The Beguiled’s (White) Female Perspective: ภาพยนตร์เพื่อเพื่อนหญิง พลังหญิง(ผิวขาว)

ผู้ใดที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Beguiled (2017) ของผู้กำกับหญิงชื่อดัง Sofia Coppola คงจะต้องแปลกใจกับภาพที่จับจ้อง คุกคาม ถึงเกือบจะแลบเลียเรือนร่างของตัวละครชายหลัก (Colin Ferrell) ตัวเดียวของเรื่อง แต่หาใช่เพราะการทำมนุษย์ให้กลายเป็นเพียงสิ่งของ (objectification) เช่นนี้ไม่เคยมีมาให้เห็นในวงการภาพยนตร์ หากแต่เพราะคราวนี้เหยื่อของสายตาอันเล้าโลมนั้นเป็นผู้ชายแทนที่จะเป็นผู้หญิง ความผิดปกติดังกล่าวยิ่งเห็นได้ชัดในภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากผู้สร้างนำภาพยนตร์ปี 1971 ที่ชื่อเดียวกันมาตีความใหม่ โดย The Beguiled (1971) ของ Don Siegel นั้นเล่าผ่านสายตาของผู้ชาย(male gaze) เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ อีกเกือบทุกเรื่องในฮอลลีวูด ขณะที่ภาพยนตร์ปี 2017 นี้เล่าผ่านสายตาของผู้หญิง (female gaze) อย่างไรก็ตาม ผู้ชมหลายคนสังเกตว่ามุมมองของผู้หญิงที่ว่านี้จำกัดอยู่แค่ผู้หญิงผิวขาวเท่านั้น การปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องราวของผู้หญิงผิวสี แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ของ Coppola จะมีฉากหลังเป็นสงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) ทำให้หลายคนมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า The Beguiled (2017) ได้เพิ่มพื้นที่ให้กับผู้หญิงในสื่อและเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญในการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจริงอย่างที่นักแสดงนำ Nicole Kidman กล่าวอ้างไว้ในบทสัมภาษณ์ร่วมกับ Coppola หรือไม่ เราสามารถแยกเรื่องเชื้อชาติและเรื่องเพศออกจากกันได้ไหม

The Beguiled ทั้งของ Siegel และของ Coppola มีเค้าโครงมาจากนิยายเรื่อง A Painted Devil (1966) ของ Thomas P. Culligan เป็นเรื่องเกี่ยวกับครูและนักเรียนในโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งในรัฐภาคใต้ของอเมริกา กิจวัตรของพวกเธอในช่วงสงครามกลางเมืองถูกขัดเมื่อนักเรียนคนหนึ่งไปพบทหารฝ่ายสหภาพ (the Union) จากภาคเหนือนอนบาดเจ็บอยู่และพาเขามาที่โรงเรียน เหล่ากุลสตรีภาคใต้ (Southern belles) ตัดสินใจไม่ส่งตัวสิบโทที่หนีทหารผู้นี้ไปให้ฝ่ายสมาพันธรัฐ (the Confederacy) จับกุมตัว แต่เลือกที่จะรักษาพยาบาลและขังเขาไว้ในห้องแทน ความขัดแย้งเกิดขึ้นด้วยกุลสตรีต่างวัยในโรงเรียนแห่งนี้ต่างหมายปองทหารนายนี้ ผู้เป็นชายหนุ่มคนแรกและคนเดียวที่พวกเธอได้เจอในเวลานาน และเขาก็รู้ตัวดี ทว่า The Beguiled ของผู้สร้างแต่ละคนนั้นมีรายละเอียดที่ต่างกัน กล่าวคือ ในนิยายนั้นมีตัวละครผิวสีถึงสองคน ได้แก่ ทาสผู้หญิงผิวดำที่ต้องคอยดูแลพลทหารตามคำสั่ง และครูคนหนึ่งในโรงเรียนที่พยายามปกปิดว่าเธอมีเชื้อสายคนผิวดำ ภาพยนตร์ปี 1971 ของ Siegel เล่าถึงแค่ตัวละครทาส ส่วนภาพยนตร์ปี 2017 ของ Coppola นั้นตัดตัวละครผิวดำออกทั้งหมด

