องค์กร 46 ภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความรับผิดต่อความโหดร้ายในเมียนมา ในวาระครบรอบสี่ปีของการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ปีนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเรียกร้องความรับผิดรับชอบในเมียนมา แม้กองทัพยังคงกุมอำนาจ แต่พวกเขากำลังสูญเสียพื้นที่ในหลายภูมิภาค ท่ามกลางรูปแบบการสู้รบที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และพลวัตทางการเมืองที่เปลี่ยนไป จะต้องมีการดำเนินงานใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดความยุติธรรม และสร้างอนาคตบนวัฒนธรรมของการเคารพสิทธิมนุษยชนที่ยั่งยืน
นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 กองทัพเมียนมาได้สังหารประชาชนกว่า 6,000 คน ควบคุมตัวบุคคลโดยพลการกว่า 20,000 คน และได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตตามคำสั่งศาลอีกครั้งหนึ่ง มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 3.5 ล้านคน กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้บันทึกข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อผู้ที่ถูกกองทัพควบคุมตัว การโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย และการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งอาจเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม
กองทัพเมียนมาได้โจมตีอย่างกว้างขวางและเป็นระบบต่อพลเรือนทั่วประเทศ ทั้งการระเบิดโรงเรียน โรงพยาบาล และศาสนสถานโดยไม่ต้องรับผิดใดๆ รวมถึงกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับกองทัพก็ได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน แม้บางกลุ่มได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด แต่เรายังคงต้องติดตามว่าจะมีการดำเนินงานอย่างจริงจัง และสอดคล้องตามมาตรฐานสากลหรือไม่
ปี 2567 ที่ผ่านมายังถือเป็นปีที่มีการใช้ความรุนแรงอย่างมากต่อชุมชนโรฮิงญานับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยมีผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยระเบิด ขณะที่พวกเขาตกอยู่ท่ามกลางการขัดแย้งกันด้วยอาวุธระหว่างกองทัพกองทัพอาระกันในรัฐยะไข่
ขณะเดียวกัน กองทัพเมียนมาได้สูญเสียการควบคุมในหลายพื้นที่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทั่วประเทศ เป็นการสูญเสียดินแดนให้กับกลุ่มพันธมิตรติดอาวุธชาติพันธุ์ที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ซึ่งสามารถยึดกองบัญชาการระดับภูมิภาคสองแห่ง จับกุมเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง ยึดเมืองและจุดผ่านแดนหลายสิบแห่ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มเหล่านี้ก็ถูกกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน
ในพื้นที่ที่ควบคุมของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ หรืออยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งก่อตั้งโดยสมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง หลังการำรัฐประหารในปี 2564 ได้เริ่มมีการพัฒนาโครงสร้างการปกครอง และภาคประชาสังคมในท้องถิ่นขึ้น รวมถึงการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สำนักงานบริหาร เรือนจำ สถานีตำรวจ และศาล
องค์กรที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาที่มีการขัดแย้งกันด้วยอาวุธให้เคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และมีส่วนร่วมในกลไกความยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงกลไกสอบสวนอิสระสำหรับเมียนมา (Independent Investigative Mechanism for Myanmar) นานาประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้าน ต้องเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหาร ด้วยการปิดกั้นการส่งอาวุธ ระงับการส่งออกเชื้อเพลิงอากาศยาน และสนับสนุนกลไกยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงการดำเนินคดี หรือส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปยังศาลระหว่างประเทศ อาเซียนต้องก้าวข้ามความล้มเหลวของฉันทามติ 5 ข้อ และดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อให้เกิดความรับผิดของรัฐบาลทหาร นอกจากนี้ เราขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศสนับสนุนให้เกิดการพัฒนายุทธศาสตร์ความยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่เกิดจากการประสานงานและทำงานในระยะยาว
ในระดับโลก มีความคืบหน้าของการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยุติธรรมระหว่างประเทศที่รอคอยมาอย่างยาวนาน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2567 สำนักงานอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ขอออกหมายจับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ สืบเนื่องจากการเนรเทศและการประหัตประหารชาวโรฮิงญาในเมียนมาและบางส่วนในบังกลาเทศ ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2560 โดยคาดว่าจะมีการขอหมายจับเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงคนอื่นๆ ในอนาคต
หากคำขอเหล่านี้ได้รับการอนุมัติ ประเทศสมาชิก ICC ต้องปฏิบัติตามหมายจับผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในเขตอำนาจศาลของตนโดยทันที และส่งตัวบุคคลนั้นไปยัง ICC เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และเข้ารับการการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประชาคมระหว่างประเทศต้องปฏิเสธการให้ที่พักพิงแก่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำอาชญากรรมร้ายแรง โดยต้องดำเนินการจับกุมและส่งตัวพวกเขาไปยัง ICC ทันที โลกต้องไม่ยอมให้ผู้กระทำผิดหลบหนีจากความยุติธรรมระหว่างประเทศ
แม้ว่าการขอหมายจับในปัจจุบันจะเป็นก้าวย่างที่น่ายินดี แต่ยังคงมีข้อจำกัดด้านขอบเขต สถานที่ และเวลา และไม่ครอบคลุมอาชญากรรมที่เกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหารปี 2564 อัยการ ICC ควรแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการสอบสวนเพิ่มเติม รวมถึงการสอบสวนอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นหลังปี 2560 และในช่วงสี่ปีนับตั้งแต่การทำรัฐประหาร คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและประเทศสมาชิก ICC ต้องส่งคดีที่เกิดขึ้นในเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของ ICC เพื่อประกันให้เกิดความยุติธรรมกับเหยื่อทุกคน
รัฐบาล แหล่งทุน และองค์กรระหว่างประเทศ ควรสนับสนุนและดำเนินงานเพื่อเรียกร้องความรับผิดในรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงการใช้เขตอำนาจศาลสากล (universal jurisdiction) และการสร้างกลไกความยุติธรรมแบบ “ลูกผสม” หรือกลไกยุติธรรมที่ออกแบบเฉพาะกรณี ประชาคมระหว่างประเทศต้องประกาศห้ามการจัดส่งอาวุธที่รอบด้าน ระงับการส่งออกเชื้อเพลิงอากาศยาน และแสวงหาการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับชาติที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงภาคประชาสังคมและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมมากที่สุด
ข้อมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนเมษายน 2567 เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการ “ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและทันท่วงที” ระหว่างกลไกสอบสวนอิสระสำหรับเมียนมา (Independent Investigative Mechanism for Myanmar – IIMM) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อรวบรวมและรักษาพยานหลักฐานของอาชญากรรมอันโหดร้ายในเมียนมา เพื่อการดำเนินคดีในอนาคต กับ “การสอบสวนหรือกระบวนการใด ๆ ในอนาคตของศาลหรือคณะตุลาการระดับชาติ ภูมิภาค หรือระหว่างประเทศ รวมถึงศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)”
นอกจากนี้ มติดังกล่าวยังเรียกร้องให้ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ความสำคัญกับความรับผิดตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และหลักนิติธรรม และเสนอรายงานในอนาคตเกี่ยวกับวิธีการ “ตอบสนองความปรารถนาของประชาชนเมียนมาที่มีต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ความรับผิด ประชาธิปไตย และรัฐบาลพลเรือน”
ในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งต่อไป จะมีการปรึกษาหารือกรณีเมียนมา ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ถึง 4 เมษายน 2568 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติต้องใช้โอกาสนี้ เพื่อดำเนินงานตามแนวทางที่กล้าหาญและสร้างสรรค์เกี่ยวกับเมียนมา และรับรองข้อมติที่มุ่งทำลายวงจรการลอยนวลพ้นผิดจากอาชญากรรมอันโหดร้าย ประชาคมระหว่างประเทศต้องสนับสนุนให้เกิดการรับฟังความเห็นของผู้รอดชีวิต นักกิจกรรม และประชาชนเมียนมาที่ยังคงเสี่ยงภัยและต่อสู้กับการกดขี่มากขึ้น
วิกฤตสิทธิมนุษยชนในเมียนมาไม่ได้เริ่มต้นจากการทำรัฐประหาร แต่การกดขี่ได้เกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว การยุติการลอยนวลพ้นผิดต้องอาศัยแนวทางแก้ปัญหาที่กล้าหาญและยืดหยุ่น รวมถึงความมุ่งมั่นทางการเมืองและการเงินในระยะยาว ประชาคมโลกต้องดำเนินการแก้ไขวิกฤตสิทธิมนุษยชนโดยทันที
—
1. #Sisters2Sisters
2. Ah Nah Podcast – Conversations with Myanmar
3. Amnesty International
4. Arakan Rohingya National Organisation
5. Arakan Rohingya National Union
6. Assistance Association for Myanmar-based Independent Journalists
7. Athan – Freedom of Expression Activist Organization
8. Blood Money Campaign
9. Burma Action Ireland
10. Burma Campaign UK
11. Burma Civil War Museum
12. Burma Human Rights Network
13. Burma War Crimes Investigation
14. Burmese Rohingya Organisation UK
15. CAN-Myanmar
16. Center for Ah Nyar Studies
17. Chin Human Rights Organization
18. Community Rebuilding Center
19. Defend Myanmar Democracy
20. EarthRights International
21. Fortify Rights
22. Free Rohingya Coalition
23. Global Myanmar Spring Revolution
24. Human Rights Foundation of Monland
25. Independent Myanmar Journalists Association
26. Kaladan Press Network
27. Karen Human Rights Group
28. Karenni Human Rights Group
29. Mayu Region Human Rights Documentation Center
30. Mother’s Embrace
31. Myanmar Ethnic Rohingya Human Rights Organization in Malaysia
32. New Myanmar Foundation
33. Odhikar
34. Progressive Muslim Youth Association
35. Political Prisoners Network – Myanmar
36. Refugee Women for Peace and Justice
37. Refugees International
38. Rohingya Human Rights Initiative
39. Rohingya Student League
40. Rohingya Student Network
41. Rohingya Student Union
42. Rohingya Youth for Legal Action
43. RW Welfare Society
44. Sitt Nyein Pann Foundation
45. Women Organization of Political Prisoners
46. Youth Congress Rohingya