สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์

ภาพรวม

 

การรัฐประหารโดยทหารในปี 2557 คือจุดเริ่มต้นในความพยายามที่ยาวนานของทางการไทย ในการปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักข่าว และนักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงในโลกออนไลน์ หลายคนหวังว่าการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 จะสิ้นสุดการปราบปรามซึ่งมีเป้าหมายเป็นบุคคลที่วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกออนไลน์รวมถึงใครก็ตามที่มีแนวคิดต่างจากสิ่งที่รัฐบาลยอมรับ แต่ช่วงเวลาหนึ่งปีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศไทยกลับไม่แสดงสัญญาณว่าจะผ่อนปรนข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ แทนที่รัฐบาลจะยกเลิกวิธีการเอาผิดกับเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทางการไทย รัฐบาลกลับดำเนินคดีกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์อย่างสงบทั้งยังคุกคามและข่มขู่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

 

นับตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ทางการไทยยังคงดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่เล็งเห็นข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานของรัฐบาล ไม่ว่าพวกเขาจะวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ ทหาร หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งประเทศไทย บุคคลที่ตรวจสอบกิจกรรมของหน่วยงานรัฐเหล่านี้และเรียกร้องความยุติธรรมต้องเผชิญกับโทษจำคุกและค่าปรับมูลค่าสูง ในหลายกรณีรัฐบาลพุ่งเป้าฟ้องร้องคดีอาญากับบุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อส่งข้อความไปยังผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอื่นว่าทางการไทยไม่อดกลั้นต่อความเห็นต่าง กลยุทธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว รวมถึงเพื่อยับยั้งการโพสต์และแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของรัฐบาลที่รัฐถือเป็น “ข้อมูลเท็จ” 

a5c23ac68bf824fcb22667e01dc56ca6d5f40e9f.jpg

 

หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งถือว่ารัฐบาลเพิ่มข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบอย่างมีนัยยะสำคัญ ทางการไทยใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ทันทีเพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการเซ็นเซอร์เนื้อหาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่ถือว่าเป็น "เท็จ" หรืออาจก่อให้เกิดความตระหนกในหมู่ประชาชน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลยุติการฟ้องร้องบุคคลด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ตัวเลขที่ลดลงนี้ไม่ได้ขัดขวางรัฐบาลจากการสกัดกั้นการแสดงออกออนไลน์ที่รัฐมองว่าสร้างความเสียหายแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านกฎหมายอื่นที่มี ข้อความไม่ชัดเจน บทบัญญัติที่คลุมเครือในกฎหมายที่มีปัญหาหลายฉบับยังคงเปิดช่องว่างให้รัฐบาลข่มขู่บุคคลที่วิจารณ์การทำงานของรัฐ เช่น พระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) และมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (การยุยงปลุกปั่น) 

 

นอกจากนี้ทางการไทยยังกำหนดให้การหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา และเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้เจ้าหน้าที่สกัดกั้นความเห็นต่าง การฟ้องร้องดำเนินคดีโดยรัฐบาลตั้งแต่เดือนมีนาคม2562 ชี้ให้เห็นแนวโน้มการควบคุมพื้นที่ออนไลน์มากขึ้นเพื่อยับยั้งการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ความพยายามกำหนดรูปแบบการพูดคุยบนสื่อโซเชียลผ่านการข่มขู่และคุกคาม ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามใช้วิธีใหม่เพื่อจำกัดการแสดงออกบนโลกออนไลน์ซึ่งแลดูเป็นวิธีที่สร้างข้อจำกัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ยับยั้ง การวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนต่อวิธีการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลด้วย

 

ในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีการเปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ซึ่งเพิ่มความกังวลว่ารัฐบาลเชื่อว่าหน่วยงานของตนเป็นผู้ควบคุมมาตรฐานการต่อสู้กับ "ข่าวปลอม" บนสื่อออนไลน์ แม้ว่าหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ฯ ดำเนินงานเพื่อหยุดการแพร่กระจาย "ข้อมูลเท็จ" ในประเด็นสำคัญบางประเด็น แต่ไม่ได้ดำเนินงานเพื่อรับมือต่อการระบาดของโควิด-19 เจ้าหน้าที่กลับไม่ดำเนินการช่วยเหลือตามข้อร้องเรียนของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายของวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง และการรณรงค์ออนไลน์ด้วยข้อมูลเท็จ แม้รัฐบาลจะพยายามทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยขึ้น แต่กลับไม่ครอบคลุมไปยังผู้ที่มีความเห็นต่าง

ปัญหา

107484140_2709153362687067_7778398889806467415_o.jpg

การใช้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพ (Repressive Legislation)

เจ้าหน้าที่รัฐได้บังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีความกับนักสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไปที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก นอกจากนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐยังได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อขัดขวาง ปิดกั้นและควบคุมกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เช่น การใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีกับใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้ง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ที่ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็เป็นกฎหมายที่อาจอนุญาตให้รัฐบาลสามารถเข้าค้นและยึดข้อมูลและอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ในกรณีที่อาจตีความว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ทำให้รัฐสามารถตรวจสอบการใช้อินเตอร์เน็ตและเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เช่น การสื่อสารระหว่างบุคคลโดยปราศจากหมายศาล

การสอดส่องและการคุกคามบนพื้นที่ออนไลน์ (Surveillance and Online Harassment)

 

ในช่วงปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐมีความพยายามสอดแนมคนทำงานในภาคประชาสังคม บุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่จับตามองของประชาชนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งมีมาในรูปแบบของการส่งคำขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก การส่งลิ้งค์ที่นำไปสู่เว็บไซด์ที่ปลอมแปลงขึ้นเพื่อล่อลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัว (phishing link) อีกทั้งปฏิบัติการสารสนเทศจากฝ่ายรัฐ (Information Operation – IO) ในปลายปี 2561 รัฐบาลได้เปิดเผยแผนการผลักดัน “ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก” ในลักษณะการรับมือแบบสงครามไซเบอร์ ซึ่งกองกำลังไซเบอร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสอดส่องสื่อสังคมออนไลน์และการสื่อสารออนไลน์ของคนทำงานภาคประชาสังคมเพื่อระบุตัวผู้ต่อต้านรัฐบาล และมีความเป็นไปได้ที่กองทัพไซเบอร์นั้นจงใจปล่อยข่าวปลอมเพื่อคุกคามนักสิทธิมนุษยชนทางโซเชียลมีเดียหรือแม้กระทั่งดำเนินคดีกับประชาชนทั่วไปที่พยายามแสดงถึงเสรีภาพในการแสดงออก

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ระบุว่ารัฐพุ่งเป้าหมายควบคุมข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลออนไลน์ผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่คลุมเครือและจำกัดสิทธิ ปราบปรามเนื้อหาที่ชอบธรรม ช่วงเวลาเกือบทศวรรษภายใต้รัฐบาลทหาร พร้อมทั้งความถดถอยของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในรัฐนั้น วิธีการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลยังชี้ให้เห็นว่ามีแนวโน้มจะกระชับข้อจำกัดให้เข้มงวดขึ้น

สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไม่ได้มีเพียงในกรณีที่ข้อมูลหรือความคิดเห็นมีความสอดคล้องกับผู้รับสาร หรือปราศจากเนื้อหาที่ทำให้ผู้รับสารไม่พอใจ หรือเป็นการไม่แสดงความเห็น แต่ยังรวมถึงข้อมูลหรือความ คิดเห็นที่ไม่เห็นพ้อง หรือกระทบกระทั่ง หรือทำให้รัฐหรือประชาชนกลุ่มใดไม่พอใจ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในฐานะหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้กล่าวว่า “มาตรการที่จำกัดสิทธิต้องสอดคล้องกับหลักการความได้สัดส่วน มาตรการเหล่านี้ต้องมีความเหมาะสมในการบรรลุหน้าที่คุ้มครอง มาตรการเหล่านี้ต้องเป็นเครื่องมือที่ล่วงล้ำสิทธิมนุษยชนน้อยที่สุดจากมาตรการทั้งหมดเพื่อบรรลุหน้าที่คุ้มครอง มาตรการเหล่านี้ต้องได้สัดส่วนกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการคุ้มครอง”  

แอมเนสตี้เรียกร้องอะไร

รัฐบาลต้องยุติการดำเนินการแก้ไขพัฒนาการที่ถดถอยเหล่านี้ได้ทันที ที่สำคัญคือยุติการใช้กฎหมายอาญาต่อบุคคลที่วิจารณ์รัฐบาลอย่างสงบ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และมาตรา 112, 116 และ 326 ถึง 333 แห่งประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมทั้งแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่จำกัดการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์อย่างสันติ รัฐบาลควรยุติการดำเนินคดีอาญากับผู้วิจารณ์เหล่านี้ทันที นอกจากนั้นหากรัฐบาลมีความตั้งใจจะยับยั้งการเผยแพร่ "ข่าวปลอม" รัฐควรจ้างหน่วยงานภายนอกที่น่าเชื่อถือและเป็นอิสระเพื่อตรวจสอบเนื้อหาออนไลน์รวมถึงยุติบทบาทของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ไปที่ : ฮาวทู - มีเสรีภาพอย่างปลอดภัยในโลกออนไลน์

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดตั้งหน่วยงานเพื่อปฏิรูปการดำเนินงานให้หลายด้าน ในฐานะรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เราเน้นย้ำว่าประเทศไทยมีพันธกรณีระหว่างประเทศในการเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก รวมถึงการแสดงออกออนไลน์ รัฐบาลต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อรับประกันว่าปฏิบัติตามพันธกรณี ตามข้อเสนอแนะดังนี้

  • เคารพ ปกป้อง ส่งเสริม และเติมเต็มสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแสดงออกออนไลน์
  • ยุติกระบวนการทางอาญาทั้งหมดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักข่าว นักการเมือง และ บุคคลอื่น ผู้ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกอย่างสงบ พร้อมทั้งปล่อยตัว บุคคลที่ถูกควบคุมตัวทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
  • ยุติการฟ้องร้องคดีทางอาญาต่อบุคคลใดเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์
  • ยุติการมีส่วนร่วมของกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมในศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและในการดำเนินงานตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยงานภายนอกที่เป็นกลาง ถ่วงดุล และเป็นอิสระ เพื่อตรวจสอบกรณีร้องเรียนข้อเท็จจริงใดที่อาจก่อให้เกิดอันตราย
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและส่งเสริมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตให้ใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ รวมถึงสิทธิใน เสรีภาพการแสดงออก โดยปราศจากการข่มขู่ คุกคาม จับกุม หรือดำเนินคดี