photo by Arcaion 

ย้อนรอย 2 ปีไทยส่งผู้ลี้ภัยกลับไปติดคุกจีนทั้งๆ ที่ได้สถานะจาก UNHCR แล้ว

15 พฤศจิกายน 2560

เรื่อง: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบสองปีเหตุการณ์ที่ทางการไทยส่งกลับ ตงกวงปิง และผู้ร่วมเดินทางอีกหนึ่งคนกลับไปยังจีน แม้ว่าพวกเขาจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และกำลังอยู่ระหว่างถูกส่งไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามแล้วก็ตาม

 

ตั้งแต่กลับถึงจีน ตงกวงปิงถูกจับติดคุกมาโดยตลอด โดยไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวหรือทนายความของตัวเองได้ ปัจจุบัน เขาถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์กรณีหลบหนีมายังประเทศไทย นอกจากนี้ เขายังคงเสี่ยงที่จะถูกทรมานและพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย ขณะที่ครอบครัวของเขาไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่และรายละเอียดคดีจากทางการจีน

 

การกระทำดังกล่าวของทางการไทยถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและขัดต่อหลักการสากลเรื่องการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) ซึ่งห้ามส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศต้นทางที่อาจทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตรายหรือเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการส่งกลับทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม หลักการไม่ส่งกลับยังเป็นเนื้อหาของกฎบัตรสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ และเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศซึ่งมีมีผลบังคับใช้ต่อทุกประเทศ

 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยชาวจีนคนนี้เป็นหนึ่งการส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงหลายกรณีโดยทางการไทย ซึ่งถูกบันทึกไว้ในรายงานเรื่อง คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล (Between a Rock and a Hard Place) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เดินทางมาทางเรือออกไปเผชิญอันตรายนอกชายฝั่งด้วย

 

นอกจากนี้ ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงที่เดินทางมาถึงประเทศไทยยังมีต้องชีวิตที่ยากลำบาก หลบๆ ซ่อนๆ หรือถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่รับรองสถานะผู้ลี้ภัยในฐานะบุคคลที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ ทำให้พวกเขามีสถานะเทียบเท่ากับผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายทั่วไปเท่านั้น

 

ไม่มีผู้ลี้ภัยคนไหนไม่อยากกลับบ้าน แต่เมื่อบ้านของพวกเขากลายเป็นสถานที่อันตรายเกินจะใช้ชีวิตอยู่ได้ การหนีคือทางรอดเดียวเท่านั้น แต่การหนีร้อนมาพึ่งเย็นในประเทศไทยเพื่อขอรับสถานะผู้ลี้ภัยและรอให้ UNHCR ส่งตัวไปประเทศที่สามกลับทำให้ชีวิตของพวกเรายากลำบากมากขึ้นไปอีกด้วยข้อจำกัดด้านนโยบาย แม้ว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยจะอยากยื่นมือแสดงน้ำใจเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยก็ตาม

 

ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน 2559 และในเวทีด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติอีกหลายแห่ง ทางการไทยได้ประกาศเอาไว้ว่าจะออกกฎหมายต่อต้านการทรมานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการไม่ส่งกลับรวมอยู่ด้วย แต่จนถึงตอนนี้คำสัญญายังเป็นเพียงลมปาก ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

 

ในโอกาสครบรอบสองปีของการส่งผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตรายครั้งนี้ แอมเนสตี้จึงออกมาเสนอให้ทางการไทยแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหากฎหมายเพื่อป้องกันการส่งกลับอย่างชัดเจน และให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และในระหว่างนี้ ทางการไทยควรรับประกันด้วยว่าบุคคลที่เสี่ยงต่อการถูกส่งกลับจะสามารถเข้าถึงทนายความและมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยได้

 

อีกคำมั่นสัญญาหนึ่งเกี่ยวกับสิทธิผู้ลี้ภัยที่ทางการไทยให้คำมั่นสัญญาไว้หลายครั้งในเวทีโลกก็คือการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 การดำเนินการหลังจากนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยโดยตรงแล้ว ยังจะเป็นตัวชี้วัดความซื่อตรงและจริงใจในสังคมนานาชาติของทางการไทยด้วย