สิทธิมนุษยชนศึกษา

ภาพรวม

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการเลิกทาสเมื่อปี 2448 ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย 

แต่ปัจจุบัน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงฝังรากลึก คนไทยจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิทั้งของตนเองและผู้อื่น ประกอบกับระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันไม่ได้ให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชนมากนัก แอมเนสตี้จึงจัดทำห้องเรียนสิทธิมนุษยชนฟรีๆ ให้กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศตลอดทั้งปี ตลอดจนเรียกร้องให้บรรจุสิทธิมนุษยชนศึกษาลงไปในบทเรียนมากขึ้นด้วย

แอมเนสตี้เริ่มทำสิทธิมนุษยชนศึกษาในประเทศไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเน้นไปที่นักเรียนนักศึกษาตั้งแต่มัธยมต้นไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน มีสถานศึกษาต่างๆ ทั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่นๆ ให้ความร่วมมือแล้วมากกว่า 40 แห่ง โดย 11 แห่งในนั้นมี "คลับแอมเนสตี้" ซึ่งกลายเป็นแหล่งที่คนรุ่นใหม่ที่สนใจสิทธิมนุษยชนมารวมตัวและทำกิจกรรมสร้างสรรค์ๆ ร่วมกัน

สิทธิมนุษยชนศึกษาคืออะไร?

"สิทธิมนุษยชนศึกษา" คือ กระบวนการเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการสิทธิมนุษยชน โดยยึดตาม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหรือ UDHR ตลอดจนกฎกติกาและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเป็นสำคัญ ผู้เข้าร่วมจะสามารถเข้าใจบริบทและปัญหาในสังคมได้กระจ่างมากขึ้นผ่านมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน 

สิทธิมนุษยชนศึกษายังรวมถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสังคม การถ่ายทอดประสบการณ์และฝึกฝนทักษะใหม่ๆ ให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวมในประเด็นที่แต่ละคนสนใจได้ต่อไป

ในหลายประเทศ สิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพ รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นรากฐานของสังคมที่ยุติธรรมและเท่าเทียม นั่นเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมเราจึงนำสิทธิมนุษยชนศึกษาเข้ามาทำกับเยาวชนไทย 

ผู้เข้าร่วมได้อะไรจากสิทธิมนุษยชนศึกษา?

 

  • ได้ฝึกคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม และระบุต้นตอของการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • ได้ตระหนักและเข้าใจแง่มุมทางสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น
  • ได้ฝึกคิดหาทางสร้างสังคมที่ปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยุติธรรม และเท่าเทียม 
  • ได้เสริมสร้างศักยภาพและยึดมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ทั้งของตนเองและผู้อื่น
  • ได้ลงมือทำจริงในการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่ตัวเองสนใจ

แอมเนสตี้ทำอะไรบ้าง?

แอมเนสตี้มีฝ่ายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาโดยเฉพาะ เรารวบรวมข้อมูล ผลิตเนื้อหา พัฒนาเครื่องมือ รวมถึงออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้ที่สนใจกลุ่มต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษา

เรามีสื่อการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ที่ฟรีและเข้าถึงง่าย สำหรับในประเทศไทย โดยนอกจากการเดินทางไปยังห้องเรียนต่างๆ ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว เรายังจัดงานฉายหนัง เสวนา ฝึกอบรม ไปจนถึงนิทรรศการ เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นรุ่นใหม่สนใจสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ก็กำลังเร่งดำเนินการพัฒนายุทธศาสตร์สิทธิมนุษยชนเพื่อผลักดันในระดับนโยบายต่อไปในอนาคตด้วย

คุณสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง?

  • บริจาคสนับสนุนการทำงานของเรา
  • เป็นอาสาสมัครให้เรา

 

ห้องเรียนสิทธิออนไลน์

40+

จำนวนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ร่วมมือกับแอมเนสตี้ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษา

11

จำนวน "คลับแอมเนสตี้" ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

15-22 ปี

ช่วงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการทำสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้