หนึ่งชีวิตที่อาจถูกพราก กับคำถามที่ยังวนอยู่ โทษประหารชีวิตลดอาชญากรรมได้จริงหรือ: คุยกับอดีตนักโทษประหารชีวิต ในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ทำการรณรงค์เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยเน้นถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการตัดสินผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรม และเพื่อปกป้องหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน นั่นคือ สิทธิในการมีชีวิตอยู่ ซึ่งโทษประหารชีวิตถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพราะเป็นการทำลายชีวิตของบุคคลอย่างไม่สามารถกลับคืนได้ แอมเนสตี้จึงต้องรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชนและเห็นถึงความสำคัญของการมีชีวิต

และในวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี ยังถูกกำหนดให้เป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล และในโอกาสนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงชวนทุกคนเรียนรู้เรื่องขอสิทธิมนุษยชพร้อมทั้งรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของ โชคชัย พรไพศาล อดีตนักโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด ผู้ที่ซึ่งตกเป็นแพะจากการตัดสินผิดพลาดและต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำเป็นเวลากว่า 18 ปี ตลอดเวลาที่อยู่ในนั้น เขาต้องเผชิญกับสภาพความเป็นอยู่ที่กดดันและได้รับผลกระทบทางจิตใจอยู่ไม่น้อย เรื่องราวของเขาช่วยสะท้อนให้สังคมเห็นอะไร คำถามที่ยังคงอยู่ โทษประหารชีวิตสามารถลดอาชญากรรมได้จริงไหม และกระบวนการยุติธรรมจะเป็นเช่นไรต่อจากนี้ เรียนรู้เรื่องราวทั้งได้จากเสียงที่ไม่มีใครอยากได้ยินผ่านบทความชิ้นนี้

ในวันนี้ที่ชะตาชีวิตไม่เหมือนเดิม

ย้อนกลับไปในวันนั้นที่ชีวิตของโชคชัย ได้เปลี่ยนไปตลอดกาล ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงวันที่พ้นโทษในปี 2562 ช่วงเวลา 18 ปีที่ต้องทนทุกข์อยู่ในเรือนจำกับความผิดที่เขาไม่ได้เป็นคนสร้าง ปัจจุบันโชคชัยได้กลับมาใช้ชีวิตอิสระอีกครั้ง ทุกวันนี้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ทำงานเป็นเกษตรกร นักเขียน และนักวิจัยด้านกฎหมายและจิตวิทยาเพื่อส่งต่อเรื่องราวให้เป็นเครื่องเตือนใจแก่ผู้อื่น

วันแรกที่เราต้องเดินเข้าเรือนจำ ภาพในหัวมันก็เป็นเหมือนในหนังที่เราเคยดู ภาพมันวิ่งเข้ามาในความคิดของเราเลยว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง เราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าชีวิตนี้จะต้องเดินทางไปถึง ณ จุดที่ต้องกลายเป็นนักโทษ เพราะเราใช้ชีวิตแบบปกติโดยไม่มีความเสี่ยงมาตลอด พอถึงวันแรกที่ต้องเดินเข้าคุก ผมยังจำได้เลยว่าข้าวคำแรกที่ผมกินในเรือนจำเป็นข้าวแดงกับแกงมะเขือ คำแรกที่กินเข้าไปผมอ้วกสวนออกมาเลย เรายังจำได้จนถึงทุกวันนี้

เพราะการตัดสินที่ผิดพลาดจึงทำให้โชคชัยกลายเป็นผู้ต้องคดียาเสพติด จากชีวิตปกติที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว กลับต้องมาพัวพันกับคดีที่ตัวเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ชีวิตในเรือนจำวันแรกของเขาเต็มไปด้วยความทุกข์ใจและความคิดถึงพ่อแม่ เขาไม่รู้เลยว่าชะตากรรมของตัวเองจะเป็นเช่นไร สิ่งเดียวที่ทำได้ในตอนนั้นมีเพียงแค่ต้องยอมรับความจริงตรงหน้า และยืนหยัดต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม พร้อมทั้งหวังให้ความจริงปรากฏ

ตลอดการรับโทษ วันเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะในช่วงที่คดีของเขายังอยู่ในระหว่างการพิจารณา เมื่อถึงวันที่ถูกตัดสินให้เป็นนักโทษประหารชีวิต โชคชัยถูกส่งตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวางเพื่อรอการประหารชีวิต ซึ่งในขณะนั้นการประหารยังคงใช้วิธียิงเป้า ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเป็นการฉีดยาพิษในภายหลัง โชคชัยเล่าว่าเขาเป็นหนึ่งในนักโทษประหารไม่กี่คนที่ได้เห็นแดนประหารของจริง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่เข้ามานั้นมักไม่ได้รับโอกาสหรือมีชีวิตรอดกลับไป

ครั้งแรกที่เข้าไปในห้องประหาร เรารู้สึกว่าเราอึดอัด หายใจไม่ออก และรู้สึกว่าถ้าหากไม่ได้รับการลดโทษให้เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสเห็นหลักประหารนี้
เพราะนักโทษประหารชีวิตทุกคนที่เข้ามาในห้องนี้จะถูกผูกผ้าปิดตาเอาไว้ทุกคนตลอด

16 นาฬิกา เป็นเวลาตัดสินชีวิตของนักโทษประหารเด็ดขาด (วนไปแบบนี้ทุกวัน)

สำหรับนักโทษประหารชีวิตเด็ดขาดที่ผ่านการพิจารณามาสามศาลแล้ว ทุกคนต่างรู้ชะตากรรมดี โดยจะมีการเรียงลำดับตามความร้ายแรงของคดี โดยนักโทษคดีเด็ดขาดที่ทำผิดร้ายแรงจะอยู่ลำดับแรกๆ ไล่ลงมาตามลำดับคดีที่เบาลง ทั้งนี้เวลา 15.00 น. ของทุกวัน จะเป็นเวลาที่นักโทษทุกคนต้องขึ้นเรือนนอนเพื่อรอเวลาชี้ชะตากรรมของตัวเอง และในเวลา 16.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่จะมาเรียกตัวนักโทษที่ถูกกำหนดให้ไปรับการประหาร อย่างที่ไม่มีใครรู้เลยว่าชื่อของตัวเองจะถูกเรียกเมื่อไหร่ เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความกดดันและความหวาดกลัวว่าเสียงเรียกของเจ้าหน้าที่จะหยุดอยู่ที่ห้องใด ซึ่งนั่นหมายถึงว่าโอกาสสุดท้ายในชีวิตของนักโทษคนนั้นได้มาถึงแล้ว

พอมีการเปิดประตูที่หน้าตึกเรือนนอน เราก็จะมานั่งลุ้น และดูในห้องของเราแต่ละห้องว่าใครในห้องที่มีโอกาสจะไปมากที่สุด และก็ต้องนั่งลุ้นว่าเจ้าหน้าที่จะมาหยุดยืนที่หน้าห้องของเราไหม เพราะถ้าเขามาหยุดยืนอยู่หน้าห้องเรา นั่นหมายความว่าเราจะหายใจไม่ทั่วท้องแล้ว ถ้าหากใครที่มีรายชื่อในตอนนั้น ทุกคนก็จะเข่าอ่อนหมดแรงไป

โชคชัยเป็นหนึ่งในคนที่ยังไม่ได้ถูกเรียกชื่อ เนื่องจากเขาได้รับการลดโทษก่อนที่จะถึงวันนั้น แต่ตลอด 6 ปีที่เขาต้องกลายมาเป็นนักโทษประหารชีวิต และต้องถูกอยู่ในห้องขังนั้น โชคชัยเล่าว่าชีวิตเต็มไปด้วยความหนักอึ้ง เพราะต้องทนเห็นเพื่อนนักโทษคนแล้วคนเล่าเผชิญกับความสิ้นหวัง อีกทั้งเขาเองก็อยู่ช่วงเวลาคาบเกี่ยวของการเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิต จากการยิงเป้ามาเป็นการฉีดยาพิษ

ซึ่งสำหรับนักโทษประหารแล้ว ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของตัวเองว่าจะไปจบลงที่ใด โชคชัยยังเล่าต่ออีกว่า หากนักโทษที่ถูกนำตัวไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลและในขณะนั้นมีคำสั่งตัดสินให้ประหารชีวิต เจ้าหน้าที่จะต้องนำตัวนักโทษกลับมารับโทษทันที แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการรักษาก็ตาม หนึ่งในเหตุการณ์ที่ฝังใจโชคชัยมากที่สุด คือ เพื่อนนักโทษคนหนึ่งถูกประหารชีวิตหลังจากที่ญาติเพิ่งเดินทางจากต่างจังหวัดมาเยี่ยมเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งการพบหน้าครั้งนั้นกลายเป็นการพบกันครั้งสุดท้ายของเพื่อนนักโทษกับครอบครัว

การละเมิดสิทธิในวันที่ชีวิตถูกตัดสินพลาด

“ไม่ว่าเราจะพยายามบอกว่ากระบวนการยุติธรรมของเรานี่ทำได้ดีแค่ไหน แต่ตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีนั้น มันทำให้เราได้เห็นข้อเท็จจริง ได้เห็นชีวิตจริงๆ และเห็นความจริงว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมันมีอยู่มากมายจริงๆ และก็เป็นความผิดพลาดที่ตัวของเราเองไม่รู้ว่าจะสามารถไปเรียกร้องความยุติธรรมได้จากที่ไหน เพราะเสียงของคนที่อยู่ในนั้นมันเป็นเสียงของคนที่ไม่มีใครอยากฟัง และมันก็เป็นเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน” 

และเมื่อโชคชัยต้องอาศัยอยู่ร่วมกับนักโทษคนอื่นเป็นเวลา 24 ชั่วโมงต่อวัน ก็ทำให้เขาได้เห็นความเป็นจริงหลายอย่าง ทั้งความจำกัดของพื้นที่ ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอกับจำนวนของนักโทษ ความแออัดในเรือนนอน และการแก่งแย่งกันภายใต้กฎเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจจัดตั้งขึ้น และการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสถานที่ที่ไร้เสรีภาพ หลายครั้งเขารู้สึกว่าชะตากรรมที่ตัวเองกำลังได้รับนั้นไม่มีความยุติธรรมสำหรับคนบริสุทธิ์อย่างเขาที่เพียงแค่ต้องการใช้ชีวิตปกติ

“ทุกครั้งที่แม่มาเยี่ยม เสียงโซ่ตรวนที่ใส่อยู่บนขาของนักโทษจำนวนร้อยคนมันจะดังไปจนถึงคนข้างนอกของแม่ และพอแม่ได้ยินเสียงนั้น เราก็จะรู้ได้ทันทีเลยว่ามันกัดกร่อนหัวใจของเขา ทุกครั้งที่แม่มาหา แม่ก็จะถามเราว่า เมื่อไหร่เขาจะถอดโซ่สักที แค่ขังเรายังไม่พออีกหรือ เพราะแค่นี้เราก็ออกไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว”

ทั้งนี้ โชคชัยเล่าว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียน เพื่อไม่ให้เวลาผ่านไปอย่างสูญเปล่า และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แม่ แม้ว่าเขาจะไร้เสรีภาพ แต่อย่างน้อยเขาก็ยังมีความรู้ที่จะใช้สู้กับโลกภายนอกในวันที่พ้นโทษ หรืออย่างน้อยเพื่อไม่ให้จิตใจฟุ้งซ่าน เขาลงเรียนในทุกหลักสูตรที่เรือนจำมี ทั้งการอบรมความรู้เล็กน้อยและหลักสูตรต่างๆ จนในที่สุดเขาสำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญา 3 ใบ พร้อมกับเกียรติบัตรอีกนับสิบ เพื่อยืนยันว่าเขาไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตาที่ผิดพลาดไป และในวันนี้ที่ได้รับอิสรภาพ เขาสามารถยืนยันสิ่งที่ทำได้ นั่นคือการได้นำความรู้ทั้งหมดส่งต่อให้ผู้อื่นผ่านการเขียนหนังสือและทำงานวิจัย

พอเราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ผมก็กลับมาคิดว่าผมจะทำอย่างไรเพื่อให้แม่อยู่ได้ มันก็มีหลายอย่าง บางคนเลือกที่จะกลับไปทำผิดแบบเดิม แต่ผมที่จะเรียนหนังสือ เพราะคิดว่าทางนี้แหละที่จะทำให้แม่มีกำลังใจ
ผมจึงเรียนทุกอย่างที่เรือนจำเปิดโอกาสให้ผมได้เรียน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรระยะสั้นหรือระยะยาว

ช่วงเวลา การทนอยู่ และความหวังของอิสรภาพ

ชีวิตในเรือนจำที่เต็มไปด้วยกิจวัตรซ้ำซากยาวนานหลายปี ทำให้นักโทษแต่ละคนต้องเผชิญกับความหวังและความคิดที่แตกต่างกันออกไป สิ่งเดียวที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของแต่ละคนคือความหวังเล็กๆ ที่ทำให้พวกเขามีกำลังใจต่อสู้กับโชคชะตา ไม่ว่าจะเป็นนักโทษที่เคยก้าวพลาด หรือนักโทษผู้บริสุทธิ์ที่ถูกตัดสินว่าผิด ทั้งหมดต่างฝันถึงวันที่อิสรภาพจะกลับคืนมาเหมือนชีวิตก่อนที่คำตัดสินจะพลิกชะตาของพวกเขา
สำหรับโชคชัย นอกจากการใช้การเรียนเป็นเกราะป้องกันจิตใจจากความฟุ้งซ่าน เขายังแบ่งช่วงเวลาทั้งหมดของชีวิตในเรือนจำออกเป็น 3 ระยะ เพื่อสร้างความหวังและกำลังใจให้ตัวเองในแต่ละช่วงเวลา

  • โดยในช่วงแรก นั้นจะเป็นช่วงของ 7-8 ปีแรกในการเข้ามาอยู่ในเรือนจำ เป็นช่วงเวลาที่เขามีความหวังในการต่อสู้คดี เขายังคงยึดมั่นว่าสักวันความจริงจะถูกเปิดเผย และเขาจะได้รับการพ้นโทษหากศาลตัดสินว่าเขาไม่ผิด แม้ว่าความหวังนี้จะค่อยๆ เลือนหายไปก็ตาม
  • ระยะที่สอง ความหวังของเขาเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาตนเอง โชคชัยตั้งเป้าว่าจะใช้เวลาที่เหลือในการศึกษาและฝึกฝนทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันที่เขาได้รับอิสรภาพ ซึ่งนี่เป็นช่วงเวลาที่เขาพยายามทำให้ตัวเองไม่จมอยู่กับความทุกข์ และพยายามสร้างโอกาสใหม่ให้กับชีวิตแม้จะอยู่ในเรือนจำ
  • ช่วงสุดท้าย คือช่วงที่ชีวิตเหมือนถูกแขวนไว้กับภาพฝันของโลกภายนอก นักโทษประหารหลายคนต่างจินตนาการถึงชีวิตนอกเรือนจำและอิสรภาพที่รออยู่ แม้ว่าบางคนจะรู้ว่าความหวังนั้นเลือนราง แต่การมีภาพในใจก็อาจเป็นสิ่งเดียวที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาได้มีชีวิตอยู่ต่อ

ชีวิตกับอิสรภาพที่ไม่เหมือนเดิม

ด้วยระยะเวลาการจองจำที่ยาวนาน นักโทษหลายคนประสบปัญหาในการปรับตัวเมื่อพ้นโทษและกลับสู่สังคมภายนอก ชีวิตภายนอกที่เคยคุ้นเคยได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก โชคชัยก็เป็นหนึ่งในอดีตนักโทษที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการปรับตัวหลังจากถูกจองจำมานานกว่า 18 ปี

