แอมเนสตี้ย้ำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบิลลี่ต้องรับโทษ

3 กันยายน 2562

ภาพโดย Thai News Pix 

จากคำแถลงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยืนยันว่า พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้เสียชีวิตลงแล้ว โดยบิลลี่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของบิลลี่ต่อการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และแอมเนสตี้จะยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวจนกว่าทางการไทยจะสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

 

“นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ทางการไทยสามารถนำความคืบหน้าของคดีอาชญากรรมร้ายแรงเช่นนี้มาสู่ครอบครัวของผู้เสียหายและสาธารณชนได้”

 

“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสืบสวนสอบสวนให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำและผู้ส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมครั้งนี้คือใคร และต้องนำบุคคลดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากล”

 

นอกจากนั้น แอมเนสตี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางการไทยจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหายต่อไปด้วย พร้อมย้ำว่า การออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงจากการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายจะนำพาความยุติธรรมมาให้กับผู้เสียหายและครอบครัว และเป็นการประกันถึงความรับผิดของผู้กระทำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ยั่งยืน”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

 

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced  or Involuntary Disappearance -WGEID) ได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2562 ต่อที่ประชุมใหญ่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ระบุจำนวนผู้ถูกบังคับให้สูญหายในไทย 86 คน (เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประมาณเกือบ 40 ราย สถานการณ์ภาคใต้ประมาณ 31 การปราบปรามยาเสพติดในภาคอีสาน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือ ประมาณ 10 กว่าราย ในกรุงเทพฯ มีกรณีสมชาย นีละไพจิตร ทนง โพธิ์อ่าน และผู้สูญหายจากความขัดแย้งทางการเมือง) ซึ่ง ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีผู้ถูกบังคับสูญหายเป็นลำดับ 3 ในอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย