การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาพรวม

เป็นเรื่องง่ายที่เราจะมองข้ามปัญหาของโลก จนกระทั่งเราต้องเผชิญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติซึ่งส่งผลกระทบต่อการชีวิตในประจำวันของเรา เช่น ความหิวโหย การพลัดถิ่น การว่างงาน การเจ็บป่วย และการเสียชีวิต

ผู้คนหลายล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานจากผลกระทบที่รุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่ภัยแล้งที่ยาวนานในแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ไปจนถึงพายุโซนร้อนที่สร้างความเสียหายทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคริบเบียน และแปซิฟิก อุณหภูมิที่แผดเผาทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงในยุโรปและไฟป่าในเกาหลีใต้ แอลจีเรีย และโครเอเชีย เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน ในขณะที่เกิดภัยแล้งอย่างยาวนานและรุนแรงในมาดากัสการ์ ทำให้ประชากร 1 ล้านคนถูกจำกัดการเข้าถึงอาหาร การทำลายล้างที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในขณะนี้และในอนาคตเป็นสัญญาณเตือนสำหรับมนุษยชาติ

สภาพอากาศที่รุนแรง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและปรากฏการณ์อื่นๆ ที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อสิ่งแวดล้อม แต่รัฐบาลต่างๆ ก็ยังคงล้มเหลวในการดำเนินการหรือมาตรการเร่งด่วนที่จำเป็นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศดังกล่าว

ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศหรือระดับผู้บริหารในบริษัทน้ำมัน ต้องการให้เราเชื่อว่าอนาคตของโลกอยู่ในมือของพวกเราเอง พวกเขาต้องการให้เราเชื่อว่า หากเรารีไซเคิลทรัพยากรมากพอหรือหยุดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เราก็จะสามารถหยุดยั้งวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากมันได้

พวกเขาต้องการให้เราเชื่อว่าทางออกอยู่ที่การกระทำของพวกเราแต่ละบุคคล ไม่ใช่การยุติความโลภของบรรษัทขนาดใหญ่

ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่จริงเลย

แต่เรายังมีเหตุผลที่จะคาดหวังได้ เพราะรัฐบาลมีพันธกรณีทางกฎหมายที่จะต้องลดและยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม ถือว่ารัฐบาลได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดบางประการของประชาชนรัฐบาลของประเทศที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ต้องเป็นฝ่ายเริ่มดำเนินการก่อน และต้องลดการปล่อยก๊าซให้ได้มากที่สุด

สิทธิเหล่านี้รวมถึงสิทธิในการมีสุขภาพที่ดี การเข้าถึงอาหารเพียงพอ ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และแม้กระทั่งสิทธิในการมีชีวิต หากเราร่วมมือกันและส่งเสียงให้ดังพอ เราสามารถสร้างหนทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้

ยังไม่สายเกินไปที่จะหว่านเมล็ดพันธุ์เพื่ออนาคตที่ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

ผลกระทบที่รุนแรงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ    ได้แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งแวดล้อมที่ดีมีความสำคัญ อย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ของเราอย่างไรบ้าง

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ทำไมนโยบายเกี่ยวกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่จริงจังของผู้นำจึงถือเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชนอย่างลึกซึ้ง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่ต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเป็นอยู่ของเราเอง และท้ายที่สุดคือการมีชีวิตรอดของเรา

ผู้นำโลก โดยเฉพาะผู้นำจากประเทศที่มีรายได้สูงซึ่งมีความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ล้มเหลวต่อพันธกรณีทางกฎหมายในการจำกัดการกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และล้มเหลวในการช่วยให้เราสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากพวกเขาไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะยิ่งทวีความรุนแรงและขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะทั้งต่อคนรุ่นปัจจุบันและในอนาคต

นี่คือเหตุผลว่าทำไมความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ท่ามกลางหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายที่สนับสนุนอย่างชัดเจน อาจนำไปสู่การการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างรุ่นที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

บรรษัทต่าง ๆ ก็มีหน้าที่ในการเคารพสิทธิมนุษยชนเช่นกัน แต่ภาคธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะบริษัทพลังงานฟอสซิล กลับหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของตนโดยการยังคงขุด แปรรูป จำหน่าย และเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปจนเกิดผลกระทบที่ร้ายแรง พวกเขายังเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประกาศปรับปรุงนโยบายเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึง ‘ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ ของตนอีกด้วย

คุณบอกว่าคุณรักลูกรักหลานมากกว่าสิ่งอื่นใด
แต่คุณกลับขโมยอนาคตของพวกเขาไปต่อหน้าต่อตา

เกรตา ทุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศและผู้ก่อตั้งการนัดหยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ
หญิงสาวและเด็กที่ต้องพลัดถิ่นจากฝนตกหนักในพื้นที่เบเลดเวย์นในโซมาเลียนั่งข้างนอกเต็นท์ขณะล้างจาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดวัฏจักรของน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งทำให้ผู้คนหลายแสนคนในโซมาเลียต้องตกอยู่ในภาวะเปราะบางและต้องพลัดถิ่น ภาพโดย ©LUIS TATO/AFP จาก Getty Images
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิทธิในการมีชีวิต

เราทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตและใช้ชีวิตอย่างอิสระและปลอดภัย แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามชีวิตและความปลอดภัยของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศรุนแรง เช่น พายุ น้ำท่วม และไฟป่า

แต่อันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคุกคามชีวิตในรูปแบบที่มองไม่เห็นอีกหลายประการ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตผู้คนอย่างเงียบ ๆ องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 250,000 รายต่อปีระหว่างปี 2573 ถึง 2593

เด็กชายคนหนึ่งมองดูทีมกู้ภัยขณะค้นหาผู้รอดชีวิตท่ามกลางซากปรักหักพังในเมืองซูซซาทางตะวันออก หลังเกิดน้ำท่วมฉับพลันอันร้ายแรงในปี 2566 ภาพโดย ©OZAN KOSE/AFP จาก Getty Images
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิทธิด้านสุขภาพ

เราทุกคนมีสิทธิในการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีในมาตรฐานระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามข้อมูลของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า ผลกระทบด้านสุขภาพที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์จะรวมถึงจะรวมถึง

  • ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการบาดเจ็บ 
  • การเป็นโรค และการเสียชีวิตจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น คลื่นความร้อนและไฟป่าที่รุนแรงขึ้น
  • ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการขาดสารอาหารจากการผลิตอาหารที่ลดลง
  • ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคที่เกิดจากอาหาร น้ำ และโรคที่เกิดแมลงที่เป็นจากพาหะนำโรค

ผู้คน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้านแรง เช่น ภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเผชิญกับภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (post-traumatic stress disorders หรือ PTSD)

การสกัดและการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลสร้างความเสียหายไม่เพียงเฉพาะต่อสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือระบุว่า ในปี 2563 เพียงปีเดียว มีผู้เสียชีวิตกว่า 1.2 ล้านราย อันเนื่องมาจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศโดยตรง การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการผลิตปิโตรเคมีไม่เพียงแต่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเท่านั้น แต่ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเหล่านี้ยังทำให้มลพิษทางอากาศแย่ลงอีกด้วย

เด็กคนหนึ่งในย่านปัมพลอนา อัลตากำลังล้างมือ ซึ่งผู้คนในพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงน้ำสะอาดในชีวิตประจำวัน การขาดแคลนแหล่งน้ำดื่มบังคับให้ผู้คนต้องซื้อน้ำจากรถบรรทุกที่มาแจกจ่าย ภาพโดย ©Klebher Vasquez/Anadolu Agency จาก Getty Images
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิทธิในที่อยู่อาศัย

เราทุกคนมีสิทธิที่จะมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว รวมถึงมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม

หากรัฐบาลไม่ดำเนินการที่เหมาะสมและเพียงพอเพื่อช่วยหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง เช่น น้ำท่วมและไฟป่า จะยังคงทำลายบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยของผู้คน ทำให้พวกเขาต้องพลัดถิ่น ภัยแล้งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นก็คุกคามบ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มน้ำของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก

ผู้คนกำลังถูกผลักดันให้พลัดถิ่นอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ในรัฐตาบัสโก ประเทศเม็กซิโก ซึ่งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกำลังทำลายชุมชนทั้งชุมชน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิทธิในการเข้าถึงน้ำและสุขอนามัย

เราทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ปลอดภัยที่รับรองว่าเราจะมีสุขภาพที่ดี

แต่การไม่ดำเนินการของรัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องได้นำเรามาถึงจุดที่หิมะและน้ำแข็งเริ่มละลายละลาย ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง อุณหภูมิที่สูงขึ้น และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรน้ำ มีผู้คนถึง 785 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดหรือสุขอนามัยที่ปลอดภัยได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้สถานการณ์นี้แย่ลง

อะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ?

  • การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  • เกษตรกรรมและการตัดไม้ทำลายป่า
  • การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน

โลกเกิดความผันผวนอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคย อันเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้เกิดปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อใช้ในเรื่องของพลังงานและการขนส่ง เช่น ก๊าซ น้ำมัน และถ่านหิน เป็นแหล่งปล่อยสารที่เป็นพิษซึ่งทำให้อากาศและตัวเราที่ต้องใช้อากาศหายใจเกิดอันตรายขึ้นได้ และเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกโดยมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ มันจะกักเก็บพลังงานไว้ ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ประมาณการว่าเกือบหนึ่งในสี่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดมาจากภาคเกษตรกรรมและป่าไม้ (23%) ทำให้เป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับสองรองจากภาคพลังงาน ประมาณ 40% ของการปล่อยก๊าซเหล่านี้มาจากกระบวนการย่อยอาหารตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค แกะ แพะ การใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า ความเสื่อมโทรมของป่าและไฟป่า ก็เป็นแหล่งสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน กิจกรรมเหล่านี้ เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์สำหรับการเลี้ยงโคเชิงพาณิชย์ การผลิตพืชเป็นผลิตเป็นอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลืองและสวนปาล์มน้ำมัน มักมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับระบบอาหารอุตสาหกรรมเกษตร

ผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในอัตราที่น่าตกใจ สาเหตุหนึ่งคือรัฐบาลแต่ละประเทศไม่สามารถเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้เร็วพอ แม้ว่าในหลายพื้นที่ของโลกจะมีการลงทุนในการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น แต่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลกลับไม่ลดลงเลย เพราะปริมาณการใช้พลังงานโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้สูงและมีการปล่อยมลพิษในระดับสูงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่ระบบการใช้พลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้นเพื่อเป็นทางออกในการใช้พลังงาน และยังต้องสนับสนุนให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำสามารถดำเนินการในแนวทางเดียวกันได้ด้วย

เปลวไฟพุ่งออกมาจากท่อไอเสียในแหล่งน้ำมันของเชลล์ที่หนึ่งในเมืองโบโม ประเทศไนจีเรีย ประวัติศาสตร์อันยาวนานและเลวร้ายของเชลล์ในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ด้วยคราบน้ำมันที่รั่วไหลอย่างมหาศาล และการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการเคลื่อนไหวของชาวโอโกนีในท้องถิ่น ©Tim Lambon / Greenpeace

อุตสาหกรรมใดบ้างที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด?

แทบทุกอุตสาหกรรมล้วนมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่บางอุตสาหกรรมก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากที่สุดคืออุตสาหกรรมภาคพลังงาน ซึ่งขายผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ

อุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษรายใหญ่เป็นอันดับสองคืออุตสาหกรรมภาคเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ในระบบอุตสาหกรรม การตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ไม่เพียงแต่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังทำลายกลไกธรรมชาติที่ช่วยป้องกันการเพิ่มขึ้นของระดับคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย ป่าไม้และต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และมีบทบาทสำคัญในการปกป้องบรรยากาศของเรา แต่พวกมันกลับถูกทำลายอย่างต่อเนื่องจากไฟป่าที่ถูกจุดขึ้นโดยเจตนาเพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับการเกษตรเชิงพาณิชย์

รถปราบดินหรือรถดันดินกำลังดันถ่านหินเข้าสู่สายพานลำเลียงที่สถานีไฟฟ้าเจียงโหยว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ในเจียงโหยว เหมียนหยาง มณฑลเสฉวนของจีน ภาพโดย©Liu Zhongjun/China News Service จาก Getty Images

ใครได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ?

ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

สภาพอากาศที่สุดขั้ว ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น มลพิษทางอากาศที่รุนแรงและปรากฏการณ์อื่นๆ ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบที่ร้ายแรงตลอดทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรที่ยากจนและคนชายขอบซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด ประเทศที่มีรายได้สูงและมีการปล่อยก๊าซเรือนในระดับสูงในภูมิภาคนี้ได้ร่วมมือกับประเทศที่มีรายได้สูงในภูมิภาคอื่นเพื่อขัดขวางไม่ให้บรรลุข้อตกลงในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) เกี่ยวกับระบบบริหารเงินทุนสนับสนุนการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศที่มีรายได้น้อยเรียกร้องให้มีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม

ภูมิภาคเอเชียใต้ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนรุนแรงและน้ำท่วมหนักอีกครั้ง ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของผู้คนนับล้าน ในรัฐอัสสัมของอินเดีย อุทกภัยส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 113 คน ในบังกลาเทศ ประชาชนกว่า 500,000 คนต้องพลัดถิ่นฐาน น้ำท่วมและดินถล่มในอัฟกานิสถาน เนปาลและปากีสถาน ได้คร่าชีวิตผู้คนหลายร้อยคนและต้องพลัดถิ่นฐานอีกหลายพันคน มลพิษทางอากาศในกรุงเดลีของอินเดียและในเมืองต่างๆ ของปากีสถานพุ่งขึ้นถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มชุมชนชายขอบ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังคงสร้างความเสียหายและเป็นอัตรายต่อพวกเราทุกคน หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงเป็นพิเศษสำหรับบางชุมชนและประชากรบางกลุ่ม ตลอดจนชุมชนที่เสียเปรียบและต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง:

ชาวบ้านท้องถิ่นเดินอยู่บนแม่น้ำที่เหือดแห้งในเขตซัดคิรา ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศภาคพื้นทวีปที่เปราะบางที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาพโดย ©Zakir Hossain Chowdhury / Barcro / Barcroft Media จาก Getty Images
ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศชายฝั่งและรัฐหมู่เกาะขนาดเล็ก

ผู้คนในประเทศที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ และประเทศที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ กำลังเป็นและยังคงเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ทั้งที่ผู้คนในประเทศเหล่านี้มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก แต่กลับต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างหนักและเลวร้ายที่สุด

แม้ว่าบางประเทศมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษอันเนื่องจากภูมิศาสตร์ของประเทศ เช่น ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก แต่ผลกระทบที่ประเทศที่มีรายได้น้อยต้องเผชิญนั้นกลับเป็นความสูญเสียและความเสียหายเป็นอย่างมาก อีกทั้งความสูญเสียและความสียหายดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการที่ผู้คนในประเทศที่มีรายได้น้อยเหล่านี้ต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งอันเนื่องจากสภาพภูมิอากาศเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลพวงที่ตามมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมและมรดกของการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศต่างๆ ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจนี้ยังอยู่ได้เพราะการเหยียดเชื้อชาติและทัศนคตินิยมอาณานิคมในปัจจุบันยังคงอยู่ และเป็นปัจจัยที่ลดความสามารถของประเทศที่มีรายได้น้อยในการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่ร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศที่มีรายได้น้อยมีทรัพยากรไม่เพียงพอในการปรับตัวต่อผลกระทบที่เลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ผู้มีทรัพยากรเพียงพอ เช่น บรรษัทและรัฐบาลจากประเทศที่มีรายได้สูง มักจะเพิกเฉยและละเลยเป็นประจำต่อความรับผิดชอบทางกฎหมายและพันธกรณีของตนในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

แม้จะมีความไม่สมดุลของอำนาจอย่างรุนแรง แต่รัฐบาลและนักเคลื่อนไหวในประเทศที่มีรายได้น้อยจำนวนมากก็ลุกขึ้นต่อสู้ในประเด็นดังกล่าว ตัวอย่างเช่น แคมเปญที่ดำเนินการโดยรัฐบาลวานูอาตูร่วมกับนักเรียนนักศึกษาจากประเทศเล็กๆ แห่งหนึ่งในหมู่เกาะแปซิฟิก ได้นำไปสู่การลงมติครั้งประวัติศาสตร์ในองค์การสหประชาชาติ ซึ่งช่วยเสริมสร้างให้ข้อเรียกร้องของพวกเขาในการไม่ดำเนินการต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกพิจารณาว่าเป็นประเด็นของความยุติธรรมระหว่างประเทศ

ปากีสถาน ซึ่งคิดเป็น 0.4% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี 2502 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลกตามการศึกษาร่วมกันของธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย น้ำท่วมในปี 2565 เพียงเหตุการณ์เดียวทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,600 ราย และทำให้ประเทศเสียหายถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ มารีเนล อูบัลโด กำลังมุ่งหน้าเดินไปยังชายหาดโยลันดา ในจังหวัดซามาร์ตะวันออก ประเทศฟิลิปปินส์ ภาพโดย©Eloisa Lopez/Amnesty International
ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเหยียดเชื้อชาติทางสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลยังสะท้อนถึงเส้นแบ่งทางเชื้อชาติและลำดับชั้นทางสังคมประเภทอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทำให้คนผิวดำและชุมชนอื่นๆ ต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติทั้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา และภาษา รวมถึงกีดกันพวกเขาออกจากบทบาทผู้นำในการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างเช่น ในทวีปอเมริกาเหนือ โดยส่วนใหญ่ชุมชนคนผิวสีที่มีฐานะยากจนมักถูกบังคับให้เป็นผู้ที่ต้องสูดอากาศหายใจรับอากาศที่เป็นพิษเข้าไปเพราะละแวกบ้านของพวกเขามักตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้า โรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน พวกเขามีอัตราการเจ็บป่วยจากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและมะเร็งในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างเห็นได้ชัด ชาวแอฟริกันอเมริกัน (อเมริกันเชื้อสายแอฟริกา) มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากมลพิษในอากาศมากกว่าประชากรสหรัฐโดยรวมถึงสามเท่า

กรณีศึกษา: ชุมชนชายขอบในประเทศบังกลาเทศ

ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของบังกลาเทศต้องเผชิญกับความยากจนที่เพิ่มสูงขึ้น ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการพลัดถิ่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม จึงมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดน้ำท่วมสูง

ชุมชนในพื้นที่นี้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ เช่น การประมง การเลี้ยงกุ้ง และเกษตรกรรม แต่เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ผู้คนในพื้นที่เข้าถึงทรัพยากรได้ยากขึ้นและไม่สามารถปกป้องการดำรงชีวิตของพวกเขาได้ คุณภาพชีวิตของพวกเขาไดรับผลกระทบอย่างไม่ได้สัดส่วน รวมถึงการพวกเขาต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากจนอยู่แล้ว

ชาวดาลิตในบังกลาเทศเป็นกลุ่มคนชายขอบที่มีชีวิตอยู่กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเนื่องจากอันตรายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและส่งผลกระทบยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น

ประชากรส่วนใหญ่ของชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของบังกลาเทศมีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผู้หญิงและเด็กหญิงชายขอบ

ผู้หญิงและเด็กหญิงมักถูกจำกัดให้อยู่ในบทบาทและงานที่ทำให้พวกเธอต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า ด้วยเหตุที่พวกเธอมักจะต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินหรือเทคโนโลยี และหลายครั้งยังถูกปฏิเสธสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดิน ทำให้พวกเธอมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยกว่า ซึ่งหมายความว่าพวกเธอมีความเสี่ยงมากขึ้นจากผลกระทบของเหตุการณ์หรือภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากพวกเธอมีข้อจำกัดในการปกป้องตนเองและฟื้นตัวจากเหตุการณ์เหล่านั้นได้ยาก

เด็ก

เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญกับความยากลำบากอันเนื่องจากกระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกาย สรีรวิทยา และความต้องการด้านพัฒนาการที่เฉพาะเจาะจงของพวกเขา การบังคับพลัดถิ่นซึ่งเกิดขึ้นกับชุมชนต่างๆ ส่งผลกระทบต่อสิทธิต่างๆ ตั้งแต่น้ำ สุขอนามัย และอาหาร ไปจนถึงที่อยู่อาศัย สุขภาพ การศึกษา และการพัฒนาที่เพียงพอ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงและอันตรายเป็นพิเศษต่อเด็กด้วย

กรณีศึกษา: ปากีสถาน

ในปี 2566 แอมเนสตี้ได้เผยแพร่งานวิจัยที่เน้นย้ำถึงความยากลำบากของคนจนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ร้อนที่สุดบางแห่งของโลก รวมถึงเมืองลาฮอร์และจาโคบาบัดในปากีสถานด้วย

ปากีสถานเป็นหนึ่งในประเทศต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเห็นได้จากคลื่นความร้อนรุนแรงต่อเนื่องหลายครั้งที่สร้างความเสียหายต่อสิทธิมนุษยชน แม้ว่าคลื่นความร้อนรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่บางคนก็ได้รับผลกระทบหนักกว่าเนื่องจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตน

ถ้าเราหยุดพัก ก็จะไม่มีค่าแรงรายวัน… เพราะความยากจน เราจึงต้องทำงานไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร

คนขับรถแทรกเตอร์ในเมืองจาโคบาบัด ซึ่งอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 52°C / 125.6°F
คนงานเตาเผาอิฐอายุ 70 ​​ปี กำลังคลายร้อน ©Shakil Adil for Amnesty International

ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (climate justice) คืออะไร?

ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศเป็นคำที่ใช้โดยองค์กรภาคประชาสังคมและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความจำเป็นในการออกแบบการตอบสนองเชิงนโยบายที่ยุติธรรม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรถูกมองว่าเป็นปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม คล้ายกับที่เรามองการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่น ๆ เพราะมันเป็นผลลัพธ์จากการกระทำของคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจโดยก่อให้เกิดความเสียหายต่อคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็คือพวกเรา ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้คนที่ถูกกีดกันหรือเป็นคนชายขอบของสังคม เช่น ผู้คนในประเทศที่มีรายได้น้อยและผู้ที่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในประเทศที่มีรายได้สูง

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราเคยได้ยินนักเคลื่อนไหวและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจำนวนมากใช้คำว่า “ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ” (climate justice) ซึ่งแนวคิดนี้มองปัญหาผ่านมุมมองที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง โดยเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านนโยบายที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน

แนวทางความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศมุ่งเน้นไปที่การมองหาต้นตอของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และวิเคราะห์ถึงวิธีการที่สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงและขยายความไม่เท่าเทียม ทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ แนวทางนี้เรียกร้องให้สถาบันที่มีอำนาจดำเนินการจัดการกับความไม่สมดุลและความไม่เป็นธรรมดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากการกำหนดศูนย์กลางปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศที่ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้อง ประสบการณ์ รวมถึงเน้นให้เห็นถึงมุมมอง องค์ความรู้ และความต้องการของกลุ่มและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด และวางรากฐานสำหรับอนาคตที่ไม่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติซ้ำๆ อย่างในอดีตและปัจจุบัน

ขบวนการเคลื่อนไหวนี้เรียกร้องให้เราทุกคนตระหนักถึงสิทธิพิเศษของตนเองในการเคลื่อนไหวและรณรงค์เพื่ออนาคตที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน

ความเป็นธรรมทางเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น ชาติพันธุ์ ความพิการ และความยุติธรรมระหว่างรุ่น เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบรรลุความยุติธรรทางสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง

ผู้หญิงจากชุมชนมาไซเข้าร่วมการชุมนุมใน Global Climate Strike ซึ่งจัดโดย Fridays For Future เพื่อเรียกร้องการชดเชยความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศจากผู้นำระดับโลก พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง ภาพโดย ©TONY KARUMBA/AFP จาก Getty Images

กรณีศึกษา: ออสเตรเลีย

ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้นำในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามเฉพาะต่อผืนแผ่นดินและวิถีชีวิตของพวกเขา

ตัวอย่างเช่น ผู้นำสองคนจากชาติพันธุ์ the Guda Maluyligal Nation ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อเรียกร้องให้มีการดำเนินการป้องกันการทำลายแหล่งวัฒนธรรมศักดิ์สิทธิ์และโครงสร้างพื้นฐานบนเกาะของพวกเขา

หากไม่มีการดำเนินการใดๆ อย่างเร่งด่วน ชาวเกาะจากช่องแคบทอร์เรสจำนวนมากจะถูกบังคับให้ต้องละทิ้งบ้านของตน เพราะพื้นที่ขนาดใหญ่ดังกล่าวจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป ซึ่งจะกลายเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงสำหรับชุมชน

ลุงพอลและลุงปาไบ เป็นผู้นำชุมชนจากชาติพันธ์ุ the Guda Maluyligal Nation ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือสุดของประเทศออสเตรเลียในช่องแคบทอร์เรส พวกเขาแสดงความเห็นว่ารัฐบาลออสเตรเลียดำเนินการไม่เพียงพอในการป้องกันความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่การทำลายที่ดินและวัฒนธรรมของพวกเขา ภาพโดย ©Talei Elu

ทำไมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจึงมีความสำคัญ?

การเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วจากระบบพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน (พลังงานทดแทน) เป็นสิ่งจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลง 43% ภายในปี 2573 และให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2562

สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องผลักดันการเปลี่ยนไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสีเขียวที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว พร้อมกับการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงซึ่งไม่ทำให้ทั้งโลกและมนุษย์ต้องเสียสละ และต้องไม่ทำให้เป็นปัญหาของคนรุ่นถัดไป รัฐบาลต้องมีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทต่างๆ เคารพสิทธิมนุษยชนในระหว่างการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

แนวทางการปฏิบัติอันยาวนานหลายปีในอุตสาหกรรมที่ไม่มีการควบคุม ทำให้ผลกระทบด้านลบจากการเติบโตของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แหล่งแร่ เช่น ชุมชนใน ‘สามเหลี่ยมลิเธียม’ ของอาร์เจนตินา ชิลี และโบลิเวีย รวมถึงพื้นที่ทำเหมืองโคบอลต์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) เป็นต้น

ช่างเทคนิคกำลังเดินอยู่ใกล้ๆ แผงโซลาร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ที่โรงไฟฟ้า O’Mega1 ในเมือง Piolenc ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ภาพโดย ©GERARD JULIEN/AFP จาก Getty Images

กรณีศึกษา: ให้ผู้หญิงชายขอบแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องชุมชนของพวกเขา

ระหว่างปี 2545 ถึง 2546 บริษัท CGC ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของอาร์เจนตินาได้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ของชาวซารายาคุ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งที่เป็นทหารและเอกชน ทางบริษัทฝังระเบิดและทำลายป่า ซึ่งเป็นการทำลายต้นไม้และพืชที่มีคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม คุณค่าอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนในพื้นที่ และคุณค่าทางวัฒนธรรมต่อชุมชนพื้นเมือง

ฉันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกลายเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะบริษัทน้ำมันละเมิดสิทธิมนุษยชนของหมู่บ้านและคนของฉัน

แพทริเซีย กัวลิงกา นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวซารายาคุ

ในปี 2555 ชาวซารายาคุได้ยื่นฟ้องรัฐเอกวาดอร์ต่อศาลสิทธิมนุษยชนทวีปอเมริกาสำหรับการอนุญาตให้บริษัท CGC สามารถดำเนินกิจการได้ และถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญ เพราะชาวซารายาคุได้รับชัยชนะในคดีนี้

เราได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่นๆ
…และให้ผู้หญิงชายขอบได้แสดงความคิดเห็นและบังคับให้บริษัทน้ำมันออกไปจากประเทศ

แพทริเซีย กัวลิงกา กล่าว

ถึงแม้จะได้รับชัยชนะ แต่ทางการกลับไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาล และวัตถุระเบิดยังคงถูกฝังอยู่ในพื้นที่ของชาวซารายาคุ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงสนับสนุนชาวซารายาคุอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในขณะที่พวกเขาเรียกร้องให้ทางการปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลทวีปอเมริกาในปี 2555

แอมเนสตี้ดำเนินการเรียกร้องให้ผู้นำรับผิดชอบและผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไรบ้าง?

ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจต้องให้ความสำคัญกับผู้คนก่อนผลกำไร และนำไปสู่การยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเต็มตัวและเร็วที่สุด

ความยุติธรรมที่แท้จริงนั้น ไม่ได้หมายรวมถึงแค่การหยุดทำลายโลกใบนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการชดเชยและการสนับสนุนให้กับผู้คนที่ชีวิตได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตนี้

รัฐบาลประเทศต่างๆ และฝ่ายบริหารของบริษัทอื่นๆ กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนของเรา เมื่อพวกเขาตัดสินใจที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไป นี่ไม่ใช่แค่เรื่องความปราถนาดีเท่านั้น แต่เป็นพันธะทางกฎหมายที่บังคับใช้กับรัฐบาลทุกประเทศและองค์กรทุกแห่ง การดำเนินการเพื่อยุติการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลควรดำเนินการอย่างเป็นธรรม และเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศที่มีรายได้สูงซึ่งปล่อยก๊าซมากที่สุดตั้งแต่อดีตจะต้องรับภาระหนักกว่าในการส่งเสริมความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ประเทศเหล่านี้ควรจัดสรรงบประมาณให้กับประเทศที่มีรายได้น้อยเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซได้

การเดินขบวนเพื่อสภาพภูมิอากาศของ Fridays for Future ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ภาพโดย ©Adolfo Lujan

แอมเนสตี้ทำอะไรบ้างเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ?

เมื่อพิจารณาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เร่งด่วน บทบาทของเราคือช่วยกระตุ้นองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน โดยแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้คนอย่างไรบ้าง และชี้ให้เห็นถึงวิธีที่ผู้คนสามารถระดมพลังเพื่อตอบสนองต่อความเป็นจริงและภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แอมเนสตี้ทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเพื่อกดดันรัฐบาลและบริษัทต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความคืบหน้าในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แอมเนสตี้ยังให้ความช่วยเหลือเยาวชน ชนเผ่าพื้นเมือง สหภาพแรงงาน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ในการเรียกร้องการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างรวดเร็วและยุติธรรมไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนเป็นศูนย์โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แอมเนสตี้แสวงหาความยุติธรรมสำหรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราได้รวบรวมหลักฐานแลงานวิจัยต่างๆ เพื่อเรียกร้องผู้มีอำนาจที่แท้งจริงให้ดำเนินการอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเสริมสร้างข้อพิพาททางกฎหมายที่แข็งแกร่งเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ที่สำคัญที่สุด แอมเนสตี้รณรงค์ร่วมกับผู้คนอย่างคุณ ผู้ซึ่งเป็นคนที่เราเชื่ออย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นกระบอกเสียงให้เรา เพื่อทำให้เห็นชัดว่า การไม่ดำเนินการใดๆ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะต้องไม่ถูกมองข้ามอีกต่อ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลประเทศต่างๆ ในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลสภาพภูมิอากาศให้

  • รัฐบาลต้องเพิ่มการลงทุนในด้านการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการคุ้มครองกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยอาจรวมถึงการขอรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้าสภาพภูมิอากาศ หากมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น 
  • ประเทศที่มีรายได้สูงและประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงต้องเป็นผู้นำในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการยุติการขยายการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล และดำเนินนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกเพื่อช่วยหยุดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
  • ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ ก่อนหรือภายในปี 2593 ประเทศที่ร่ำรวยกว่าควรดำเนินการให้เร็วที่สุด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกภายในปี 2573 จะต้องลดลงครึ่งหนึ่งจากปี 2553
  • หยุดใช้และผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ) โดยเร็วที่สุด
  • ประกันว่าการดำเนินการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเป็นไปในลักษณะที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการลดมากกว่าการเพิ่มความไม่เท่าเทียม
  • ประกันว่าทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่เศรษฐกิจที่ปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิลจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขาเองได้
  • ทำงานร่วมกันเพื่อแบ่งปันภาระของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยุติธรรม ประเทศที่ร่ำรวยกว่าต้องให้การสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งต้องให้การเยียวยา รวมถึงการชดเชยให้กับผู้ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากและยังคงเกิดความสูญเสียและความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
  • ปกป้องสิทธิของผู้พลัดถิ่นหรือผู้ที่เสี่ยงต่อการพลัดถิ่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม