สิทธิเด็ก

สิทธิมนุษยชนของเด็ก

 

ภาพรวม

 

โลกเรามีเด็กอยู่ประมาณ 2.3 พันล้านคน หรือเกือบหนึ่งในสามของประชากรโลกตามกฎหมาย เด็กหมายถึงบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะในประเทศของตน ส่วนใหญ่จะกำหนดที่อายุ 18 ปี ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไร เด็กทุกคนต่างมีสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ รวมทั้งสิทธิในการพูดและแสดงความเห็น รวมทั้งสิทธิด้านความเท่าเทียม สุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อมที่ดี สถานที่ปลอดภัยเพื่อการดำรงชีพ และการคุ้มครองให้ปลอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง สิทธิเด็กได้รับการรับรองตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ. 2532 (UNCRC) ซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่มีการให้สัตยาบันรับรองมากสุดในโลก มีเพียงประเทศเดียวจากรัฐภาคี 197 ประเทศที่ไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญานี้ คือสหรัฐอเมริกา 

 

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมุ่งคุ้มครองให้เด็กปลอดพ้นจากอันตราย สนับสนุนการเติบโตและการพัฒนา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคม ข้อ 42 ของอนุสัญญาเป็นการแสดงพันธกิจที่จะให้การศึกษากับเด็กและผู้ใหญ่เกี่ยวกับสิทธิเด็ก แต่มักเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น การไม่ตระหนักถึงสิทธิทำให้เด็กเสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติมิชอบ ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกแสวงหาประโยชน์ 

 

ด้วยเหตุดังกล่าว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แองเจลินา โจลี และศาสตราจารย์ เจเรอดีน ฟาน บูเรน QC ร่วมกันเขียนหนังสือสำหรับวัยรุ่น: Know Your Rights and Claim Them และเป็นเหตุให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนลจัดทำ หลักสูตรออนไลน์ที่ให้ความรู้ด้านสิทธิเด็ก

 

 

ปัญหาคืออะไร? 

 

ในระดับโลก มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กทุกวัน เด็กและเยาวชนมักเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิ เพราะยังต้องพึ่งพากับผู้ใหญ่ ซึ่งในหลายกรณีอาจทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เด็กมีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากสุดที่จะต้องเผชิญกับความยากจน การขาดสารอาหาร และการปฏิบัติมิชอบ และมักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน 

 

 

มีการละเมิดสิทธิเด็กอย่างไรบ้าง? 

 

NOEL CELIS/AFP via Getty Images

 

ภาพถ่ายในเงามืดของเด็กผู้ชายซึ่งขอเงินจากผู้ขับขี่ยานพาหนะ บริเวณทางลอดที่น้ำท่วมในกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561

 

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเพราะมักมีการปฏิบัติมิชอบหรือละเมิดสิทธิเด็กทุกประการ เริ่มตั้งแต่ตอนเกิด ยกตัวอย่างเช่น คาดการณ์ว่าไม่มีการแจ้งเกิดเด็ก 290 ล้านคนทั่วโลก ทำให้ไม่มีสถานะด้านบุคคลหรือเอกสารรับรองการมีอยู่ของตนเอง ทำให้พวกเขาแทบไม่มีโอกาสเรียกร้องสิทธิอย่างอื่นจนตลอดชีวิต ทำให้ไม่สามารถไปโรงเรียน ไม่ได้รับการรักษาพยาบาล หรือไม่มีงานทำเมื่อโตขึ้นมา เด็กผู้หญิงในประเทศรายได้น้อยมีโอกาสเพียง 50/50 ที่จะได้รับสถานะบุคคลและเข้าถึงสิทธิและบริการอื่น ๆ  

 

เด็กกว่า 61 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เข้าเรียนชั้นประถม คาดการณ์ว่าเด็กผู้หญิง 150 ล้านคน และเด็กผู้ชาย 73 ล้านคน ถูกละเมิดทางเพศทุกปี ในบางประเทศ เด็กผู้หญิงอายุเพียงเก้าขวบถูกบังคับให้แต่งงาน และเด็กอายุเพียงหกขวบต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลอาญาแบบเดียวกับผู้ใหญ่ มีเด็กอย่างน้อย 330,000 คนที่ถูกขังในศูนย์กักตัวคนต่างด้าวใน 80 ประเทศทุกปี เพียงเพราะเป็นผู้เข้าเมืองหรือผู้ลี้ภัย เด็กหลายคนถูกพรากจากพ่อแม่และครอบครัวของตนเอง 

