การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนใต้อำนาจ “ทรัมป์

20 ธันวาคม 2559

เรื่อง: ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
​แปล: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

สิ่งที่หลอมรวมเรานั้นยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่แบ่งแยกเราเสมอ

 

กระนั้น กระแสแห่งความแตกแยกดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก กำแพงปิดแนวชายแดนแข็งแรงขึ้น ความเกลียดชังและความหวาดกลัวในสังคมเพิ่มสูงขึ้น การใช้กฎหมายกดขี่เสรีภาพขึ้นพื้นฐานมีมากขึ้น

 

ผลการเลือกตั้งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดคือหนึ่งในกระแสแห่งความแตกแยกที่ว่านี้และสร้างความตกใจให้คนทั่วโลก เมื่อ “โดนัล เจ ทรัมป์” ผู้หาเสียงด้วยนโยบายเหยียดชาวต่างชาติและเพศหญิงชนะการเลือกตั้ง และกำลังจะขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

 

หลังรู้ผลการเลือกตั้ง คนจำนวนมากทั่วโลกต่างจำใจยอมรับกับความผิดหวังครั้งนี้ โดยเฉพาะสำหรับนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งต้องต่อสู้กับสิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่กำลังย่ำแย่อยู่แล้ว สถานการณ์อาจจะย่ำแย่และอันตรายยิ่งขึ้น เพราะประธานาธิบดีคนใหม่ของหนึ่งในประเทศมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ ผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมเกลียดชังและปฏิเสธที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายประการ

 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้เห็นว่าผู้คนที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลกจะต้องหาทางร่วมมือกับกลุ่มคนที่รู้สึกว่าตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบจนต้องออกมาต่อต้านทางการเมืองต่อคนกลุ่มอื่นๆ ที่อ่อนแอกว่าในสังคม ความกลัวและความกังวลหลายๆ อย่างของพวกเขาจริงๆ แล้วมีที่มาที่ไป ซึ่งคนเป็นผู้นำสามารถบรรเทาและแก้ไขได้ด้วยนโยบายที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกัน และศักดิศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน ไม่ใช่การส่งเสริมให้มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน

 

แคมเปญหาเสียงของทรัมป์ถูกวางภาพลักษณ์ให้ดูเหมือนเป็นการแสดงพลังของประชาชนเพื่อต่อสู้กับสถาบันทางการเมือง แต่จริงๆ แล้วมันกลับกลายเป็นแค่กระบอกเสียงที่สะท้อนความหวาดกลัวและความโกรธแค้นของคนในสังคมเท่านั้น

 

โลกของเราเคยตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้มาแล้วหลายครั้งตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในแต่ละครั้ง เราได้จะเห็นการปลุกระดมที่นำไปสู่เส้นทางอันเลวร้าย ความรุนแรง การคุกคาม ทำร้าย และการเลือกปฏิบัติที่เกิดขึ้นตามมามากมาย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขาจำนวนมากถูกจับกุมและลงโทษ ขณะที่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้นกลุ่มอ่อนไหวที่สุดของสังคม

 

นโยบายของประธานาธิบดี “บารัก โอบามา” เอง หลายครั้งก็ถูกเยินยอเกินความเป็นจริง เพื่อปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือการขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบียเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีหลักฐานว่าอาวุธเหล่านั้นถูกนำไปใช้เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบในเยเมน หรือจะเป็นการขยายขอบเขตการโจมตีด้วยเครื่องบินไร้คนขับหรือ “โดรน” ของสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ซึ่งแทบจะปราศจากผู้รับผิดชอบจนถึงทุกวันนี้

 

ขณะนี้ เรายังไม่สามารถรู้ได้ว่านโยบายหาเสียงของทรัมป์จะส่งผลต่อสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนที่น่าเป็นห่วงอยู่แล้วอย่างไรบ้าง แต่ถ้าหากคำหาเสียงอันเป็นพิษของเขาถูกเปลี่ยนเป็นนโยบายจริงๆ นั่นหมายถึงความน่ากลัวที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงแน่นอน

 

