แอมเนสตี้ยื่นรายงาน UN
เสนอไทยยกเลิก ม.44-ผ่าน พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย

16 มีนาคม 2560

 

แอมเนสตี้เสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยไปยังสหประชาชาติ ในโอกาสทบทวนพันธกรณีของไทยต่อ ICCPR ที่เจนีวา แนะยกเลิก ม.44 และเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย เป็นกฎหมาย

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเสนอรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในโอกาสการทบทวนพนธกรณีของไทยต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 13-14 มีนาคม 2560 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

รายงานฉบับนี้ตั้งอยู่บนข้อมูลจากการวิจัยและรวบรวมข้อมูลของแอมเนสตี้ ซึ่งนำมาสู่ข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนหลายประเด็น ได้แก่

 

  • รัฐธรรมนูญและกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ข้อ 2 และ 4)
  • สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ (ข้อ 6)
  • การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐและการปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณ
  • เสรีภาพและความปลอดภัยส่วนบุคคล การควบคุมตัวโดยพลการและการอุ้มหาย (ข้อ 7 และ 9)
  • สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (ข้อ 14)
  • การปฏิบัติต่อคนต่างชาติโดยเฉพาะผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง (ข้อ 12 และ 13)
  • เสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ (ข้อ 19 21 และ 22)

 


จากข้อกังวลในประเด็นต่างๆ ข้างต้น แอมเนสตี้ได้เสนอข้อเสนอแนะต่อทางการไทยผ่านเวทีการทบทวน ICCPR รอบนี้หลายข้อ โดยข้อเสนอแนะที่สำคัญๆ มีดังนี้

 

  • ยกเลิกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 และคำสั่งอื่นๆ ที่จำกัดโดยพลการต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้คุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
  • ยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือยกเลิกเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวโดยพลการและลอยนวลพ้นผิด
  • ให้โอนคดีของพลเรือนทุกคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหารไปยังศาลพลเรือน
  • รับรองว่า “ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย” สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ และอนุสัญญาต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหาย ตลอดจนต้องประกาศใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ว
  • สอบสวนและดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยก่อเหตุทรมานหรืออุ้มหาย โดยให้มีการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมได้มาตรฐานสากลและไม่ใช้โทษประหารชีวิต
  • เยียวยาผู้เสียหายและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการทรมานและการอุ้มหายอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจรวมถึงการชดใช้ บำบัดฟื้นฟู การเยียวยาจิตใจ การพิสูจน์ความจริง และการเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะ
  • รับรองว่าศาลจะไม่รับฟัง “คำรับสารภาพ” หรือคำให้การใดๆ ที่ได้มาจากการทรมาน มีการชะลอการดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยที่ร้องเรียนว่าถูกทรมาน ตลอดจนสั่งพักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุทรมานจนกว่าจะทราบผลการสืบสวน
  • ยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมหรือคุมขังจากการใช้สิทธิมนุษยชนของตนเองอย่างสงบ
  • ไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศอันตราย ออกกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ ตลอดจนรับรองว่าผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงจะมีสถานภาพทางกฎหมายระหว่างอยู่ในประเทศไทย สามารถเข้าถึงการศึกษา ระบบสุขภาพ และหางานทำได้
  • รับรองว่าว่ากฎหมายใหม่ๆ ซึ่งรวมรวมถึงกฎหมายสำหรับกำกับดูแลการเลือกตั้งหรือการลงประชามติในอนาคตจะไม่ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบของประชาชน
  • คุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของประชาชน และแก้ปัญหาการขู่ฆ่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิชุมชน
  • ตรวจสอบภาคธุรกิจอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้การดำเนินธุรกิจใดๆ มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน