Test Success

เมื่อวันพุธที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา นายอับดุล ฟัตตอห์ อัล-ซีซี ประธานาธิบดี อียิปต์ ออกกฤษฎีกาอภัยโทษผู้ต้องขัง 100 คน รวมทั้ง 2 นักข่าวของสำนักข่าวอัลจาซีราคือนายโมฮัมเหม็ด ฟาห์มี ลูกครึ่งแคนาดาอียิปต์ และนายบาเฮอร์ โมฮัมเหม็ด ชาวอียิปต์ด้วย หลังจากทั้งคู่ถูกดำเนินคดีในอียิปต์มานานนับปีพร้อมนายปีเตอร์ เกรสต์ ผู้สื่อข่าวชาวออสเตรเลียที่ได้รับการปล่อยตัวไปก่อนหน้านี้

นักข่าวทั้งสามคนถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 56 และถูกศาลตัดสินให้จำคุกคนละ 7 ปี เมื่อวัน ที่ 23 มิ.ย. 57 ในข้อหาข้อหาสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมและรายงานข่าวที่เป็นเท็จ โดยที่บาเฮอร์ โมฮัมเหม็ดถูกจำคุกเพิ่มขึ้นอีก 3 ปี รวมเป็น 10 ปีในข้อหามีกระสุนปืนไว้ในครอบครอง

หลังจากทั้ง 3 คนถูกคุมขังนานถึง 400 วัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลอียิปต์ได้ตัดสินเนรเทศนายปีเตอร์ เกรสต์ไปยังประเทศไซปรัส ซึ่งเขาได้เดินทางต่อไปยังออสเตรเลียบ้านเกิด ขณะที่อีก 2 คนได้รับอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว โดยศาลอียิปต์ได้ไต่สวนคดีของนักข่าวอัลจากซีราทั้ง 3 คนใหม่อีกครั้ง และมีคำสั่งเมื่อเดือนสิงหาคม ให้จำคุกพวกเขาเป็นเวลา 3 ปีจนได้รับอภัยโทษในที่สุด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถือว่านักข่าวทั้งสามคนเป็นนักโทษทางความคิดตั้งแต่ถูกจับ กุม และเรียกร้องให้ทางการอียิปต์ปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งมีผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกกว่าหนึ่งล้านคนร่วมกันรณรงค์ในกรณีนี้

ทั้งนี้จะยังมีการเรียกร้องต่อไปเพื่อให้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดแก่นักข่าว ทั้ง 3 คน พวกเขาไม่ควรถูกจับและดำเนินคดีตั้งแต่ต้น เพราะสิ่งที่พวกเขาทำเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าหน้าที่ใน “การนำเสนอข่าว” ในฐานะผู้สื่อข่าวเท่านั้น

นี่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ ขอบคุณที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จนี้ด้วยกัน !!!

 

‪#‎การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม‬

 

อียิปต์: การอภัยโทษอาจช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ แต่ดูเหมือนเป็นการทำแบบพอเป็นพิธีมากกว่า

​ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ในวันนี้ประธานาธิบดีได้มีคำสั่งอภัยโทษนักโทษ 100 คน ซึ่งในที่นี้รวมถึงผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา เช่นโมฮาเหม็ด ฟาร์มี และบาร์เฮอร์ โมฮาเหม็ด และนักเคลื่อนไหวอีกหลายคนที่ถูกคุมขังอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นซานา เซอิฟ และ ยาลา ซาลาม เรื่องนี้นับว่าเป็นข่าวดี แต่ดูแล้วเหมือนเป็นการทำแบบพอเป็นพิธีมากกว่า

​ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าการอภัยโทษซึ่งมีขึ้นก่อนวันอีดิลฟิฏรี(Eid-ul-Fitr) หรือวันเฉลิมฉลองการออกศีลอดของชาวมุสลิมนี้ควรเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแก้ปัญหาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายอย่างจริงจังในยุคของประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์-อัล-ซิซี เช่น การไม่ยอมรับความเห็นต่างหรือการวิพากษ์วิจารณ์ทางการอย่างสงบ

​ ซาอิด บูเมดูฮา (Said Boumedouha) รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่าแม้การอภัยโทษครั้งนี้อาจช่วยสร้างความโล่งใจอย่างมาก แต่มันก็น่าขันสิ้นดีเพราะความจริงบุคคลเหล่านี้ไม่ควรถูกคุมขังตั้งแต่ต้น ทุกวันนี้ยังมีคนอีกหลายร้อยคนที่ถูกคุมขังเพียงเพราะพวกเขาทำการประท้วง หรือเพราะทำหน้าที่สื่อมวลชน ดังนั้นทางการจะต้องยกเลิกคำตัดสินลงโทษบุคคลที่ถูกคุมขังเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ชุมนุมประท้วงอย่างสงบ หรือเพียงเพราะพวกเขาทำหน้าที่สื่อมวลชนหรือทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขาทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

 

​ “ผู้ที่ได้รับการอภัยโทษในวันนี้เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ของประชาชนอีกหลายร้อยคนทั่วประเทศที่ถูกจับกุมโดยพลการและถูกควบคุมตัวอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการอภัยโทษครั้งนี้จะเป็นการกระทำที่สูญเปล่า หากไม่มีการสานต่อด้วยการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ ให้ความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม รวมถึงนำตัวผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมาลงโทษ”


​ ในรายชื่อผู้ได้รับการอภัยโทษประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนที่สำคัญหลายคน โดยพวกเขาถูกคุมขังเพียงเพราะพวกเขากล้าท้าทายต่อกฎหมายห้ามการประท้วงในอียิปต์ เช่นซานา เซอิฟและ อุมรา เฮเซกรวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงอย่างยาลา ซาลาม

​ ส่วนผู้ได้รับการอภัยโทษคนอื่น ๆ เช่น โมฮาเหม็ด ฟาร์มีและ บาร์เฮอร์ โมฮาเหม็ด ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวอัลจาซีรานั้นถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดไปเมื่อไม่นานมานี้ในข้อหา “เผยแพร่ข่าวเท็จ” รวมทั้งเพื่อนนักข่าวอีกคนหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัวก่อนหน้านี้คือนาย ปีเตอร์ เกรต โดยทั้งหมดถูกจับกุมเมื่อปี 2556

​ อย่างไรก็ดี ในรายชื่อเหล่านี้กลับไม่มีชื่อของ อัลลา อับเดล ฟาทาห์ (AlaaAbdel Fattah)และ อาเหม็ด ดูม(Ahmed Doum)บล็อกเกอร์ชื่อดัง รวมถึง อาเหม็ด มาร์ (Ahmed Maher)และ โมฮัมเหม็ด อเดล (Mohamed Adel)เยาวชนนักเคลื่อนไหวกรณีวันที่ 6 เมษายน หรือแม้กระทั่งผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนอย่าง มาฮิเอเนอร์ เอลมาซี (MahienoorElmasry)นอกจากนี้ยังไม่มีชื่อของนักโทษทางความคิดคนอื่น ๆ เช่น นักถ่ายภาพวารสาร มามูด อาบู เซอิด (Mahmoud Abu Zeid) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ชอว์คาน (Shawkan)และนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัว คือ มามูด ฮุสเซน(Mahmoud Hussein)