ผมรู้สึกว่าโลกนี้มันไม่ใช่โลกของผม ผมรู้สึกว่าเวลาเดินไปที่ไหนก็มีแต่คนจ้องมอง มันเหมือนมีตัวหนังสือเขียนติดไว้ที่หัวว่าเป็นนักโทษที่เคยอยู่ในคุก มันเป็นช่วงเวลาที่เครียดมาก จนออกอาการทางร่างกาย ที่แม้แต่ท่าเดินของเราก็เหมือนหุ่นยนต์ เพราะเรากลัวผิดพลาดไปหมด เรากลัวว่าคนจะรู้ว่าเราเป็นนักโทษ

ทั้งนี้ กว่าที่โชคชัยจะสามารถปรับตัวได้ ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการทำให้ตัวเองสามารถเริ่มต้นใช้ชีวิตให้กลับมาเป็นแบบเดิม เขาเริ่มต้นจากการกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างจังหวัดกับครอบครัว บำบัดจิตใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อทำให้ตัวเองก้าวทันโลกได้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้คนอื่นมองว่าตัวเองมีความแตกต่างและแปลกแยกจากสังคม

เพราะการมีชีวิต เป็นสิทธิที่มีคุณค่า

แน่นอนว่าการมีชีวิตอยู่คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลักที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรณรงค์มาตลอด ในมุมมองของโชคชัย ผู้ที่เคยถูกจองจำและถูกตราหน้าว่าเป็นนักโทษประหาร เขามองว่าการที่ยังมีชีวิตอยู่คือสิ่งที่มีค่าที่สุด เพราะจากประสบการณ์ที่เขาได้รับในช่วงที่ถูกจองจำทำให้เขาได้เห็นโลกที่แตกต่างไปจากเดิม โลกที่ผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และหลายคนไม่มีโอกาสได้ส่งเสียงเรียกร้องความยุติธรรม โชคชัยได้เห็นความหลากหลายของมนุษย์ และตระหนักว่าคนเราควรได้มีโอกาสใช้ชีวิตต่อไป

และในวันนี้ที่รัฐบาลยังคงเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับช่วงที่เขาถูกดำเนินคดีเมื่อ 18 ปีที่แล้ว โชคชัยเล่าว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะเราอาจจะได้เห็นภาพซ้ำของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด ทั้งที่คนนั้นยังไม่ได้รับโอกาสในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และแม้ปัจจุบันจะมีมาตรการอย่างการติดกล้องบนตัวเจ้าหน้าที่ขณะจับกุม เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ แต่นั่นก็ยังคงมีความเสี่ยงที่กระบวนการยุติธรรมอาจเกิดความผิดพลาด เหมือนกับสิ่งที่เขาเคยเผชิญมา

หลังจากได้ยินเกี่ยวกับนโยบายที่จะทำเกี่ยวกับยาเสพติด ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวคือภาพของงานศพที่แต่ละครอบครัวที่จะต้องจัดให้กับผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาว่าอาจจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด
ทั้งที่เราอาจจะยังไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน เนื่องจากเราเองก็เห็นภาพเหล่านั้นมาเยอะ
จึงคิดมีโอกาสที่เราจะได้เห็นเหตุการณ์ซ้ำรอย

ทั้งนี้ ในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลก็ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้ในประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิต เราก็ยังคงยืนยันเสมอว่าไม่ได้อ่อนข้อหรือยกโทษให้กับผู้กระทำผิด แต่ผู้ที่กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการที่มีความยุติธรรมและเป็นธรรม เราเพียงเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการลงโทษ และพยายามสร้างความเข้าใจให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม

ฟังเสียงของโชคชัย พรไพศาลฉบับเต็มได้ที่ Talk อะ Rights Podcast

Apple Podcast : https://apple.co/47Ym1Xu
Spotify : https://bit.ly/4eVJyLc
YouTube : https://bit.ly/4gReHky

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้