สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 6-12 พฤษภาคม 2567

ฮ่องกง: การสั่งห้ามเพลงประท้วงเป็น ‘สัญญาณที่น่ากังวล’ ของเสรีภาพที่ถูกจำกัด

8 พฤษภาคม  2567

สืบเนื่องจากศาลอุทธรณ์ฮ่องกงอนุมัติคำสั่งของรัฐบาลที่แบนเพลงประท้วง “Glory to Hong Kong”

ซาราห์ บรูคส์ รองผู้อำนวยการระดับภูมิภาค ฝ่ายกิจการเกี่ยวกับประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การที่รัฐบาลฮ่องกงสั่งห้ามเพลงนั้นทั้งน่าหัวเราะและอันตราย การสั่งห้ามเพลง “Glory to Hong Kong” ที่ใช้เผยแพร่ในการชุมนุมประท้วงไม่เพียงเป็นการโจมตีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของชาวฮ่องกงอย่างไร้เหตุผลเท่านั้น แต่ยังละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอีกด้วย

“ชัยชนะในการอุทธรณ์ของรัฐบาลในวันนี้ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาคัดค้านเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวลของความไม่เต็มใจที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติตามพันธกรณีที่เพิ่มมากขึ้นของทางการฮ่องกง

“การร้องเพลงประท้วงไม่ควรเป็นอาชญากรรมหรือภัยคุกคามต่อ ‘ความมั่นคงของชาติ’ ตามที่รัฐบาลอ้าง ทางการฮ่องกงจะต้องยุติทุกความพยายามในการจำกัดสิทธิมนุษยชนโดยอ้าง ‘ความมั่นคงของชาติ’ ”

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ศาลอุทธรณ์ฮ่องกงได้กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งปฏิเสธคำตัดสินของรัฐบาลฮ่องกงที่สั่งห้ามเพลง “Glory to Hong Kong” เนื่องจากกังวลว่ามี “ผลกระทบที่สร้างความหวาดกลัว” ต่อเสรีภาพการแสดงออก

กระทรวงยุติธรรมของฮ่องกงกำลังพยายามสั่งห้าม “การออกอากาศ การแสดง การพิมพ์ การขาย การเสนอขาย การแจกจ่าย การเผยแพร่ หรือการทำซ้ำในลักษณะใดๆ” ของเพลงดังกล่าว ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในระหว่างการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในเมืองในปี 2562

เนื้อเพลงและทำนองของเพลงยังถูกสั่งห้ามด้วย สโลแกนการชุมนุมประท้วงที่ปรากฏในเพลงว่า “ปลดปล่อยฮ่องกง ปฏิวัติยุคสมัยของเรา” ได้ถูกสั่งห้ามไปแล้วภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของเมือง เนื่องจากรัฐบาลมองว่าเป็นการเรียกร้องให้ “แบ่งแยกดินแดน”

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยกล่าวไว้ว่าผู้ที่มีส่วนร่วมกับเพลงดังกล่าวในลักษณะใดๆ ก็ตามที่อธิบายไว้อาจถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับเพลงชาติ หรือแม้แต่ถูกตั้งข้อหา “แบ่งแยกดินแดน” ภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งอาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต

อ่านต่อ: https://bit.ly/4aoBW0O


อิสราเอล/เขตยึดครองปาเลสไตน์: กองทัพอิสราเอลต้องรับประกันความปลอดภัยของพลเรือน ในขณะที่เริ่มปฏิบัติการภาคพื้นดินที่ราฟาห์ฝั่งตะวันออก

30 เมษายน  2567

ต่อกรณีที่กองทัพอิสราเอลมีคำสั่งให้ประชาชนกว่า 100,000 คน ซึ่งเป็นผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศ ต้อง “อพยพ” ออกจากพื้นที่ต่างๆ ในราฟาห์ฝั่งตะวันออก และรายงานข่าวว่าเริ่มมีปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่แล้ว

เอริกา เกวารา-โรซาส์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย กดดัน นโยบาย และรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า คำสั่งของกองทัพอิสราเอลให้มี “การอพยพ” ครั้งล่าสุด ที่เผยแพร่เพียง 24 ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มปฏิบัติการภาคพื้นดินในราฟาห์ฝั่งตะวันออก เกิดขึ้นหลังจากมีการเร่งทิ้งระเบิดในตอนใต้ของเมือง และเกิดขึ้นหลังมีการข่มขู่เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้วว่า จะมีปฏิบัติการภาคพื้นดินอย่างเต็มรูปแบบในราฟาห์ ซึ่งจะยิ่งสร้างความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสให้กับชาวปาเลสไตน์ในกาซา

“นับเป็นปฏิบัติการที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงจากปฏิบัติการเช่นนั้นต่อพลเรือน รถถังของอิสราเอลได้เริ่มปฏิบัติการเชิงรุกภาคพื้นดินเข้าไปในฝั่งปาเลสไตน์ตรงบริเวณด่านพรมแดนราฟาห์ ปิดกั้นเส้นทางลำเลียงที่สำคัญของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำหรับประชาชนที่กำลังเผชิญกับทุพภิกขภัย และความเสี่ยงที่จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

“รัฐทุกแห่งต้องกดดันอิสราเอลให้ยุติปฏิบัติการภาคพื้นดินในราฟาห์ทันที และประกันให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างไม่ปิดกั้น สอดคล้องตามพันธกรณีที่จะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งมีการเน้นย้ำโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

“กองทัพอิสราเอลยังต้องยกเลิกคำสั่งให้พลเรือน ‘อพยพ’ ออกจากราฟาห์ฝั่งตะวันออก จนกว่าจะสามารถรับประกันความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยในสถานการณ์ที่มีการโจมตีทางทหารอย่างเข้มข้น โดยอิสราเอลได้ทำการโจมตีเช่นนี้อย่างต่อเนื่องตลอดเจ็ดเดือนที่ผ่านมาในทุกพื้นที่ของฉนวนกาซา”

‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่ประกาศเพิ่มขึ้น และมีการเสนอเป็นพื้นที่เพื่อการโยกย้ายพลเรือนตามข้อมูลในใบปลิวของกองทัพ เป็นพื้นที่ที่ขาดมาตรฐานขั้นพื้นฐานสุด และไม่ช่วยให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี พื้นที่บางส่วนในเขตข่านยูนิส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสั่งให้ประชาชนอพยพเข้าไป เป็นพื้นที่ที่ถูกทำลายอย่างกว้างขวางจากการทิ้งระเบิดของอิสราเอล และไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับคำสั่งอีกครั้งหนึ่งให้ ‘อพยพ’ เดิมก็เป็นผู้พลัดถิ่นฐานมาแล้วหลายครั้งนับแต่เดือนตุลาคม 2566

“พลเรือนชาวปาเลสไตน์ในกาซาเป็นมนุษย์เช่นกัน พวกเขาไม่ใช่เบี้ยที่จะถูกโยกย้ายบนกระดานหมากรุกตามใจชอบของทางการอิสราเอล ความเชื่อที่ว่าพลเรือนที่พลัดถิ่นจะมีพื้นที่ที่ปลอดภัยในกาซา ได้ถูกพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าเป็นคำพูดที่เลื่อนลอย และกองทัพอิสราเอลก็ได้โจมตีพื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยประกาศว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย

“ในฐานะกองกำลังผู้ยึดครอง อิสราเอลมีความรับผิดชอบต้องประกันให้เกิดความปลอดภัยของชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งการจัดให้มีบริการและสิ่งของช่วยเหลือที่จำเป็นเพื่อความอยู่รอดของพวกเขา แต่ที่ผ่านมาอิสราเอลไม่สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้ ทั้งยังมีการขัดขวางอย่างต่อเนื่องไม่ให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ และองค์กรบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ ส่งมอบบริการเช่นนั้นให้กับประชากรพลเรือนในกาซา นับแต่ปี 2550”

“หากไม่มีการรับประกันความปลอดภัยและการเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาอย่างปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งในพื้นที่ทางตอนเหนือของวาดี กาซา ตามข้อกำหนดในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คำสั่งให้อพยพซ้ำแล้วซ้ำอีกเช่นนี้ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจมีผลเป็นการบังคับให้โยกย้าย การหยุดยิงโดยทันทีและต่อเนื่องของคู่สงครามทุกฝ่ายเท่านั้น ที่จะยุติความทุกข์ทรมานของพลเรือนจำนวนมาก และฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อคุณค่าสากลของกฎหมายระหว่างประเทศ”

