รอบโลก ผู้คนถูกโจมตีเพียงเพราะคนที่พวกเขารัก วิธีการที่พวกเขาแต่งตัว หรือแม้แต่เพราะตัวตนของพวกเขา
ในหลาย ๆ ประเทศ การเป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ หรืออินเทอร์เซ็กส์ (LGBTI) หมายถึงการใช้ชีวิตท่ามกลางการแบ่งแยก การแบ่งแยกที่ว่าอาจมีสาเหตุมาจากรสนิยมทางเพศ (sexual orientation – ความสนใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น) อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity – วิธีนิยามตัวเองที่ไม่คำนึงถึงเพศโดยกำเนิด) การแสดงออกทางเพศ (gender expression – วิธีการแสดงออกทางเพศผ่านการแต่งกาย การทำผม หรือการแต่งหน้า) หรือลักษณะทางเพศ (sexual characteristics – อย่างเช่น อวัยวะเพศ โครโมโซม อวัยวะสืบพันธุ์ หรือระดับฮอร์โมน)
ไม่ว่าจะเป็นการถูกล้อเลียนชื่อหรือโดนรังแก ไปจนถึงโดนปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานหรือไม่ได้รับสิทธิการรักษาสุขภาพที่เหมาะสม การถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมมีให้เห็นมากมายและรุนแรงแตกต่างกันไป จนอาจถึงขั้นเสี่ยงต่อชีวิตได้
เห็นได้จากกรณีตัวอย่างนับไม่ถ้วน ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกคุกคามบนท้องถนน ถูกซ้อมทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งถูกฆ่าเพียงเพราะตัวตนของพวกเขา มีการกระทำรุนแรงต่อทรานส์เจนเดอร์มากมายที่พรากชีวิตไปอย่างน้อย 369 ชีวิตตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017 จนถึงเดือนกันยายน 2018 ผู้ที่เป็นอินเทอร์เซ็กส์ถูกบังคับให้เข้ารับการผ่าตัดที่อันตราย ล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกาย (invasive) และไม่มีความจำเป็นโดยสิ้นเชิงซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางกายหรือจิตไปชั่วชีวิต

บางครั้ง ความรุนแรงที่มุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็เพิ่มจำนวนเพราะรัฐบาลที่ควรปกป้องกลุ่มคนเหล่านี้เสียเอง นโยบายที่สนับสนุนโดยรัฐในเชชเนียนำไปสู่การมุ่งเป้าทำร้ายเกย์ โดยบางส่วนถูกลักพาตัว ทรมาน หรือแม้กระทั่งถูกฆ่า ในบังคลาเทศ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกกลุ่มติดอาวุธมีดมาเชเตทำร้ายจนเสียชีวิตโดยที่ตำรวจและรัฐบาลแทบไม่ให้ความสนใจมอบความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวของเหยื่อ นอกจากนี้ หลายพื้นที่ในแอฟริกาใต้สะฮารา ผู้คนยังคงใช้ชีวิตอย่างหวาดกลัวการโดนจับได้ที่นำไปสู่การถูกทำร้ายหรือถูกฆาตกรรม
การร่วมเพศของคนเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมในกว่า 70 ประเทศ และเป็นโทษประหารชีวิตในเก้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอิหร่าน ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศซูดานและประเทศเยเมน ถึงแม้ในบางพื้นที่จะไม่บังคับใช้กฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าวอย่างจริงจัง การมีกฎหมายเหล่านั้นก็สนับสนุนอคติต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้พวกเขารู้สึกขาดการปกป้องจากภัยคุกคาม การแบล็กเมล์ หรือความรุนแรง
ผู้คนรับมือกับการแบ่งแยกนี้อย่างไร
กลุ่มสนับสนุนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้เอาชนะความท้าทายและความอันตรายมหาศาลเพื่อเรียกร้องต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และผลักดันให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายที่แบ่งแยกกลุ่มคนเหล่านี้ ตั้งแต่การนำเสนอแนวคิดของไพรด์ไปจนถึงวันเฉลิมฉลองทั่วโลกอย่างวันต่อต้านโฮโมโฟเบีย ทรานส์โฟเบีย และไบโฟเบียนานาชาติ (หรือ IDAHOTB) ทั่วโลก กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้สร้างกลุ่มพันธมิตรและสนับสนุนความภาคภูมิใจต่อตัวตนของพวกเขา ความพยายามร่วมกันของกลุ่มองค์กรนักเคลื่อนไหวรอบโลกได้ปรากฏผลให้เห็นอย่างจริงจัง ทุกวันนี้ มีอย่างน้อย 43 ประเทศที่ออกมาประกาศว่าอาชญากรรมเกี่ยวกับโฮโมโฟเบียเป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (hate crime) ประเภทหนึ่ง และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 มี 27 ประเทศที่ได้อนุมัติให้การสมรสของคู่รักเพศเดียวกันถูกกฎหมาย
การเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
เราทุกคนต้องได้รับการปกป้องจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการแสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศและเพศวิธี ภายใต้หลักการด้านสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลหลายประเทศที่ได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศและให้พันธสัญญาว่าจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังคงมีการออกกฎหมายที่แบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศ การแสดงออกและอัตลักษณ์ทางเพศ
ปัจจุบันมีประเทศมากกว่า 64 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายกำหนดให้การรักเพศเดียวกัน (homosexuality) เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งหลายกฎหมายเป็นผลพวงมาจากการล่าอาณานิคมของยุโรป
ในบางประเทศ เช่น บรูไน อิหร่าน มอริเตเนีย ซาอุดีอาระเบีย เยเมน ยูกันดา และในรัฐตอนเหนือของไนจีเรีย กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตได้หากพบว่ามีการร่วมเพศของคนเพศเดียวกัน
การถูกเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีมากกว่าดำเนินคดีอาญา แต่ยังรวมถึงการจำกัดการเข้าถึงสิทธิบริการด้านสุขภาพ ความลำบากในการหางานที่มั่นคง การกลั่นแกล้งหรือการคุกคามในที่ทำงาน เป็นต้น

อัตลักษณ์ทับซ้อนของผู้ทีมีความเพศหลากหลายทางเพศ
อัตลักษณ์ทับซ้อน (Intersectionality) เป็นคำที่บัญญัติโดยศาสตราจารย์คิมเบอร์เล เครนชอว์ นักวิชาการด้านกฎหมายสตรีนิยมผิวสีและได้รับการอธิบายต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในบทความของเธอในปี 1989 เรื่อง ‘Demarginalizing the Intersection of Race and Sex’
เดิมทีคำว่า ‘อัตลักษณ์ทับซ้อน ใช้เพื่ออธิบายความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติหลายรูปแบบที่ผู้หญิงผิวสีต้องเผชิญในสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นคำที่ใช้ในสากลสำหรับการนิยามลักษณะการถูกกดขี่และการเลือกปฏิบัติรูปแบบต่างๆ ที่ซ้อนทับกัน คิมเบอร์เลได้พูดถึงลักษณะของอัตลักษณ์ทับซ้อน ว่าคือการถูกกดขี่หรือการเลือกปฏิบัติ การควบคุม การกระทำที่เป็นการใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ อันเป็นผลมาจากอัตลักษณ์ทางสังคมที่หลากหลายและทับซ้อนกัน อัตลักษณ์ของคน ๆ นั้นมีที่มาจากสถานะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เพศ ชนชั้น ชาติพันธุ์ การศึกษา สภาพร่างกาย ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง ฯลฯ แต่ละอัตลักษณ์ทางสังคมนี้เชื่อมโยงกันและส่งผลต่อการใช้อำนาจหรือการกดขี่คนแต่ละคนแตกต่างกันไป
หลายประเทศในซีกโลกใต้อาจมีความรู้และประสบการณ์ของตนเองในการระบุปัญหาการกดขี่จากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อน เช่น ในอินเดีย นิเวดิตา เมนอน นักวิชาการด้านสตรีนิยม ระบุว่าการมีหลายอัตลักษณ์ทับซ้อนมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ซึ่งสามารถสืบย้อนไปถึงการต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยม โดยไม่มีการอ้างอิงถึงงานของเครนชอว์
กล่าวคือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอาจถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศ และยังถูกกดขี่เนื่องจากเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ ศาสนา ชาติพันธุ์ ความสามารถ (ความทุพพลภาพ) หรืออายุ เพื่อต่อสู้กับระบบที่กดขี่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เราจำเป็นต้องรื้อถอนโครงสร้างระบบที่กดขี่ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการเหยียดเชื้อชาติ ลัทธิจักรวรรดินิยม การเหยียดผู้พิการ การเหยียดเพศ ความเกลียดกลัวคนต่างชาติ การเหยียดอายุ หรือการเหยียดชนชั้น

คำนิยาม: 7 คำตอบของคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการเป็น LGBT
รสนิยมทางเพศ (sexual orientation) หมายความว่าอะไร
รสนิยมทางเพศของคนๆ หนึ่งสื่อถึงคนที่พวกเขาสนใจและสร้างความสัมพันธ์ด้วย รสนิยมทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัวและขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่าจะตัดสินว่าจะกำหนดหรือไม่และกำหนดอย่างไร สำหรับบางคน รสนิยมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลารสนิยมทางเพศรวมถึง เลสเบี้ยน (lesbian – ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง) เกย์ (gay ส่วนมากเป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชาย) ไบเซ็กชวล (bisexual – ชอบผู้ชายและผู้หญิง) แพนเซ็กชวล (pansexual – ชอบที่ตัวบุคคล) ไม่ฝักใฝ่ใจทางเพศ (asexual – ไม่มีความชอบทางเพศต่อใคร)

ทรานส์เจนเดอร์หมายความว่าอย่างไร
ทรานส์เจนเดอร์ (หรือทรานส์) หมายถึงบุคคลที่อัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศต่างไปจากความคาดหวังของคนทั่วไปต่อเพศโดยกำเนิด
ทรานส์เจนเดอร์ทุกคนไม่ได้เป็นเพียงชายหรือหญิงเท่านั้น บางคนเป็นมากกว่าหนึ่งเพศหรือไม่มีเพศเลย
ทรานส์บางคนตัดสินใจข้ามเพศ (transition) ซึ่งหมายถึงกระบวนการใช้ชีวิตตรงตามเพศที่แท้จริง กระบวนการข้ามเพศไม่มีเฉพาะเจาะจง บางคนอาจเปลี่ยนสรรพนามใหม่ เปลี่ยนชื่อ ทำเรื่องรับรองเพศสถานะตามกฎหมาย และ/หรือเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดแปลงเพศหรือบำบัดทางฮอร์โมน
การเป็นทรานส์เจนเดอร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศแต่อย่างใด บุคคลหนึ่งอาจเป็นชายข้ามเพศและเป็นเกย์ หรือเป็นหญิงข้ามเพศและเป็นเลสเบี้ยนก็ได้
คนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์จะทำเรื่องขอรับรองเพศสถานะได้ที่ไหนบ้าง
คนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์สามารถทำเรื่องขอรับรองเพศสถานะได้ในบางประเทศ อย่างไรก็ตาม ส่วนมากมักต้องผ่านกระบวนการที่สร้างความอับอายและละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการวินิจฉัยทางจิตหรือการทำหมันถาวร มีเพียงเจ็ดประเทศเท่านั้นที่ไม่มีกระบวนการดังกล่าว คือ อาร์เจนตินา บราซิล เบลเยียม โคลอมเบีย เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ มอลตา และนอร์เวย์

อินเทอร์เซ็กส์แปลว่าอะไร
การที่คนเกิดมาพร้อมลักษณะทางเพศที่แตกต่างไปจากคุณลักษณะชายหญิงทั่วไปเรียกว่าอินเทอร์เซ็กส์ ยกตัวอย่างเช่น ในบางกรณี ร่างกายมีทั้งลักษณะของเพศหญิงและเพศชาย และอีกกรณีหนึ่งคือเมื่อองค์ประกอบของโครโมโซมไม่ใช่ทั้งหญิงหรือชาย ลักษณะเหล่านี้อาจปรากฏตั้งแต่กำเนิด เริ่มปรากฏชัดเจนเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือภายหลังในชีวิต
หลายคนที่เป็นอินเทอร์เซ็กส์ต้องเผชิญกับการผ่าตัดที่รุกล้ำเข้าสู่ร่างกาย ไม่ฉุกเฉิน (non-emergency) และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ส่วนใหญ่มักทำขณะยังเป็นเด็กแต่บางครั้งก็ทำภายหลัง ขั้นตอนเหล่านี้สร้างอุปสรรคที่ก่อความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจในระยะยาว
การมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมที่ประเทศไหนบ้าง
การมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมายในกว่า 70 ประเทศ ในบังคลาเทศ บาร์เบโดส กายอานา เซียร์ราลีโอน กาตาร์ ยูกันดา และแซมเบีย ถือเป็นความผิดจำคุกตลอดชีวิต มีเก้าประเทศที่กำหนดให้การรักเพศเดียวกันเป็นโทษประหารชีวิต คือ อัฟกานิสถาน บรูไน อิหร่าน อิรัก มอริเตเนีย ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย ซูดาน และเยเมน
การสมรสของคู่รักเพศเดียวกันถูกกฎหมายที่ไหนบ้าง
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 การสมรสของคู่รักเพศเดียวกันถูกกฎหมายในประเทศ 27ประเทศ รวมถึงอาร์เจนตินา แคนาดา ไอร์แลนด์ มอลตา แอฟริกาใต้ อุรุกวัย และไต้หวัน และแอมเนสตี้กำลังเรียกร้องให้ญี่ปุ่นปฏิบัติเช่นเดียวกัน
ไพรด์ (Pride) คืออะไร
ไพรด์มีหลายรูปแบบ ทั้งการเดินขบวนคาร์นิวัล ไปจนถึงการฉายภาพยนตร์และการโต้วาที ไพรด์ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่มคนที่ถูกจำกัดให้เป็นไปตามมาตรฐานของชายหรือหญิง โดยมีการจัดงานตลอดปีขึ้นอยู่กับสถานที่ ในทวีปอเมริกาและยุโรป เทศกาลมักจะเริ่มในเดือนมิถุนายน ในขณะที่แอฟริกาใต้มีเทศกาลไพรด์เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ไม่ว่าจะเป็นงานแบบใด ไพรด์เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคน LGBTI ออกมาแสดงว่ายอมรับในสิ่งที่เป็นและภูมิใจในตัวตนของตัวเอง เทศกาลไพรด์ถูกแบนในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงรัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย ยูกันดา และล่าสุดตุรกี ไพรด์เฉลิมฉลองความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความหลากหลายและเป็นการขยายประเด็นการเรียกร้องความเคารพและการปกป้องสิทธิของ LGBTI

ไพรด์และการชุมนุมประท้วงโดยสงบ
แม้ว่าไพรด์มักจะถูกมองว่าเป็นการเฉลิมฉลอง แต่กลับมีจุดเริ่มต้นจากการจลาจลต่อต้านความโหดร้ายของตำรวจที่โรงแรม Stonewall Inn ในเมืองนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2512 ตำรวจบุกตรวจค้นโรงแรม Stonewall Inn เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ ‘ผู้ชาย’ หรือ ‘ผู้หญิง’ ต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่ ‘ตรงกับ’ เพศที่ระบุบนบัตรประจำตัวที่ออกโดยรัฐ เมื่อชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศใน Stonewall Inn ซึ่งส่วนใหญ่นำโดยผู้หญิงข้ามเพศผิวสีต่อสู้กลับมากเท่าใด ความโหดร้ายของตำรวจยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้นในการจลาจลตลอด 6 วัน ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นสำหรับการเคลื่อนไหวของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกาและในหลายประเทศทั่วโลก ไพรด์ยังคงเป็นการชุมนุมประท้วงที่เป็นศูนย์กลางและสำคัญที่สุดที่เน้นย้ำเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไพรด์มีความแตกต่างกันไปในหลายประเทศทั่วโลก ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การจัดขบวนพาเหรด เดินขบวน และคอนเสิร์ตที่รวบรวมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เครือข่าย และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมด้วยกัน แต่ในบางประเทศและสถานที่อื่นๆ งานไพรด์ถูกยกเลิกโดยรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายอยู่เสมอ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสำหรับผู้ที่เข้าร่วม ในขณะที่ไพรด์ค่อยๆ กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบที่เป็นที่รับรู้ที่สุดในการเฉลิมฉลองความสุขและการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังคงมีการเคลื่อนไหวของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านการชุมนุมประท้วง และวิธีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มในรูปแบบที่หลากหลายทั่วโลก และอีกหลายสถานที่ในโลกที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในท้องที่นั้นอาจไม่ชอบแนวคิดของไพรด์ แต่ชอบที่จะร่วมเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ของตนด้วยวิธีที่ลึกซึ้งและเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นมากกว่า

เพราะอะไรสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจึงสำคัญ?
ทุกคนควรได้รู้สึกภูมิใจในตัวตนและคนที่รัก และมีสิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรี โดยข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ที่อธิบายสิทธิที่ทุกคนได้รับความคุ้มครองเป็นครั้งแรก) ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของทุกคน
การหยุดโฮโมโฟเบียและทรานส์โฟเบียสามารถช่วยชีวิตคนได้ การคุกคามของพวกที่ต่อต้านผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้กลุ่มคนที่แสดงตนเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศตกอยู่ในความเสี่ยงต่อร่างกายและจิตใจอย่างสูง เพราะทุกคนควรมีสิทธิต่อชีวิต เสรีภาพ และความปลอดภัย
การยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และเข้าใจตัวตนของพวกเขาจะลบล้างข้อจำกัดที่เกิดจากการเหมารวมลักษณะทางเพศ (gender stereotypes) การเหมารวมเหล่านี้ส่งผลเสียในสังคม ทั้งกำหนดและจำกัดวิถีชีวิตของคน การขจัดการเหมารวมจะปลดปล่อยให้ทุกคนบรรลุศักยภาพได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากข้อจำกัดอันแบ่งแยกของสังคม
ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะทรานส์เจนเดอร์และคนที่แสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคม (gender nonconforming) มักเสี่ยงต่อการกีดกันทางเศรษฐกิจและสังคม การต่อสู้เพื่อกฎหมายที่เข้าถึงคนมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศจะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย และการจ้างงานมากขึ้น

แอมเนสตี้มีส่วนร่วมสนับสนุนสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างไรบ้าง
แอมเนสตี้มุ่งมั่นที่จะยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก
เราเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลและผู้นำที่มีอิทธิพลอื่น ๆ เกี่ยวกับวิธีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เช่น งานวิจัยของเราที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ที่มีภาวะเพศกำกวมเป็นหนึ่งในงานวิจัยชิ้นแรกจากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและมีอิทธิพลอย่างมากต่อกฎหมายใหม่ในเดนมาร์ก ฟินแลนด์ กรีซ และนอร์เวย์
แอมเนสตี้ยังช่วยนักกิจกรรมทั่วโลก ด้วยการจัดทำแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นมากมายที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น เครื่องมือในการสนับสนุนสำหรับนักกิจกรรมเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) ไปจนถึง เอกสารชุด Body Politics ที่มีเป้าหมายสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการกำหนดให้รสนิยมทางเพศและการร่วมเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
แต่งานยังไม่จบเพียงเท่านี้ เราพยายามที่จะผลักดันการเติมเต็มสิทธิทั้งหมดของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไป โดยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเครือข่าย กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และนักกิจกรรมทั่วโลก
