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร รัฐต้องเริ่มจากตัวเองก่อน รัฐต้องมีความเข้าใจเรื่องของสิทธิมนุษยชน รัฐต้องมีจิตใจที่มีความเมตตา เช่นเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับเขามองว่า รัฐต้องเข้าใจว่าการประหารชีวิตคนๆ หนึ่ง ไม่ใช่ทางออกที่มีแค่ทางเดียว และสิ่งที่รัฐต้องทำคือการเอาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมเรื่องสิทธิมนุษยชน ยกขึ้นมาเป็นตัวชี้วัดในการที่จะดำเนินการในเรื่องของการจัดการปัญหาในสังคมไทย

แรงบันดาลใจจากสิ่งใกล้ตัวและหัวใจ

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ต้นหันมาสนใจประเด็นของความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ ใบหน้าของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม ความมุ่งมั่น และเล่าอย่างจริงใจกับเราว่า “เพราะพี่เองก็เป็นคนเพศหลากหลาย และก็เป็นพนักงานบริการ (Sex Workers) มาตั้งแต่อายุ 18-19 ปี เรียกว่ามันเป็นชีวิตของเรา เราก็ต้องสนใจประเด็นที่เกี่ยวกับตัวเองก่อน และนอกจากนั้นพี่ก็สนใจเรื่องของแรงงานข้ามชาติ เพราะครอบครัวพี่เป็นชาวเวียดนามอพยพ เรื่องนี้มันใกล้ตัวเรามากที่สุด”

ชีวิตของต้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่การทำงานในประเด็นเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่เขาสนใจและทำงานในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงพนักงานบริการ หรือ Sex worker ซึ่งเป็นประเด็นที่ในประเทศไทยตอนนี้ ถูกมองข้ามหรือถูกตีตราในสังคมไทยในปัจจุบัน แม้จะมีหลายภาคส่วนออกมาพูดหรือขับเคลื่อนเรื่องนี้มากขึ้น การที่เป็นเช่นนี้ต้นมองว่าอาจเป็นเพราะความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมา และข้อกฎหมายที่ยังต้องขับเคลื่อนให้สิทธิเหล่านี้ถูกยกให้เป็นหลักสากล

การเปลี่ยนแปลงเริ่มที่โครงสร้าง ไม่ใช่การประหารชีวิต

การเข้าร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนในเส้นทางของต้น ศิริศักดิ์ เขาเล่าว่ารู้จักแอมเนสตี้จากเพจเฟซบุ๊กเมื่อประมาณปี 2559 โดยการรู้จักครั้งแรกนั้นได้เกิดคำถามที่ถาโถมเข้ามาในใจ เกี่ยวกับประเด็นการเรียกร้องให้เกิดการ “ยกเลิกโทษประหารชีวิต” ของแอมเนสตี้ เพราะสำหรับชีวิตเขาในตอนนั้น คิดเพียงว่าโทษประหารชีวิตอาจเบาไปด้วยซ้ำ สำหรับคนที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงบนโลกใบนี้ แต่เมื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแอมเนสตี้จึงทำให้ความคิดของเขาค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่เรียกร้อง

โดยต้นเล่าอย่างจริงใจว่าโทษประหารชีวิตอาจสบายเกินไปสำหรับคนที่ทำผิด ส่วนตัวจึงอยากให้เขาทรมานมากกว่านี้ คือให้อยู่ในเรือนจำอย่างไรอิสรภาพตลอดชีวิต แต่พอได้ทำงานกับแอมเนสตี้ จึงเริ่มตั้งคำถามใหม่และเรียนรู้มากขึ้นในเรื่องนี้ จนสุดท้ายต้นเข้าใจว่าการพรากชีวิตคนๆ หนึ่งด้วยวิธีนี้อาจไม่ใช่คำตอบ และมองว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตคือการเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพราะการฆ่าไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา และสิทธิในการมีชีวิตอยู่ก็คือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้รับ

“ตอนนั้นเราไปศึกษาการทำงานแอมเนสตี้ เขาจะพูดถึงเรื่องของการยกเลิกโทษประหารชีวิต แล้วก็ต่อต้านการทรมาน-อุ้มหายทุกรูปแบบ ตอนนั้นมันเป็นเรื่องของตั้งคำถามว่าทำไมต้องยกเลิกโทษประหารชีวิตด้วย เหมือนคนอื่นทั่วไปเลย ทำไมต้องยกเลิกก็ปล่อยให้มันมีไปไม่ได้หรือ?

ต้น ศิริศักดิ์ สมาชิกแอมเนสตี้ ประเทศไทย ย้ำว่าการได้คุยและทำกิจกรรมกับแอมเนสตี้ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต และเริ่มเข้าใจว่าการฆ่าหรือทำให้ใครคนหนึ่งตายไปจากโลกนี้เพราะทำผิดไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น แต่สิ่งที่ควรทำคือการแก้ไขโครงสร้างทางสังคมตั้งแต่ต้นตอ ไม่ใช่แค่ลงโทษที่ปลายทาง

“ตอนนั้นถ้าเราคิดแบบเคียดแค้นนะ โทษประหารชีวิตเนี่ยมันสบายไปสำหรับพวกเธอ พวกเธอควรถูกจำคุกตลอดชีวิตด้วยซ้ำไปคือเจ็บกว่า ตอนนั้นพี่คิดแบบนั้นจริงๆ แล้วก็เกิดคำถามมาเรื่อยๆ”

ประหารชีวิตไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในสังคม ต้นยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นกับเรา สำหรับเขาสิ่งที่ควรทำคือการแก้ไขปัญหาตั้งแต่โครงสร้างทางสังคม เช่น การให้การศึกษาและการสร้างโอกาสในชีวิต เพราะเชื่อว่าคนทุกคนไม่มีใครอยากเป็นอาชญากร แต่ด้วยเพราะบริบทสังคมที่บิดเบี้ยวหรือไม่ได้ดีพร้อมกับมนุษย์ทุกคน จึงทำให้พวกเขาอาจมีทางเลือกไม่มาจนต้องเลือกทางนั้น ต้นเสนอว่าสิ่งที่รัฐควรทำคือการสร้างความเท่าเทียมและป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมตั้งแต่แรก ไม่ใช่แค่เพียงแก้ไขเมื่อเกิดขึ้น สำหรับต้นในวันนี้คิดว่าการลงโทษด้วยการประหารชีวิตไม่เคยเป็นวิธีที่ยั่งยืน โทษนี้เป็นเพียงการตัดไฟที่ปลายเหตุ แต่ต้นตอที่แท้จริงคือโครงสร้างทางสังคมที่บิดเบี้ยว

“การการประหารคนๆ หนึ่งไม่ได้แก้โครงสร้างทางสังคม หลายครั้งเราเห็นว่าคนที่ถูกประหารแล้วไงอ่ะ ประหารแล้วก็ตายไปก็จบ แต่โครงสร้างทางสังคมที่มันเน่าเฟะมันก็ยังคงอยู่ พวกเราต่างหาก เยาวชนลูกหลานของเราต่างหาก ที่ยังคงต้องอยู่ในสังคมที่น่าเฟะแบบนี้ มันไม่เคยมีตัวชี้วัดไหนบอกว่าการประหารคนนี้เสร็จ การศึกษาจะดีขึ้น โครงสร้างทางสังคมจะดีขึ้น เงินเดือนจะดีขึ้น ค่าแรงจะดีขึ้น หรือคนจะหันมาสนใจเรื่องสิทธิมนุษย์ชนมากยิ่งขึ้น พอประหารชีวิตไปคนนั้นตายก็ตายไปเลย ไม่ได้ทิ้งอะไรที่เป็นความทรงจำ หรือเป็นข้อคิดอะไรให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้เลย” 

