นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ภาพรวม
"นักปกป้องสิทธิมนุษยชน" ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าพวกเขาทำงานเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งของตัวเองและผู้อื่น พวกเขาคือฟันเฟืองสำคัญของทุกสังคมเพราะช่วยให้สังคมสงบสุข เข้มแข็ง และเท่าเทียมกันมากขึ้น แต่ปัจจุบัน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและทั่วโลกกลับกำลังถูกปิดกั้นเสรีภาพและคุกคามอย่างหนักจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่เสียผลประโยชน์ หลายคนถูกแจ้งข้อหาอย่างไม่ยุติธรรม และอีกหลายคนถูกอำนาจมืดอุ้มหายหรือสังหาร การณรงค์เพื่อเรียกร้องให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารทำงานได้อย่างปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอื่นๆ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือใคร?
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นใครก็ได้ ตั้งแต่นักข่าว ทนายความ อาจารย์ นักกิจกรรม ผู้นำชุมชน ไปจนถึงชาวไร่ชาวนาและคนธรรมดาทั่วไปที่กล้าลุกขึ้นมาทำเพื่อส่วนรวม แต่ตามคำนิยามของสหประชาชาติ (UN) พวกเขาคือคนที่ทำงานหรือเคลื่อนไหวในลักษณะต่อไปนี้:
- เป็นตัวแทนแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนให้กลุ่มคน
- ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ไปจนถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
- รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- เคลื่อนไหวเพื่อให้ผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกลงโทษตามกฎหมาย
- ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
- ช่วยพัฒนานโยบายรัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
- สนับสนุนให้ภาครัฐปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
- ให้ความรู้หรือจัดอบรมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนสำคัญๆ ของไทย เช่น ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายจูน-ศิริกาญจน์ เจริญศิริ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เป็นต้น

ปัญหาคืออะไร?
การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายครั้งจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือทำให้ผู้มีอำนาจจากการกดขี่ประชาชนเสียผลประโยชน์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงถูกข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกาย ใส่ร้าย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี กักขังหน่วงเหนี่ยว ไปจนถึงถูกทรมานหรือแม้กระทั่งถูกสังหาร
การสังหาร เบรตา คาเซเรส ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมขื่อดังชาวฮอนดูรัสเมื่อปี 2559 โดยไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกกำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรง หรือใกล้ตัวเข้ามาคือการหายตัวไปอย่างลึกลับของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อปี 2547 ซึ่งคาดว่าถูกอุ้มหายหลังรับว่าความในคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตำรวจ หรือล่าสุดคือกรณีของ ทนายจูน-ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ที่ถูกทางการฟ้องหลายข้อหา เพียงเพราะเธอเป็นทนายความให้กับกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาประท้วงรัฐบาลทหาร
นอกจากนี้ กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศยังสอดแนมการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างใกล้ชิด ไปจนถึงปล่อยข่าวปลอมเพื่อพยายามทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของพวกเขาด้วย
แอมเนสตี้เรียกร้องอะไร?
แม้ว่าการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นทุกวัน แต่มาตราการปกป้องคุ้มครองพวกเขายังมีความบกพร่องอีกมาก แอมเนสตี้จึงรณรงค์เพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยต้องการให้
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถทำงานได้อย่างอิสระ ไม่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือคุกคามทุกรูปแบบ
- สังคมรู้จักและเข้าใจงานของนักปกป้องมนุษยชนมากขึ้น
- เปลี่ยนแปลง ยกเลิก หรืออุดช่องโหว่กฎหมายต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อกลั่นแกล้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกจับหรือกักขังจากการทำงานของพวกเขาได้รับการปล่อยตัว
- การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทุกฝ่ายในสังคม
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นหญิงและเยาวชนมีพื้นที่ในการทำงานมากขึ้น
281
จำนวนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารทั่วโลกในปี 2559
68
จำนวนประเทศที่มีการจับกุมหรือคุมขังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
59
จำนวนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยที่ถูกสังหารหรืออุ้มหายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา