ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ปฎิญญานี้คืออะไร?

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) คือ เอกสารที่ทั่วโลกตกลงใช้ร่วมกันเป็นแนวทางไปสู่เสรีภาพและความเท่าเทียม โดยการปกป้องสิทธิมนุษยชนของทุกคนในทุกแห่งหน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นานาประเทศเห็นพ้องกันว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องเพื่อให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างเสรี เท่าเทียม และมีศักดิ์ศรี

ปฏิญญาได้ถูกตอบรับในวันที่ 10 ธันวาคม 1948 โดยสหประชาชาติที่เพิ่งจะก่อตั้งได้ไม่นาน หลังจากชาวโลกต้องเผชิญกับ “การกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน...ที่สร้างความเกรี้ยวกราดต่อจิตสำนึกของมวลมนุษยชาติ” ที่ได้เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่สอง การรับรองปฏิญญาในครั้งนั้นได้กลายเป็นรากฐานไปสู่อิสรภาพ ความยุติธรรม และความสงบสุข

 

ปฏิญญานี้ได้เริ่มการร่างกันมาตั้งแต่ปี 1946 โดยในตอนแรกอาศัยคณะกรรมการที่มาจากประเทศมากมาย รวมถึงสหรัฐอเมริกา เลบานอน และจีน ต่อมาคณะร่างปฏิญญาก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้นโดยรวมผู้แทนจากออสเตรเลีย ชิลี ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหราชอาณาจักร เพื่อให้เอกสารนี้ได้รับส่วนร่วมจากผู้คนในทุกมุมโลก รวมไปถึงความหลากหลายของวัฒนธรรม ศาสนา และการเมือง ปฏิญญานี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในที่สุดในปี 1948

 

ปฏิญญานี้ได้อธิบายสิทธิและเสรีภาพ 30 อย่างที่มนุษย์ทุกคนต้องมีและไม่มีใครพรากมันไปได้ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ได้เป็นรากฐานสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน แม้แต่ในปัจจุบัน เอกสารนี้ก็ยังคงบังคับใช้อยู่ และเป็นเอกสารที่ได้รับการแปลภาษามากที่สุดในโลก

UDHR ออกแบบไว้เพื่ออะไร?

UDHR เป็นเสมือนเสาหลักบอกทาง เพราะเป็นครั้งแรกของโลกที่มนุษยชาติได้ตกลงร่วมกันว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีเสรีและความเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เพศ สีผิว ศาสนา หรือเอกลักษณ์ใดๆ

สิทธิและเสรีภาพ 30 ข้อที่ระบุไว้ในปฏิญญารวมไปถึงสิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน เสรีภาพการแสดงออก การเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการขอลี้ภัย อีกทั้งยังรวมไปถึงสิทธิทางการเมืองและประชาสังคม เช่นสิทธิในการมีชีวิต อิสระเสรี และความเป็นส่วนตัว และยังมีสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น สิทธิประกันสังคม สุขภาพ และการมีที่อยู่อาศัย

70 ปีแห่งสิทธิมนุษยชน

UDHR ถูกเขียนขึ้นเพื่อมนุษย์ทุกหมู่เหล่าในทุกๆชาติ แม้มันจะไม่ใช่กฎหมายบังคับ แต่การปกป้องสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของการเขียนกฎหมายและกลไกทางการปกครองของหลายๆ ประเทศ

ตัวปฏิญญานี้ก็เป็นรากฐานสำคัญของการเขียนสนธิสัญญาทางสิทธิมนุษยชนที่มีการบังคับใช้อีกมากมาย และกลายเป็นบรรทัดฐานของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกชนชาติในโลก

ทุกวันนี้ UDHR ยังคงเป็นรากฐานในการร่างกฎหมายทั้งภายในและระหว่างประเทศ และสำหรับองค์กรที่ถูกก่อตั้งมาเพื่อปกป้องและสร้างความตระหนักถึงสิทธิในสังคมอย่างเช่นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ปฎิญญานี้ก็คือภารกิจและวิสัยทัศน์ขององค์กร

จากอดีตถึงปัจจุบัน

1946

นางเอเลนอร์ รูสเวลท์ (1884 - 1964) นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้บรรยาย ทูต นักกิจกรรมเพื่อสังคม และภรรยาของประธานาธิบดีคนที่ 32 ของอเมริกา นายแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ กำลังฟังเนื้อหาการประชุมผ่านหูฟังในฐานะตัวแทนต่อสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่ชั่วคราวแห่งสหประชาชาติที่ทะเลสาบซักเซส รัฐนิวยอร์ค

1948

นางเอเลนอร์ รูสเวลท์ กรรมการคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และ ดร. ชาร์ลส มาลิค กรรมการจากคณะกรรมาธิการที่สามในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (คนที่สองจากด้านขวา) ระหว่างการแถลงข่าวเสร็จสิ้นการร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

1950

กลุ่มสตรีชาวญี่ปุ่นกำลังอ่านปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในระหว่างการเยือนสำนักงานใหญ่ชั่วคราวแห่งสหประชาชาติที่ทะเลสาบซักเซส รัฐนิวยอร์ค

1997

เด็กๆ กำลังลงชื่อในคำปฏิญาณตนต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่รัฐสภานอร์เวย์ โดยคำปฏิญาณดังกล่าวจัดทำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

1998

องค์ดาไลลามะที่สิบสี่ได้ลงนามในคำปฏิญาณตนต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ร่วมกับนางอนิต้า รอดดิกค์ และนายบิลล์ ชูลทส์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา โดยคำปฏิญาณดังกล่าวจัดทำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เนื่องในโอกาศครบรอบ 50 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

1998

นายมูฮัมหมัด อาลี นักมวยชื่อดัง ได้ลงนามในคำปฏิญาณตนต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ณ เมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกาโดยคำปฏิญาณดังกล่าวจัดทำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

2008

ผู้คนเขียนบนกำแพงที่จัดแสดงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ระหว่างแรลลี่ที่จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในโอกาสครบรอบ 60 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

"สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสากล ไม่อาจแบ่งแยก และต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันเสมอ"

สิทธิมนุษยชนทุกข้อล้วนมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน และทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนทุกข้ออย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รัฐทุกรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องและทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงสิทธิมนุษยชนได้โดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชาติ ทั้งของรัฐและของประชาชน

ดังนั้นไม่ว่ามนุษย์จะมีความแตกต่างอย่างไร หนึ่งบรรทัดฐานสำคัญที่เป็นหัวใจของสิทธิมนุษยชนทุกข้อที่ระบุไว้ในปฏิญญา ก็คือมนุษย์ทุกคนมีสิทธิโดยที่ใครก็พรากไปไม่ได้ นั่นหมายถึงไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ยากดีมีจนอย่างไรล้วนได้รับสิทธิมนุษยชนเหมือนกันทุกๆคน ทุกๆชาติ ศาสนา อุดมการณ์ เพศสภาพ ภาษา ฝ่ายทางการเมือง เพราะในปฏิญญานี้ คำว่าสากลแปลว่าทุกๆคนในทุกๆที่

 

นอกจากนี้สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้และต้องพึ่งพากันเสมอ หากเสียไปแม้เพียงหนึ่งข้อ สิทธิที่เหลือก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และไม่มีใครที่สามารถจะมาตัดสินให้สิทธิใดสำคัญกว่าสิทธิอื่นได้

ปฏิญญา 30 ข้อมีอะไรบ้าง?

แล้วแอมเนสตี้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างไร?

UDHR คือรากฐานของเป้าหมายที่แอมเนสตี้และผู้สนับสนุนของเราอีกเจ็ดล้านคนรอบโลกต่อสู้เพื่อให้บรรลุในทุกๆ วันมามากกว่า 50 ปีนับตั้งแต่วันที่ก่อตั้ง พวกเรายังคงลงมือทำกิจกรรมและโครงการต่างๆเพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรม เสรีภาพ ความจริงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในทุกๆที่ ที่ประชาชนถูกพรากสิ่งเหล่านี้ไป 

เราทำสิ่งนี้ได้ด้วยการตรวจสอบและเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่ใดก็ตาม ด้วยการรวมพลังการเคลื่อนไหวจากรอบโลก เราส่องไฟให้โลกได้เห็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลให้คนรุ่นต่อไปสามารถทำให้สิทธิมนุษยชนได้กลายเป็นความจริง