Photo - AFP/Getty Image

เมียนมา: ผลจากการปราบปรามอย่างหนักก่อนการเลือกตั้ง
เป็นเหตุให้มีการคุมขังนักโทษทางความคิดเกือบ 100 คน

12 ตุลาคม 2558

 

ทางการเมียนมาได้จับกุมและคุกคามนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างสันติ โดยเป็นการเร่งปราบปรามอย่างหนักและกว้างขวางก่อนการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในการเปิดตัวโครงการรณรงค์ใหม่เพื่อให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิดในวันนี้

 

ในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรื่อง ‘Back to the old ways’ (ย้อนกลับไปในวิถีเก่า) เผยให้เห็นรูปแบบการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งตรงข้ามกับข้ออ้างของทางการว่าในปัจจุบันไม่มีผู้ใช้สิทธิอย่างสงบถูกคุมขังในเรือนจำแม้แต่แห่งเดียวในเมียนมา

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ายังคงมีนักโทษทางความคิดอีกอย่างน้อย 91 คนที่ถูกคุมขังในเมียนมา แม้ว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นตัวเลขจำนวนนักโทษทางความคิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมากภายหลังการใช้อำนาจประธานาธิบดีเพื่ออภัยโทษนักโทษในช่วงสิ้นปี 2556 ซึ่งในขณะนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่ามีจำนวนนักโทษทางความคิดเพียงสองคน

 

“รัฐบาลเมียนมาพยายามสร้างภาพให้เห็นหนทางของสิทธิมนุษยชนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในขณะที่ประชาคมนานาชาติก็ยอมรับภาพลักษณ์เหล่านี้เร็วเกินไป แต่สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริงต่างไปอย่างมาก โดยทางการได้เพิ่มการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในช่วงปีที่ผ่านมา” ลอรา เฮย์ (Laura Haigh) นักวิจัยประจำประเทศเมียนมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

 

“สถิติเหล่านี้บอกได้เป็นอย่างดี เราเชื่อว่าในปัจจุบันยังคงมีนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างสันติอีกเกือบ 100 คนที่ถูกควบคุมตัว และอีกหลายร้อยคนถูกแจ้งข้อกล่าวหา ประธานาธิบดีเต็งเส่งต้องปล่อยตัวนักโทษทางความคิดเหล่านี้โดยทันที และยุติการปราบปรามอันนำไปสู่การจับกุมบุคคลโดยพลการ”

 

การปราบปรามครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลากหลายกลุ่มที่ทางการมองว่าเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทนายความ นักกิจกรรมที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล นักศึกษา นักสหภาพแรงงาน และผู้สื่อข่าว

 

รายงานโดยย่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษทางความคิดเจ็ดกรณีซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในเมียนมา รวมทั้งกรณีของเพียวเพียวอ่อง (Phyoe Phyoe Aung) ผู้นำนักศึกษาที่อาจต้องโทษจำคุกเก้าปีเนื่องจากจัดการประท้วงในช่วงต้นปี 2558 เพื่อต่อต้านกฎหมายใหม่ซึ่งจำกัดเสรีภาพด้านวิชาการ และซอวิน (Zaw Win) ทนายความซึ่งปัจจุบันถูกควบคุมตัวเพียงเพราะใช้โทรโข่งประกาศเรียกร้องให้ยุติการทุจริตในแวดวงตุลาการ ระหว่างการชุมนุมนอกศาลในภูมิภาคมัณฑะเลย์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลการปราบปรามที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมา ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 โดยนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างสันติมักถูกตั้งข้อหาและไม่ได้รับการประกันตัว ถูกควบคุมตัวชั่วคราวเป็นระยะเวลายาวนาน และมีแนวโน้มการตัดสินโทษโทษจำคุกเป็นเวลานานขึ้น

 

“ทางการเมียนมากำลังเล่นเกมระยะยาวก่อนจะมีการเลือกตั้ง โดยเพิ่มการปราบปรามในช่วงเวลาอย่างน้อยเก้าเดือนก่อนช่วงเริ่มรณรงค์หาเสียงในเดือนกันยายน เป้าหมายของทางการนั้นตรงไปตรงมาคือเพื่อขจัดเสียง “ที่ไม่พึงประสงค์” ให้พ้นจากท้องถนนก่อนที่การเลือกตั้งจะเริ่มขึ้น และเพื่อให้คนอื่นไม่ได้ยินเสียงของพวกเขา” ลอรา เฮย์กล่าว

 

เมียนมาใช้กฎหมายที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางหลายฉบับเพื่อจับกุมและคุมขังผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กฎหมายเหล่านี้มีข้อบทห้ามการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ “รบกวนความสงบเรียบร้อยของรัฐ” และ “สร้างความกระทบกระเทือนความรู้สึกด้านศาสนา”

 

บรรยากาศความกลัวยังเข้มข้นยิ่งขึ้นโดยเป็นผลมาจากการคุกคามรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการสอดส่องและคุกคามอย่างกว้างขวาง โดยนักกิจกรรมต่างตกเป็นเป้าการติดตามของทางการ มีการส่งคนประกบติดตามตัว มีการถ่ายรูประหว่างการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มีการขอ “เข้าตรวจค้น” สำนักงานและบ้านพักในช่วงเที่ยงคืน และยังมีการข่มขู่สมาชิกในครอบครัว

 

นักโทษทางความคิดหลายคนในเมียนมาเคยติดคุกช่วงสั้น ๆ มาแล้วหลายครั้งและมักถูกจับกุมซ้ำ และต้องรับโทษจำคุกใหม่ไม่นานหลังได้รับการปล่อยตัว ทำให้เกิดสภาพของ “การปราบปรามอย่างต่อเนื่องเหมือนประตูหมุน”

 

หนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไขและโดยทันที ให้ถอนฟ้องคดีต่อบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ และให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

ทางองค์กรยังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศซึ่งที่ผ่านมามีแนวโน้มจะผ่อนคลายแรงกดดันต่อเมียนมาในช่วงสองปีที่ผ่านมา ให้เพิ่มแรงกดดันเพื่อให้ประธานาธิบดีเต็งเส่งปล่อยตัวนักโทษทางความคิดทุกคนในเมียนมา

 

“ผู้นำโลกไม่อาจเชื่อถือเพียงคำพูดของรัฐบาลเมียนมาที่อ้างว่าได้ยุติการปราบปรามไปแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะแสดงออกอย่างชัดเจนต่อทางการเมียนมาว่า การจับกุมและปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสงบเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ นับเป็นโอกาสที่ไม่สมควรถูกละเลย” ลอรา เฮย์กล่าว