อ่านต่อ: https://bit.ly/4al3Cnm


ยุโรป: ทางการต้องปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบก่อนวันรำลึกนักบา

10 พฤษภาคม  2567

ทางการต้องงดการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยก่อนจัดกิจกรรมและการชุมนุมที่วางแผนไว้ทั่วยุโรปเพื่อรำลึกถึงวันนักบา (Nakba Remembrance Day) ในช่วงวันที่ 15 พฤษภาคม

ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีความพยายามที่น่าตกใจของทางการทั่วยุโรปที่จะปิดปากผู้ที่ออกมาพูดต่อต้านการสังหารชาวปาเลสไตน์นับหมื่นในฉนวนกาซาโดยอิสราเอล กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์อาชญากรรมและการละเมิดโดยกองกำลังอิสราเอล หรือเน้นย้ำถึงความเสี่ยงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทั่วยุโรปยังมุ่งเป้าไปที่ผู้ที่ออกมาพูดต่อต้านนโยบายของรัฐ รวมถึงการจัดหาอาวุธให้กับอิสราเอลอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในการโจมตีอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง

การชุมนุมสาธารณะ การประชุม และกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่จัดขึ้นทั่วยุโรปเพื่อประณามนโยบายของอิสราเอลเกี่ยวกับฉนวนกาซาถูกยกเลิกหรือถูกสั่งห้าม ซึ่งส่ง ‘ผลกระทบที่สร้างความหวาดกลัว’ ที่ขัดขวางการแสดงออกอื่นๆ ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์

“ทางการทั่วยุโรปจะต้องไม่ใช้กำลังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ นอกจากนั้นยังต้องหยุดใช้วาทกรรมที่ตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมประท้วง และคำสั่งห้ามการชุมนุมแบบครอบคลุมในขณะที่เรากำลังเข้าใกล้วันรำลึกนักบา การห้ามการชุมนุมแบบครอบคลุม ซึ่งเป็นมาตรการที่ไม่ได้สัดส่วนโดยการละเมิดสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และนโยบายปราบปรามอื่นๆ ที่เคยใช้ในอดีตจะต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก

“สถาบันการศึกษา พื้นที่วัฒนธรรม และสถานที่จัดกิจกรรมจะต้องต่อต้านแรงกดดันทางการเมือง และหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติต่อผู้จัดงานและผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ซึ่งมีสิทธิที่จะแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ หรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐอิสราเอลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์อย่างชัดเจน”

การชุมนุมประท้วงโดยสงบ การนั่งเฝ้า การปักหลักในมหาวิทยาลัย และเวทีวิชาการเพื่อเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์เป็นวิธีการชุมนุมประท้วงในการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ผู้คนจากทุกภูมิหลังและทุกศาสนาได้รับการส่งเสริมให้ใช้การชุมนุมประท้วงโดยสงบเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของรัฐบาลของตนที่สนับสนุนอาชญากรรมอันโหดร้ายของอิสราเอล และการขาดขั้นตอนที่มีความหมายเพื่อป้องกันการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งระบุโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก

“การชุมนุมประท้วงโดยสงบเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ในการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงโดยทันที เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับชาวปาเลสไตน์ และให้รัฐอิสราเอลรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อ รวมถึงการปฏิเสธสิทธิในการเดินทางกลับของชาวปาเลสไตน์ถูกบังคับพลัดถิ่น โดยถูกบังคับให้พลัดถิ่น เนรเทศ และ ขับไล่เป็นเวลาหลายทศวรรษตั้งแต่ปี 2491”

อ่านต่อ: https://bit.ly/4afKiba


เนปาล: การเลือกปฏิบัติเนื่องจากเชื้อสายอย่างเป็นระบบต่อชาวดาลิตหรือจัณฑาลจำเป็นต้องดำเนินการด่วน – รายงานฉบับใหม่

10 พฤษภาคม  2567

  • รัฐเนปาลล้มเหลวในการปกป้องชาวดาลิตหรือจัณฑาล ความไม่ไว้วางใจตำรวจและระบบยุติธรรม
  • มาตรการที่ไม่เพียงพอในการจัดการกับการเลือกปฏิบัติเนื่องจากวรรณะอย่างเป็นระบบ
  • วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ผู้หญิงและเด็กหญิงชาวดาลิตตกอยู่ในความเสี่ยง

