แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการปฏิบัติการ IO และการโจมตีทางไซเบอร์ต่อภาคประชาสังคม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งสอบสวน และยุติการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations – IO) รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีเป้าหมายเล่นงานกลุ่มภาคประชาสังคมอย่างเป็นระบบ หลังมีการเปิดเผยเอกสารลับภายในรัฐสภาที่ระบุว่าหน่วยงานตำรวจและทหารของไทยมีส่วนร่วมในการจัดตั้ง “ไซเบอร์ทีม” เพื่อทำลายชื่อเสียงและลดทอนความน่าเชื่อถือขององค์กรสิทธิมนุษยชนและกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมือง โดยหนึ่งในเป้าหมายคือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงเป็นภัยคุกคามต่อองค์กร แต่ยังเป็นความพยายามรุกล้ำสิทธิเสรีภาพขององค์กรภาคประชาสังคมในไทย พร้อมเรียกร้องให้ทางการหยุิการป้ายสีและการคุกคามทุกรูปแบบต่อผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเสียงที่แตกต่าง 

ประเทศไทย: ทางการต้องยุติปฏิบัติการสาดโคลนป้ายสีและการโจมตีทางไซเบอร์ต่อภาคประชาสังคม 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยสอบสวน และใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งปวง เพื่อยุติการโจมตีทางไซเบอร์ต่อนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน หลังมีการเผยแพร่เอกสารลับภายในที่ชี้ว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นหนึ่งในกลุ่มประชาสังคมหลายกลุ่ม ที่ตกเป็นเป้าหมายการในปฏิบัติการโจมตีอย่างเป็นระบบ หรือ IO และได้รับการสนับสนุนจากรัฐ  

เอกสารดังกล่าวได้รับการเปิดเผยระหว่างการอภิปรายในรัฐสภาที่ผ่านมาไม่นานนี้ โดยมีการระบุข้อมูลว่าหน่วยงานตำรวจและทหารของไทยได้ร่วมกันจัดตั้ง “Cyber Team” (ไซเบอร์ทีม) มีเป้าหมายทำลายชื่อเสียง และลดทอนความชอบธรรมในการทำงานของหน่วยงานภาคประชาสังคม และฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างทางการเมือง  

นอกจากนี้ ไซเบอร์ทีมยังมีความพยายามใช้วิธีการโจมตีด้วยการทำฟิชชิง (Phishing) ที่ต้องการขโมยหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคล และการโจมตีเพื่อเจาะรหัสผ่าน (Brute-Force Attack) เพื่อให้สามารถเข้าถึงบัญชีโซเชียลมีเดียของเป้าหมายต่างๆ ได้ ในกรณีนี้พบว่าอดีตผู้อำนวยการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็เคยตกเป็นเหยื่อเช่นเดียวกัน   

การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการกระทำอันอุกอาจเพื่อบ่อนเซาะทำลายพื้นที่พลเมืองในประเทศไทย ทางการไทยต้องดำเนินการทันทีเพื่อยุติปฏิบัติการสาดโคลนป้ายสี ที่มุ่งทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม

“รัฐบาลไทยต้องใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งปวง เพื่อให้มีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐในปฏิบัติการนี้ และรับรองให้ผู้กระทำต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคง หรือบุคคลทั่วไป”  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นหนึ่งใน ‘เป้าหมายที่มีคุณค่าสูง’ (high-value target) 

ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ชยพล สท้อนดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน ได้นำเอกสารภายในมาเปิดโปง โดยเผยให้เห็นถึงโครงสร้างของไซเบอร์ทีม ซึ่งอยู่ภายใต้ศูนย์บัญชาการร่วม ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานตำรวจและทหาร และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  

ตามข้อมูลในเอกสารลับเหล่านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถูกจำแนกอย่างชัดเจนว่าเป็น “เป้าหมายที่มีคุณค่าสูง” (high-value target) โดยที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศและระหว่างประเทศ กลุ่มภาคประชาสังคมในประเทศ นักกิจกรรมที่มีชื่อเสียง และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกจัดอยู่ในบัญชีดังกล่าวด้วยเช่นกัน เช่น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน อย่าง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รวมถึง อันนา อันนานนท์ เยาวชนหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