จากนักสิทธิสู่นักกิจกรรม ที่ทำงานเพื่อความหลากหลาย

การทำงานร่วมกับแอมเนสตี้ทำให้ต้นมีส่วนร่วมในกิจกรรมมากมาย ทั้งการจัดงาน Chiang Mai Pride และการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มเพศหลากหลายและพนักงานบริการ โดยทุกปีที่จัดงานไพร์ด (Pride) ที่เชียงใหม่ การเป็นสมัครชิกแอมเนสตี้ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนเสมอมา ผ่านโครงการ Seed Fund ที่เป็นแหล่งทุนให้นำเงินจำนวนหนึ่งไปต่อยอดทำให้เกิดงานขึ้นมา แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่สำหรับมนุษย์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เพียงเท่านี้ก็หล่อเลี้ยงหัวใจของต้นให้มีพลังต่อไป

และการที่เขากล้าออกมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ในครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องโทษประหารชีวิต เพราะต้นเห็นว่า แอมเนสตี้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิของคนเพศหลากหลาย รวมถึงสิทธิของคนตัวเล็กตัวน้อย ที่เสียงของพวกเขาอาจไม่ดังมากพอ หากไม่มีเราอยู่เคียงข้าง

“แอมเนสตี้มีคอนเทนต์เรื่องการสัมภาษณ์นักปกป้องสิทธิแบบธรรมดา คือเขาจะไม่สัมภาษณ์แบบฮาร์ดคอร์ว่าฉันคือนักปกป้องสิทธิ แต่หัวข้อตอนนั้นคือเขากำลังหาคนที่เป็นนักปกป้องสิทธิ แล้วทุกคนสามารถเป็นได้ คนธรรมดาก็เป็นได้ จำได้เขามาถ่ายทำในอีกมุมมองหนึ่งว่านักปกป้องสิทธิอย่างพี่ก็เหมือนคนทั่วไป ทำงานทำธุรกิจกับครอบครัว กินข้าวมีเพื่อนอะไรแบบนี้ ตอนนั้นคือเป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมกันกับแอมเนสตี้จริงๆ”

ต้นเชื่อว่าการเป็นสมาชิกของแอมเนสตี้ไม่ใช่แค่การสนับสนุนด้วยเงิน แต่เป็นการร่วมขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ที่ทำให้เห็นภาพชัดว่า ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกิจกรรม หรือแม้แต่การสมัครสมาชิก ก็ถือว่าเป็นการสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชนให้กับคนอื่นๆ ได้เช่นกัน

บทเรียนจากการเป็นสมาชิกแอมเนสตี้

การเป็นสมาชิกแอมเนสตี้ ทำให้ต้น ศิริศักดิ์ ได้รับความรู้และประสบการณ์มากมาย เขาเปิดใจว่า เขามีความกล้าที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษชนมากขึ้น ถึงแม้รู้ดีว่าจะถูกต่อต้านจากคนในสังคมที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการที่แอมเนสตี้มีสมาชิกเป็นฐานกำลังสำคัญกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก กล้าคิด กล้าทำ และลงมือทำจริง ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าปัจจุบันเขาคิดไม่ผิดที่มาเป็นหนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะต้องยอมรับว่าในประเทศไทยทุกวันนี้การออกมาสู้ ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพ แสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่เรื่องง่ายและมีราคาที่ต้องจ่าย เช่น การถูกดำเนินคดี การถูกติดตาม หรือมีรายชื่อเป็นคนที่รัฐจับตามอง โดยเฉพาะการพูดเรื่องที่ขัดกับความเชื่อทางวัฒนธรรม และศีลธรรมของคนในสังคม

ที่ผ่านมาการเข้าร่วมกิจกรรมและค่ายพัฒนาศักยภาพที่แอมเนสตี้จัดขึ้น ทำให้ต้นได้เรียนรู้และเติบโตมากขึ้นในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สำหรับเขาถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและได้รู้ว่าการเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือ แต่คือการลงมือทำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

“ที่ผ่านมาเราได้รับการพัฒนาศักยภาพไม่ว่าจะเป็นเราเคยเข้าค่ายต่างๆ มากมายของแอมเนสตี้ ไม่ว่าจะเป็นเข้าค่ายเรื่องของการทำกิจกรรมรณรงค์ เข้าค่ายการทำโปรเจคต่างๆ คนนอกอาจไม่รู้ว่าแอมเนสตี้ทำอะไร พอมาเป็นสมาชิกทำให้รู้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังสามารถนำมาพัฒนาศักยภาพของคนทำงานได้ด้วย ไม่ใช่แค่พัฒนาแค่คนทำงานที่เป็นนักสิทธิอยู่แล้ว แต่พัฒนากลุ่มคนใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยรู้เรื่องสิทธิเลยก็สามารถที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ แล้วแอมเนสตี้ก็มอบสิ่งเหล่านี้ให้กับพวกเรา”

สิทธิที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

หลายคนมองว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไกลตัว ต้นตอบคำถามนี้อย่างเรียบง่ายว่า สิทธิมนุษยชนไม่ได้ไกลตัวของใครเลยสักนิด สิทธิอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราตั้งแต่เกิดจนตาย เขายกตัวอย่างว่า เพียงแค่คุณตื่นนอน เรื่องสิทธิมนุษยชนก็เริ่มต้นแล้ว เพราะเราต้องใช้สิทธิเพื่อดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว เราใช้สิทธิในการเลือกสิ่งที่เราต้องการ ทุกอย่างมันเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยต้นย้ำว่า สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของกฎหมายเท่านั้น แต่คือการมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี และทุกคนควรได้รับสิทธิเหล่านี้เทียบเท่ากัน

สำหรับต้นเชื่อว่าการเป็นสมาชิกแอมเนสตี้ ประเทศไทยของเขา ไม่มีอะไรสูญเปล่า เพราะที่ผ่านมาแอมเนสตี้ยังอยู่เคียงข้างเขา และที่เห็นผ่านการกระทำคือแอมเนสตี้อยู่เคียงข้างประชาชนทุกคนที่ถูกละเมิดสิทธิในทุกประเด็น สิ่งที่เห็นทำให้เขาเกิดความมั่นใจว่า หากวันใดวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้น จะยังมีองค์กรนี้จับมือเดินทางไปกับเขาไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์

“สมมุติถ้าไปเจอเคสอะไรบางอย่างสักเคสนึง หรืออาจจะเป็นเคสเกี่ยวกับตัวเรา เราสามารถที่จะคุยกับแอมเนสตี้ได้ และแอมเนสตี้ ก็จะสนับสนุนเรา สามารถหาข้อมูล ให้คำปรึกษา ที่ผ่านมาแอมเนสตี้จะเข้าไปช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชากรมากมายหลายประเด็น เพียงแต่คนที่มองเข้ามาเผินๆ อาจยังไม่รับรู้หรือมองไม่เห็นตรงนี้”

มาทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน

สุดท้าย ต้นฝากคำพูดไว้ให้ทุกคนได้คิด “มาช่วยกันทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องของคนชายขอบหรือกลุ่มเปราะบาง แต่เป็นเรื่องของทุกคน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ต้นคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ ถ้าเราถูกละเมิดสิทธิและเรารู้สึกว่ารัฐบาลกำลังทำสิ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการคุกคามประชาชน สำหรับเราแล้วสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนสามารถทำได้

นี่คือสิ่งที่ต้นย้ำทิ้งท้ายก่อนพูดคุยกันจบ ที่ผ่านมาเขายอมรับว่าไปทำหน้าที่เป็นแกนนำออกปราศรัยหรือพูดในเวทีต่างๆ บ่อยครั้ง การได้รู้จักแอมเนสตี้ทำให้เขาได้รู้หลักการของสิทธิมนุษยชนระดับสากล

“เมื่อเราเห็นความอยุติธรรมเรามีสิทธิที่จะเปล่งเสียงพูดอะไรก็ได้อย่างตรงไปตรงมาตามหลักการของสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะพูดในโลกโซเชียลหรือว่าแสดงออกในรูปแบบการลงถนนหรือรวมตัวกันแบบสันติวิธี เราสามารถใช้สิทธิในการแสดงออกทั้งในโลกออนไลน์และการชุมนุมบนท้องถนน นี่ควรเป็นสิ่งที่ทำได้และไม่ควรเป็นความผิดอาญา ไม่ควรมีใครถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกหรือการชุมนุมประท้วงโดยสงบ”

เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ที่: https://bit.ly/3NX3WzG

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้