ทางการในเนปาลล้มเหลวในการปกป้องชาวดาลิต โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กผู้หญิง จากการเลือกปฏิบัติเนื่องจากวรรณะอย่างเป็นระบบและเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม

รายงาน “No One Cares”: Descent-Based Discrimination against Dalits ได้บันทึกประสบการณ์ของการเลือกปฏิบัติเนื่องจากวรรณะอย่างเป็นระบบในเนปาล และความท้าทายที่ต้องเผชิญในการเข้าถึงความยุติธรรม ในขณะที่มาตรการทางกฎหมายและการคุ้มครองที่มีอยู่ของทางการเนปาลไม่เพียงพอและล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพวกเขา

เฟร์นันดา ดอซ คอสต้า ผู้อำนวยการโครงการความยุติธรรมทางเพศและเชื้อชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เจ้าหน้าที่ในเนปาลไม่ได้ดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติเนื่องจากเชื้อสายในเนปาล ความพยายามโดยทางการยังไม่เพียงพอ และดูเหมือนว่าจะอยู่แค่ในกระดาษเท่านั้น ไม่ได้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในชีวิตและสิทธิมนุษยชนของชาวดาลิต โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กหญิงชาวดาลิต

แม้จะมีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อห้ามการเลือกปฏิบัติเนื่องจากชั้นวรรณะ แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลตัวอย่างว่าทุกแง่มุมของชีวิตประจำวันในสังคมเนปาลถูกแบ่งแยกและดำเนินการตามระบบวรรณะ ซึ่งการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางสำหรับชาวทลิต พวกเขายังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการเข้าถึงความยุติธรรม และไม่ได้รับการเยียวยาเนื่องจากการเลือกปฏิบัติในสถาบัน รวมถึงจากตำรวจด้วย

อ่านต่อ: https://bit.ly/3yuJimb


จอร์เจีย: ทางการต้องจัดการกับการโจมตีอย่างรุนแรงต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์และนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

9 พฤษภาคม  2567

สืบเนื่องจากการโจมตีอย่างรุนแรงเมื่อคืนนี้โดยบุคคลไม่ทราบชื่อต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคนสำคัญที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในเมืองทบิลิซี จอร์เจีย เพื่อต่อต้านร่างกฎหมาย “อิทธิพลต่างชาติ” ที่มีข้อโต้แย้ง

เดนิส คริโวชีฟ รองผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การตอบโต้ผู้ที่ต่อต้านร่างกฎหมาย ‘เกี่ยวกับอิทธิพลต่างชาติ’ ในจอร์เจียขณะนี้ได้เพิ่มความรุนแรงจนน่าตกใจ ในช่วงแรก ทางการได้ส่งตำรวจไปสลายการชุมนุมประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายที่กดขี่ด้วยความรุนแรง ปัจจุบัน พวกอันธพาลในชุดธรรมดาได้ทำร้ายผู้ชุมนุมประท้วงอย่างโหดเหี้ยมทั้งก่อนและหลังการชุมนุม รวมทั้งมุ่งเป้าไปที่ผู้ชุมนุมประท้วงใกล้บ้านของตนด้วย นอกจากนี้ยังมีการข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลและครอบครัวของพวกเขา รวมถึงการโทรข่มขู่และปิดโปสเตอร์ที่มีข้อความใส่ร้ายและดูหมิ่น เรามีความกังวลกับข้อกล่าวหาที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลอาจอยู่เบื้องหลังการกระทำเหล่านี้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ที่มีการจัดการอย่างดีเพื่อข่มขู่ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

“ทางการจอร์เจียจะต้องดำเนินการทันทีเพื่อจัดการกับการโจมตีที่รุนแรงเหล่านี้ ผู้ที่รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น รวมถึงผู้ที่อาจออกคำสั่งให้ตำรวจใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมายหรือวางกำลังอันธพาลที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วง จะต้องรับผิดชอบและถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ทางการต้องประกันว่าประชาชนสามารถชุมนุมประท้วงโดยสงบได้ และต้องหยุดความพยายามอื่นๆ ทั้งหมดในการเอาผิดผู้เห็นต่าง และขัดขวางภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระของจอร์เจีย”

อ่านต่อ: https://bit.ly/4aoC2pc

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้