 

ในปี 2562 เด็กหนึ่งในหกคนมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากจนสุดโต่ง สภาพที่ทำให้เด็กเสี่ยงมากขึ้นต่อความรุนแรงในครอบครัว การใช้แรงงานเด็ก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น และการแต่งงานของเด็ก ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19  

 

ในปี 2563 เด็กเกือบ 820 ล้านคนไม่มีที่ล้างมือในโรงเรียน ถือว่าละเมิดต่อสิทธิด้านสุขภาพ ทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นที่จะติดและแพร่โรค

 


 

สิทธิเด็กในการแสดงความเห็นเป็นอย่างไร?

 

Benjamin Girette / Hans Lucas

 

วันรณรงค์เพื่อสภาพภูมิอากาศโลก ปารีส 19 กันยายน 2563

 

หลักการทั่วไปอย่างหนึ่งของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คือการที่เด็กมีสิทธิในการเข้าร่วม และต้องมีคนรับฟังความเห็นพวกเขา ในการตัดสินใจทุกครั้งที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง สิทธิในการเข้าร่วมเชื่อมโยงกับระดับวุฒิภาวะของเด็กและต้องมีการใช้ตามเงื่อนไขที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนพัฒนาการของพวกเขา ทั้งยังช่วยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างมีความรู้ ทำให้สังคมเข้มแข็งขึ้น  

 

เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นและประท้วงโดยสงบ ในทุกวันนี้ เด็กและเยาวชนทั่วโลกกำลังใช้สิทธิของตน พวกเขาได้ประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ และความเท่าเทียมด้านเชื้อชาติ รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ แต่บ่อยครั้งที่เรามักมองข้ามหรือเพิกเฉยต่อมุมมองของพวกเขา

 

กรณีศึกษา 1

 

จันนา ญีฮาด, ปาเลสไตน์ 

 

© Tanya Habjouqa/NOOR

 

จันนา ญีฮาด ขณะอยู่ในหมู่บ้านนาบี ซาลีห์ ในเขตยึดครองปาเลสไตน์ 18 มิถุนายน 2564

 

จันนา ญีฮาดเป็นสาววัยรุ่นซึ่งเติบโตในหมู่บ้านปาเลสไตน์ที่ชื่อนาบี ซาลีห์ ตั้งอยู่ตอนเหนือของกรุงรามันเลาะห์ในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลใช้กำลังทหารยึดครองตั้งแต่ปี 2510

 

จันนาและเด็กปาเลสไตน์แบบเดียวกันถูกปฏิเสธไม่ให้มีสิทธิ และต้องเผชิญการเลือกปฏิบัติทุกวัน กองทัพอิสราเอลมักจับกุมเด็กจากหมู่บ้านของจันนา โดยมักบุกเข้าตรวจค้นที่บ้านตอนกลางคืนขณะที่ครอบครัวกำลังหลับใหล เด็ก ๆ ต้องต่อสู้เพื่อให้เข้าถึงสิทธิด้านการศึกษาและเสรีภาพด้านการเดินทาง เนื่องจากต้องเผชิญกับอุปสรรคและด่านตรวจ ทำให้การเดินทางของพวกเขาล่าช้า โดยอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะเดินทางไปถึงโรงเรียน ทั้งที่ความจริงควรใช้เวลาไม่เพียงกี่นาที ประชาชนประสบปัญหาในการเดินทางไปทำงาน หรือการออกไปหาเลี้ยงครอบครัว สำหรับคนป่วย พวกเขาแทบจะไม่สามารถไปถึงโรงพยาบาลได้เลย  

 

ในปี 2552 ตอนจันนาอายุได้สามขวบ ชุมชนของเธอได้ใช้สิทธิการประท้วงอย่างสงบ และเริ่มเดินขบวนทุกสัปดาห์ แต่ต้องถูกปราบด้วยความรุนแรง ตอนเธออายุเจ็ดขวบ ลุงของจันนาและเพื่อนของเธอถูกทหารอิสราเอลสังหาร จันนาใช้โทรศัพท์ของแม่เพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเปิดเผยความจริงให้คนอื่นรู้ เมื่อเธอเป็นวัยรุ่น การถ่ายทอดสดผ่านวีดิโอของเธอมีคนดูเป็นแสนคนทั่วโลก ในปี 2561 จันนากลายเป็นนักข่าวที่มีบัตรผู้สื่อข่าวอายุน้อยสุดในโลก ขณะมีอายุ 12 ปี แต่เธอต้องเผชิญกับภัยคุกคามมากมายระหว่างการทำงาน 

 

ดิฉันเริ่มทำงานเป็นนักข่าวตอนอายุได้เจ็ดขวบ เพราะต้องการบอกให้คนทั้งโลกรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ และเราต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวและความไม่แน่นอน ดิฉันอยากมีชีวิตที่เป็นปรกติ อยากมีวัยเด็กที่เป็นปรกติเหมือนคนอื่น  

 

จันนา ญีฮาด 

 

กรณีศึกษา 2

 

ไครียะห์ ระหมันยะ, ประเทศไทย

 

© ส่วนบุคคล

 

ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักกิจกรรมจากบ้านสวนกง ประเทศไทย

 

ไครียะห์ ระหมันยะ เกิดในครอบครัวชาวประมงใกล้กับทะเลในจังหวัดทางภาคใต้ของไทย ทะเลใกล้บ้านเธอเป็นแหล่งทรัพยากรอาหารทะเลอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในทะเลที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมทั้งเต่าทะเลและปลาโลมาสีชมพูที่หายาก ในปี 2563 ขณะที่อายุได้ 17 ปี ไครียะห์ได้เริ่มการรณรงค์ต่อต้านแผนของรัฐบาลเพื่อพัฒนาหมู่บ้านที่อำเภอจะนะให้เป็นนิคมอุตสาหกรรม เธอเข้าร่วมการประท้วงและเดินทางนับพันกิโลเมตรไปยังทำเนียบรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เพื่อยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้หยุดโครงการพัฒนานี้ ส่งผลให้รัฐบาลระงับการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนี้  

 

ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวในหมู่บ้าน ดิฉันเติบโตมากับชีวิตนักกิจกรรม และได้ต่อสู้เพื่อชุมชนมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ เป็นเรื่องน่าเจ็บปวดที่ต้องอยู่กับความจริง และดิฉันอยากให้คนรุ่นใหม่ไม่ต้องมีชีวิตแบบนี้อีก ในฐานะที่เป็นเด็ก เราต้องมีสิทธิได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิของเรา และผู้ใหญ่มีหน้าที่หนุนเสริม สร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนเรา

 

ไครียะห์ ระหมันยะ

 

แอมเนสตี้ทำอะไรบ้าง? 

 

© แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

Know Your Rights And Claim Them โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล, แองเจลินา โจลี และเจเรอดีน ฟาน บูเรน QC

 

สิทธิมนุษยชนศึกษาระดับโลก

 

ความรู้คือกุญแจ 

 

ข้อ 42 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติร้องขอให้รัฐบาล ‘… ดำเนินการให้หลักการและบทบัญญัติในอนุสัญญานี้ เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งแก่ผู้ใหญ่และเด็ก ด้วยวิธีการที่เหมาะสมและจริงจัง’ 

 

เพื่อสนับสนุนข้อ 42 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, แองเจลินา โจลี และศาสตราจารย์ เจเรอดีน ฟาน บูเรน QC (หนึ่งในผู้ร่วมจัดทำร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก) เขียนหนังสือสำหรับวัยรุ่นชื่อ Know Your Rights and Claim Them เพื่ออธิบายถึงสิทธิเด็ก แสดงให้เห็นสภาพที่เกิดขึ้นจริงเมื่อมีการปฏิเสธสิทธิเหล่านี้ เน้นให้เห็นการทำงานที่ทรงพลังของเยาวชนนักกิจกรรม และให้เครื่องมือสำหรับแกนนำเยาวชนที่จะใช้ประโยชน์จากกฎหมาย ปฏิบัติการ และเรียกร้องสิทธิของตน 

 