ผู้กำกับหญิงกล่าวว่าเธอตัดตัวละครผิวดำออกเพราะ “ประเด็นนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่” และเธอไม่อยาก “ไม่จริงจัง” กับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเธอไม่ได้อยากสำรวจประเด็นด้านการเมืองของสมาพันธรัฐ เธอสนใจเพียงเรื่องเพศและ “ตัวละครที่เธอเชื่อมโยงกับตัวเองได้” หลายคนเห็นด้วยกับ Coppola ในการตัดตัวละครผิวดำออก พวกเขามองว่า Coppola ซึ่งเป็นผู้หญิงผิวขาวไม่สามารถเล่าเรื่องของคนผิวดำอย่างถูกต้องได้ อีกทั้งบทของทาสในภาพยนตร์ปี 1971 ของ Siegel นั้นเป็นเพียงตัวละครที่มีพอเป็นพิธี (token character) ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์นำมาให้คนสงสารแต่ไม่ได้ทำให้ตัวละครนั้นมีความเป็นคนจริง ๆ การเลือกไม่พูดถึงตัวละครผิวดำเลยในภาพยนตร์เรื่องใหม่จึงดีกว่า ทว่าเหตุผลเหล่านี้ดูคล้ายจะเป็นเพียงข้ออ้างเมื่อพิจารณาว่าภาพยนตร์ที่ผ่านมาของ Coppola ล้วนมีตัวละครหลักเป็นคนขาว โดยเฉพาะผู้หญิงผมบลอนด์ที่มีให้เห็นตั้งแต่ในเรื่อง The Virgin Suicides (1999) มาจนถึง Lost in Translation (2003) ยิ่งไปกว่านั้น ในผลงานเรื่อง The Bling Ring (2013) อันมีเค้าโครงมาจากเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับกลุ่มวัยรุ่นที่ขโมยของจากบ้านดาราดัง Coppola ก็ได้ปฏิเสธที่จะเล่าเรื่องของเด็กสาวผิวสีเชื้อสายลาตินอเมริกาที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มจริง

หลายคนแย้งว่าหาก Coppola กลัวว่าตนไม่มีความรู้มากพอจะเล่าเรื่องของคนผิวสี สิ่งที่เธอควรทำคือการจ้างนักเขียนผิวสีมาช่วยเธอ ไม่ใช่ลบบทบาทของตัวละครผิวสีไปทั้งหมด และข้ออ้างของผู้กำกับหญิงที่ว่าเธอต้องการเล่าเรื่องเพศ ไม่ใช่การเมืองของเชื้อชาตินั้น ก็ถูกโจมตีว่า “การเลือกใช้นักแสดงผิวขาวเท่านั้นเพื่อลบบริบทเรื่องเชื้อชาติ คือการมองว่าผิวขาวนั้นไม่ใช่เชื้อชาติ แต่เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นบรรทัดฐาน และเป็นมาตรฐาน” (Seren Sensei, 2017)   นอกจากนี้ ยังมีข้อโต้แย้งว่าการเล่าเรื่องเกี่ยวกับกุลสตรีภาคใต้ท่ามกลางสงครามกลางเมืองอเมริกาโดยไม่กล่าวถึงคนผิวดำนั้นเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อภาพของภาพยนตร์นี้พยายามขับเน้นความสวยงามของมรดกแห่งสหพันธรัฐ ผ่านการชื่นชมสถาปัตยกรรมของอาคารสีขาวที่ทาสสร้าง ในไร่ (plantation) ที่ใช้แรงงานทาส และการพินิจอาภรณ์และผิวพรรณสีอ่อนของเหล่ากุลสตรีอย่างละเมียดละไม อีกเมื่อผู้สร้างภาพยนตร์พยายามวาดภาพเหล่ากุลสตรีให้เป็นเหมือนตัวแทนพลังของผู้หญิงที่สู้กับปิตาธิปไตยทั้งในโลกของภาพยนตร์เองและโลกแห่งความจริง เพราะนั่นทำให้ผู้หญิงเหล่านี้เหมือนจะควรได้รับการชื่นชม ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วพวกเธอเป็นเจ้าของทาส และสังคมชนชั้นสูงที่สร้างกรอบให้แก่ “กุลสตรีภาคใต้” เองก็เกิดขึ้นจากน้ำตา หยาดเหงื่อ และเลือดเนื้อของทาสผิวดำ

“‘ไม่การเมือง’ (apolitical) ก็คือ ‘การเมือง’ (political) แบบหนึ่ง คือ ‘การเมือง’ แห่งการกีดกัน ตั้งข้อรังเกียจ ‘การเมือง’ และเลือกรับ เลือกทำเฉพาะ ‘การเมือง’ ที่ตนต้องการ ผู้ที่อ้าง ‘ไม่การเมือง’แท้จริงแล้ว เขาก็ปฏิบัติการทางการเมืองอยู่ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม” นี่คือข้อความที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ทวีตเมื่อต้นเดือนมิถุนายน หลังมีข้อโต้แย้งกันในโลกออนไลน์ไทยว่าคนมีชื่อเสียงควรออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือไม่ ข้อความนี้เชื่อมโยงได้ดีกับการกระทำของ Sofia Coppola ที่แม้จะทำภาพยนตร์ในมุมมองผู้หญิงอยู่บ่อยครั้งและมักโฆษณางานของตัวเองด้วยวลี “มุมมองของผู้หญิง”แต่ก็ปฏิเสธที่จะพูดถึงการเมืองเรื่องเชื้อชาติ เธอแสดงออกว่าไม่อยากจะสำรวจเรื่อง “การเมือง” ในภาพยนตร์ของเธอตั้งแต่ตอนกำกับเรื่อง Marie Antoinette (2006) แล้ว โดยเธอถาม Antonia Fraser ผู้เขียนชีวประวัติของ Marie Antoinette ว่าเธอ “ไม่หยิบเรื่องการเมืองมาเล่าเลยได้ไหม” ความลักลั่นในเรื่องเพศและเรื่องเชื้อชาตินี้ เปิดโปงอภิสิทธิ์ของผู้กำกับคนนี้ในฐานะผู้หญิงผิวขาว เธอเลือกที่จะกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศและพยายามเป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิง เพราะเธอเสียประโยชน์ในฐานะสตรี แต่ในขณะเดียวกัน เธอเลือกที่จะ “ไม่การเมือง” ในเรื่องของเชื้อชาติ เพราะการเหยียดเชื้อชาติ (racism) ไม่ส่งผลเสียต่อเธอโดยตรง ซ้ำร้าย เธอเองยังได้ประโยชน์จากโครงสร้างทางสังคมที่ยกย่องคนขาวอีก คงไม่เกินจริงไปนักหากจะกล่าวว่า The Beguiled (2017) เป็นตัวอย่างหนึ่งของสตรีนิยมผิวขาว (white feminism) ซึ่งสนใจเฉพาะการกดขี่ที่ผู้หญิงผิวขาวประสบ ทว่าเราสามารถเรียก “สตรีนิยม” ที่ไม่ได้เห็นใจและต่อสู้เพื่อผู้หญิงทุกคนจริง ๆ อีกทั้งยังเมินเฉยการกดขี่ทับซ้อน (intersectionality) อื่น ๆ ที่ผู้หญิงผิวสีเผชิญเช่นนี้ ว่า “สตรีนิยม” ได้จริงหรือ

อ้างอิง

Bahr, Lindsey.  (2017).  Q&A: Coppola and Kidman on female gaze of ‘The Beguiled’.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน                2020,  จากเว็บไซต์: https://apnews.com/250c39747b6a4c5292f5ee4ad2c5b651/Q&A:-Coppola-and-Kidman-on-female-gaze-of-‘The-Beguiled’

Bennett, Alanna.  (2017).  Sofia Coppola Says “The Beguiled” Is About The Gender Dynamics Of The Confederacy, Not The Racial Ones.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://www.buzzfeednews.com/article/alannabennett/sofia-coppola-beguiled-power-dynamics

Coupcoup40cal.  (2017).  We Won’t Let Sofia Coppola’s ‘The Beguiled’ Whitewash Our American History.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://cassiuslife.com/10345/sofia-coppola-the-beguiled-whitewashing/

Fraser, Antonia.  (2006).  Sofia’s Choice.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://www.vanityfair.com/news/2006/11/fraser200611

Lodge, Guy.  (2017).  Sofia Coppola: ‘I never felt I had to fit into the majority view’.  สืบค้นเมื่อ11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://www.theguardian.com/film/2017/jul/02/sofia-coppola-beguiled-i-never-felt-i-had-to-fit-into-the-majority-view-interview?page=with%3Aimg-2

Madison III, Ira.  (2017).  Sofia Coppola’s ‘The Beguiled’ Controversy and What We Expect From White Directors.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://www.thedailybeast.com/sofia-coppolas-the-beguiled-and-what-we-expect-from-white-directors

Rivas, Jorge.  (2013).  The Immigrant You Won’t See in Sofia Coppola’s ‘Bling Ring’.  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://www.colorlines.com/articles/immigrant-you-wont-see-sofia-coppolas-bling-ring

Sensei, Seren.  (2017).  Should Sofia Coppola Stay In Her White Lane? Sure. But That Means Acknowledging Her Racism..  สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2020,  จากเว็บไซต์: https://medium.com/@seren.sensei/should-sofia-coppola-stay-in-her-white-lane-sure-but-that-means-acknowledging-her-racism-56a29d1d9109

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้