รัฐสภามองโกเลียลงมติยกเลิกโทษประหารชีวิต ถือเป็นประเทศลำดับที่ 102 ที่ไม่ใช้โทษนี้ จึงทำให้โทษประหารชีวิตกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตำราประวัติศาสตร์ ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 สมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ซึ่งยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท โดยประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2559 นับเป็นประเทศที่ 102 ที่ยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง เพราะถือว่าเป็นลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

โรซาน ไรฟ์ (Roseann Rife) ผู้อำนวยการงานวิจัยเอเชียตะวันออกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การลงมติครั้งประวัติศาสตร์ของมองโกเลียเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิตได้กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในหลายประเทศทั่วโลก

“มองโกเลียเป็นตัวอย่างที่ดีในการยกเลิกโทษประหารชีวิตในเอเชีย เราหวังว่าแนวทางนี้จะแพร่ขยายอย่างรวดเร็วไปทั่วภูมิภาค ประเทศที่ยังมีการประหารชีวิตประชาชน คงได้เห็นแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการเพื่อยุติการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมนี้”

สำหรับปี 2558 ปีนี้ มีสามประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ได้แก่ ฟิจิ มาดากัสการ์ และซูรินาเม

สำหรับประเทศมองโกเลีย มีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2551 และโทษประหารชีวิตยังถือเป็นความลับทางราชการ นับแต่นั้นมา มองโกเลียได้ดำเนินการหลายขั้นตอนที่นำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต จนกระทั่งการลงมติครั้งประวัติศาสตร์ของรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

mongolia-website.jpg

 

ในปี 2553 ประธานาธิบดีชาเคียจินเอกเบอร์ดอค(TsakhiagiinElbegdorj) ได้ลดโทษของนักโทษประหารชีวิตทุกคนและประกาศข้อตกลงชั่วคราวพักการประหารชีวิต ในปี 2555 มองโกเลียให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาระหว่างประเทศ แสดงพันธกิจของประเทศที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด

ประธานาธิบดีชาเคียจิน เอกเบอร์ดอคได้กล่าวหลายครั้งว่ามองโกเลียต้องเลิกใช้โทษประหารชีวิต ทั้งนี้เพื่อแสดงความเคารพอย่างเต็มที่ต่อสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ของประชาชน โดยเขาให้เหตุผลว่าการประหารชีวิตไม่ได้ส่งผลในเชิงป้องกันอาชญากรรม และในระบบยุติธรรมใดๆ ก็ตามล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดในการตัดสินความยุติธรรมเสมอ

“ประธานาธิบดีชาเคียจิน เอกเบอร์ดอคได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำทางการเมืองโดยการยกเลิกโทษประหารชีวิตและชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของโทษนี้ ซึ่งเป็นเป็นตัวอย่างที่ดีที่ประเทศอื่นในเอเชียควรนำไปปฏิบัติใช้ โดยเฉพาะประเทศที่ยังคงโทษประหารชีวิตอยู่” โรซาน ไรฟ์ กล่าว

ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติแล้ว ดังนั้นประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตอยู่จึงถือเป็นประเทศส่วนน้อยในโลก ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับกฎบัตรและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทางการอินโดนีเซียได้ประหารชีวิตประชาชนอีกครั้งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลก ในขณะที่ปากีสถานประหารชีวิตประชาชนอย่างน้อย 300 คน นับแต่ยกเลิกข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักการประหารชีวิตในเดือนธันวาคม 2557 ในเอเชียตะวันออกทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ และไต้หวัน ต่างมีการประหารชีวิตประชาชนในปี 2558

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตตามที่ประกาศไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรม