ความหลากหลายทางเพศในวัฒนธรรมเอเชีย : 7 ข้อเท็จจริงเพื่องัดข้อในงานรวมญาติรอบต่อไป

22 พฤศจิกายน 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

โดย Doriane Lau นักวิจัยด้านประเทศจีน

เอเชียเป็นหนึ่งในหลายพื้นที่รอบโลกที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศสภาพ และเราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในหลายๆประเทศ แต่เราก็ได้ยินหลายๆคนที่ยังแย้งว่าความหลากหลายทางเพศเป็นแนวคิด “ตะวันตก” หรือขัดต่อ “วัฒนธรรมอันดีงาม” ของชาวเอเชีย วันนี้ เราจึงจะมาตอบคำถามพบได้บ่อยเรื่องความหลากหลายทางเพศกัน

 

  1. แต่รักร่วมเพศมันขัดกับ“วัฒนธรรมอันดีงาม”ของเอเชียนะ

 

ถ้าดูหลายๆประเทศตอนนี้ละก็ คนยอมรับเรื่องรักร่วมเพศเยอะกว่าที่คุณคิดนะ

 

ศาลฮ่องกงและไต้หวันรับรองสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกันแล้ว เหลือรอลุ้นแค่ว่ากฎหมายจะผ่านหรือไม่เท่านั้น ส่วนอินเดียก็ยกเลิกกฎหมายที่ลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ในเพศเดียวกัน หลายๆ จังหวัดในญี่ปุ่นยอมรับคู่สมรสเพศเดียวกันอย่างเท่าเทียมกับคู่สมรสข้ามเพศในหลายๆเรื่อง แม้แต่ไทยเราก็กำลังมีการร่างกฎหมายรับรองการสมรสของคนเพศเดียวกัน

 

“วัฒนธรรมอันดีงาม”, “จารีตประเพณี”, และ “ค่านิยมของสังคม” ไม่ใช่เหตุผลในการละเมิดสิทธิผู้อื่นได้ ต่อให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นด้วย สหประชาชาติก็เคยประกาศไว้แล้วเมื่อปี 2010 ว่า  “เมื่อใดที่วัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชนขัดกัน สิทธิมนุษยชนต้องคงอยู่เสมอไป”

 

  1. คู่รักร่วมเพศมีลูกไม่ได้ อย่างนี้มันก็ผิดธรรมชาติน่ะสิ

 

คู่รักต่างเพศที่ไม่มีลูกก็มีถมไป ไม่ว่าจะไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ เป็นหมัน หรือไม่อยากมีเอง แต่คนกลุ่มนั้นก็ไม่เคยถูกสังคมตีตราว่าผิดธรรมชาติแต่อย่างใด

 

สิทธิมนุษยชนไม่ใช่สิ่งที่จะขาดตอนได้แค่เพราะคนๆ นั้นจะไม่มีลูก กลับกัน มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกได้ว่าจะมีลูกหรือไม่ เมื่อไหร่ หรือกี่คน

 

  1. โดยกฎหมายน่ะ คำว่า “สมรส” มันใช้ได้เฉพาะคู่ที่เป็นผู้หญิงกับผู้ชายนะ

 

แค่เพราะกฎหมายไม่รองรับการแต่งงานในเพศเดียวกัน ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นใบอนุญาตไปเบียดเบียนคนรักเพศเดียวกันได้ กฎหมายระหว่างประเทศระบุชัดเจนถึงการห้ามเลือกปฎิบัติต่อบุคคลเพราะเพศสภาพของคนนั้นๆโดยกฎดังกล่าวไม่ได้พูดถึงการแต่งงานแต่อย่างใด

 

ดังนั้น แค่เพราะประเทศของคุณไม่รับรองการสมรสในเพศเดียวกัน ไม่ได้แปลว่าจะสามารถนำกฎหมายนั้นมาตีความเพื่อกลั่นแกล้งทำร้ายผู้แตกต่างทางเพศได้อยู่ดี

 

  1. รัฐไม่มีสิทธิ์มาก้าวก่ายจารีตของสังคมนะ

 

ขอแสดงความเสียใจ แต่สหประชาชาติได้ตกลงร่วมกันไปแล้วว่าความเสมอภาคในฐานะมนุษย์อยู่เหนือทุกจารีตประเพณี ถ้าการมีอยู่ของประเพณีนั้นๆ ทำให้มีผู้เสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิของบุคคลนั้น รัฐมีหน้าที่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือบุคคลนั้นให้อยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี แม้จะหมายถึงการลบเลือนจารีตประเพณีนั้นๆ ให้หายไปก็ตาม

 

  1. ทำไมต้องปกป้องกลุ่มพิเศษพวกนั้นกว่าคนอื่นๆ เขาด้วย

 

ผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และคนในแต่ละส่วนของสังคมล้วนต้องเผชิญกับปัญหาและการกีดกันที่แตกต่างออกไป ทำให้การปกป้องคนเหล่านั้นต้องใช้วิธีพิเศษที่ทำขึ้นเพื่อปัญหาแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ

 

การศึกษาของเราพบว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศยังเข้าไม่ถึงสิทธิ์อีกมากมายในหลายๆ ประเทศ หรือแม้กระทั่งต้องตกอยู่ในอันตรายๆทุกๆวัน ดังนั้นการมีวิธีเพื่อปกป้องคนเหล่านี้ที่ถูกพัฒนาเพื่อคนกลุ่มนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้รับสิทธิพิเศษ แต่เป็นหนึ่งในกระบวนการเพื่อทำให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้อย่างเท่าเทียม

 

  1. ครอบครัวรักร่วมเพศจะเลี้ยงลูกดีๆได้หรือ

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กๆในครอบครัวรักร่วมเพศไม่เคยมาจากการมีผู้ปกครองเพศเดียวกัน แต่มาจากการที่สังคมชอบกลั่นแกล้งเด็กที่มาจากครอบครัวรักร่วมเพศ

 

โลกของเรามีลักษณะของครอบครัวมากมายหลายชนิด แต่สังคมกลับถือว่าครอบครัวที่มีพ่อเป็นผู้ชายและแม่เป็นผู้หญิงเท่านั้นที่ปกติ ทั้งที่ครอบครัวชนิดอื่นๆเหล่านั้นก็เลี้ยงดูลูกๆของพวกเขาออกมาได้สมบูรณ์เช่นเดียวกัน

 

การศึกษาหลายๆ ครั้งแสดงให้เห็นแล้วว่าครอบครัวรักร่วมเพศไม่ได้มีความเสี่ยงหรืออันตรายต่อเด็กมากไปกว่าครอบครัวต่างเพศแต่อย่างใด ดังนั้น การกีดกันว่าคนกลุ่มหนึ่งไม่ควรจะเป็นผู้ปกครองเด็กแค่เพราะเพศสภาพที่แตกต่างจึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่อันตราย

 

  1. ทำไมบางโรงเรียนถึงสอนเรื่องเพศศึกษาร่วมกับเพศสภาพด้วย

 

การศึกษาเรื่องเพศ เพศสัมพันธ์ การเจริญพันธุ์ และเพศสภาพมีส่วนสำคัญในการทำให้เด็กโตขึ้นมามีสุขภาพกายและจิตที่ดี ซึ่งการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดให้เด็กๆอย่างทั่วถึง การปิดกั้นข้อมูลในเรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่ความไม่เข้าใจที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกและกลั่นแกล้งในโรงเรียน และทำให้เด็กโตขึ้นมามีทัศนคติที่เป็นภัยต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

นอกจากนี้ สหประชาชาติเคยประกาศไว้แล้วให้เพศศึกษาเป็นหนึ่งในหลักสูตรภาคบังคับและสามารถเข้าถึงได้โดยเยาวชนนอกระบบการศึกษาด้วย