โลกของฉันนั้นมีแต่แอมเนสตี้ สิบปีที่ชีวิตตื่นเต้นในทุกวันทำงาน

“เรายังจำความรู้สึกวันนั้นได้ ในระหว่างวันที่ลาพักร้อน พาลูกไปเที่ยว มือหนึ่งอุ้มลูก มือหนึ่งรับโทรศัพท์  มีคนบอกว่า แอมเนสตี้กำลังจะถูกปิด  แล้ววันเดียวกัน นายกให้สัมภาษณ์ว่า แอมเนสตี้จะต้องถูกตรวจสอบ ซักพักที่ทำงานก็โทรเข้ามาบอกว่าได้รับจดหมายจากภาครัฐ ให้เข้าไปพบในอีกไม่กี่วัน  ในใจก็ตกใจแต่ไม่อยากกระโตกกระตาก และบอกตัวเองว่า มันต้องมีทางสิ เราจะไม่ปล่อยให้องค์กรที่เราบริหารโดนปิดเด็ดขาด”

ปิยนุช โคตรสาร ผู้หญิงที่เป็นทั้งแม่ เมีย และลูกสาวในคราวเดียวกัน และทำงานบริหารองค์กรอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันเนล ประเทศไทย องค์กรที่เจอทั้งก้อนหินและดอกไม้ในสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ผกผันตลอดเวลา  เธอผ่านมาได้อย่างไร จากวันนั้นถึงวันนี้ สิบปีพอดี

หากเรียกความสัมพันธ์ระหว่างปิยนุชกับแอมเนสตี้ ต้องขอนิยามว่า “ร่วมหัวจมท้าย” และเป็นความสัมพันธ์ที่ก่อตัวมาเกือบครึ่งชีวิต เพราะปิยนุชเริ่มจากการเป็นสมาชิกของแอมเนสตี้ก่อนหลังจากเรียนจบปริญญาตรี และหลังจากนั้นก็มาเป็นอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ กรรมการ ที่ปรึกษา จนมาถึงวาระแห่งการเป็นผู้อำนวยการ

“ตอนนั้นเรียนจบใหม่ๆ อยากจะทำอะไรสักอย่าง ที่ทำให้คนเท่ากัน แต่เราไม่ได้ทำงานสายสิทธิมนุษยชน เราทำงานโรงแรม ดีใจที่เพื่อนร่วมห้องของเราตอนนั้นแนะนำให้รู้จักแอมเนสตี้ว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เชื่อว่าคนธรรมดาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง ใครๆ ก็สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกได้”

“ช่วงที่เริ่มทำงาน เป็นปีหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีความพยายามจะฟื้นเศรษฐกิจที่ถดถอยและตกตํ่า มีคนต่างชาติจากสถาบันการเงินใหญ่ของโลกมาพักที่โรงแรมที่เราทำงาน เราอยู่แผนกที่ต้องดูแลแขกวีไอพีในโรงแรมห้าดาวและต้องหาสิ่งที่ดีที่สุดให้แขก แต่พอเดินกลับบ้านนั่งรถเมล์ตอนดึกๆ เจอโลกอีกโลกหนึ่ง มีคนขายแรงงานที่โดนเอาเปรียบ คนสูงอายุที่ไม่มีสวัสดิการ คนจากบ้านเดียวกันที่อยู่อีสานก็ลำบากเยอะ  เราตั้งคำถามกับสังคมตั้งแต่เด็กๆ เพราะตั้งแต่พ่อพาไปเป็นอาสาสอนหนังสือโรงเรียนเล็กๆ ในชนบท รวมถึงไปเจอโลกอีกใบหนึ่งที่มีระบบการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงตอนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ “

เมื่อได้เป็นสมาชิกแอมเนสตี้ ปิยนุชได้ทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มสมาชิกด้วยกันนอกเวลาทำงานประจำ ทำให้เธอได้เรียนรู้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และการเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิและการเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน  เมื่อทำงานเป็นอาสาสมัครไปสักพัก จึงรู้สึกสนใจและอินเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจลาออกจากงานโรงแรมมาทำงานในสายนี้อย่างจริงจัง 

จากนั้นเธอตัดสินใจไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ และได้มาทำงานองค์กรด้านพัฒนาสังคมที่ใช้ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเป็นฐานการทำงาน ระหว่างนั้นปิยนุชได้เดินทางไปที่ต่างๆ มากมาย เพื่อไปพบปะผู้ที่ได้รับผลกระทบและโดนละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในพื้นที่ชุมชนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จนวันหนึ่งเส้นทางที่เธอเดินก็ทำให้ได้กลับมาทำงานอย่างจริงจังกับแอมเนสตี้ ประเทศไทยอีกครั้งปี 2558 ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการและเป็นผู้อำนวยการในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญ นั่นคือหลังเหตุการณ์รัฐประหารสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  

“แต่ก่อนแอมเนสตี้จะไม่ทำแคมเปญประเด็นในประเทศตัวเอง แต่พอเรากลับเข้ามาทำกับแอมเนสตี้เต็มตัวอีกครั้ง รอบนี้สามารถจับประเด็นในประเทศตัวเองได้แล้ว จากที่เคยทำแต่เรื่องยุติโทษประหารชีวิต ยุติการทรมานและอุ้มหาย เราขยายมาทำเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัยจากความขัดแย้งและการเมือง สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ อะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้เห็น มันเป็นยุคของคนรุ่นสงครามเย็นปะทะกับรุ่นยุคเบิกเนตร ส่วนเราเป็นคนรุ่นตรงกลางที่ต้องประสานกับคนทั้งสองรุ่นนี้”

การมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามไปทุกสถานที่ที่แอมเนสตี้จัดกิจกรรม ปิยนุชบอกว่าบางงานต้องตัดสินใจยกเลิก ที่ผ่านมาระหว่างทำหน้าที่ตำแหน่งผู้อำนวยการโดนสร้างข่าวลือที่ไม่ดีเกี่ยวกับบุคคลและองค์กร โดนขู่ โดนตามจนเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งที่เหตุการณ์แบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้นกับคนในแวดวงที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน มิหนำซ้ำพอแอมเนสตี้ทำกิจกรรมรณรงค์ยุติการประหารชีวิต เธอเล่าว่าตอนนั้นเกิดเหตุการณ์ “ทัวร์ลง” องค์กร ทั้งในโลกออนไลน์และลุกลามมาถึงที่สำนักงานร่วมถึงพื้นที่ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ 

เหตุการณ์ในตอนนั้นที่ปิยนุชเป็นผู้อำนวยการ ทำให้เธอในฐานะผู้นำองค์กรตื่นรู้ว่า การทำงานสร้างความตระหนักรู้ด้านการสื่อสารสู่สังคม รวมถึงการทำงานร่วมกับเครือข่ายที่ออกมาช่วยเรียกร้องในประเด็นเดียวกันนั้น การให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษามีความสำคัญแค่ไหน

ปิยนุชเสริมการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาว่า เอาไปเอามาแอมเนสตี้ถือว่าโชคดีมาก เพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่พื้นที่ทางเมืองและสิทธิทางพลเมืองในนิยามของรัฐกลับเป็นไปคนละภาพที่เยาวชนวาดไว้  และยิ่งถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้มีการลุกขึ้นมาเรียกร้องต่างๆ ตั้งแต่พรรคการเมืองโดนยุบ โรคโควิด-19 คนโดนอุ้มหาย มีการเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบัน แต่ในขณะเดียวกัน ความท้าทายก็มีมากเช่นกัน เพราะคนที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ โดนคดีและถูกคุกคามหลากหลายรูปแบบ หลายคนต้องไปอยู่ในคุก หลายคนเป็นเด็ก หลายคนหนีออกนอกประเทศ สำหรับเธอจึงไม่แปลกใจเมื่อแอมเนสตี้ที่ทำแคมเปญเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบนั้น จะโดนสั่งให้ถูกตรวจสอบและมีความเสี่ยงที่จะถูกปิด    

“ช่วงที่มีแคมเปญเรียกร้องให้ปิดแอมเนสตี้และโดนรัฐบาลตรวจสอบ เป็นช่วงที่ท้าทายมากสำหรับองค์กร แต่เราผ่านมันมาได้ เพราะเรายังเชื่อมั่นในจุดยืนของเรา” 

“เราสื่อสารด้วยความมั่นใจว่ากว่า 63 ปีเรายืนหยัดทำงานเคียงข้างสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด และครั้งหนึ่งเราเคยได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2520 จากทำงานรณรงค์ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงรางวัลองค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำให้ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ หรือแม้แต่สถานทูตต่างก็ให้ความสำคัญกับแอมเนสตี้และส่งเสียงช่วยแอมเนสตี้อย่างมากเมื่อพบเจอกับวิกฤตต่างๆ”

สำหรับปิยนุช ถ้าแอมเนสตี้ถูกลบออกจากแผนที่ในภูมิภาคนี้ เธอเชื่อว่านี่คือสัญญาณที่เรื่องมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนจะตกอยู่ในความมืดมิด และสิทธิของคนจะถูกละเลยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เธอก็เห็นว่ามิตรสหายและพันธมิตรในด้านสิทธิมนุษยชนได้ช่วยกันปกป้องชื่อเสียงของแอมเนสตี้ไว้ได้อย่างมาก แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐยังเคยถามว่าแอมเนสตี้คือใคร ทำไมสถานทูตต่างๆ ถึงออกมาปกป้อง  อีกทั้งยังมีกระแสในสังคมให้มี #SaveAmnesty ด้วย

“สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเครื่องยืนยันว่า คุณ (รัฐ) อาจพยายามจะปิดแอมเนสตี้ แต่เราจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นในอนาคต เราคิดว่าเป็นคุณ (รัฐ) เองที่จะทำให้ประเทศไทยตกต่ำ เพราะแอมเนสตี้และองค์กรสิทธิที่กล้าหาญยืนหยัดในหลักการสิทธิมนุษยชน คือสัญลักษณ์ของแสงสว่างในสังคม แต่ถ้าคุณ (รัฐ) มาปิดเรา สังคมนั้นจะกลายเป็นสังคมที่มืดบอดทันที”

ทำงานสายโลกสวย สิทธิมนุษยชนคือเรื่องจับต้องได้

แม้ว่าจะโดนทัวร์ลงหรือขว้างปาด้วยก้อนหินในโลกออนไลน์ ปิยนุชยังยืนยันว่า ภูมิใจที่ได้ทำงานองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ ประเทศไทย

“ตั้งแต่วันที่เรามีลมหายใจ ชีวิตเราก็เกี่ยวข้องกับสิทธิ เรามีสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สิทธิในการมีชีวิตที่ดี สิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในการทำแท้งที่ปลอดภัย สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธิในการศึกษา รวมถึงสิทธิในการพักผ่อน ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับชีวิตเราทั้งสิ้น”

“แม้กระทั่งตอนตาย ก็เกี่ยวข้องเหมือนกันกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ดังนั้นตราบใดที่ยังมีลมหายใจ เรื่องสิทธิเป็นเรื่องของเราทุกคน”

ปิยนุชเริ่มต้นด้วยการพูดว่า “สิทธิมนุษยชนเกี่ยวข้องกับเราทุกคนตั้งแต่เกิดจนถึงตาย” และขยายความว่า เด็กที่เกิดมามีสิทธิที่จะเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ ถ้าเขาไม่สามารถแสดงออกหรือเลือกตัวแทนได้ ก็จะไม่มีสิทธิเลือกคนที่จะมาทำหน้าที่แทนเขา ถ้าคนที่เข้ามาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือมีนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา ทุกอย่างเกี่ยวข้องกันกับเรื่องสิทธิทั้งหมด

เราพยักหน้าเห็นด้วย เมื่อเริ่มเข้าใจว่าทำไมเธอถึงมองว่าสิทธิมนุษยชนคือเรื่องที่จับต้องได้จริง

ปิยนุชยังบอกต่อไปว่า การให้ความสำคัญกับหลักการสิทธิมนุษยชนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้คนได้ เช่น แคมเปญ “Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” และ “ปล่อยเพื่อนเรา” หรือ FreeRatsadon ที่ชวนให้คนส่งจดหมายไปยังรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมส่งกำลังใจให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิและครอบครัวของพวกเขา เช่น เมื่อมีนักกิจกรรมถูกจับเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตัวเองโดยสงบ แคมเปญนี้จะเชิญชวนให้คนจากทั่วโลกเขียนจดหมายให้กำลังใจนักกิจกรรม เพื่อทำให้พวกเขารู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง และเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐบาลนั้นๆ เพื่อให้พวกเขาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

“ไม่ว่าจะเป็นการลงชื่อหรือการทำกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิจากทั่วโลก แม้ว่าเราจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เราคิดว่ามันเป็นการใช้สิทธิของเราในการเรียกร้องสิทธิของผู้อื่นเช่นกัน นี่คือสิ่งที่เธอและแอมเนสตี้พยายามทำมาตลอดหลายปี”  

นอกจากนี้ ปิยนุชเล่าอีกว่าแอมเนสตี้ ประเทศไทย ยังมีการลงพื้นที่ทำงานกับองค์กรที่เป็นเพื่อนหรือมิตรสหายกันเพื่อไปสังเกตการณ์การชุมนุม มีการจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนปัจจุบันข้อมูลจากม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) พบว่ามีมากกว่า 3,000 การชุมนุม ที่เคยเกิดขึ้น และมีโครงการที่ทำร่วมกับเด็กและเยาวชนในการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้สิทธิเสรีภาพอีกด้วย 

“เราได้เห็นเด็กและเยาวชนอายุน้อยๆ ออกมาเรียกร้องมากขึ้น เพื่ออนาคตของพวกเขา เพื่อครอบครัวเขาที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่รัฐและผู้ใหญ่มองว่าเขาก้าวร้าวและสร้างปัญหา เคยมีคนโดนยิงด้วยกระสุนยางจนตาบอด มีเด็กโดนยิงในพื้นที่ชุมนุม แต่รัฐกลับเพิกเฉย” 

ในระยะเวลา 10 ปี ที่ปิยนุชดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย เธอได้เผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง แม้ว่าจะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อย้อนนึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ  แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจของเธอสั่นคลอน ปิยนุชบอกว่าเมื่อท้อแท้เธอมักหันมองโลโก้ของแอมเนสตี้ ที่เป็นรูปเปลวเทียนลุกโชนบนแท่งเทียนที่ถูกล้อมด้วยลวดหนาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหวังท่ามกลางความยากลำบาก 

เธอบอกว่าเทียนที่เป็นโลโก้ของแอมเนสตี้ สะท้อนหลักการที่ว่า “จุดเทียนดีกว่า ก่นด่าความมืด” โลโก้นี้บอกให้รู้ว่าเราจะไม่ดำดิ่งเพราะความมืด แต่จะนำแสงสว่างมาแทนที่ และถึงแม้ว่าโลโก้นี้จะถูกคิดขึ้นมาแล้วกว่า 63 ปี แต่สำหรับปิยนุชความเป็นเทียนของแอมเนสตี้ยังคงไม่เคยล้าสมัย และยังเป็นกำลังใจในบางวันที่ท้อแท้ได้อยู่เสมอ

“เราต้องคิดถึงแสงเทียนที่เป็นความหวัง ซึ่งมันต้องมีอยู่เสมอ อย่างน้อยเราก็ต้องจุดแสงเทียนในใจเราไปเรื่อยๆ และช่วยเติมพลังให้กันและกัน”

จริงหรือที่เธอไม่เคยเกลียดวันจันทร์?

