รายงานสถานการณ์
สิทธิมนุษยชนทั่วโลก

แอมเนสตี้ เตือนถึงวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก ท่ามกลาง ‘ผลกระทบจากทรัมป์’ เร่งให้เกิดแนวโน้มที่ทำลายล้างมากขึ้น

  • รายงานประจำปีฉบับนี้เผยให้เห็นการแผ่ขยายของระบอบอำนาจนิยมทั่วโลก ควบคู่กับการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงและไร้ความปรานี
  • 100 วันแรกในวาระที่สองของประธานาธิบดีทรัมป์ ยิ่งเร่งให้เกิดการถดถอยด้านสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินมาตลอดปี 2567
  • ความล้มเหลวระดับโลกในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กำลังคุกคามอนาคตของคนรุ่นต่อไป
  • การผงาดของแนวปฏิบัติแบบอำนาจนิยมและการทำลายล้างกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้: ประชาชนกำลังและจะต่อต้านการโจมตีสิทธิมนุษยชน รัฐบาลสามารถอำนวยให้เกิดความยุติธรรมระหว่างประเทศ และจะต้องทำเช่นนั้นต่อไป 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้แถลงเตือนเนื่องในวาระเปิดตัว “รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก”  (The State of the World’s Human Rights)  ประจำปี 2567/68 ว่า การรณรงค์ต่อต้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทรัมป์ได้เร่งแนวโน้มที่เป็นอันตรายให้รุนแรงขึ้นอย่างมาก ทำลายหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และทำให้ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกต้องตกอยู่ในความเสี่ยง

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า “ผลกระทบจากทรัมป์” ยังซ้ำเติมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากผู้นำประเทศต่างๆ ตลอดปี 2567 ทั้งยังได้ฉุดรั้งความพยายามที่ยาวนานนับทศวรรษในการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนสากลให้เกิดขึ้นจริง และเร่งให้โลกถลำลึกสู่ยุคใหม่อันโหดร้าย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยแนวปฏิบัติที่มีลักษณะอำนาจนิยมและความโลภของบรรษัทข้ามชาติ

“ปีแล้วปีเล่า เราได้เตือนถึงอันตรายจากความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชน แต่เหตุการณ์ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในกาซาที่ถูกถ่ายทอดสดให้เห็นทั่วโลกแต่กลับถูกเพิกเฉย ได้เผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โลกที่รัฐมหาอำนาจละทิ้งกฎหมายระหว่างประเทศและเพิกเฉยต่อสถาบันและกลไกพหุภาคี อาจกลายเป็นฝันร้ายของใครหลายคนได้เพียงใด ในห้วงเวลาที่แนวปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิกำลังแพร่ขยายเพื่อผลประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่กลุ่ม รัฐบาลและภาคประชาสังคมต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนเพื่อนำพามนุษยชาติกลับสู่เส้นทางที่ปลอดภัยกว่า” 

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ยังบันทึกถึงการปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อผู้เห็นต่าง อาทิ การปะทุของการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในระดับที่น่าเป็นห่วง ความล้มเหลวในการจัดการวิกฤตภูมิสภาพภูมิอากาศ และกระแสต่อต้านสิทธิของผู้ย้ายถิ่นฐาน ผู้ลี้ภัย ผู้หญิง เด็กหญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งล้วนเสี่ยงจะเลวร้ายลงอีกในปี 2568 หากไม่มีการเปลี่ยนทิศทางอย่างชัดเจนในระดับโลก

“เพียง 100 วันหลังจากเริ่มวาระที่สอง ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แสดงออกถึงการดูแคลนสิทธิมนุษยชนสากลอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลของเขาตั้งเป้าโจมตีสถาบันและกลไกสำคัญในสหรัฐฯ และระดับนานาชาติอย่างรวดเร็วและจงใจ กลไกที่ออกแบบมาเพื่อทำให้โลกนี้ปลอดภัยและเป็นธรรมยิ่งขึ้น กลับกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตี การบ่อนทำลายแนวคิดพหุภาคีนิยม สิทธิในการลี้ภัย ความยุติธรรมด้านเชื้อชาติและเพศ สุขภาพระดับโลก และความร่วมมือในการจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ได้ทำลายหลักการเหล่านี้ให้ยิ่งอ่อนแอลง และเปิดทางให้ผู้นำหรือขบวนการที่ต่อต้านสิทธิในที่อื่นๆ ลุกขึ้นมาเดินตามอย่างฮึกเหิม” 

