สิทธิผู้หญิง


ภาพรวม

สิทธิของผู้หญิง คือ สิทธิมนุษยชน

เราทุกคนล้วนมีสิทธิมนุษยชน สิทธิเหล่านี้รวมถึงสิทธิที่จะมีชีวิตโดยปราศจากการใช้ความรุนแรงหรือถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิในการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีด้วยมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จะสามารถมีได้ สิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง และสิทธิในการได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม

แต่ทั่วโลกยังมีผู้หญิงและเด็กหญิงจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากเพศกำเนิดและเพศสภาพ ความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นรากฐานของปัญหาหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงและเด็กหญิงอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ ได้รับค่าจ้างต่ำ ไม่ได้รับการศึกษา และบริการสุขภาพไม่เพียงพอ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขบวนการเรียกร้องสิทธิผู้หญิงได้ต่อสู้อย่างหนักเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำนี้ โดยรณรงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย หรือเคลื่อนไหวบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้สิทธิของพวกเธอได้รับการเคารพ นอกจากนี้ ยังมีขบวนการใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นในยุคดิจิทัล เช่น แคมเปญ #MeToo ที่เน้นให้เห็นถึงความรุนแรงและการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอันเนื่องจากอคติทางเพศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกดดันให้ผู้มีอำนาจเคารพสิทธิของผู้หญิงผ่านการทำงานวิจัย การรณรงค์ และการผลักดันเชิงนโยบาย

เนื้อหาในหน้านี้พูดถึงประวัติศาสตร์ความเปนมาของสิทธิผู้หญิง สิ่งที่เรียกว่า “สิทธิผู้หญิง” แท้จริงแล้วคืออะไร และแอมเนสตี้ทำงานอะไรบ้างในเรื่องนี้

เราต่อสู้เพื่ออะไร?

เมื่อเราพูดถึง “สิทธิผู้หญิง” เราหมายถึงอะไร? และเราต่อสู้เพื่ออะไร?

นี่คือตัวอย่างบางส่วนของสิทธิผู้หญิงที่นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ต่อสู้อย่างยาวนานกว่าร้อยปีเพื่อให้สิทธิของผู้หญิงเกิดขึ้นจริง:

สิทธิของผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้ง

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งให้กับผู้หญิง ในปีพ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้งระดับประเทศ ขบวนการนี้ได้เติบโตและขยายไปทั่วโลก และด้วยความพยายามของผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการต่อสู้นี้ สิทธิของผู้หญิงในการออกเสียงเลือกตั้งจึงกลายเป็นสิทธิที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979 (the Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women 1979).

อย่างไรก็ดี แม้จะมีความก้าวหน้าเช่นนี้แล้ว แต่กลับมีอีกหลายพื้นที่ในโลกที่ผู้หญิงยังคงต้องประสบกับความยากลำบากในการใช้สิทธินี้ ตัวอย่างเช่น ในซีเรีย ผู้หญิงถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง รวมถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่

ในปากีสถาน แม้ว่าการออกเสียงเลือกตั้งจะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ลงคะแนนเสียง เพราะผู้มีอิทธิพลในชุมชนใช้ธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นซึ่งชายเป็นใหญ่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

ภาพเด่น (TOPSHOT) – นักเคลื่อนไหวจากขบวนการ Aurat March กำลังร่วมฉลองในระหว่างการชุมนุมเนื่องในวันสตรีสากล ณ เมืองการาจี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ภาพโดย ASIF HASSAN/AFP จาก Getty Images

ส่วนในอัฟกานิสถาน ทางการได้ตัดสินใจนำเอาระบบบังคับพิสูจน์ตัวตนด้วยภาพถ่ายมาใช้ตามจุดเลือกตั้ง ซึ่งสร้างอุปสรรคแก่ผู้หญิงในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม เนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่จะต้องคลุมใบหน้าเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ทำให้การออกเสียงเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับพวกเธอ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รณรงค์เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองได้อย่างแท้จริง

สิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์

ทุกคนควรมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง

ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนมีสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายถึงสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม เช่น การคุมกำเนิดและการทำแท้งที่ปลอดภัย มีสิทธิในการเลือกว่าจะแต่งงานหรือไม่ เมื่อไหร่ และกับใคร และมีสิทธิในการตัดสินใจว่าต้องการมีลูกหรือไม่ และหากต้องการมีลูก จะมีกี่คน มีเมื่อไหร่ และกับใคร

ผู้หญิงควรมีสิทธิในการใช้ชีวิตโดยปราศจากความหวาดกลัวต่อความรุนแรงอันเนื่องจากเพศสภาพหรืออคติทางเพศ ซึ่งรวมถึงการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศรูปแบบอื่น ๆ ตลอดจนการขริบบอวัยวะเพศหญิง การถูกบังคับให้แต่งงาน การตั้งครรภ์โดยไม่สมัครใจ การทำแท้งโดยการบังคับ หรือการทำหมันโดยไม่ได้รับความยินยอม

แต่หนทางยังอีกยาวไกลจนกว่าผู้หญิงทุกคนจะสามารถมีสิทธิเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่

ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลกจำนวนมาก ยังไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้ ในหลายประเทศ ผู้ที่ต้องการหรือจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์กลับต้องเผชิญหน้ากับทางสองแพร่งที่อันตรายซึ่งพวกเธอต้องเลือกระหว่างการต้องเสี่ยงชีวิตกับการถูกจำคุก

ในอาร์เจนตินา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์ร่วมกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับรากหญ้าเพื่อแก้ไขกฎหมายทำแท้งที่เข้มงวดของประเทศ แม้จะมีความก้าวหน้าสำคัญบางประการ แต่ก็ยังมีผู้หญิงและเด็กหญิงที่ยังคงได้รับอันตรายจากกฏหมายที่ไม่อนุญาตให้พวกเธอสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตนเองได้

จากเพจ @nytimes สู่ท้องถนนในเมืองบัวโนสไอเรส ถึงเวลาบอกลาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยในอาร์เจนตินาแล้ว ปีพ.ศ. 2561 ©Amnesty International

เรายังประสบความสำเร็จจากการรณรงค์ในประเทศไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ ทำให้มีการยกเลิกความผิดอาญาต่อการทำแท้งเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและองค์กรด้านสิทธิอื่นๆ ได้พยายามกดดันและรณรงค์เชิงนโยบายมาเป็นเวลาหลายสิบปี

ในโปแลนด์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ร่วมเพื่อประท้วงร่างกฎหมาย “หยุดการทำแท้ง” (Stop Abortion) ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้หญิงมากกว่า 200 องค์กร

ส่วนในประเทศเกาหลีใต้ เร็วๆ นี้ก็มีความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านสิทธิทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ หลังจากที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและองค์กรด้านสิทธิอื่นๆ รณรงค์ร่วมกันเป็นระยะเวลาหลายปี จนนำไปสู่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ที่สั่งให้รัฐบาลยกเลิกความผิดอาญาต่อการทำแท้งภายในประเทศและปฏิรูปกฎหมายทำแท้งที่เข้มงวดของประเทศให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2563

ในบูร์กินาฟาโซ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สนับสนุนการต่อสู้ของผู้หญิงและเด็กหญิงในเรื่องการบังคับแต่งงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้หญิงจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท

อดามาทำงานให้กับสมาคมเพื่อการพัฒนาสตรีแห่งบูร์กินา (Association Féminine pour le Développement du Burkina – AFDEB) ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้หญิงและเด็กหญิงในชุมชนชนบทห่างไกลของประเทศบูร์กินาฟาโซ ©Sophie Garcia

ในเซียร์ราลีโอน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นภายใต้โครงการการศึกษาสิทธิมนุษยชน (Human Rights Education Programme) ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นสิทธิมนุษยชนหลากหลายด้าน รวมถึงการต่อต้านการขริบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation – FGM)

ในซิมบับเว เราพบว่าผู้หญิงและเด็กหญิงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ (ท้องไม่พร้อม) และมีความเสี่ยงมากกว่าปกติต่อการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างแพร่หลายในสังคมเกี่ยวกับการให้ความยินยอมในเรื่องเพศ และการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศที่จำกัด เด็กหญิงต้องประสบกับการถูกเลือกปฏิบัติ เผชิญกับความเสี่ยงต่อการถูกบังคับแต่งงานในวัยเด็ก ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา

ส่วนในจอร์แดน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เรียกร้องให้ทางการยุติการสมรู้ร่วมคิดกับระบบ “ผู้ปกครอง/ผู้คุ้มครองที่เป็นชาย” ซึ่งควบคุมชีวิตและจำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้หญิง กักขังผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าออกจากบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส และรวมถึงการบังคับให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจพรหมจรรย์ที่น่าอับอาย

เสรีภาพในการเดินทาง

เสรีภาพในการเดินทาง คือ สิทธิที่จะไปในที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระตามที่ต้องการ ไม่เพียงแค่ในประเทศที่อาศัยอยู่ แต่รวมถึงการเดินทางไปยังประเทศอื่นด้วย แต่ผู้หญิงจำนวนมากกลับต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างแท้จริงในเรื่องนี้ เพราะพวกเธออาจไม่ได้รับอนุญาตให้มีหนังสือเดินทางของตนเอง หรืออาจต้องขออนุญาตจากผู้ปกครอง/ผู้คุ้มครองที่เป็นชายก่อนจึงจะสามารถจะเดินทางได้

ตัวอย่างเช่น เมื่อไม่นานมานี้ ซาอุดิอาระเบียได้มีการรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ขับรถเป็นระยะเวลาหลายสิบปี แม้จะเป็นความก้าหน้าครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่ทางการก็ยังดำเนินการปราบปรามและควบคุมตัวนักกิจกรรมเพื่อสิทธิผู้หญิงจำนวนมากเพียงเพราะพวกเธอเรียกร้องสิทธิของตนโดยสงบ

ด้วยความกล้าหาญและแน่วแน่ ลูเจนได้ท้าทายคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงขับรถในซาอุดีอาระเบียและยอมรับผลที่ตามมา ในเดือนพฤศจิกายนปี 2557 เธอถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 73 วันจากการไลฟ์ทวีตขณะขับรถเข้าสู่ซาอุดีอาระเบียจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) หลังจากได้รับการปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เธอยังเดินหน้าลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงในซาอุดีอาระเบียได้รับอนุญาตให้มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม แม้เธอจะได้รับการรับรองเป็นผู้สมัครอย่างเป็นทางการ ชื่อของเธอกลับไม่ปรากฏบนบัตรเลือกตั้ง ปัจจุบันลูเจนอาศัยอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเธอยังคงต่อสู้เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับเพื่อนร่วมชาติชาวซาอุดีอาระเบีย อนาคตที่ผู้หญิงจะได้มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในฐานะพลเมืองเต็มตัวของประเทศ

แนวคิดเฟมินิสม์กับสิทธิผู้หญิง

เมื่อพูดถึงสิทธิผู้หญิง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเฟนินิสม์จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยใจความสำคัญของแนวคิดเฟมินิสม์ก็คือ ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แนวคิดเฟนินิสม์มุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้หญิงสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างสมบูรณ์เท่าเทียมกับผู้ชาย

แนวคิดเฟมินิสม์ที่ทับซ้อน

แนวคิดเฟมินิสม์ที่ทับซ้อน คือ แนวความคิดที่มองว่าสาเหตุที่คนๆ หนึ่งอาจถูกเลือกปฏิบัตินั้นไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่อาจถูกเลือกปฏิบัติได้ด้วยหลายสาเหตุที่ทับซ้อนกันและเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุด้านเชื้อชาติ เพศ รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความพิการ และสาเหตุอื่นๆ วิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดนี้ คือ การมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เช่น กรณีศึกษาในโดมินิกา งานวิจัยของเราพบว่าพนักงานบริการทางเพศผู้หญิง ซึ่งมักเป็นผู้หญิงผิวสีหรือผู้หญิงข้ามเพศหรือทั้งสองอย่างต้องเผชิญกับการถูกทรมานและการถูกปฏิบัติอย่างรุนแรงจากตำรวจ

สิทธิผู้หญิงถูกละเมิดได้อย่างไร?

ความเหลื่อมล้ำทางเพศ

ความเหลื่อมล้ำทางเพศอาจรวมถึงสิ่งต่อไปนี้:

ความรุนแรงจากเพศสภาพ

ความรุนแรงจากเพศสภาพ คือ การกระทำที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอันเนื่องจากรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ หรือลักษณะทางเพศของพวกเขา ความรุนแรงจากเพศสภาพนี้มักเกิดกับผู้หญิงและเด็กหญิงอย่างเกินสัดส่วน

ผู้หญิงและเด็กหญิงในพื้นที่ขัดแย้งมักตกอยู่ในความเสี่ยงจากความรุนแรงมากเป็นพิเศษ และในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความรุนแรงทางเพศยังถูกใช้เป็นอาวุธสงครามด้วย ตัวอย่างเช่น เราได้บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับจำนวนผู้หญิงที่หลบหนีจากการโจมตีของกลุ่มโบโกฮารัมในไนจีเรีย ต้องเผชิญกับความรุนแรงทางเพศและการข่มขืนโดยทหารไนจีเรีย

จากจำนวนผู้หญิงทั่วโลกที่เคยมีความสัมพันธ์ มีผู้หญิงจำนวน 30% ที่เคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกายและ/หรือทางเพศจากคู่ของตนนอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า รวมถึงการข่มขืน และมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะตกเป็นเหยื่อของ “อาชญากรรมเพื่อศักดิ์ศรี

ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงจากเพศสภาพ แม้กระทั่งในกรณีของความรุนแรงภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นหลังประตูที่ปิดตายนั้นด้วย

ความรุนแรงทางเพศและการคุกคามทางเพศ

การคุกคามทางเพศ หมายถึง พฤติกรรมทางเพศใดๆ ที่ไม่เป็นที่ยินยอมของอีกฝ่าย ซึ่งอาจรวมถึงการแตะต้องร่างกายหรือการเข้ามาใกล้ชิดเกินควร การเรียกร้องหรือขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย หรือการใช้ถ้อยคำทางเพศที่ไม่เหมาะสม

ความรุนแรงทางเพศ คือ การที่มีคนถูกคุกคามทางเพศโดยการใช้กำลัง แม้ว่าผู้ชายและเด็กผู้ชายก็อาจตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศได้ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสคือผู้หญิงและเด็กหญิง

การเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน

ผู้หญิงมักถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานอันเนื่องจากเพศสภาพ หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง แม้ว่าการได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับการทำงานเดียวกันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แต่ผู้หญิงมักจะไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและเท่าเทียมอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่นานมานี้ มีตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงได้รับค่าจ้างเฉลี่ยเพียงประมาณ 77% ของค่าจ้างที่ผู้ชายได้รับจากการทำงานเดียวกัน การเลือกปฏิบัตินี้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการเงินตลอดชั่วชีวิตของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้เต็มที่ และเสี่ยงต่อความยากจนสูงยิ่งขึ้นในภายหลัง

การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ

ในหลายประเทศทั่วโลก สิทธิของผู้หญิงยังคงถูกปฏิเสธ เพียงเพราะสาเหตุจากรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ หรือลักษณะทางเพศ โดยผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ อินเตอร์เซ็กส์ รวมถึงผู้ที่ไม่ยึดตามกรอบเพศสภาพแบบดั้งเดิม ต้องประสบกับความรุนแรง การถูกกีดกัน การคุกคามและการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ หลายคนยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงขั้นร้ายแรง ซึ่งรวมถึงความรุนแรงทางเพศ หรือสิ่งที่เรียกว่า “การข่มขืนเพื่อแก้ไขพฤติกรรม” และ “การฆ่าเพื่อศักดิ์ศรี”

การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงยังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในอัฟกานิสถาน ผู้หญิงและเด้กหญิงต้องเผชิญกับการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรูปแบบของการประหัตประหารอันเนื่องจากเพศสภาพอยู่แล้ว กลุ่มตาลีบันยังจำกัดสิทธิเพิ่มเติมที่ส่งผลให้ผู้หญิงถูกจำกัดเสรีภาพในทุกมิติของชีวิตพวกเธอิีกด้วย มีหลายคนถูกจับกุมเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายที่กำหนดไว้ และมีรายงานเกี่ยวกับการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศในรูปแบบอื่นๆ ต่อผู้หญิงและเด็กหญิงที่ถูกควบคุมตัว ระดับของความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลุ่มสิทธิผู้หญิงรายงานว่ามีผู้หญิงและเด็กหญิงมากกว่า 300 คนถูกสังหารในปีที่ผ่านมา

ในหลายประเทศ รัฐบาลล้มเหลวในการดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาอัตราการข่มขืน การล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศ รวมถึงความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กหญิง ในเกาหลีใต้ การเพิ่มขึ้นของภาพและวิดีโอปลอมที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีดีพเฟก (deepfake) โดยไม่ได้รับความยินยอม ถือได้ว่าเป็น “ภาวะฉุกเฉินระดับชาติ” ในมัลดีฟส์ รัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตามสนธิสัญญาสหประชาชาติในการบัญญัติให้การขริบอวัยวะเพศหญิงและความรุนแรงในครอบครัวเป็นความผิดอาญาโดยเฉพาะเจาะจง

ในอินเดีย การข่มขืนและสังหารแพทย์ฝึกหัดในสถานที่ทำงาน ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ การเลือกปฏิบัติตามระบบวรรณะในอินเดียยังคงเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ต่อผู้หญิงดาลิตอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงคนหนึ่งถูกเผาทั้งเป็นหลังจากที่เธอแจ้งความว่าถูกคุกคามทางเพศในรัฐมัธยประเทศ การลอยนวลพ้นผิดของผู้กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงชาวดาลิตยังคงเกิดขึ้นในเนปาลเช่นกัน

สิทธิผู้หญิงกับกฎหมายระหว่างประเทศ

อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ (The Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women 1979 – CEDAW) เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญ ซึ่งพูดถึงการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้หญิงอย่างเฉพาะเจาะจง

อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ยังถือเป็นคำประกาศสิทธิของผู้หญิงและเด็กหญิงในระดับนานาชาติ และกำหนดพันธกรณีของรัฐที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง

ปัจจุบัน อนุสัญญาฯ ฉบับนี้มีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วกว่า 180 ประเทศ

ทำไมการยืนหยัดเพื่อสิทธิผู้หญิงจึงเป็นเรื่องสำคัญ?

สิทธิผู้หญิง คือ สิทธิมนุษยชน

แม้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่เราจะไม่สามารถมีสังคมที่มีเสรีภาพและความเท่าเทียมได้เลยจนกว่าทุกๆ คนจะมีเสรีภาพและความเท่าเทียม หากผู้หญิงยังไม่ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ชาย ความเหลื่อมล้ำนี้ก็จะยังเป็นปัญหาของคนทุกคน

การคุ้มครองสิทธิผู้หญิงทำให้โลกนี้ดีขึ้น

สหประชาชาติกล่าวว่า “ความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างพลังอำนาจให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงไม่ได้เป็นเพียงแค่เป้าหมายในตัวเอง แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ความเจริญและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสันติภาพและความมั่นคง”

งานวิจัยจำนวนมากได้แสดงให้เห็นความจริงที่ว่า สังคมสำหรับทุกคนจะดีขึ้นได้นั้นก็ต่อเมื่อสิทธิผู้หญิงได้รับการปกป้องและเคารพอย่างจริงจัง

เราจะเข้มแข็งมากขึ้นถ้าร่วมมือกัน

แม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้าจะทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แล้วก็ตาม แต่ถ้าเราทุกคนร่วมกันสนับสนุนสิทธิผู้หญิง เราก็จะมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยร่วมกันทำงานกับนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวภาคสนาม ตลอดจนการรณรงค์ ขบวนการสิทธิอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเองก็สามารถเป็นหนึ่งในแนวหน้าในการต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงได้

กรุงมาดริด ประเทศสเปน – 22 มิถุนายน 2561: ผู้ชุมนุมประท้วงออกมาชุมนุมนอกกระทรวงยุติธรรม เพื่อคัดค้านการปล่อยตัวสมาชิกกลุ่ม “ลา มานาดา” (La Manada หรือ “ฝูงหมาป่า”) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ศาลสูงแห่งนาวาร์ราได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวพวกเขาชั่วคราวโดยมีการประกันตัว หลังจากถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาเกือบสองปี สมาชิกกลุ่มดังกล่าวถูกกล่าวหาว่ารุมทำร้ายหญิงสาววัย 18 ปีในเมืองปัมโปลนาระหว่างเทศกาลซานเฟร์มินในปี 2559 กลุ่มนักสตรีนิยมและองค์กรสิทธิผู้หญิงได้ออกมาเรียกร้องให้มีการประท้วงทั่วประเทศสเปน (ภาพถ่ายโดย Pablo Blazquez Dominguez / Getty Images)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลในประเด็นเรื่องสิทธิผู้หญิงให้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลในประเด็นเรื่องสิทธิผู้หญิงให้

  • สร้างพื้นที่ให้มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังกับองค์กรภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิง ในกระบวนการจัดทำนโยบาย การดำเนินงานและการติดตามผลให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ
  • รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่ครอบคลุมเพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศต่อผู้หญิงและเด็กหญิง รวมถึงการจัดการกับต้นตอของการเลือกปฏิบัติที่ทับซ้อน การประกันให้ผู้รอดชีวิตสามารถเขา้ถึงกระบวนการยุติธรรม มาตรการการคุ้มครองและการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ และยุติการลอยนวลพ้นผิดของผู้กระทำความผิด 
  • ดำเนินการผ่านการปรับปรุงกฎหมาย นโยบายทางสังคมและแผนงานด้านการศึกษา เพื่อขจัดอคติที่เกี่ยวโยงกับเพศและอัตลักษณ์ทับซ้อนอื่นๆ ขจัดบรรทัดฐานทางสังคมในเชิงลบและทัศนคติที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เด็กหญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ปกป้องเสรีภาพการแสดงออก

สิทธิของบุคคลทุกคนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิในระดับสากลที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

สนับสนุนความเท่าเทียม

เราทุกคนต้องได้รับการปกป้องจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการแสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศและเพศวิธี ภายใต้หลักการด้านสิทธิมนุษยชน