ชัยชนะของทรัมป์ยังจะส่งเสริมทำให้ผู้นำคนอื่นๆ ทั่วโลกกล้าใช้การสร้างความหวาดกลัวมาเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในอำนาจอยู่แล้วหรือคนที่กำลังลงสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม

 

ในด้านการปราบปรามการก่อการร้ายและเสถียรภาพของประเทศ นโยบายของทรัมป์ก็เป็นอันตรายเช่นกัน ถ้าหากนโยบายที่เขาใช้หาเสียงเกิดขึ้นจริง รัฐบาลของเขาจะสั่นคลอนจุดยืนของสหรัฐฯ อย่างเช่นความพยายามยุติการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกัน การสอดแนมประชาชนแบบผิดกฎหมายที่ถูกเปิดโปงในสมัยของโอบามาก็มีโอกาสขยายขอบเขตมากขึ้นด้วย

 

และถ้าหากนโยบายของทรัมป์ตรงกับคำพูดเหยียดเพศต่างๆ นานาของเขา การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีก็คงต้องทำงานหนักขึ้น เช่นเดียวกับคำพูดที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังชาวต่างชาติที่ก็จะส่งผลเสียต่อแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย เราอาจได้เห็นการลดจำนวนผู้ลี้ภัยที่จะได้ที่พักพิงใหม่ในสหรัฐฯ และการผลักภาระการดูแลผู้ลี้ภัยไปให้ประเทศที่ยากจนกว่าแทน

 

การหาเสียงต่อต้านชาวมุสลิมของเขาอาจจุดชนวนการใช้ความรุนแรงและเลือกปฏิบัติทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยิ่งจะสร้างความเสียหายต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนาให้รุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กองกำลังติดอาวุธยังฉวยโอกาสนี้เป็นเครื่องมือในการสรรหาสมาชิกเข้าร่วมขบวนการเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเองอีกด้วย

 

ในระดับโลก เป็นไปได้ว่าการเสื่อมถอยด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ในเวทีโลกอาจส่งผลให้กระบวนการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนต่างๆ ถูกทำให้อ่อนแอลงตามไปด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะกลับกลายมาเป็นผลเสียต่อประชาชนในสหรัฐฯ เอง

 

มันช่างเป็นภาพอนาคตที่ดูมืดมัว

 

แต่พวกเราสามารถป้องกันไม่ให้อนาคตกลายเป็นแบบนั้นได้ จากการทำงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกแสดงให้เห็นแล้วว่าแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด ผู้คนก็ยังสามารถรวมตัวกัน พูดคุยหาทางออก และขับเคลื่อนจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในด้านสิทธิมนุษยชนได้จริง

 

ความกลัวและความเกลียดชังไม่อาจเอาชนะเราได้ แต่มันจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม น่าดีใจที่ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ และทั่วโลกต่างสนับสนุนความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเสรีภาพของคนทุกคน ซึ่งถือเป็นคุณค่าหลักของสิทธิมนุษยชนเลยที่ไม่สามารถถูกมองข้ามหรือพรากไปจากเราได้

 

การยุติความเกลียดชังและความหวาดกลัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าการยึดหลักการแห่งมโนธรรมสำนึกและสิทธิมนุษยชนนั้นได้รับการพิสูจน์ในอดีตแล้วว่าเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลัง อย่างที่ผู้นำการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เคยกล่าวไว้ว่า

 

 

“แม้ว่าเส้นทางแห่งความถูกต้องจะยาวไกล แต่มันนำไปสู่ความยุติธรรมเสมอ” (The arc of the moral universe is long, but it bends towards justice.)

 

ต้องขอบคุณการต่อสู้และเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาที่ได้เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาเชิงบวกท่ามกลางความยากลำบากนานัปการ พวกเราจะต้องไม่ย่อท้อและสู้ต่อไป โดยสิ่งท้าทายที่สุดสำหรับทุกคนที่ปกป้องส่งเสริมเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนก็คือการหาจุดร่วมเพื่อผสานรอยร้าวในสังคมให้ได้นั่นเอง