ไซเบอร์ทีมของรัฐ จะทำหน้าที่เผยแพร่เนื้อหาในโลกออนไลน์ที่เป็นอันตรายและทำลายชื่อเสียง เช่น เมื่อแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลโพสต์ในบัญชีโซเชียลมีเดียขององค์กรเกี่ยวกับประเด็นการใช้กำลังจนเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมประท้วงในประเทศไทย ทีมไซเบอร์จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่่โพสต์ตอบโต้เพื่อเสนอภาพว่าผู้ประท้วงใช้ความรุนแรง  

เอกสารยังชี้ว่าในระหว่างการเลือกตั้งปี 2566 ไซเบอร์ทีมได้พุ่งเป้าหมายไปที่บัญชีโซเชียลมีเดียของนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมทั้งปิยนุช โคตรสาร อดีตผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยได้พยายามโจมตีด้วยวิธีการเจาะรหัสผ่าน (Brute-force attack) เพื่อเข้าถึงบัญชีโซเชียลมีเดียของบุคคลเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายความมั่นคงปลอดภัยออนไลน์ของพวกเขา  

สำหรับวิธีการเจาะรหัสผ่าน  (Brute-force attack) เป็นวิธีในการเข้าถึงระบบ เครือข่าย หรือข้อมูลที่เข้ารหัสไว้ โดยไม่ได้รับอนุญาต ด้วยวิธีการทดลองสุ่มเดารหัสผ่านจากข้อมูลต่างๆ จนกว่าจะพบรหัสผ่านที่ถูกต้องผ่านการลองผิดลองถูก 

จากข้อมูลอย่างน้อยจนถึงเดือนตุลาคม 2567 พบข้อมูลว่า ไซเบอร์ทีมยังคงเฝ้าติดตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อย่างต่อเนื่อง เอกสารลับที่ถูกปล่อยออกมาชี้ว่า เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ตอบโต้อย่างก้าวร้าวเมื่อมีผู้โพสต์เนื้อหาที่ถูกมองว่าเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ 

ตัวอย่างของเหตุการณ์ที่ถูกตอบโต้โดยไซเบอร์ทีม ได้แก่ โพสต์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งรณรงค์ให้มีการยุติการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ และโพสต์ที่สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น เหตุการณ์การสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ชุมนุมประท้วงชาวมลายูมุสลิมในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส  

การปฏิบัติแบบอำนาจนิยมทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย 

ในการตอบโต้กับข้อกล่าวหาระหว่างการอภิปรายในรัฐสภา แม้ตัวแทนฝั่งรัฐบาลไทยปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่าไม่มีส่วนร่วมในการโจมตีทางดิจิทัลนี้ ซึ่งไม่ใช่การปฏิเสธครั้งแรก ยังพบว่ารัฐบาลไทยชุดที่ผ่านๆ มาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่คล้ายคลึงกันว่ามีการพุ่งเป้าโจมตีนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักการเมืองฝ่ายค้าน 

แม้จะมีหลักฐานทางเทคนิคและหลักฐานแวดล้อมที่บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของปฏิบัติการดังกล่าวก็ตาม เนื่องจากเป็นปฏิบัติการที่ถูกปกปิดเป็นความลับระดับสูงและดำเนินการโดยขาดความโปร่งใส อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยใหม่ครั้งนี้สอดคล้องกับข้อสังเกตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ถึงการปฏิบัติแบบอำนาจนิยมทางดิจิทัล ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังในประเทศไทย 

งานวิจัย ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐไทยและองคาพยพซึ่งสนับสนุนอุดมการณ์รัฐ ได้ทำการพุ่งเป้าสอดแนมทางดิจิทัล และการคุกคามออนไลน์อย่างเป็นระบบ รวมทั้งการใช้ปฏิบัติการสาดโคลนป้ายสีโจมตี อันส่งผลกระทบเป็นพิเศษต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ความรุนแรงทางดิจิทัลเช่นนี้ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบ เพื่อโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ปราบปรามการมีส่วนร่วมทางพลเมือง และลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างร้ายแรง 