หนังสือเล่มนี้ พิมพ์เผยแพร่ ในสหราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2564 และสามารถ พรีออเดอร์ได้ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กรีซและสหรัฐฯ รวมทั้งที่เดนมาร์ก เยอรมนี เกาหลีใต้ และโรมาเนียในเร็ววันนี้ เราหวังว่าจะมีการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในทุกประเทศ 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้จัดทำ หลักสูตรออนไลน์เกี่ยวกับสิทธิเด็กเบื้องต้น สำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่ โดยไม่คิดค่าเรียน ใช้เวลา 90 นาที และมีการเสนอบทสัมภาษณ์เยาวชนนักกิจกรรม การเรียนรู้ที่ปรับให้เหมาะกับความเร็วที่เหมาะสมได้ และแนวคิดที่สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสิทธิเด็กได้

 

กรณีศึกษา 

 

เด็กยาซิดีในอิรัก 

 

AFP via Getty Images

 

ภาพของเด็กผู้ชายยาซิดีในพื้นที่ภายใต้การยึดครองของกองกำลังเพื่อประชาธิปไตยซีเรีย (Syrian Democratic Forces - SDF) ภายใต้การนำของชาวเคิร์ดและการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในจังหวัดเดร์ เอซ์ซอร์ ทางภาคตะวันออกของซีเรีย ขณะที่กำลังหลบหนีจากกลุ่มไอสิส (IS) ที่กำลังปกป้องที่มั่นของตนที่เมืองบากูซ

 

ข้อ 39 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNCRC) ร้องขอให้รัฐบาล ‘ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ที่จะส่งเสริมการฟื้นฟูทั้งทางร่างกายและจิตใจ และการกลับคืนสู่สังคมของเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการละเลยในรูปแบบใดๆ การแสวงประโยชน์ การกระทำอันมิชอบ การทรมานหรือ การลงโทษ หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้าโดยรูปอื่น หรือการขัดกันด้วยอาวุธ’

 

ชะตากรรมของเด็กชาวยาซิดีในอิรัก เน้นให้เห็นความสำคัญของข้อบทนี้ ระหว่างปี 2557 ถึง 2560 กลุ่มติดอาวุธที่เรียกตนเองว่ากลุ่มไอสิส (IS) ได้ทำอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชุมชนชาวยาซิดีในอิรัก เด็กชาวยาซิดีถูกลักพาตัวและถูกทำให้เป็นทาส ถูกทรมาน บังคับให้สู้รบ ข่มขืน และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอื่น ๆ เด็กหลายพันคนถูกสังหารหรือถูกลักพาตัว  

 

แม้ว่าเด็กหลายร้อยคนรอดชีวิตและกลับไปหาครอบครัวในอิรักได้ แต่การกลับสู่บ้านเกิดไม่ได้ทำให้ความทุกข์ทรมานของพวกเขายุติลง เด็กที่เป็นเหยื่อเหล่านี้ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายสำคัญทั้งทางสุขภาพกายและใจ ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนลบันทึกข้อมูลไว้ใน รายงาน ที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 แต่พวกเขากลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ เด็กผู้ชายชาวยาซิดีที่ถูกจับและบังคับให้สู้รบ มักจะถูกรังเกียจจากชุมชนของตนเองเมื่อเดินทางกลับไป ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวยาซิดีที่คลอดบุตรเนื่องจากตกเป็นทาสทางเพศให้กับกลุ่มไอสิส มักถูกกระตุ้น บังคับ หรือแม้กระทั่งล่อลวง เพื่อพรากลูกไปจากพวกเธอ โดยใช้แรงกดดันด้านศาสนาและสังคม 

 

ส่วนหนึ่งของการรณรงค์กดดันของเรา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ขยายเนื้อหาของกฎหมายสำหรับเหยื่อให้ครอบคลุมถึงเด็ก ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากค่าชดเชยใด ๆ ในวันที่ 1 มีนาคม 2564 รัฐสภาอิรักได้ประกาศใช้ กฎหมายเพื่อเหยื่อชาวยาซิดีที่เป็นผู้หญิง ซึ่งกำหนด กรอบ สำหรับการเยียวยาและความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกพวกไอสิสจับกุมตัว รวมทั้งเหยื่อที่เป็นเด็ก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พวกเขาได้รับความสนับสนุนที่ควรได้รับ 

 

ผลกระทบของความขัดแย้งต่อเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย

 

© Mohammed Abdulsamad

 

เด็กนั่งในชั้นเรียนโรงเรียนประถมที่รัฐบอร์โม ไนจีเรีย ยูนิเซฟรายงานว่า มีเด็กเพียง 25% ในรัฐบอร์โมที่ได้เข้าเรียน เด็กที่พลัดถิ่นฐานต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายอย่างมาก

 

ความขัดแย้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเด็กตามข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนลบันทึกได้ในรายงาน ‘We Dried Our Tears

 

กลุ่มโบโกฮารามได้ลักพาตัวเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายหลายร้อยคน และได้กระทำการที่โหดร้ายต่อพวกเขาระหว่างถูกควบคุมตัว กลุ่มดังกล่ายยังได้กวาดล้างทำลายชุมชนต่าง ๆ ในภูมิภาคนั้น ตั้งแต่การปล้นสะดมหมู่บ้านและการทำร้ายพลเรือนและทำลายโรงเรียน  

 

แทนที่จะคุ้มครองเด็กที่หนีจากเขตยึดครองของโบโกฮาราม กองทัพไนจีเรียมักควบคุมตัวพวกเขาอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี และยังทำการทรมานและปฏิบัติที่โหดร้ายต่อพวกเขา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนลยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถประกันให้เด็กที่พลัดถิ่นฐานได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเพียงพอเลย  

 

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม 

 

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ

 

คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ

 

ข้อเท็จจริงสำคัญ 

 

  • อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเป็นสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่มีการให้สัตยาบันรับรองมากสุดในโลก 

  • ประเทศที่ให้สัตยาบันรับรอง: รัฐภาคีสหประชาชาติ 196 จาก 197 แห่ง 

  • ใครที่ยังไม่ให้สัตยาบันรับรอง: สหรัฐอเมริกา 

  • หลักการทั่วไปสี่ประการที่เป็นพื้นฐานของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้แก่:

    • สิทธิที่จะมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนา 

    • การไม่เลือกปฏิบัติ 

    • สิทธิที่จะมีผู้รับฟังความเห็น 

    • ประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก 

  • พิธีสารเลือกรับสามฉบับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้แก่

    • พิธีสารเลือกรับด้วยความเกี่ยวพันของเด็กในการขัดกันด้วยอาวุธ 

    • พิธีสารเลือกรับว่าด้วยการขายเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก  

    • พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยกระบวนการติดต่อร้องเรียน 

 

 

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้นิยามคำว่า “เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ที่นิยามคำว่า “เด็ก” หมายถึง มนุษย์ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้น ตามกฎหมายที่บังคับแก่เด็กนั้น เช่น ในกรณีของประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ว่าด้วยบุคคล มาตรา 19 กำหนดว่า บุคคลจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ แต่หากบุคคลนั้นได้ทำการสมรสก่อนอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ ตามมาตรา 20 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บุคคลนั้นเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย 

สหประชาชาติได้ประกาศในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูและและการช่วยเหลือเป็นพิเศษ และเพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาบุคลิกภาพได้อย่างกลมกลืนและเต็มที่ เด็กควรเติบโตในสิ่งแวดล้อมของครอบครัว ในบรรยากาศแห่งความผาสุก ความรักและความเข้าใจ อีกทั้งควรเตรียมให้เด็กพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะดำรงชีวิตเป็นของตัวเองในสังคม และควรเลี้ยงดูเด็กตามเจตนารมณ์แห่งอุดมคติที่ประกาศไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเฉพาะตามเจตนารมณ์แห่งสันติภาพ ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นเอกภาพ 

อีกทั้งมาตรา 22 ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้กำหนดไว้ว่า ”การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”  ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กล่าวถึงการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จะต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กและสำคัญที่สุดคือต้องยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก (the best interest of the child) เพราะเป็นการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองเด็กที่ประเทศภาคีต้องยกมาตรฐานของตนเองขึ้นให้เท่ากับที่กำหนดในอนุสัญญาฯ หรือสูงกว่า ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญานี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2535 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยในฐานะที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 

สิทธิเด็กเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน เด็กเป็นกลุ่มที่ต้องการการปกป้องคุ้มครองมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากความสามารถของสภาวะต่างๆ ทั้งร่างกาย สติปัญญาและจิตใจที่ไม่เท่ากับผู้ใหญ่ จึงต้องได้รับการคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้มีพัฒนาการและการเจริญเติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อสังคม ประชาคมระหว่างประเทศเห็นความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้เกิดปฏิญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ดังนี้

  • ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กหรือที่เรียกว่าปฏิญญาเจนีวา (The Declaration of Geneva 1924) ซึ่งองค์การสันนิบาติชาติได้ประกาศไว้ในปี 2467 

  • เมื่อมีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights 1948)

  • และองค์การสหประชาชาติได้พัฒนาและประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (The United Nation Declaration on the Rights of the Child, 1959) ในปี 2502 แต่ไม่มีผลผูกพันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ

  • ในปี 2532 สหประชาชาติได้พัฒนาการคุ้มครองเด็กให้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศในรูปของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child, 1989)

  • และในปี 2533 องค์การสหประชาชาติได้จัดทำตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศอีกสองฉบับ คือ พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธ (Optional Protocol on the Involvement of Children in Armed Conflict) และ พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเรื่องการค้าเด็ก การค้าประเวณีเด็กและสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก (Optional Protocol on the Sale of Children, Child Prostitution and Child Pornography)

 

ในปัจจุบันถือว่าอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพิธีสารต่อท้ายทั้งสองฉบับเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิเด็ก ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมีหลักการสำคัญอยู่ 2 ประการ

  1. สิทธิเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องที่รัฐหรือใครให้กับเด็ก แต่เป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งอนุสัญญาใช้คำว่า “สิทธิติดตัว” (inherent rights) ดังนั้นเด็กจึงเป็นผู้มีสิทธิที่ไม่มีผู้ใดสามารถไปตัดทอนหรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็กหรือละเมิดสิทธิของเด็กได้

  2. ในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก จะต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กและที่สำคัญที่สุดคือต้องยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดของเด็ก (the best interest of the child) 

 

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคนในโลกโดยได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ (ประเทศอาจจะกำหนดสิทธิและการคุ้มครองสูงกว่าที่กำหนดไว้ในอนุสัญญานี้ได้ แต่จะต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาไม่ได้) อนุสัญญาฉบับนี้ได้กำหนดว่ารัฐภาคีสมาชิกต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิเด็กทุกคนที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของตน ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติของประเทศนั้นหรือไม่ และต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเหตุแห่งเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ต้นกำเนิดทางชาติพันธุ์หรือสังคม ทรัพย์สิน ความทุพพลภาพ การเกิดหรือสถานะอื่นๆ ของเด็ก หรือบิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย หากเด็กกลุ่มใดไม่สามารถใช้สิทธิเช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ เพราะสภาวะทางร่างกาย จิตใจหรือสังคม เช่น เด็กที่พิการทางร่างกายหรือทางสมอง เด็กเร่ร่อน ยากจน เป็นต้น รัฐต้องจัดบริการให้เด็กเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ได้ใช้สิทธิที่เท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ หลักการที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคสาม ซึ่งกำหนดว่า “มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”  

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กำหนดพันธกรณีให้ประเทศภาคีสมาชิกต้องคุ้มครองสิทธิเด็กโดยแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ  ได้ 4 ประเภท

  1. สิทธิในชีวิตและการอยู่รอด: อนุสัญญาฯ กำหนดว่ารัฐภาคีต้องรับรองว่าเด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดที่จะมีชีวิตและต้องประกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ให้เด็กสามารถอยู่รอด ปลอดภัยและมีการพัฒนาของเด็ก และเด็กมีสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูไม่ว่าโดยบิดา มารดา ญาติพี่น้องหรือรัฐ เพื่อให้อยู่รอดและเจริญเติบโต มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีเพียงพอ ซึ่งหากครอบครัวไม่สามารถจะดำเนินการได้ตามมาตรฐานขั่นต่ำ รัฐต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

  2. สิทธิในการได้รับการปกป้องคุ้มครอง: เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองจากการถูกทำร้ายทางร่างกาย จิตใจและทางเพศ ซึ่งรวมถึงการล่วงละเมิกทางเพศหรือการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากเด็ก

  3. สิทธิในการพัฒนา: อนุสัญญาฯ เน้นการเลี้ยงดูเด็กโดยบิดามารดาหรือในบางกรณีโดยรัฐ ซึ่งเด็กมีสิทธิที่จะมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่เพียงพอต่อการพัฒนาและพัฒนาการของเด็กทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ศีลธรรมและทางสังคม อีกทั้งยังเน้นว่าเด็กมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาเพื่อให้เด็กได้พัฒนาบุคลิกภาพ ความสามารถพิเศษและความสามารถทางร่างกายและจิตใจของเด็กให้เต็มศักยภาพของเด็กแต่ละคน

  4. สิทธิในการมีส่วนร่วม: อนุสัญญาฯ เน้นถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็กโดยเสรีในทุกเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก รวมถึงอิสระในการแสวงหา ได้รับหรือส่งต่อข้อมูลและความคิดในทุกรูปแบบและในสื่อทุกประเภท เด็กมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา สิทธิในการมีส่วนร่วมนี้หมายรวมถึงสิทธิของเด็กในการชุมนุม การสมาคมโดยสงบ

 

สิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตามข้อ 13 ได้ระบุไว้ว่า “เด็กมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สิทธินี้จะรวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา ได้รับหรือส่งต่อข้อมูลและความคิดในทุกรูปแบบ โดยไม่จำกัดเขตแดน ไม่ว่าจะโดยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ในรูปศิลปะหรือผ่านสื่อใดๆ ตามที่เด็กเลือก”

เพื่อเป็นการลดจุดอ่อนของเด็กที่ขาดอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจ ข้อที่ 12 ในอนุสัญญาฯ จึงระบุไว้ว่า “นอกจากรัฐภาคีจะประกันแก่เด็กให้สามารถมีความคิดเห็นเป็นของตนเองโดยเสรีในทุกๆ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก ทั้งนี้ความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะต้องได้รับการรับฟังอย่างสมเหตุสมผล” (ข้อที่ 12 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้ถูกปรับใช้ให้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรา 7 ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ) 

และในข้อที่ 14 ของอนุสัญญาฯ ระบุอีกไว้ว่า “รัฐภาคีจะต้องเคารพต่อสิทธิเด็กที่จะมีเสรีภาพทางความคิด มโนธรรมและศาสนา” และการมีส่วนร่วมของเด็กตามข้อที่ 15 ของอนุสัญญาฯ ระบุไว้ว่า “รัฐภาคีต้องยอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ และไม่อาจมีการจำกัดสิทธิเหล่านี้ นอกเหนือจากข้อจำกัดที่กำหนดขึ้นโดยสอดคล้องกับกฎหมายและที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์ของความมั่นคงแห่งชาติหรือความปลอดภัยของประชาชน ความสงบเรียบร้อย การคุ้มครองด้านสาธารณสุขหรือศีลธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นๆ”

ดังนั้นตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ได้กล่าวไปข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าเด็กมีสิทธิต่างๆ รวมถึงสิทธิในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น ที่ต้องได้รับการรับฟังอย่างสมเหตุสมผล และการสมาคมหรือการชุมนุมอย่างสงบของเด็กที่เท่าเทียมกับผู้ใหญ่และสามารถใช้เสรีภาพของตนโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเด็กมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงเฉพาะมากกว่าผู้ใหญ่ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการปกป้องเด็กจากการถูกทำร้ายหรือถูกคุกคามจากการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วม เช่น เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยในประเด็นเรื่องสิทธิเด็กให้

  • รัฐต้องประกันว่าเด็กสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ โดยปราศจากการแทรกแซงหรือมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอันตราย

  • รัฐควรดำเนินการฝึกอบรมการบังคับใช้กฎหมายและหลักการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) รวมถึงการวางแผนล่วงหน้าสำหรับการรับมือกับการที่เด็กเข้าร่วมการชุมนุม และการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีการจัดการเมื่อมีเด็กอยู่ในพื้นที่การชุมนุม ทั้งการปกป้องคนที่มีความเสี่ยงและจำกัดการใช้กำลังกับพวกเขา

  • เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดความรุนแรงจากการกระทำที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ของตำรวจต่อเด็ก ที่จะต้องได้รับการสอบสวนอย่างมีประสิทธิผล และให้ผู้กระทำผิดต้องถูกดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และเหยื่อต้องสามารถเข้าถึงการเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ



อ้างอิง

2013_5053.pdf (dla.go.th)

พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 (dcy.go.th)