เกี่ยวกับเรา

แอมเนสตี้คือใคร?

แอมเนสตี้ หรือชื่อเต็มๆ ว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คือกลุ่มคนธรรมดาๆ ทั่วโลกมากกว่า 7 ล้านคนที่รวมตัวกันเพื่อรณรงค์ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เราเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิ ร่วมมือกับรัฐเพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครอง ไปจนถึงสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชนและคนในสังคม

แอมเนสตี้เชื่อว่าแม้คนเราจะเกิดมามีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่าๆ กัน

- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คือกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 3 ล้านคนใน 150 ประเทศทั่วโลกและดินแดน
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่ปกครองตนเองแบบประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์เพียงประการเดียวคือการได้รับความมั่นใจว่าสิทธิมนุษยชนจะได้รับการเคารพและคุ้มครอง
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมุ่งทำงานเพื่อพัฒนากระบวนการและวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคมโดยทำงานผ่านการรณรงค์ กิจกรรมแสดงเอกภาพในระดับสากล และสิทธิมนุษยชนศึกษา
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรอิสระไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา หรือลัทธิใด
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำกิจกรรมณรงค์อันมีรากฐานมาจากการทำงานวิจัย รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน รณรงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่เป็นธรรม การปฏิรูปกฎหมาย การปล่อยตัวนักโทษและผู้ที่ถูกกักขังโดยไมชอบธรรม ปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุกคาม ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำการรณรงค์โดยการเขียนจดหมาย ปฏิบัติการเร่งด่วนและประสานงานกับสื่อนานาชาติ รวมถึงการรณรงค์กับรัฐบาลและองค์กรภายในของรัฐเพื่อให้การรับรองรัฐธรรมนูญ สนธิสัญญาและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจากากรทำงานด้านสิทธิทางพลเมืองและการเมือง
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ขยายการทำงานไปสู่ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยมีความเชื่อมั่นว่าการเคารพ ปกป้อง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนจะนำมาซึ่งการลดลงของปัญหาความยากจนและนำมาซึ่งความเสมอภาคและความยุติธรรม -
- แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เริ่มดำเนินงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2538 และได้จดทะเบียนองค์กรเป็น “สมาคมเพื่อองค์การนิรโทษกรรมสากล” เมื่อปี 2546 ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรอิสระต่างๆ

ประวัติแอมเนสตี้

2504

แอมเนสตี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อทนายความชาวอังกฤษ ปีเตอร์ เบเนนสัน เขียนบทความเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองคนที่โดนรัฐบาลเผด็จการจับติดคุกเพียงเพราะดื่มเหล้าและชนแก้วสดุดีเสรีภาพ

2515

แอมเนสตี้เริ่มทำแคมเปญเพื่อยุติการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั่วโลก ซึ่งนำมาสู่การผ่านอนุสัญญาต่อต้านการทรมานโดยองค์การสหประชาชาติในอีก 12 ปีต่อมา

2519

ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลกส่งจดหมายหลายแสนฉบับมายังรัฐบาลไทย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับจากการประท้วงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่คนไทยเริ่มรู้จักแอมเนสตี้

2520

แอมเนสตี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการปกป้องสิทธิมนถษยชน เสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพทั่วทุกมุมโลก

2536

แอมเนสตี้เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างจริงจัง มีการเลือกตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่สนใจสิทธิมนุษยชนแขนงต่างๆ ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

2546

แอมเนสตี้จดทะเบียนในฐานะสมาคมตามกฎหมายไทยภายใต้ชื่อ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อร่วมทำงานพัฒนาสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือจากผู้สนับสนุนทุกคนในประเทศไทย

2550

การณรงค์เพื่อปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกของแอมเนสตี้ทั่วโลกเริ่มขยายไปสู่เสรีภาพบนโลกออนไลน์และความเป็นส่วนตัว ตามการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยี

2559

แอมเนสตี้ประเทศไทยทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ไม่มีเนื้อหาที่เอื้อต่อการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นส่วนตัวของคนไทยทั่วประเทศ

แอมเนสตี้ในประเทศไทย

แอมเนสตี้เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลังการรณรงค์ประสบความสำเร็จ จึงมีคนไทยเริ่มรู้จักแอมเนสตี้มากขึ้น หลังจากนั้น เริ่มมีการรวมตัวของกลุ่มผู้สนับสนุนแอมเนสตี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการเลือกตั้งคณะกรรมแอมเนสตี้ในประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมแอมเนสตี้ระดับนานาชาติในปี 2536 และตั้งสำนำนักงานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2546

ในประเทศไทย แอมเนสตี้รณรงค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหลายประเด็น โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก ยุติการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ สิทธิในที่ดินของชาวบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิในอนามัยเจริญพันธุ์ ไปจนถึงการจัดทำสิทธิมนุษยชนศึกษาให้กับเยาวชนทั่วประเทศ

หนัง The Good Lie และความเป็นมนุษย์ของเพื่อนผู้ลี้ภัย

ความอิสระและโปร่งใส

ในโลกที่เต็มไปด้วยการตักตวงผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมือง แอมเนสตี้ยึดมั่นในความเป็นกลาง อิสระ และโปร่งใส เรารับเงินบริจาคสำหรับการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนจากคนธรรมดาๆ เช่นคุณเท่านั้น เราปฏิเสธเงินสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพราะผลประโยชน์เดียวที่เรายึดถือคือสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน 

การตัดสินใจสำคัญๆ ของเรามาจากการปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกแอมเนสตี้ทั่วประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่างานของเราสะท้อนความคิดเห็นของผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างแท้จริง

สิทธิมนุษยชนมีความเป็นสากล ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน เชื้อชาติ ศาสนา หรือเพศใดๆ สิทธิมนุษยชนก็ยังเป็นของคุณ และไม่มีใครสามารถพรากสิทธิจากตัวคุณไปได้ หากคุณคือคนหนึ่งที่เชื่อแบบเดียวกับเรา สนับสนุนงานของเราตั้งแต่วันนี้