ค่ายเหมืองแร่เมืองเลย: ลงพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์ต่อสู้เพื่อ ‘สิทธิชุมชน’

แอมเนสตี้ ประเทศไทยจัดกิจกรรมค่ายนิติอาสาพัฒนาชุมชน X HUMAN RIGHTS GEEK ON TOUR อ.วังสะพุง จ.เลย ตอน เหมืองแร่เมืองเลย ลงพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์ต่อสู้เพื่อ ‘สิทธิชุมชน’ พานักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น – เครือข่ายชมรมแอมเนสตี้ ปลูกป่า ฟื้นฟูธรรมชาติ 

เมื่อวันที่ 20 – 23 กรกฎาคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมค่ายนิติอาสาพัฒนาสังคม x HUMAN RIGHTS GEEK ON TOUR ตอนเหมืองแร่เมืองเลย ที่บ้านหนองนาบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย มีเป้าหมายสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach Club) และชมรมแอมเนสตี้ สังกัดคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (Amnesty UP Club)

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เยาวชนเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่แอมเนสตี้ฯ ต้องการบ่มเพาะให้คนรุ่นใหม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเป็นต้นทุนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมให้เกิดการเคารพกันและกันตามหลักการสิทธิมนุษยชน หากทำให้เมล็ดพันธุ์แห่งสิทธิมนุษยชนกลุ่มนี้เข้าใจเรื่องสิทธิต่างๆ ได้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาความไม่เป็นธรรม การถูกเลือกปฏิบัติ การกลั่นแกล้ง และการแบ่งแยกในสังคมปัจจุบันและอนาคตได้

กิจกรรมในค่าย Human Rights Geek On Tour เป็นอีกเครื่องมือที่ส่งเสริมความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยเชื่อว่าจะช่วยสร้างนักกิจกรรมรณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่มากขึ้น ทุกที่เข้าร่วมได้ลงพื้นที่เรียนรู้เรื่องสิทธิในชุมชนและประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่เคยเกิดข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับนายทุนที่ทำสัมปทานเหมืองแร่ เชื่อว่าจะทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมเข้าใจความหมายของหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สามารถทำเครื่องมือรณรงค์เรื่องสิทธิได้ตรงประเด็น มีพลัง สู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้”

เสียงจากทีมพี่เลี้ยงค่าย ‘นิติอาสาพัฒนาสังคม x HUMAN RIGHTS GEEK ON TOUR’

รุ่งฤดี แก่งดาภา หรือ ‘น้อย’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะประธานชุมนุมนิติอาสาฯ เผยว่า จุดเริ่มต้นที่จัดทำโครงการนี้ร่วมกับแอมเนสตี้ ประเทศไทยเพราะต้องการสะท้อนปัญหาสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ให้กับคนนอกพื้นที่ นักกฎหมายรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายนักกิจกรรมจากค่ายอื่นๆ ได้รับรู้เรื่องการละเมิดสิทธิชุมชนนอกห้องเรียน เพื่อทำให้ทุกคนเห็นว่าวิชากฎหมายนอกห้องเรียนแตกต่างและไม่ได้สวยหรูเหมือนสิ่งที่อยู่ในวิชาเรียน การที่นักศึกษาเห็นสถานการณ์จริงเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จะเป็นอีกต้นทุนที่ดีและสำคัญที่จะช่วยบ่มเพาะนักกฎหมายซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ที่ดีในอนาคตได้ 

เราอยากให้น้องๆ นักกฎหมายรุ่นใหม่ รับรู้ว่าพื้นที่จังหวัดเลยเคยมีการใช้กฎหมายปิดปากชาวบ้านหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายทำกิจการเหมืองแร่จนทำให้คนในชุมชนเดือดร้อนหนัก อยากให้น้องๆ ได้ดูและเห็นภาพจริงของปมปัญหาต่างๆ และเราในฐานะคนที่เติบโตมาในพื้นที่ ได้เห็นทุกคนต่อสู้ดิ้นรนสู้เพื่อสิทธิตั้งแต่เด็กจนโต อยากให้ที่นี่เป็นอีกห้องเรียนสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนได้เห็นบทเรียนและนำไปใช้ในชีวิตจริงได้”

ณัฐพล อภิรักษ์ลี้พล หรือ ‘เป๋า’นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ประธานสโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำค่าย จุดประกายจากตอนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีโอกาสลงพื้นที่ดูชุมชน จึงได้ซึมซับการต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิของชาวบ้านกับโรงงานเหมืองแร่ และหันมาสนใจเรื่องสิทธิมากขึ้น และเห็นว่าแอมเนสตี้ ประเทศไทยเป็นองค์กรที่ทำงานสิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลาย และมีสมาชิกหลายล้านคนทั่วโลก จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มศักยภาพการทำงาน สื่อสารเรื่องสิทธิกับนักศึกษาและผู้คนในสังคม

เราต้องการสร้างพื้นที่การเรียนรู้พื้นที่แลกเปลี่ยน สร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิ ให้เครื่องมือรณรงค์กับน้องๆ ทุกคนที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะในสังคมตอนนี้พบว่าบางเรื่องยังไม่เคารพสิทธิกันและกัน หรือเห็นคุณค่าความเป็นคนอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างง่ายๆ การลงพื้นที่พบวชาวบ้านที่นี่มีปัญหาจริงๆ ไม่ได้รับการแก้ปัญหาจากภาครัฐ ไม่มีสิทธิได้เลือกในสิ่งที่ต้องการ บางคน บางครอบครัวต้องใช้ชีวิตเดิมพันในการต่อสู้”

ณัฐธิดา แพไธสงค์หรือ ‘ปีใหม่’ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หนึ่งในทีมสต้าฟ บอกความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ทำค่ายนิติอาสาพัฒนาสังคมร่วมกับแอมเนสตี้ฯ ว่า การมาทำหน้าที่ครั้งนี้ต้องการฝึกให้ตัวเองมีทักษะเรื่องการทำค่ายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และต้องการแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกับนักศึกษารุ่นใหม่ว่ามีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิในปัจจุบัน คาดหวังว่าค่ายนี้จะทำให้ทุกคนที่เรียนคณะนิติศาสตร์ที่จะเรียนจบไปเป็นทนายความ ทนายความ หรืออาชีพอื่นๆ ในอนาคต ได้นำสิ่งที่ได้เห็นและได้ทำในกิจกรรม ไปเป็นหลักคิดในการใช้ชีวิตและทำหน้าที่ของตัวเองด้วยการการเคารพซึ่งกันและกันในสังคม เพราะส่วนตัวเชื่อว่าการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้มีหลายอย่างต้องเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชน เช่น การลงพื้นที่กับชาวชุมชนที่ต่อสู้เรื่องเหมืองแร่ได้คุยกับแกนนำชาวบ้าน แล้วพบว่ามีการถูกเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมระหว่างต่อสู้ ขณะที่คนอีกกลุ่มที่มีหน้าตาในสังคม อาจจะไม่โดนตรวจสอบหนักเหมือนชาวบ้าน

“ถ้านักศึกษากฎหมายรุ่นใหม่ได้เรียนรู้สิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิมนุษยชน มันจะทำให้เขามองโลกเปลี่ยนไป ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นใครหรือทำอาชีพอะไร เพราะการลงพื้นที่ทำให้ทุกคนเห็นผลกระทบจากเหมืองแร่ ถ้าเรียนในห้องเรียนจะไม่มีใครได้เห็นความรู้สึกของชาวบ้าน ทั้งสีหน้า แววตา เพราะในห้องเรียนมีแต่ตัวหนังสือ มีอาจารย์บรรยาย แต่บางครั้งมันไม่มีความรู้สึกหรือ Emotion”

เสียงจากชาวค่าย ‘นิติอาสาพัฒนาสังคม x HUMAN RIGHTS GEEK ON TOUR’

พณัสพร ทับนิยม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนิติอาสาฯ เผยจุดเริ่มต้นและความรู้สึกของการมาค่ายครั้งนี้ว่า รู้จักค่ายนี้จากเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัย เมื่อได้ร่วมกิจกรรมทำให้มีความรู้เรื่องสิทธิชุมชนที่สามารถนำไปปรับใช้ปกป้องบ้านเกิดของตัวเองได้ ส่วนตัวมองว่าเมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วเป็นไปตามความคาดหวัง เพราะได้ลงพื้นที่จริง ได้ยินเรื่องราวการต่อสู้เหมืองแร่ที่ไม่ได้เคยได้ยินมาก่อน และกิจกรรมที่ได้ทำในค่ายนอกจากสนุกแล้ว ยังได้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น ชุมชนในฝัน  ที่ให้ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนออกแบบชุมชน และมีอีกตัวละครเข้ามาเป็นตัวแทนหน่วยงานรัฐที่มาขีดเขียนชุมชน โดยไม่ได้ฟังเสียงประชาชน ส่วนตัวมองว่าเป็นกิจกรรมที่สะท้อนบทเรียนให้เห็นสถานการณ์จริงๆ ในสังคม

การมาค่ายครั้งนี้ทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิชุมชนให้มากขึ้น เพราะคิดว่าสามารถนำไปใช้ในบ้านเกิดของตัวเองได้ หากเกิดปัญหากับหน่วยงานรัฐในการทำโครงการต่างๆ”

มาโนช มูลเมือง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนิติอาสาฯ เล่าถึงการมาค่ายครั้งนี้ว่า เป็นนักกิจกรรมอยู่แล้ว และอยากมีความรู้เรื่องสิทธิมากขึ้นจึงตัดสินใจสมัครเข้ามา เพราะอยากศึกษา เพิ่มประสบการณ์ ที่อยู่นอกเหนือในห้องเรียน ยอมรับว่า 4 วันที่เข้าค่ายได้เติมเต็มสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนได้มาก ซึ่งเป็นไปตามความคาดหวัง ส่วนตัวชอบกิจกรรมวันที่ 2 ที่พานักศึกษาขึ้นไปดูผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ในวันนั้นได้เรียนรู้เรื่องราวจากชาวบ้านตั้งแต่ต้นตอของปัญหา สาเหตุ และผลกระทบที่เกิดขึ้นในชุมชน ยอมรับว่าประทับใจมากที่ได้มาค่ายนี้

เวลาอยู่ในห้องเรียนไม่ได้ออกมาทำอะไรแบบนี้ พอมาทำกิจกรรมแล้วก็พบว่าเป็นไปตามความคาดหวัง ส่วนตัวชอบวันที่ 2 ได้ลงพื้นที่ ได้นั่งรถไถ ได้ชมบรรยากาศ ได้เรียนรู้จากชาวบ้าน ตอนแรกรู้แค่ว่าสิทธิคือสิ่งที่ทุกคนควรมี แต่พอมาค่ายนี้มันเพิ่มความเข้าใจที่ลึกซึ้งกว่านั้นว่า นอกจากสิทธิของตัวเองยังมีสิทธิชุมชนที่เราควรรู้ด้วย”

อุษณีย์ ทอนฮามแก้ว หรือ ไอติม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนิติอาสาฯ เผยว่า มาจากจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในเมือง อยู่ห่างไกลความเจริญ เราเห็นการถูกคุกคามของมนุษย์ จึงสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ส่วนตัวมีมุมมองเรื่องสิทธิมนุษยชนคือมนุษย์ทุกคนต้องเท่ากัน ต้องได้รับความยุติธรรม ต้องให้เกียรติกันและกัน พอมาเข้าค่ายแล้วพบว่าได้ประสบการณ์ เรียกว่าได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ลึกซึ้งขึ้นตามความคาดหวังที่ตั้งใจสมัครเข้ามา เกมที่ชื่นชอบคือชุมชนในฝัน เพราะตอนแรกเราคุยกับเพื่อนว่าจะสร้างบ้านเรายังไง อาจจะมีการทะเลาะ แต่สุดท้ายก็ลงตัวเป็นชุมชน พอถูกแทรกแซงจากใครก็ไม่รู้ ที่ไม่ได้ถามเราก่อน จึงเข้าใจว่าชาวบ้านรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะที่วิทยากรเล่าเรื่องสิทธิที่มีความหลากหลาย เช่น บางคนอาจจะต้องการสิทธิที่พิเศษกว่าคนอื่น เพราะเป็นคนพิการ ทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้หลายมิติมากขึ้น 

ตอนแรกสนใจ ไม่ได้อินขนาดนี้ แต่พอมาก็อินมากขึ้น เชื่อว่าถ้ามีคนเข้ามาร่วมอีกกับแอมเนสตี้ฯ เชื่อว่าจะจุดประกายให้คนอื่นๆ เหมือนกัน ตอนแรกคิดว่าจะมาดีไหม เพราะเรามีปัญหาสุขภาพ แต่พอมาแล้วรู้สึกว่ามันคุ้มค่ามากๆ”

พัชรพล พลายแสง หรือ โรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนิติอาสาฯ เล่าว่า ก่อนมาเรียนนิติศาสตร์สนใจเรื่องสิทธิของทุกคนเพราะครอบครัวทำงานเรื่องนี้ ทำให้ตั้งแต่ปี 1 เข้ามาอยู่ชมรมสิทธิมนุษยชน ได้ไปค่ายหลายๆ ที่แถวขอนแก่น หนองคาย และมาเจอค่ายของแอมเนสตี้ที่ จ.เลย ส่วนตัวมองว่าสิทธิที่แท้จริงคือทุกคนเกิดมาต้องมีสิทธิเสรีภาพเป็นของตัวเองตั้งแต่เกิดจนตาย การมาค่ายครั้งนี้สนุกมาก สมัครมาค่ายคนเดียว ไม่ได้ชวนใครมา ทำให้ได้รู้จักเพื่อนๆ มากขึ้น ได้เรียนรู้ ดูพื้นที่จริง และได้คุยกับคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนของชาวบ้าน ยอมรับว่าคุ้มค่ามากๆ ที่ได้มาค่ายในครั้งนี้ โดยเฉพาะการได้สัมผัสเรื่องราวของชาวบ้าน และได้ความรู้เรื่องหลักสิทธิมนุษยชนสากล 

ผมคิดว่าในประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่างที่ซุกไว้ใต้ผม แต่ทำให้ข้างนอกมันดูสวยหรู ชาวบ้านทุกคนขาดสิทธิที่จะเข้าถึงในหลายๆ อย่างสวัสดิการ ความรู้ จนทำให้ภาครัฐใช้ช่องว่างทางกฎหมายจนเกิดข้อพิพาทกับชาวบ้าน ในฐานะคนรุ่นใหม่อยากให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงทุกอย่าง ไม่ถูกกดขี่ ข่มเหง หรือเจออำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม” 

ปทุมมา ตั้งพิพัฒน์มงคล หรือ เปิ้ล ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนิติอาสาฯ จากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach Club)  ได้รู้จักค่ายนี้ผ่านเครือข่ายแอมเนสตี้ คลับ ก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสเข้าห้องเรียนสิทธิ จึงเจาะประเด็นไปที่สิทธิชุมชนว่าคืออะไร ซึ่งค่ายนี้เมื่อดูวัตถุประสงค์แล้วพบว่าตอบโจทย์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการจึงสมัครเข้าร่วม พอได้มาทำกิจกรรมแล้วพบว่าเป็นไปตามความคาดหวังไว้ระดับหนึ่ง เพราะเห็นการละเมิดสิทธิชุมชน ที่ทำให้รู้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในภาคเหนือและภาคใต้ แต่เกิดขึ้นกับทุกภาคในประเทศไทย เมื่อเกิดการสร้างอุตสาหกรรม ค่ายนี้ทำให้อยากนำเรื่องนี้ไปส่งต่อให้สังคมได้รับรู้เรื่องสิทธิต่อไปในฐานะนักกิจกรรมและนักกฎหมาย เพราะถ้าเก็บไว้กับตัวเองจะอยู่แค่ที่เรา แต่ถ้าส่งต่อไปถึงคนอื่นเชื่อว่าเรื่องสิทธิจะถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ  จึงเชื่อว่าจะทำให้สังคมดีขึ้นได้

สิทธิคือสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แบ่งให้ใครไม่ได้ แม้กระทั่งสิทธิการพักผ่อน พอมาค่ายนี้แล้วสิ่งที่เห็นชัดคือสิทธิชุมชน ที่ทำให้เห็นว่าชุมชนควรมีส่วนร่วมกับการพัฒนาชุมชนด้วย ไม่ใช่แค่ภาครัฐหรือเอกชนมีอำนาจตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ไม่สนใจชาวบ้าน” 

ผู้เข้าร่วมค่ายนิติอาสา จากชมรมแอมเนสตี้ สังกัดคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา (Amnesty UP Club) ทั้ง 3 คน เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่าเมื่อก่อนมองเรื่องสิทธิเป็นเรื่องไกลตัวทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคนในสังคม ไม่เคยรู้ว่าสิทธิคืออะไร ซื้อขายหรือทำอะไรได้บ้าง แต่ทุกวันนี้เมื่อมาร่วมกิจกรรมกับแอมเนสตี้ ประเทศไทยและค่ายครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าสิทธิเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ควรมีใครถูกพรากหรือถูกลิดรอน การมาทำกิจกรรมครั้งนี้ต้องการเก็บประสบการณ์เพื่อไปทำค่ายห้องเรียนสิทธิที่ จ.พะเยาต่อไป

การมาค่ายครั้งนี้ยอมรับว่าอาจจะไม่ได้เข้าใจเรื่องสิทธิ 100% แต่มันทำให้เราพยายามเรียนรู้เข้าใจเรื่องนี้เพื่อศึกษาต่อเรื่องสิทธิต่อไป สำหรับค่ายนี้ชอบกิจกรรมที่ไปลงสำรวจพื้นที่เพราะได้เรียนรู้สิ่งที่ชาวบ้านถูกกระทำ ถูกละเมิด ถูกเลือกปฏิบัติไม่เหมือนกัน และทำให้ได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อๆ แม่ๆ ในหมู่บ้านที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ เพราะว่าพื้นที่ของใคร ใครก็รัก”

รัตนสุดา นรารักษ์ หรือ เมอริญา ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนิติอาสาฯ บอกว่ารู้จักค่ายนี้เพราะมีเพื่อนในคณะชวนให้มาทำกิจกรรม เมื่อเห็นรายละเอียดลงพื้นที่จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วม เพราะหลายประเด็นน่าสนใจและส่วนตัวสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นพิเศษในฐานะคนรุ่นใหม่ ที่สนใจกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยและต่างประเทศ การเข้าร่วมทั้ง 4 วันทำให้ได้รู้เรื่องสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนรู้เพียงว่าสิทธิคือการที่ทุกคนต้องมีสิทธิเท่ากัน แต่เมื่อมาทำกิจกรรมพบว่าทุกคนสามารถเป็นกระบอกเสียงทางสังคม เพื่อช่วยสื่อสารปัญหาเรื่องสิทธิให้ตีแผ่ไปในสังคมได้เหมือนกัน

“มาเข้าค่ายแล้วรู้เรื่องสิทธิมากขึ้น เกินความคาดหวัง เพราะพี่ๆ ทุกคนที่มาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันทำงานกันเต็มที่มาก รวมถึงชาวบ้านและทีมสต้าฟของแอมเนสตี้ฯ ให้ความรู้ที่ดีมากๆ และยิ่งเป็นค่ายสิทธิมนุษยชน สิ่งที่ทำให้รู้มากขึ้นก็คือเรื่องสิทธิที่ไม่ควรมีใครถูกพรากไปจากชีวิตและชุมชน และทำให้เห็นว่าการที่คนเรามีชีวิตหรือมีโอกาสที่ไม่เท่ากัน ตรงนี้มันควรเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะทำให้สังคมมีความเสมอภาคกัน ไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ สีผิว หรือเพศ มันควรเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับด้วยความเสมอภาคกัน”

วริทธิ์นันท์ จันทร์ดอน หรือ ฮาร์ต ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนิติอาสาฯ เล่าเหตุผลที่มาครั้งนี้ว่าต้องการนำบทเรียนจากเหมืองแร่เมืองเลย ไปปรับใช้ต่อการเรียกร้องสิทธิในชุมชนของตัวเองในอนาคต หากมีโครงการบางอย่างจากรัฐเพื่อพัฒนาเมือง ซึ่งอาจทำให้บ้านเกิดของตัวเองได้รับผลกระทบทางเสียงและมลพิษ จึงจุดประกายให้สมัครเข้ามาทำกิจกรรมในครั้งนี้ การมาค่าย 4 วันได้เรียนรู้เรื่องการต่อสู้ของชาวบ้าน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป เพราะการลงพื้นที่ทำให้ได้สัมผัสปัญหาที่แท้จริง

            “สิทธิของผมคือการอยู่สังคมร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ถูกใครเบียดเบียน ไม่มีใครถูกละเมิด มีสิทธิที่จะทำอะไรก็ได้ถ้าเราไม่ไปละเมิดผู้อื่น ยิ่งมาค่ายนี้ยิ่งทำให้อยากมาสัมผัสประสบการณ์แบบนี้อีก เพราะเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ทำให้เห็นของจริงไม่ใช่แค่ในตัวอักษร”

สำหรับค่ายนิติอาสาพัฒนาชุมชน X HUMAN RIGHTS GEEK ON TOUR อ.วังสะพุง จ.เลย ตอน เหมืองแร่เมืองเลยทั้ง 4 วัน มีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมได้พบประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย เช่น เกมลูกโป่งหรรษา ที่ให้แบ่งกลุ่มทำกิจกรรมสร้างความสามัคคี รับฟัง เข้าใจปัญหาสู่การแก้ไข กิจกรรมชุมชนในฝันที่ให้ทุกคนร่วมออกแบบเมืองในฝันและเห็นตัวอย่างการถูกลิดรอนสิทธิ ลงพื้นที่จริงเพื่อดูร่องรอยจากการทำเหมืองแร่ที่เคยเกิดข้อพิพาท และให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมปลูกป่าฟื้นฟูสภาพภูเขาที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ และได้เรียนรู้หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้น รวมถึงได้มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ชูป้ายแสดงพลังร่วมรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน ผ่านการใช้เครื่องมือรณรงค์ที่ได้เรียนรู้จากทีมงานที่จัดค่ายที่บ้านหนองบง อ.วังสะพุง จ.เลย

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้