เดือนพฤศจิกายน 2567 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติยังได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการใช้สปายแวร์และการใช้ปฏิบัติการสาดโคลน ป้ายสี โจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และเรียกร้องให้มีการสอบสวนกรณีเหล่านี้โดยเร่งด่วนอย่างรอบด้าน และอย่างไม่ลำเอียง  

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เคยเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานภาคประชาสังคม ที่เป็นเป้าหมายของการโจมตีทางดิจิทัลมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รายงานพฤติกรรมการใช้บัญชีผู้ใช้ปลอม (Coordinated Inauthentic Behavior report) ของบริษัทเมตายืนยันว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการใช้บัญชีปลอมออนไลน์อย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเป็นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รวมทั้งหน่วยงานภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมคนอื่น ๆ   

ปิยนุช โคตรสาร อดีตผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นหนึ่งในบุคคลที่มักตกเป็นเหยื่อปฏิบัติการสาดโคลนป้ายสีโจมตีอย่างรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยมีการใช้คำพูดที่ละเมิดทางเพศ การข่มขู่ด้วยความรุนแรงทางเพศ และการใช้ข้อมูลเท็จใส่ร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่มีขบวนการชุมนุมประท้วงที่มีเยาวชนเป็นแกนนำ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2563   

หน่วยงานภาคประชาสังคมได้เก็บบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันถึงการมีอยู่การโจมตีทางดิจิทัลหลายระลอกที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และยังจำต้องออกมาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ทางการไทยสอบสวนและยุติการละเมิดเหล่านี้ หลักฐานที่มีการนำมาเผยแพร่ครั้งล่าสุดนี้ เป็นเพียงเสมือนเครื่องยืนยันว่า นักกิจกรรมและภาคประชาสังคมยังคงต้องเผชิญภัยคุกคามในโลกดิจิทัลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ชนาธิปกล่าว  

คำสัญญาอันว่างเปล่าที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนออนไลน์  

ก่อนจะมีการเลือกตั้งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนกันยายน 2566 รัฐบาลไทยได้ ประกาศเจตจำนงหลายครั้ง ที่จะ “จัดทำนโยบายและกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ดิจิทัลและออนไลน์ เมื่อคำนึงถึงเทคโนโลยีใหม่ และการทำงานกับภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาท้าทาย รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวปลอม การจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จ และสิทธิความเป็นส่วนตัว ในขณะที่จะยังคงดำเนินงานเพื่ออุดช่องว่างทางดิจิทัลที่มีอยู่ในสังคมต่อไป” 

อย่างไรก็ดี การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการละเมิดโดยตรงต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ ความพยายามที่จะเจาะเข้าไปในบัญชีโซเชียลมีเดีย โดยการใช้วิธีเจาะพาสเวิร์ด ยังถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอีกด้วย  

“นานเกินไปแล้วที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ต้องจำทนอยู่กับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดิจิทัลอันเป็นพิษ”

“ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทางการไทยจึงต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ โดยเริ่มจากการยุติการโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงปฏิบัติการสาดโคลนป้ายสี และรับประกันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยสำหรับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

ชนาธิป กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลพื้นฐาน  

  • ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICCPR) ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะมีความเชื่อของตนเองโดยปราศจากการแทรกแซง เสรีภาพในการแสดงออก และการคุ้มครองไม่ให้มีการละเมิดความเป็นส่วนตัวโดยพลการและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีพันธกรณีที่จะต้องใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งปวง เพื่อป้องกัน สอบสวน ลงโทษ และเยียวยาต่อการละเมิดที่เกิดขึ้น  
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นหน่วยงานที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่เข้าข้างจุดยืนใดเมื่อเกิดข้อพิพาททางการเมือง และยึดมั่นอย่างเคร่งครัดต่อภารกิจในฐานะเป็นหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน  

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือการติดต่อเพื่อสัมภาษณ์ โปรดติดต่อ: [email protected]  

ปกป้องเสรีภาพการแสดงออก

สิทธิของบุคคลทุกคนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิในระดับสากลที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

สนับสนุนความเท่าเทียม

เราทุกคนต้องได้รับการปกป้องจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการแสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศและเพศวิธี ภายใต้หลักการด้านสิทธิมนุษยชน