ในความรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ เรื่องราวเกี่ยวกับนักต่อสู้เพื่อผืนแผ่นดินเกิดมักจะเกิดขึ้นอยู่ในต่างจังหวัดอันห่างไกลจากเมืองหลวง โดยมีตัวละครเป็นชาวบ้านตัวเล็กๆ กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพล
แต่อันที่จริง.. การปกป้องบ้านเกิดเกิดขึ้นในทั่วทุกแห่ง
แม้กระทั่งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ยังมีผู้คนธรรมดาที่ยังคงยืนหยัดเพื่อบ้านเกิด – บ้านของพวกเขา และบ้านที่บรรพบุรุษได้หยั่งรากเอาไว้
หากยังจำกันได้ ใน พ.ศ. 2561 ชุมชนป้อมมหากาฬถูกรื้อถอน และปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่สวนสาธารณะโล่งกว้าง และยังมีชุมชนในกรุงเทพฯ อีกมากมายที่กำลังตกเป็นเป้าการรื้อถอน และกำลังส่งเสียงเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางเสียงอึกทึกในเมืองหลวง หนึ่งในนั้นคือ “ชุมชนนางเลิ้ง” ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมความบันเทิงของกรุงเทพฯ แต่บัดนี้กลับต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่อาจนำไปสู่การ “ถอนรากถอนโคน” และทำให้ชุมชนที่รุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมและอาหารอร่อยนี้สูญหายไปตลอดกาล
การปกป้องชุมชน จึงไม่ได้เป็นเพียงภารกิจของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม ที่จะรักษาความทรงจำและส่งต่อประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นต่อไปได้รับรู้ และยังเป็นภารกิจสำคัญในการร่วมกันปกป้องสิทธิของทุกคนในสังคม
ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงจัดกิจกรรม “One Day Trip with Amnesty สถานีปลายทาง นางเลิ้ง” เพื่อออกเดินฟังเสียงของคนในชุมชน และนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาเป็นงานรณรงค์ เพื่อนำไปสู่ทางออกของปัญหา
“นางเลิ้งร้อยเปอร์เซ็นต์”
ชุมชนนางเลิ้งเป็นชุมชนเก่าแก่บนพื้นที่รูปสามเหลี่ยมในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในอดีตเคยเป็นทุ่งกว้างชานเมืองพระนคร เรียกว่าทุ่งสนามควาย ก่อนจะมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน ชาวญวน ชาวมุสลิม ชาวคริสต์ และชาวมอญ และพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นพื้นที่วัฒนธรรมและแหล่งความบันเทิงยอดนิยม ที่มีตั้งแต่วัง วัด คณะละครชาตรีอันโด่งดังระดับโลก ตลาด โรงหนัง ไปจนถึงซ่องโสเภณี
ด้วยเรื่องราวที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เกิดเป็นวัฒนธรรมเฉพาะและประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ชุมชนนางเลิ้งเองก็เช่นกัน อัตลักษณ์ร่วมที่มีจึงเกิดเป็นคำสั้น ๆ ที่คนรุ่นใหม่ในชุมชนได้นิยามขึ้นว่า ‘นางเลิ้งร้อยเปอร์เซนต์’
“คนนางเลิ้งจะมีคาแรกเตอร์ห้าวๆ หน่อย รักบ้านเกิด ชอบเล่าเรื่อง ทำงานชุมชนเยอะแยะ ถ้าเด็กวัยรุ่นที่รักนางเลิ้ง ก็จะเกิดวลีว่า ‘นางเลิ้งร้อยเปอร์เซ็นต์ NL’” น้ำมนต์ – นวรัตน์ แววพลอยงาม ประธานชุมชนวัดแคนางเลิ้ง เล่าถึงตัวตนของคนนางเลิ้งดั้งเดิม
น้ำมนต์ วัย 38 ปี สืบทอดตำแหน่งประธานชุมชนจาก แม่แดง – สุวัน แววพลอยงาม คุณแม่ของเธอ และในขณะที่แม่แดง ผู้มีเชื้อสายมอญ เกิดและเติบโตในยุคที่นางเลิ้งมีชื่อเสียงจากการเป็นบ้านเกิดของซูเปอร์สตาร์ชื่อดังอย่างมิตร ชัยบัญชา น้ำมนต์บอกว่า เธอเกิดในยุคมืดของนางเลิ้ง ที่ชุมชนรอบๆ ค่อยๆ ถูกไล่รื้อ ถูกเวนคืน ส่งผลให้ตลาดนางเลิ้งค่อยๆ ซบเซาลง สิ่งก่อสร้างที่เคยสวยงามก็ถูกรื้อถอนไปเกือบหมด แม้แต่ละครชาตรีที่เคยออกทัวร์ทั่วประเทศ ยังเหลือเพียงชื่อว่า “ละครแก้บน”อาจเรียกได้ว่า ความสวยงามของอดีตในยุคของแม่แดง เหลือเพียงเรื่องเล่าในยุคของน้ำมนต์
ขณะที่ศิลปวัฒนธรรมยุคเก่าที่เคยขึ้นชื่อของนางเลิ้งกำลังจะเลือนหาย ไม่ต่างจากในพื้นที่อื่นๆ นางเลิ้งต้องเผชิญปัญหาใหญ่อีกครั้ง เมื่อพื้นที่ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้กำลังจะถูกรื้อ และกลายเป็นสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม แม่แดงเล่าว่าไม่เคยมีใครรู้มาก่อนว่าจะมีการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า ชุมชนรับทราบเองจากการประชุม ในขณะที่เจ้าของพื้นที่ ก็ไม่ได้แจ้งเรื่องนี้อย่างชัดเจน
“เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาเมือง แต่เราอยู่รอบสถานี เราอยากรู้เวลาสร้าง แล้วฝุ่นมันจะไปทางไหน มันจะมีฝุ่นเวลาไหน เราไปตรงไหนได้ เราจะได้มีการเตรียมตัว
“เราอยากรู้ชะตากรรมล่วงหน้าในอนาคต เราไม่ต่อสู้อะไรหรอก ไม่เคยขวางการสร้างรถไฟฟ้า แต่ถ้าเกิดจะมาไล่เรา บอกเราล่วงหน้าหน่อย เราจะได้มีการเตรียมตัว เพราะคนในชุมชนไม่ใช่คนรวย เราไม่มีเงิน และต่อจากนั้นก็ต้องไปกันหมดเลย” แม่แดงกล่าว
นางเลิ้ง: ภาพสะท้อนความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย
โดยทั่วไป ชุมชนในความหมายเชิงธรรมชาติคือการเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน และมีแบบอย่างร่วมกัน โดยมีเส้นแบ่งว่าใครเป็นสมาชิก และใครไม่ได้เป็นสมาชิก แต่สำหรับในเมือง ชุมชนคือกลุ่มคนที่ถูกจัดตั้งและมีกฎหมายรองรับ ซึ่งชุมชนเหล่านี้จะได้ประโยชน์บ้างจากที่ดินและนักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งมีตัวแทนเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงอยู่ในเขตพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในชุมชน คือกลุ่มคนที่เช่าบ้านอยู่ในชุมชน ซึ่งจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากการไล่รื้อชุมชน ประเด็นนี้ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า
“โดยโครงสร้างของชุมชนของกรุงเทพฯ เขาจะเช่าที่มาปลูกบ้านเอง เมื่อปลูกบ้านเสร็จแล้วอยู่ มีคนมาเช่าอีกรอบหนึ่ง แบ่งห้องเช่า และคนกลุ่มนี้จะลงไปอีก”
“นางเลิ้งมันก็จะมีสเต็ปว่า มีคนที่เช่าที่ดินอยู่ ต่อมาก็คือมีคนเช่าของเช่าอีกที เขาไม่มีสิทธิเลยนะ ไม่มีสิทธิยิ่งกว่าคนรุ่นแรกอีก บ้านคุณยายคนหนึ่งอยู่กัน 3 คน โดนค่าน้ำ 300 เพราะว่าคิดเป็นหัวละร้อย ค่าไฟ มีพัดลมเครื่องหนึ่ง ทีวีเครื่องหนึ่ง โดนเข้าไป 700 แล้วแต่เจ้าของจะคิด มันมีรายละเอียดพวกนี้ที่ต้องเข้าใจด้วยว่า คนจนน่าจะใช้ชีวิตถูก ไม่นะ เหมือนคุณมีบัตรเครดิต คุณผ่อน 0% 10 เดือน คุณใช้เงินสด มันไม่เคยลดอะไรให้คุณเลย”
เพราะฉะนั้น ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่า ปัญหาที่คนจนเมืองอย่างชุมชนนางเลิ้งเผชิญอยู่จึงไม่ใช่เรื่องความยากจน แต่เป็น “ความไม่มั่นคง” ในด้านที่อยู่อาศัย
“เวลาเราคุยถึงสิทธิของคนที่อยู่ในเมือง มันไม่ใช่แค่สิทธิที่จะอยู่หรือไม่อยู่ บางทีคนที่อยู่ ต้นทุนเขาสูง ถามว่าทำไมไม่ต่ำ ก็ไม่มีบ้านต่างจังหวัด จะกลับไปไหน”
“เวลาที่เราพูดเรื่องความจนอย่าไปเอาตัวเลขเรื่องเงิน เงินบางทีเขาหาได้นะ ประเด็นไม่ใช่เรื่องเงิน ประเด็นคือความไม่มั่นคง เขาเผชิญกับความไม่มั่นคง และในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ พอไม่มั่นคงมาก คุณก็ไม่อยากลงทุนมาก สภาพที่อยู่อาศัยคุณ ไปทำดีเกินก็ไม่ได้ อย่างในกรณีของที่นี่ จะทำต้องขออนุญาตอีก สมมติคุณไปเช่าเขาอยู่ คุณก็ไม่อยากทำให้มันดีมาก เพราะคุณก็ไม่รู้ว่าปีหน้าเขาจะเอาคืนหรือเปล่า มันไม่ใช่สภาวะไม่มีสิทธิสู่สภาวะที่มีสิทธิ มันเป็นสภาวะไม่มีสิทธิเพราะไม่มีอำนาจ พอไม่มีอำนาจ กฎหมายก็ไม่ได้ทำงานในการให้อำนาจคุณ” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว
และเมื่อเทียบเคียงกับทฤษฎียอดฮิตในยุคนี้อย่าง “Gentrification” หรือ “การทำให้เป็นย่านผู้ดี” ที่ถูกนำมาใช้นิยามย่านเมืองเก่าสุดชิคต่างๆ ผศ.ดร.พิชญ์ มองว่ายังไม่ถูกต้องนัก เนื่องจาก Gentrification คนในชุมชนต้องมั่นคง และสามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ที่เดิมหรือย้ายออกเมื่อเจอแรงกดดันจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ชุมชนเมืองในไทยหลายแห่งยังไม่มีความมั่นคงในพื้นที่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนเหล่านี้เรียกว่า “การไล่รื้อ” โดยผู้ที่อยู่อาศัยไม่ยินยอม หรือ Forced Eviction
“สิ่งที่โหดร้ายจริงๆ ในประเทศไทยคือ Forced Eviction ซึ่งไม่ได้มาจากสุดท้ายแล้วคุณตัดสินใจว่ามันแพงเกิน ย้ายไปอยู่ที่อื่นเถอะ ไม่ใช่ มันถูกกดดันโดยเจ้าของที่ดิน เพื่อจะเอาคุณออก” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยนั้น ผศ.ดร.พิชญ์ เสนอว่า ควรมีหน่วยงานของรัฐที่จัดการเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบมากกว่าการเคหะแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐหรือเมืองจะต้องดูแลเรื่องค่าเช่าให้เป็นธรรม รวมทั้งปกป้องผู้เช่า ในกรณีที่จะถูกไล่ออกจากพื้นที่ และควบคุมการขึ้นค่าเช่า