จริงหรือที่ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ทำงานกับแอมเนสตี้มา 10 ปีแต่ไม่เคยเกลียดวันจันทร์เลย

“มันเป็นความตื่นเต้นมากกว่า ว่าสัปดาห์นี้จะมีเรื่องราวอะไรให้ลุ้นบ้าง บางครั้งก็เหนื่อย แต่รู้สึกภาคภูมิใจในหน้าที่นี้ และเสียดายที่ลูกยังเล็กอยู่ เพราะอยากจะอวดกับลูกว่าทำงานที่แอมเนสตี้ ถ้าลูกเข้าใจได้ ลูกคงภาคภูมิใจ”

เธอบอกพร้อมหัวเราะ ซึ่งทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะตำแหน่งไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือครอบครัวและความภาคภูมิใจในงานที่ทำ โดยเฉพาะการเป็นแม่ทัพของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ที่ทำให้เธอไม่เคยเกลียดวันจันทร์

ปิยนุชมองว่าความสำเร็จในหน้าที่การงานของผู้หญิง ไม่ควรถูกจำกัดจากการตีตราว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่ที่ดูแลลูกและบ้านมากกว่าทำงาน เธอเชื่อว่าความเข้าใจจากสังคมและครอบครัวนั้นสำคัญ และการเลิกคาดหวังหรือจำกัดบทบาทของผู้หญิงเป็นสิ่งที่จำเป็นในทุกวันนี้

“จริงๆ แล้ว ทุกคนเก่งในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่เต็มเวลา หรือคนที่เลือกไม่เป็นแม่เลยก็ได้ คุณมีหน้าที่รับผิดชอบและทำมันให้ดีที่สุด คนทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง”

การเป็นแม่ที่ต้องตื่นแต่เช้าทำงาน ดูแลลูกและครอบครัว พร้อมรับมือกับความคาดหวังจากทุกภาคส่วน ไม่เคยทำให้ปิยนุชรู้สึกท้อแท้ เธอมั่นใจว่าเธอจะไม่ยอมแพ้ต่อความอยุติธรรม และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจนถึงวันสุดท้ายที่เธอต้องส่งมอบตำแหน่งให้ผู้อำนวยการคนใหม่

“ตำแหน่งนี้เตือนให้เรารู้ว่า ไม่ว่าจะเจอกับปัญหาหรือความยากลำบากเพียงใด เราจะไม่ยอมแพ้ เราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและทั่วโลก โดยการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน สมาชิก อาสาสมัคร ผู้บริจาค และผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้ เพื่อสร้างขบวนการสิทธิมนุษยชนที่พร้อมที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก”

ในระยะเวลา 10 ปีที่ปิยนุชทำงานกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย ในฐานะผู้อำนวยการ เธอบอกว่าไม่มีวันไหนที่เหมือนเดิม ทุกวันเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ

“10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเกลียดวันจันทร์เลย เพราะการทำงานคือการพักผ่อน การเลี้ยงลูกยากกว่าการทำงาน ในแต่ละวันมีเรื่องใหม่ๆ ที่ตื่นเต้นเกิดขึ้นตลอดเวลา นับตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร จนมาถึงรัฐบาลพลเรือนที่ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนไม่ได้น้อยลงเลย’

แม้จะต้องเผชิญกับปัญหามากมายจากทุกทิศทาง แต่ปิยนุชยังคงมองว่าตัวเอง “โชคดี” ที่ได้เป็นผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย เพราะได้ทำงานที่มีความหมายและได้เรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ ที่นับว่าเป็นการจุดไฟให้กับชีวิตอยู่เสมอ

“เราโชคดีที่ตอนนี้คนและสังคมกำลังตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชน กล้าตั้งคำถามกับสังคมมากขึ้น ตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจมากขึ้น”

แอมเนสตี้ ประเทศไทย มีคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ไฟอย่างเดียว แต่ว่ามี passion หรือตั้งใจ รวมถึงมีคนอีกรุ่นหนึ่งที่ทำงานอยู่ในภาคประชาสังคมมานาน ที่นี่จึงมีชุดประสบการณ์ที่ทุกคนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ เพราะคนรุ่นใหม่ก็มีชุดความรู้ใหม่ๆ ที่จะแชร์ให้กัน ส่วนคนอีกรุ่นก็มีชุดประสบการณ์ที่จะถ่ายทอด สำหรับปิยนุชคิดว่านี่เป็นสิ่งที่จับมือไปด้วยกันได้ในการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน 

“ไม่จำเป็นต้องรักกัน แต่ขอให้ฟังกันและเรียนรู้จากกัน เพราะเรามีมุมมองที่แตกต่างตามแต่ละยุคสมัย คนรุ่นใหม่ถูกเลี้ยงมาในยุคที่ต่างจากคนรุ่นเก่า”

ตะกอนความคิดที่เธอตกผลึกได้หลังจากเฝ้ามองการเปลี่ยนผ่านของนักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมแต่ละยุคสมัย คือการยอมรับความแตกต่าง เพียงเปิดสมองและหัวใจให้กว้าง แล้วจะค้นพบว่าโลกใบนี้มีอะไรให้น่าตื่นเต้นอีกเยอะ ปิยนุชเน้นว่า การยอมรับความแตกต่างเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อเปิดใจและเรียนรู้จากกันและกัน จะทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น

“สิ่งที่คนในยุคเบิกเนตรได้เรียนรู้จากยุคสงครามเย็นคือการเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและวิธีการต่อสู้ ส่วนคนในยุคสงครามเย็นก็เรียนรู้จากยุคเบิกเนตรว่า การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำรา เพราะโลกมันกว้าง และตอนนี้เราอยู่ในยุคดิจิทัลกันแล้ว”

31 มีนาคม 2568 คือวันสุดท้ายในฐานะผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ต่อจากนี้ คือคำกล่าวอำลาของปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถึงเพื่อนร่วมงานที่เธอรักยิ่ง

ขอบคุณและขอโทษ…

ขอโทษที่ทำให้เหนื่อย… 

“ขอโทษที่บางครั้งอาจจะทำให้เหนื่อยเพราะงานเราเยอะมาก สำหรับคนทำงานแบบพวกเรานี้ ยังอยากให้ช่วยกันดูแลสุขภาพกายและจิตของตัวเองให้ดี”

“ขอขอบคุณมากๆ บางครั้งพอเริ่มท้อนะ เรานึกถึงเพื่อนร่วมงาน นึกถึงสปิริทการทำงานของพวกเขา นึกถึงน้ำใจและความห่วงใยที่มีให้กัน เราก็มีกำลังใจขึ้นมา มันเป็นมากกว่าเพื่อนร่วมงาน เป็นชุมชน เป็นครอบครัว และเราเห็นการเติบโตของพวกเขา”

“สิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้ก็คือเพื่อนร่วมงานที่มี Passion ในการทำงาน และตั้งใจทำงาน กล้าพูดและตั้งคำถามกับเรา เขาทำให้เราไม่ท้อ เราไม่รู้ว่าเราจะหาเพื่อนร่วมงานแบบนี้ได้จากไหน แล้วก็เราคงจะคิดถึงเพื่อนร่วมงานมากที่สุด หลังจากนี้ก็คงจะเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป แต่ในรูปแบบอื่น เช่น นักกิจกรรม อาสาสมัคร  และสมาชิกของแอมเนสตี้ต่อไป”

“สำหรับผู้อำนวยการคนใหม่ โชคดีมากที่ได้ทำงานเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ และมีความตั้งใจในการทำงานสูง และมีจิตใจที่ต้องการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เราคิดว่าผู้อำนวยการคนใหม่จะใช้ความรู้ ความสามารถของเขา มาช่วยสร้างองค์กรให้เป็นระบบ และเติบโต เป็นองค์กรที่เข้มแข็งต่อไป”

“เราเห็นองค์กรนี้ตั้งแต่มีไม่ถึงสิบคน จนตอนนี้มีเกือบสี่สิบคน เราเติบโตมาด้วยกันและถึงแม้เราไม่เป็นผู้อำนวยการแล้ว เราเชื่อว่าแอมเนสตี้ ประเทศไทยก็จะเติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อเป็นส่วนสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระดับสากลที่ใหญ่ที่สุดในโลก”

“สำหรับเราต่อไปจะทำหน้าที่ไหน เป็นใคร ถ้าเราเชื่อว่าเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน”