17 พฤษภาคม วันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ 

17 พฤษภาคม 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (the International Day against homophobia, transphobia and biphobia)” และเนื่องจากวันนี้เป็นวันสำคัญของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เราจึงขอแนะนำบุคคลทั้ง 5 ต่อไปนี้ให้คุณได้รู้จัก โดยพวกเขาเป็นนักกิจกรรมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสนับสนุน และปกป้องสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ความกล้าหาญของพวกเขาได้สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย

 

0dcc307735f2e64bc0b220ec7f24deb1d8a5c990.jpg

 

อเลสซานดรา (Alessandra) “การเอาชนะความเกลียดกลัวคนข้ามเพศนั้นขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคน”

 

“เราไม่ต้อนรับคนอย่างพวกเธอที่นี่” นี่คือประโยคที่ อเลสซานดรา รามอส มัคเคดา ต้องเจออยู่เสมอ อเลสซานดราเป็นคนข้ามเพศ และเป็นนักกิจกรรมที่สนับสนุนและปกป้องสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในบราซิล ประเทศที่มีสถิติการฆาตกรรมคนข้ามเพศมากที่สุดในโลก โดยองค์กรไม่แสวงหากำไรในบราซิลรายงานว่านับตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม มีคนข้ามเพศถูกฆาตกรรมไปแล้วถึง 64 คน และในปี 2560 มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่คนข้ามเพศชาวบราซิลถูกทรมาน และถูกฆาตกรรมลงบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้คนทั่วโลกตกใจกลัวอย่างมาก โดยผู้กระทำผิดถูกตัดสินให้รับโทษเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อเลสซานดราเป็นสามาชิกของกลุ่ม Transrevolução ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานเพื่อต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และมุ่งแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในบราซิล

 

นอกจากนี้เธอยังเป็นนักแปล และล่ามในหลายภาษา รวมทั้งภาษามือ ซึ่งเธอได้มีส่วนช่วยจัดการประชุมในประเด็นเรื่องคนข้ามเพศผิวสี (National Black Trans Forum) ที่เมืองปอร์ตูอาเลเกร ในปี 2558 ทั้งนี้ อเลสซานดรากล่าวในปี 2560 ว่า “เราต้องเข้าใจว่าการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ ความมีอคติ และความเกลียดชังนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่การเอาชนะการเกลียดกลัวคนข้ามเพศนั้นขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคน" ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคมากมาย แต่อเลสซานดราก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงทัศคติด้านลบเหล่านี้ต่อไป โดยเชื่อว่าคนข้ามเพศในบราซิลจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต

 

6837da6e1a210adf2f8e19abd7f8e5284ac012f6.jpg


ดิโอวิ (Diovi) “ฉันอยากรณรงค์เพื่อช่วยเหลือคนที่ยังต้องปิดบังตัวตนของตัวเอง เหมือนที่ฉันเคยเป็น และบอกกับพวกเขาให้ไม่ต้องปิดบังอีกต่อไป”

 

ดิโอวิ วัย 30 ปี เป็นสมาชิกขององค์กรที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในโตโก และนอกจากปกป้องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศแล้ว องค์กรที่ดิโอวิเป็นสมาชิกยังทำงานเพื่อส่งเสริมเสรีภาพ และสิทธิของผู้หญิงที่ถูกละเลยในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำหนดให้การมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพศเดียวกันนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย องค์กรที่ดิโอวิเป็นสมาชิกนั้นเป็นองค์กรเล็กๆ มีสามาชิกแค่ 30 คน ทำให้การรวมกลุ่มเพื่อพูดคุยกันนั้นเป็นไปได้ยาก ดิโอวิ กล่าวว่า “ตอนแรกมันเป็นแค่การรวมตัวเพื่อพบปะกันระหว่างเพื่อน เพื่อความสบายใจ และเป็นในแบบที่เราเป็น ต่อมา เราได้เรียนรู้ทีละเล็กละน้อยถึงการจัดตั้งองค์กรเพื่อสนับสนุนบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เราจึงคิดว่าเราควรจะทำเหมือนกัน เพื่อที่เราจะได้ปกป้องสิทธิของตัวเอง ได้พูดคุย และได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน”

 

ดิโอวิเปิดเผยถึงเหตุผลที่เข้าร่วมกลุ่มว่า “ฉันรู้สึกโดดเดี่ยว ฉันไม่สามารถยอมรับ หรือแม้กระทั่งพูดถึงตัวตนที่แท้จริงของฉันได้ ฉันต้องซ่อนมันไว้ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งเมื่อฉันเจอกับคนที่เป็นแบบฉัน และมีการพูดคุยถึงความหลากหลายทางเพศ ฉันก็ยังทำเหมือนว่าฉันไม่ได้เป็น” การเข้าร่วมกับองค์กรนี้ได้เปลี่ยนความคิดของดิโอวิ “มันทำให้ฉันรู้สึกมีแรงผลักดัน ฉันอยากรณรงค์เพื่อช่วยเหลือคนที่ยังต้องปิดบังตัวตนของตัวเอง เหมือนที่ฉันเคยเป็น และบอกกับพวกเขาให้ไม่ต้องปิดบังอีกต่อไป เพราะเราเป็นมนุษย์ และเราก็มีสิทธิเหมือนกัน”

 

 

 

1d3891e66f0a4751ff19b0e795710ce9b4666b96.jpg

 

ฮาร์ทโตโย (Hartoyo) “ยิ่งบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือบุคคลทั่วไป ตระหนัก และต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองมากเท่าไหร่ ความยุติธรรมก็ยิ่งใกล้เข้ามามากขึ้นเท่านั้น”

 

หลังจากถูกตำรวจ และฝูงชนที่จังหวัดอาเจะฮ์ข่มเหงเพราะเพศสภาพของเขา ฮาร์ทโตโยได้ผันตัวเองมาเป็นนักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในจังหวัดอาเจะฮ์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ โดยบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในจังหวัดดังกล่าวจะถูกตัดสินให้มีความผิด และถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพศเดียวกันในอาเจะฮ์นั้นผิดกฎหมายตามหลักกฎหมายอิสลามที่มีการประกาศใช้ในปี 2558 ซึ่งผู้ที่กระทำผิดจะถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนต่อหน้าสาธารณชน

 

เรื่องราวของฮาร์ทโตโยเริ่มขึ้นในปี 2550 ตอนที่เขาถูกจับพร้อมกับแฟนของเขา เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ในปี 2560 ว่า “ตำรวจฉี่ใส่หัวผม และทำร้ายร่างกายเราสองคน” หลังจากนั้นฮาร์ทโตโยได้สาบานกับตัวเองว่าต่อไปจะต้องไม่มีใครต้องเจอกับความอับอายอย่างที่เขาต้องเจออีก ทำให้ต่อมาเขาได้จัดตั้งองค์กรชื่อ ซัวระ กิตา (Suara Kita) ซึ่งแปลว่า “เสียงของเรา” ในปี 2552 โดยเป็นองค์กรที่มุ่งทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

แต่การปกป้องสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในจังหวัดอาเจะฮ์นั้นเสี่ยงอันตรายอย่างมาก ตอนที่คู่รักเพศเดียวกันถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนในปี 2560 ซึ่งเป็นครั้งแรกในจังหวัดอาเจะฮ์ที่มีการลงโทษในลักษณะนี้ ฮาร์ทโตโยได้เดินทางไปสนับสนุนพวกเขาด้วยเช่นกัน ฮาร์ทโตโยกล่าวว่า “ผมไปอาเจะฮ์เพื่อที่จะได้เจอกับผู้ที่ถูกเฆี่ยน แต่ผมกลับถูกคนที่นั่นตามล่า ผมต้องย้ายโรงแรมเพื่อความปลอดภัย ก่อนที่ผมจะได้พบกับเหยื่อ และให้กำลังใจพวกเขา”

 

อย่างไรก็ตาม ฮาร์ทโตโยยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานต่อไปถึงแม้ว่าจะต้องเจอกับความเสี่ยงมากมาย ทั้งนี้ ข้อความรณรงค์ของฮาร์ทโตโยสำหรับวันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ ในปีนี้ คือ “ยิ่งบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือบุคคลทั่วไป ตระหนัก และต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองมากเท่าไหร่ ความยุติธรรมก็ยิ่งใกล้เข้ามามากขึ้นเท่านั้น”


8f868e864a8bbd391a69394698257d36ac4f2c10.jpg

 

เจ (J) – “ฉันอยากให้สังคมของเรายอมรับกับความหลากหลาย”

 

เจรู้ว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยนก่อนที่เธอจะรู้จักคำนี้เสียอีก ตอนนี้ในวัย 20 ปลายๆ เธอได้เปิดเผยตัวตนของเธอกับเพื่อนสนิทของเธอแล้ว แต่เธอยังไม่ได้บอกกับทางบ้าน เพราะเธอไม่อยากให้ครอบครัวของเธอและคนรู้จักรู้เรื่องนี้ เหตุผลหลักที่เธอไม่อยากบอกครอบครัวและคนอื่นๆ เป็นเพราะสังคมเกาหลีนั้นเป็นสังคมที่ต่อต้านบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างมาก เจกล่าวว่า “ฉันคิดว่ารัฐบาลเกาหลี และคนในสังคมพยามที่จะลบการมีตัวตนของพวกเราออกไป สื่อพยายามใช้คำว่า ‘Bromance’ (브로맨스) หรือ ‘Girl crush’(걸크러쉬) เมื่อพูดถึงความรักระหว่างเพศเดียวกัน เพราะพวกเขาไม่อยากยอมรับการมีอยู่ของ ‘เกย์’ และ ‘เลสเบี้ยน’ ”

 

สำหรับเจ เธอคิดว่ารัฐบาลสามารถทำให้ชีวิตของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในเกาหลีดีขึ้นได้ “ฉันอยากให้สังคมของเรายอมรับกับความหลากหลาย และในการทำให้มันเกิดขึ้น เราต้องให้ความรู้เกี่ยวกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนในโรงเรียน และการให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป และในการให้ความรู้ เราต้องมี ‘พระราชบัญญัติการห้ามการเลือกปฏิบัติ’ และเราต้องทำให้การสมรสระหว่างเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย” เจ กล่าว

 

e08107dc489df0f97a9496663a273b12f6602d7a.jpg

 

โซลดาโด (Soldado)“วันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ สำหรับผม คือ วันที่นักกิจกรรมที่ต้องต่อสู้กับการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ และคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งต้องเจอกับความเกลียดกลัวนี้ตลอด 365 วัน ต่อปี ได้มาพบเจอกัน”

 

โซลดาโด โควาลลิซิดิ คือ คนข้ามเพศ และนักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อสนับสนุนบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยตอนนี้เขาอาศัยอยู่ในยูเครน ในปี 2559 เขาต้องทิ้งทุกอย่างและหลบหนีออกจากบ้านเกิดในไซบีเรีย เนื่องจากเขาถูกข่มเหงจากการที่เขาเป็นคนข้ามเพศในรัสเซีย การคุกคามบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในรัสเซียนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตัวอย่างล่าสุดคือการลักพาตัวชายรักเพศเดียวกันในสาธารณรัฐเชเชน ซึ่งโซลดาโดก็โดนคุกคามไม่ต่างกัน “ผมถูก “นักกิจกรรม” ของรัฐทำร้ายร่างกายห้าครั้ง และในปี 2559 หลังจากหน่วยข่าวกรองของรัสเซียขัดขวางการทำงานเพื่อสนับสนุนคนข้ามเพศ และผมถูกขู่ฆ่าจากคนที่ทำร้ายผม ผมตัดสินใจหนีไปตายเอาดาบหน้าที่ยูเครน”



โซลดาโดยังคงทำงานเพื่อสนับสนุนบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไปในยูเครน และได้สละเวลามาเป็นอาสาสมัครให้กับแอมเนสตี้ด้วยเช่นกัน โดยตอนนี้เขาได้แต่งงานและเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่รัฐบาลยูเครนไม่รับรองสถานะผู้ลี้ภัยของโซลดาโด และขู่ว่าจะส่งเขากลับไปรัสเซีย ซึ่งดูแล้วปัญหาของโซลดาโดคงจะไม่จบง่ายๆ

 

แต่ถึงอย่างไรเขาก็ยังคงมีความหวัง สำหรับวันที่ 17 พฤษภาคม ปีนี้ เขาอยากบอกว่า “วันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ สำหรับผม คือ วันที่นักกิจกรรมที่ต้องต่อสู้กับการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ และคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งต้องเจอกับความเกลียดกลัวนี้ตลอด 365 วัน ต่อปี ได้มาพบเจอกัน วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะทำให้เสียงของนักกิจกรรมที่ไม่มีโอกาสได้พูดดังไปยังสื่อต่างๆ”