นอกจากนี้ ในการสื่อสารกับผู้มีอำนาจ หรือเจ้าของพื้นที่ ผศ.ดร.พิชญ์ มองว่า ประเด็นที่ควรสื่อสารควรเป็นเรื่องความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องสิทธิ
“ประเทศไทยพูดเรื่องสิทธิยาก เพราะว่าถ้าคุณพูดเรื่องสิทธิเมื่อไร เขามองคุณลบทันที เพราะเขาจะมองว่าสิทธิมาพร้อมกับการเรียกร้องและความขัดแย้ง สิ่งที่จะพูดได้ในยุคนี้ คือคุณต้องสู้กับเขาในเรื่องความมั่นคง คุณต้องนำส่วนนี้เข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคง ความมั่นคงของมนุษย์ รัฐจะรู้สึกทันทีว่าเขาต้องปกป้องคุณ ไม่ใช่เพราะคุณมีสิทธิ แต่เขารู้สึกว่าเป็นภาระของเขา ที่เขาอยากดูแลคุณ”
“เวลาที่คุณดีลกับคนที่มีอำนาจ มันไม่ได้อยู่ในกติกาเรื่องสิทธิ มันอยู่ในกติกาเรื่องว่า คุณทำแล้วคุณจะดูดีนะ คุณทำแล้วคุณจะไม่โดนคว่ำบาตรนะ คือมันมีประเด็นที่เขาต้องคำนวณว่าทำแล้วดี เพราะฉะนั้น มีข่าวทีก็หยุดที ทำไมมีข่าวทีก็หยุดที เพราะเดี๋ยวเขาดูไม่ดี เขามีต้นทุนอื่นๆ ที่ต้องเสียอีก” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว
รักษาฐานที่มั่นของชีวิตด้วยศิลปะ
แม้ชีวิตประจำวันจะทำหน้าที่เป็นประธานชุมชน แต่ในอีกด้านหนึ่ง น้ำมนต์เป็นศิลปิน ผู้นำศิลปะมาทำงานกับชุมชน และเธอก็ได้ใช้ศิลปะในการต่อลมหายใจให้ชุมชนนางเลิ้งของเธอยังคงมีชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง
“ท่ามกลางความมืด ศิลปะมันมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง ที่ว่า ปัญหามันยิ่งมืดดำเท่าไร ในขณะเดียวกัน ศิลปะมันสามารถที่จะเอาความมืดดำมาสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ได้” น้ำมนต์กล่าว
การทำงานผ่านศิลปะ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการส่งต่อประวัติศาสตร์ของชุมชนให้ผู้คนได้รู้จักเรื่องราวของชุมชนนางเลิ้งให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการรักษาความทรงจำที่ผ่านการสรรค์สร้างร่วมกันของชาวนางเลิ้งมาเป็นเวลานานนับร้อยปี
และศิลปะที่เกิดขึ้นในชุมชนนางเลิ้ง ก็มีความทรงจำที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากจะเป็นบ้านเกิดของนักแสดงระดับตำนานของไทย อย่างมิตร ชัยบัญชา พื้นที่นางเลิ้งยังเป็นที่ตั้งของโรงหนังเฉลิมธานี ที่เปิดฉายรอบปฐมฤกษ์เป็นครั้งแรกในวันที่ 18 ธันวาคม 2461 หรือกว่า 106 ปีที่แล้ว
แม้โรงหนังเฉลิมธานีจะยืนอยู่คู่ความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย แต่กลับต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงเมืองด้วยเช่นกัน เพราะในอดีตเคยมีข่าวลือว่าโรงหนังเฉลิมธานีอาจถูกทุบกลายเป็นที่จอดรถ
“ในแง่สถาปัตยกรรมของโรงหนังแห่งนี้มันสวยอยู่แล้วมันสวยด้วยตัวมันเอง ด้วยสถาปัตยกรรม แล้วก็เป็นโรงหนัง standalone ที่เหลือไม่กี่แห่ง”
การรักษาความทรงจำของโรงหนังแห่งนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงภารกิจในการรักษาบ้านของชาวนางเลิ้ง แต่เป็นการร่วมกันรักษาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ซึ่งความพยายามของน้ำมนต์ในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือการรณรงค์ ก็ส่งผลให้โรงหนังอันมีความหมายกับชุมชน ยังคงตั้งตระหง่านอยู่จวบจนทุกวันนี้
“ความทรงจำของผู้คนมันเชื่อมโยงกับอันนี้เป็นหลัก ซึ่งน้ำมนต์มองว่าการที่ต้องรักษามันไว้ มันมีความจำเป็น ถ้าอันนี้หายไป การจะให้คนนึกถึงนางเลิ้ง นึกถึงความทรงจำร่วมกัน มันไม่มีของเชิงประจักษ์ แลนด์มาร์กอะไรบางอย่างที่ทุกคนรู้ว่ามันอยู่ตรงนี้” น้ำมนต์กล่าว
นอกเหนือจากการทำภาพยนตร์ อีกหนึ่งโปรเจ็กต์ที่สำคัญต่อชุมชนนางเลิ้ง คือการทำฐานข้อมูลชุมชน ในชื่อว่า Community Art Lab ซึ่งต่อยอดโดยอัตโนมัติมาจากโปรเจ็กต์เล็กๆ อย่างการทำแผนที่ชุมชน และโปรเจ็กต์ถ่ายภาพครอบครัวของคนในชุมชน
“ตอนนั้นการถ่ายภาพครอบครัว การเดินแผนที่ชุมชน ส่วนใหญ่ตัวงานของมันเป็นเรื่องฐานข้อมูลในตัวมันอยู่แล้ว เพราะว่าตั้งแต่เด็กๆ น้ำมนต์เห็นแม่ทำงาน รู้สึกว่าประเทศเราไม่มีฐานข้อมูลแล้วมันพึ่งพิงอะไรไม่ได้เลยเพราะฉะนั้น มันพึ่งตัวบุคคล พึ่งระบบไม่ได้เลย สิ่งที่ชุมชนจะพึ่งตัวเองได้ก็คือ ต้องมีฐานข้อมูลของตัวเอง”
นอกจากนี้ Community Art Lab ยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางสำหรับเชื่อมโยงระหว่างคนในชุมชนกับคนภายนอกที่เข้ามาทำกิจกรรม ทำให้คนทั้งสองกลุ่มสามารถทำความรู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น ก่อนจะเกิดการทำกิจกรรมในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนต่อไป
“นอกจาก Community Lab จะสร้างฐานข้อมูลแล้ว หน้าที่หลักอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องสร้างแพลตฟอร์ม ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่มีแบบนี้ ก็คือต้องสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกัน เพราะข้อจำกัดของชุมชนก็คือไม่มีพื้นที่ ไม่มีห้องแอร์เย็นๆ ไม่มีเครื่องฉายโปรเจ็กเตอร์ ที่ทำให้เกิดพื้นที่การทำงานร่วมกัน”
การรักษาความทรงจำอย่างยั่งยืนยังต้องอาศัยการร่วมมือกันของผู้คน สิ่งหนึ่งที่คนในชุมชนให้ความสำคัญ จึงเป็นการสร้างความเข้าใจของผู้คนในทุกภาคส่วนผ่านประสบการณ์ร่วม เพื่อส่งต่อเรื่องราวของนางเลิ้ง โดยนอกจากจะมีการเก็บฐานข้อมูลแล้ว ยังมีกิจกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะในชุมชนที่มักเชิญชวนผู้คนให้ได้สร้างความทรงจำร่วมกัน รวมถึงการทำงานเชิง Partnership หรือจับมือกับภาคส่วนต่าง ๆ และร่วมใจกันสร้างเครื่องมือที่หลากหลายขึ้นมา เพื่อวันที่ความเปลี่ยนแปลงมาถึง เรื่องราวของนางเลิ้งจะไม่หายไป และยังคงมีลมหายใจคู่กันกับความเปลี่ยนแปลง
เมื่อถามถึงเป้าหมายของการทำงานศิลปะในชุมชน เป้าหมายของน้ำมนต์ไม่ใช่การใช้ศิลปะเพื่อเอาชนะผู้มีอำนาจโดยตรง แต่เป็นการประคับประคองให้ชุมชนอยู่รอด จนถึงวันที่สังคมตื่นรู้มากขึ้น และหันมาเป็นกำลังเสริมให้ชุมชน
“สิ่งที่พยายามทำ ภาพรวมทั้งหมด อย่างน้อยยังให้ชุมชนนางเลิ้ง สำหรับน้ำมนต์คือผู้คน ยังให้ผู้คนเดิมได้อยู่ตรงนี้ ตราบเท่าที่กระแสสังคมมันหมุนมาเท่าทัน มันร่วมต่อสู้กับชุมชน อันนี้คือสิ่งที่ทำ พยายามรักษาตรงนี้ไว้ ซึ่งแค่วันนี้ก็พอมองเห็นแล้วว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ก็ค่อนข้างสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว”
เมื่อนางเลิ้งคือผู้คน สิ่งที่น้ำมนต์ต้องการจะเห็นมากที่สุดก็คือ คนนางเลิ้งยังคงอยู่ที่นางเลิ้ง ขณะที่คนจากที่อื่นเข้ามาอยู่ในนางเลิ้ง และขยายความเป็นนางเลิ้งออกไป ซึ่งน้ำมนต์เชื่อว่านี่คือวิธีการรักษาชุมชนเอาไว้
“เราเห็นหลายๆ ที่ที่อ้างว่าพัฒนาแล้วเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่มันก็เป็นประโยชน์ของใครบางคน การไล่รื้อมันไม่น่าจะนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวมได้”
สำหรับน้ำมนต์ การมีอยู่ของชุมชนนางเลิ้ง ไม่ได้สำคัญเฉพาะกับใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่นางเลิ้งเชื่อมโยงทุกชีวิตในชุมชนและละแวกใกล้เคียงเข้าด้วยกัน และการเกื้อหนุนระหว่างกันนั้นได้สร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับทุกคน
“การที่นางเลิ้งมีบ้านบาตร บ้านบาตรเป็นชุมชนเก่าที่ตีบาตร ทุกๆ ปีจะต้องจ้างนางละครชาตรีให้ไปรำที่ศาลเจ้าพ่อในบ้านบาตร นางเลิ้งมีป้าที่เย็บผ้าเก่งมาก เพราะว่าเมื่อก่อนนี้ศูนย์ราชการอยู่รายล้อมนางเลิ้ง เพราะฉะนั้น ช่างเย็บผ้าของนางเลิ้งจะเป็นช่างเย็บผ้าฝีมือดี ชุดข้าราชการ ชุดไทย ชุดครูโรงเรียน ศูนย์ราชการย้ายออกไป ช่างไม่มีงาน แต่ฝีมือเขายังอยู่”
“ความเป็นละแวก ความเป็นย่าน น้ำมนต์คิดว่าอันนี้แหละมันเป็นหัวใจของคุณภาพชีวิตที่ดี การที่คนอยู่รวมกัน รู้จักกัน คุยกัน ถามกัน ถ้าเกิดอุบัติเหตุในนางเลิ้ง สังเกตได้เลย จะมีรถกู้ภัยมาเยอะมาก เพราะทุกคนจะโทรแจ้ง น้ำมนต์มองว่ามันคือย่าน มันคือความเป็นผู้คน”
“สิ่งที่น้ำมนต์พยายามทำคือรักษาเยื่อใยตรงนี้ เพราะน้ำมนต์คิดว่ามันเป็นสุนทรียะหนึ่งของการเป็นมนุษย์น่ะ การอยู่ในย่าน มันอาจจะไม่ได้รวยมาก แต่มันมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะมันมีเส้นใยที่เราควบคุมได้ เราหิวเราก็ไปตลาด เราไม่ต้องซื้อของสต็อกในตู้เย็นเยอะๆ เพราะนางเลิ้ง สมมติย้ายไปอยู่ปทุมธานี มันก็จะใช้เวลานานมากกว่าจะถักทอให้เป็นหนึ่งเดียว มันยึดโยงกับพื้นที่ด้วย มันยึดโยงกับความเชื่อด้วย มันมีความทรงจำที่ทับซ้อนอยู่บนพื้นที่ ซึ่งถึงย้ายทั้งยวงไปอยู่ที่ใหม่ มันต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี หรือเป็นร้อยปี กว่าจะสร้างความทรงจำที่มันจะเหนียวแน่นอย่างนี้ได้”
เสียงจากนักสิทธิมนุษยชน
เพราะสิทธิชุมชน คือสิทธิมนุษยชน จึงเป็นหน้าที่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่จะช่วยส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และเปิดพื้นที่ให้เสียงของชุมชนได้ส่งถึงคนทั่วไป
ชนากานต์ มวลเสียงใส นักศึกษาฝึกงานฝ่ายนักกิจกรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผู้จัดการโครงการ “One Day Trip with Amnesty สถานีปลายทาง นางเลิ้ง” เล่าให้ฟังว่า เธอเป็นสมาชิกของแอมเนสตี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 และมีความสนใจในประเด็นสิทธิชุมชน จึงเลือกมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ ประกอบกับเมื่อปีที่แล้ว เธอได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนนางเลิ้ง จึงนำแรงบันดาลใจที่ได้รับในวันนั้น มาจัดเป็นโปรเจ็กต์จบการฝึกงานของตัวเองเพื่อชุมชนนางเลิ้งในปีนี้
“เราโตมาด้วยประเด็นพวกนี้ค่ะ คือเราเป็นคนจังหวัดเลย แล้วเมืองเลยเองก็มีประเด็นเรื่องเหมืองแร่เมืองเลย ซึ่งเราก็เคยมีโอกาสได้ไปลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านแถวนั้น เหมือนไปเรียนรู้ประเด็นปัญหา นอกจากเหมืองแร่เมืองเลย เราก็เคยไปลงพื้นที่ที่ชุมชนบ่อแก้ว จังหวัดชัยภูมิด้วย ชาวบ้านที่นั่นก็มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินเหมือนกัน ก็คือที่ดินบริเวณนั้นจะถูกเวนคืนเพื่อนำพื้นที่ไปทำเป็นพื้นที่ป่าสงวน แล้วก็เห็นถึงความเดือดร้อนที่ชาวบ้านได้รับ เห็นผลกระทบที่เขาต้องเผชิญกับมันอยู่”
“เรารู้สึกว่า ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และเราก็เป็นนักศึกษาด้วย เรามีพลัง แล้วเราก็เชื่อว่าเราน่าจะช่วยขับเคลื่อนประเด็นพวกนี้ได้บ้างในฐานะคนธรรมดา” ชนากานต์กล่าว
ในสายตาของชนากานต์ คนทั่วไปมักจะรู้จักนางเลิ้งแบบ “รู้จักแบบไม่รู้จัก” คือมองเห็นเฉพาะเรื่องวัฒนธรรมการกิน อาหาร ตลาด แต่ไม่เคยรู้ว่าชุมชนนี้กำลังเผชิญกับการไล่รื้อ เธอจึงอยากจัดกิจกรรม One Day Trip ขึ้น เพื่อให้ทุกคนรู้จักนางเลิ้งมากกว่าที่เคย
“การเรียนรู้มันมีหลายรูปแบบค่ะ ไม่จำเป็นจะต้องนั่งเรียนแค่ในห้องเท่านั้น เราสามารถเรียนรู้ในรูปแบบอื่นได้ learning by doing ได้ การที่เรามาลงพื้นที่ มาสัมภาษณ์และพูดคุยกับคนในชุมชนจริงๆ มันก็เป็นการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน มันก็คือการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้ เกี่ยวกับสังคมของเรา แล้วก็รู้สึกว่าการออกภาคสนาม (field trip) มันก็มีความน่าสนใจตรงที่เขาจะได้มาสัมผัสของจริงเลย พื้นที่จริงๆ มาเจอคนที่เขาเจอปัญหาจริงๆ แล้วสิ่งพวกนี้มันจะอยู่ติดตัวเขาไปตลอด เพราะมันก็คือชุดประสบการณ์ที่เขาได้ มันจะต่างจากการนั่งจดเลคเช่อในห้องเรียนปกติแม้จะเป็นประเด็นเดียวกันก็ตาม เพราะเรียนไปสักพักเดี๋ยวก็ลืม ซึ่งการพาเขามาลงพื้นที่เพื่อสัมผัสของจริง ความรู้และความเข้าใจที่ได้รับมันจะอยู่กับเขานานกว่าเพราะเขาเห็นภาพแล้วว่ามันเป็นยังไง” ชนากานต์อธิบาย
กรกฤช สมจิตรานุกิจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หนึ่งในคณะทำงานของโครงการนี้ กล่าวเสริมว่า
“คนมักจะคิดว่า ถ้าพูดเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องที่ดิน คุณต้องไปอีสาน คุณต้องไปภาคใต้ ต้องไปในที่ที่มีการต่อสู้กับแหล่งทุน ไม่จริง รอบตัวกรุงเทพฯ ของเรา ถ้าเรามีแว่นของสิทธิมนุษยชน ถ้าเรามีข้อมูล ถ้าเรารู้ว่าเราจะไปตรงไหน เราจะเห็นการละเมิดสิทธิอยู่ทุกซอกทุกมุมของประเทศนี้ได้หมด”
ด้วยเหตุนี้ กรกฤชมองว่า แค่การรณรงค์อยู่ในองค์กรอย่างแอมเนสตี้ อาจไม่เพียงพออีกต่อไป จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนนักรณรงค์ให้มากขึ้น ผ่านการถ่ายทอดความรู้จากห้องเรียนสิทธิมนุษยชน
“แอมเนสตี้เราเป็นองค์กรก็จริง แต่เราเรียกตัวเองว่าขบวนการ เป็น movement เราต้องการผู้สนับสนุน และไม่ใช่แค่โอนเงินให้เราหรือบริจาคให้เรานะ แต่คุณช่วยเราเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน เรื่องไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น การที่เราจุดประกายให้เขา มันก็เป็นหนึ่งในวิธีการดันสังคมไปข้างหน้าเหมือนกัน ผมว่านี่คือหนึ่งในยุทธศาสตร์ของแอมเนสตี้ด้วย คือการเพิ่มพลังของผู้คน เพิ่มแรงบันดาลใจ เพิ่มศักยภาพ เพิ่มองค์ความรู้ มันก็คือเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราต้องมีสิทธิมนุษยชนศึกษา” กรกฤชกล่าว
และสำหรับสถานการณ์การไล่รื้อชุมชน ทั้งนางเลิ้งและชุมชนอื่นๆ คนทั่วไปอาจมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะต่อสู้กับอำนาจที่เหนือกว่า คนธรรมดาไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ กรกฤชให้ความเห็นว่า
“อย่าคิดว่าคนเดียวเปลี่ยนไม่ได้ มันมีช่วงที่ท้อได้แหละ มีช่วงที่รู้สึกว่ายังไงเขาก็โดนไล่อยู่แล้ว กฎหมายสู้อะไรไม่ได้หรอก มันก็อาจจะจริงในทางปฏิบัติ แต่ว่าอย่างน้อย การที่เราทำอะไรบางอย่างแม้เพียงเล็กน้อย ถึงมันจะไม่ได้สร้างผลกระทบมากมายอะไร สำหรับผมมันก็ดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าเราคิดแต่ว่าทำแล้วไม่ได้อะไร แต่ต้องมองว่าคือสิ่งที่เราอยากทำไหม เราเห็นแล้วเรารู้สึกว่าเราทนไม่ได้กับสิ่งที่เขาเจอ แล้วเรารู้สึกว่าฉันจะทำต้องอะไรซักอย่าง มันคือแค่นั้น เพราะฉะนั้น อย่าไปคิดว่าคนธรรมดาทำอะไรไม่ได้ เราไม่ใช่ผู้มีอำนาจ สิ่งที่ผมเชื่อคือ แล้วคุณคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ควรทำไหม ถ้าใช่ คุณก็ทำเท่าที่คุณทำได้แหละ ต่อให้มันจะเปลี่ยนอะไรไม่ได้ก็ตาม” กรกฤชทิ้งท้าย