“แต่ขอให้เราชัดเจนร่วมกัน โรคร้ายนี้ลึกเกินกว่าการกระทำของประธานาธิบดีทรัมป์เพียงคนเดียว เราเห็นแนวปฏิบัติที่มีลักษณะอำนาจนิยมแผ่ขยายอย่างต่อเนื่องมาหลายปีในหลายประเทศทั่วโลก และถูกหล่อเลี้ยงโดยผู้นำที่แสวงหาอำนาจทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและผู้ที่ไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชน ซึ่งสมัครใจทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนแห่งการทำลายล้าง ขณะที่พวกเขากำลังดึงเราเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความโกลาหลและความโหดร้าย ผู้ที่เชื่อมั่นในเสรีภาพและความเท่าเทียมจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อต่อสู้กับการโจมตีอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ต่อกฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนสากล”

การแพร่กระจายของกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติที่มีลักษณะอำนาจนิยม ซึ่งมุ่งจำกัดสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกไว้ตลอดปี 2567 คือหัวใจสำคัญของกระแสต่อต้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก รัฐบาลในหลายประเทศพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ กระชับอำนาจของตนเอง และปลูกฝังความหวาดกลัว ด้วยการสั่งปิดสื่อ จัดการยุบหรือระงับการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมและพรรคการเมือง สั่งจำคุกผู้วิพากษ์วิจารณ์โดยใช้ข้อกล่าวหาเลื่อนลอยเรื่อง “การก่อการร้าย” หรือ “การสุดโต่ง” และใช้กฎหมายอาญาเล่นงานนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ผู้ชุมนุมประท้วงที่สนับสนุนชาวกาซา และผู้เห็นต่างคนอื่นๆ  

กองกำลังความมั่นคงในหลายประเทศใช้การจับกุมโดยพลการและในวงกว้าง การบังคับให้สูญหาย และใช้กำลังจนเกินขอบเขต และบางครั้งจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต เพื่อปราบปรามปฏิบัติการอารยะขัดขืน ในบังกลาเทศ ทางการออกคำสั่ง “ยิงได้ทันทีที่พบ” ต่อการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,000 คน ส่วนในโมซัมบิก กองกำลังความมั่นคงเปิดฉากสลายการชุมนุมประท้วงที่เลวร้ายมากสุดในรอบหลายปี หลังจากการเลือกตั้งที่มีข้อพิพาท ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 277 คนที่ทูร์เคีย มีการสั่งห้ามการชุมนุมประท้วงโดยครอบคลุมทั้งหมด และยังคงใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมายและอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี “พลังประชาชน” ได้แสดงพลังในเกาหลีใต้ เมื่อนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดี ประกาศระงับสิทธิมนุษยชนบางประการและประกาศกฎอัยการศึก แต่ท้ายที่สุดก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และมาตรการเหล่านั้นก็ถูกยกเลิกหลังจากเกิดการประท้วงในวงกว้างจากสาธารณชน

ดาวน์โหลดรายงานประจำปี 2024/25

การขัดแย้งกันด้วยอาวุธสะท้อนความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ท่ามกลางความขัดแย้งที่เพิ่มจำนวนขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้น รัฐและกลุ่มติดอาวุธในหลายประเทศต่างกระทำการอย่างอุกอาจ ไม่เกรงกลัวกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการก่ออาชญากรรมสงครามและการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในรูปแบบร้ายแรง จนส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนนับล้าน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดทำรายงานสำคัญซึ่งบันทึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอลในฉนวนกาซา ในรายงานฉบับสำคัญ พร้อมชี้ถึงระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติและการยึดครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายในเขตเวสต์แบงก์ที่ยิ่งทวีความรุนแรง ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็ยังคงโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และในปี 2567 มีพลเรือนยูเครนเสียชีวิตมากกว่าปีที่แล้ว โดยผู้ถูกควบคุมตัวยังเผชิญการทรมานและการบังคับให้สูญหายอย่างต่อเนื่อง

กองกำลังสนับสนุนอย่างรวดเร็วของซูดาน(Sudan’s Rapid Support Forces – RSF) กระทำความรุนแรงทางเพศอย่างกว้างขวาง ต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ซึ่งเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงคราม และอาจถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ขณะเดียวกัน ตัวเลขผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจากสงครามกลางเมืองตลอดสองปีในซูดานก็เพิ่มสูงถึง 11 ล้านคน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในโลก แต่กลับไม่มีการตอบสนองอย่างจริงจังจากประชาคมระหว่างประเทศ เว้นแต่ผู้ที่ใช้สถานการณ์เป็นช่องทางละเมิดข้อตกลงห้ามส่งอาวุธในดาร์ฟูร์ 

ในเมียนมา ชาวโรฮิงญายังคงต้องเผชิญกับการโจมตีด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ในรัฐยะไข่ ขณะที่การสั่งตัดงบประมาณช่วยเหลือต่างประเทศจำนวนมากของรัฐบาลทรัมป์ในวงกว้างได้ทำให้สถานการณ์ทรุดลงอย่างรุนแรง โรงพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยต้องปิดตัวลง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่กำลังหลบหนีถูกทิ้งให้เสี่ยงต่อการถูกส่งกลับ และโครงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งต่างก็ถูกทำให้เปราะบาง

ผลกระทบจากการระงับเงินช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกา ในเบื้องต้นยังลุกลามไปถึงการให้บริการสุขภาพ และการดูแลเด็กที่ถูกแยกจากครอบครัวในศูนย์กักกันในซีเรีย การตัดงบประมาณอย่างฉับพลันยังส่งผลให้หลายโครงการสำคัญในเยเมนต้องยุติลง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาภาวะขาดสารอาหารในเด็กและหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร การจัดหาที่พักปลอดภัยให้กับผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงบนฐานเพศ รวมถึงบริการสาธารณสุขสำหรับเด็กที่ป่วยด้วยโรคอหิวาต์และโรคติดต่ออื่นๆ

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เตือนมาโดยตลอดถึง ‘สองมาตรฐาน’ ที่บ่อนทำลายระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ แต่ผลของการปล่อยให้การถดถอยครั้งนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่มีการควบคุม ได้ดำดิ่งถึงระดับเลวร้ายในปี 2567 ตั้งแต่กาซาจนถึงสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก การที่ประชาคมระหว่างประเทศล้มเหลวในการยึดมั่นหลักนิติธรรมอย่างเสมอหน้า ได้เปิดทางให้เกิดวิกฤตที่เราเผชิญในวันนี้ และในตอนนี้ พวกเขาจำเป็นต้องรับผิดชอบ” 

“ผลกระทบอันใหญ่หลวงที่เกิดจากความล้มเหลวครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ความสูญเสียของชีวิตเท่านั้น แต่รวมถึงหลักคุ้มครองที่มีไว้เพื่อปกป้องมนุษยชาติหลังก้าวพ้นจากความสยดสยองของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ระบบพหุนิยมจะมีความบกพร่องมากมาย แต่การทำลายล้างระบบเหล่านี้ก็ไม่ใช่คำตอบ ในทางกลับกัน เราจำเป็นต้องเสริมสร้างและปรับจินตนาการใหม่ให้แข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นว่าสถาบันเหล่านี้ยังถูกทำลายต่อเนื่องในปี 2567 รัฐบาลทรัมป์ดูจะยิ่งเดินหน้าใช้ ‘เลื่อยยนต์’ ตัดทำลายเศษซากความร่วมมือพหุภาคีที่ยังเหลืออยู่ เพื่อออกแบบโลกในแบบของตนเอง ด้วยแนวคิดแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ที่ฝังรากในความโลภ ความเห็นแก่ตัว และการครอบงำของคนเพียงไม่กี่กลุ่ม”

Ukrainian infantrymen smoke during training amid the Russian invasion in Ukraine, 19 July 2024.
Sudanese army soldiers patrol an area in Khartoum North, 3 November 2024.

รัฐบาลกำลังทอดทิ้งคนรุ่นหลัง

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกสะท้อนหลักฐานที่ชัดเจนว่า โลกกำลังผลักภาระให้คนรุ่นหลังต้องดำรงอยู่ในสภาพที่ยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะความล้มเหลวโดยรวมในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แก้ไขความเหลื่อมล้ำที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ และควบคุมอำนาจของบรรษัทข้ามชาติ

การประชุม COP29 เป็นหายนะครั้งใหญ่ ด้วยจำนวนล็อบบี้ยิสต์จากอุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสกัดกั้นความก้าวหน้าในการกำหนดแนวทางยุติการใช้พลังงานฟอสซิลอย่างเป็นธรรม ขณะเดียวกัน ประเทศร่ำรวยกลับใช้อิทธิพลกดดันให้ประเทศรายได้น้อยต้องยอมรับข้อตกลงด้านการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศที่น่าผิดหวัง การตัดสินใจอย่างมักง่ายของประธานาธิบดีทรัมป์ในการถอนตัวจากความตกลงปารีส และคำกล่าวว่า “ขุดไปเลย ขุดเข้าไป” ยิ่งซ้ำเติมความล้มเหลวเหล่านี้ และอาจเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นๆ ดำเนินรอยตาม

“ปี 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกทะลุเกิน 1.5°C เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ทำลายล้างเอเชียใต้และยุโรป ภัยแล้งที่กระทบต่อแอฟริกาตอนใต้ ไฟป่าที่เผาผลาญป่าฝนแอมะซอนอย่างกว้างขวาง และพายุเฮอริเคนที่พัดทำลายสหรัฐฯ ล้วนเผยให้เห็นผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อมนุษย์จากการเพิกเฉยต่อหลักสิทธิมนุษยชนท่ามกลางภาวะโลกร้อน แม้ในระดับปัจจุบันก็ตาม หากโลกร้อนขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียสตามที่มีการคาดการณ์ภายในศตวรรษนี้ แม้แต่ประเทศร่ำรวยก็จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์ได้ เหตุการณ์ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียล่าสุดได้เตือนเราอย่างหนักแน่น คำถามคือ พวกเขาจะลงมือแก้ปัญหาหรือไม่?” 

ในปี 2567 ความยากจนขั้นสุดขีดและความเหลื่อมล้ำ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อที่แพร่หลาย การกำกับดูแลบรรษัทที่ล้มเหลว การหลบเลี่ยงภาษีอย่างกว้างขวาง และภาระหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและขบวนการทางการเมืองจำนวนมากกลับเลือกใช้วาทกรรมเหยียดเชื้อชาติและความเป็นต่างชาติ เพื่อกล่าวโทษผู้ย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยในประเด็นอาชญากรรมและความตกต่ำทางเศรษฐกิจ ขณะที่จำนวนและทรัพย์สินของมหาเศรษฐียังคงเพิ่มขึ้น แม้ธนาคารโลกจะเตือนว่าทศวรรษ 2020s อาจกลายเป็น “ทศวรรษที่สูญหาย” ในความพยายามลดความยากจนทั่วโลก

อนาคตของผู้หญิง เด็กหญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกลับดูเลวร้ายลงท่ามกลางการโจมตีที่รุนแรงขึ้นต่อความเสมอภาคทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ในอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันออกข้อจำกัดที่รุนแรงยิ่งขึ้นต่อผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่ทางการอิหร่านยกระดับการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมต่อผู้หญิงและเด็กหญิงที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเรื่องการสวมฮิญาบ กลุ่มผู้หญิงที่ตามหาคนที่ตนรักที่หายตัวไปในเม็กซิโกและโคลอมเบียยังต้องเผชิญกับคำขู่และการคุกคามในทุกรูปแบบ

ในมาลาวี มาลี และยูกันดา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม หรือคงไว้ซึ่งบทลงโทษเดิม ขณะที่จอร์เจียและบัลแกเรียก็เดินตามรอยรัสเซียในการออกกฎหมายต่อต้านสิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็น “โฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ” รัฐบาลทรัมป์ยังเร่งเสริมแรงกระแสต่อต้านความเป็นธรรมทางเพศในระดับโลก ด้วยการรื้อการดำเนินงานด้านการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ โจมตีสิทธิของบุคคลข้ามเพศอย่างต่อเนื่อง และยุติการสนับสนุนงบประมาณด้านสุขภาพ การศึกษา และโครงการต่างๆ ที่เคยสนับสนุนผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลก

รัฐบาลทั่วโลกยังสร้างความเสียหายเพิ่มเติมแก่คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไป ด้วยการละเลยการกำกับดูแลเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ใช้เครื่องมือเฝ้าระวังอย่างไม่ชอบธรรม และยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างไม่เป็นธรรม

แม้ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการเอื้อให้เกิดแนวปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิ แต่รัฐบาลทรัมป์ได้เร่งเสริมกระแสเหล่านี้มากขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้บริษัทโซเชียลมีเดียยกเลิกมาตรการป้องกันผู้ใช้งาน เช่น การที่เมตา (Meta)ยุติการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยบุคคลที่สาม และหันมาใช้โมเดลธุรกิจที่ส่งเสริมการแพร่กระจายของเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและความรุนแรง ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างรัฐบาลทรัมป์กับมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยียังเสี่ยงเปิดประตูสู่ยุคแห่งการคอร์รัปชัน การบิดเบือนข้อมูล การลอยนวลพ้นผิด และการที่บรรษัทยึดครองอำนาจรัฐโดยตรง

“ตั้งแต่การจัดที่นั่งแถวหน้าให้กับเศรษฐีพันล้านด้านเทคโนโลยีในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้ชายที่รวยสุดในโลกสามารถเข้าถึงกลไกของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ดูเหมือนว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะยินดีเปิดทางให้เครือข่ายที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพันธมิตรทางธุรกิจของตนดำเนินการอย่างไร้การควบคุม โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่หลักนิติธรรม”

Large smoke clouds billowing out of a forest.
Aerial view of an illegal fire in the Amazon rainforest northern Brazil, 4 September 2024.
Security forces deployed on the streets of Iran to enforce compulsory veiling.

ความพยายามอย่างสำคัญเพื่อคุ้มครองความยุติธรรมระหว่างประเทศ

แม้จะต้องเผชิญแรงต่อต้านมากขึ้นจากรัฐมหาอำนาจ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลทรัมป์ประกาศคว่ำบาตรอย่างน่าอายต่อพนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในปีนี้ สถาบันด้านความยุติธรรมระหว่างประเทศและหน่วยงานพหุภาคี ยังคงมีบทบาทในการผลักดันให้เกิดความรับผิดรับชอบของผู้นำในระดับสูงสุด โดยมีหลายประเทศจากซีกโลกใต้เป็นผู้นำในความริเริ่มสำคัญเหล่านี้

ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ออกหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐและผู้นำกลุ่มติดอาวุธในอิสราเอล กาซา  ลิเบีย เมียนมา และรัสเซีย ขณะที่องค์การสหประชาชาติได้ดำเนินการอย่างสำคัญ เพื่อเจรจาให้เกิดการตกลงต่อสนธิสัญญาที่จำเป็นอย่างมาก และเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และฟิลิปปินส์ได้ปฏิบัติการสนับสนุนโดยการ จับกุมอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เมื่อเดือนที่แล้ว ตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเกี่ยวกับการฆ่าคนตาย 

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice – ICJ) ได้ประกาศชุดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวสามชุดในคดีที่แอฟริกาใต้ฟ้องคดีต่ออิสราเอลละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมกับมีความเห็นในที่ปรึกษาที่ระบุว่า การยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอล รวมถึงเยรูซาเลมตะวันออก เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย สมัชชาใหญ่สหประชาชาติยังมีมติเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการยึดครอง และในเดือนมกราคม 2568 รัฐจากซีกโลกใต้จำนวนแปด ประเทศได้รวมตัวกันเป็น “กลุ่มเฮก” ซึ่งมีพันธกิจร่วมกันในการหยุดยั้งการส่งอาวุธไปยังอิสราเอล และเรียกร้องให้อิสราเอลรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

“เราขอยกย่องความพยายามของประเทศอย่างแอฟริกาใต้และสถาบันความยุติธรรมระหว่างประเทศต่างๆ ที่ลุกขึ้นต้านทานรัฐมหาอำนาจซึ่งพยายามบ่อนทำลายหลักกฎหมายระหว่างประเทศ การท้าทายต่อการลอยนวลพ้นผิดในลักษณะนี้เป็นแบบอย่างสำคัญให้ทั่วโลกได้ยึดถือ การโจมตีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าศาลแห่งนี้กำลังกลายเป็นสมรภูมิสำคัญในปี 2568 ดังนั้น รัฐบาลทุกประเทศต้องทุ่มเททุกวิถีทางในการสนับสนุนความยุติธรรมระหว่างประเทศ นำผู้กระทำผิดมารับผิด และปกป้อง ICC พร้อมทั้งบุคลากรของศาลจากการคว่ำบาตรหรือการคุกคามใดๆ” 

“แม้จะมีอุปสรรคมากมาย ความพังทลายของสิทธิมนุษยชนไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คนกล้าหาญที่ลุกขึ้นต่อต้านแนวปฏิบัติที่มีลักษณะอำนาจนิยม ในปี 2567 ประชาชนในหลายประเทศเลือกไม่สนับสนุนผู้นำที่ต่อต้านสิทธิในระหว่างการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ผู้คนนับล้านทั่วโลกต่างร่วมกันส่งเสียงต่อต้านความอยุติธรรม สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าใครจะมายืนขวางทางเรา เราจำเป็น  และเราจะ ลุกขึ้นต่อต้านระบอบที่แสวงหาผลประโยชน์และอำนาจโดยละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ขบวนการขนาดใหญ่และแน่วแน่ของเราจะยังคงยืนหยัดอย่างเป็นเอกภาพ ด้วยความเชื่อร่วมกันในศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนที่มีโดยกำเนิดของทุกคนบนโลกใบนี้” 
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือการติดต่อเพื่อสัมภาษณ์ โปรดติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล: [email protected]

The seat of the International Criminal Court in Den Haag, Netherlands, 8 March 2024.
Protesters calling for the ouster of South Korean President Yoon Suk Yeol react after the result of the second martial law impeachment vote outside the National Assembly in Seoul, 14 December 2024.

Find out more about the state of the world’s human rights