
จีน: นักศึกษาในต่างแดนถูกคุกคามและสอดแนมจากการปราบปรามข้ามชาติ
13 พฤษภาคม 2567
- สมาชิกครอบครัวที่อยู่ในจีนของนักศึกษาชาวจีนในยุโรปและอเมริกาเหนือตกเป็นเป้าของการตอบโต้การเคลื่อนไหวในต่างประเทศของนักศึกษาเหล่านั้น
- นักศึกษาต้องเผชิญกับ ‘การสอดแนม’ ทั้งในการชุมนุมประท้วงและทางออนไลน์
- มหาวิทยาลัยต่างๆ เรียกร้องให้มีการต่อสู้กับภัยคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิมนุษยชน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยในรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า นักศึกษาชาวจีนและฮ่องกงที่กำลังศึกษาอยู่ในต่างประเทศใช้ชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวการข่มขู่ การคุกคาม และการสอดแนม เนื่องจากทางการจีนพยายามป้องกันไม่ให้พวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ “ละเอียดอ่อน” หรือประเด็นทางการเมืองขณะอยู่ต่างประเทศ
นักศึกษาจีนที่อยู่ในยุโรปและอเมริกาเหนือให้สัมภาษณ์ในรายงานเรื่อง ‘On my campus, I am afraid’ โดยเล่าว่าถูกถ่ายรูปและติดตามไปในที่ชุมนุมประท้วงที่จัดขึ้นเมืองที่อาศัยอยู่ ในขณะที่หลายคนกล่าวว่าครอบครัวของพวกเขาในจีนตกเป็นเป้าหมายและถูกตำรวจคุกคาม ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจีนในต่างประเทศ
ซาราห์ บรูคส์ รองผู้อำนวยการระดับภูมิภาค ฝ่ายกิจการเกี่ยวกับประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า คำให้การที่รวบรวมไว้ในรายงานนี้แสดงภาพที่น่าหวาดกลัวของความพยายามในการปิดปากนักศึกษาของรัฐบาลจีนและฮ่องกง แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ห่างจากบ้านหลายพันไมล์ ทำให้นักศึกษาจำนวนมากต้องมีชีวิตอยู่ในความหวาดกลัว
“การโจมตีของทางการจีนต่อการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกำลังเกิดขึ้นตามทางเดินและห้องเรียนของมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีนักศึกษาชาวจีนและฮ่องกง ผลกระทบของการปราบปรามข้ามชาติของจีนก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่อการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างเสรีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งรัฐบาลและมหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อตอบโต้การคุกคามนี้”
อ่านต่อ: https://bit.ly/4bPpxnT

ศรีลังกา: 15 ปีหลังจากสิ้นสุดสงคราม เหยื่อยังคงรอความยุติธรรมที่มุลลิไวคาล
18 พฤษภาคม 2567
ในงานรำลึกครบรอบ 15 ปีการสิ้นสุดการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศศรีลังกาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2552 ซึ่งจบลงด้วยการโจมตีอย่างโหดเหี้ยมที่มุลลิไวคาล ซึ่งทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมาก
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในวาระวันครบรอบปีนี้ ถือเป็นเครื่องเตือนใจอันน่าเศร้าถึงความล้มเหลวร่วมกันของทางการศรีลังกาและประชาคมโลกในการมอบความยุติธรรมให้กับเหยื่อจำนวนมากจากการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศศรีลังกาที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจในการยืนอยู่ในจุดเดียวกันนี้ ซึ่งเมื่อ 15 ปีที่แล้ว พลเรือนเสียชีวิตจำนวนในช่วงวันสุดท้ายของสงคราม
“ก่อนการจัดงานนี้ เราได้เห็นการปราบปรามกิจกรรมรำลึกที่จะจัดขึ้น ซึ่งรวมถึงการจับกุม การควบคุมตัวโดยพลการ และจงใจบิดเบือนการตีความความพยายามของชุมชนชาวทมิฬในการรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตในสงคราม ทางการต้องเคารพพื้นที่เพื่อให้ผู้เสียหายได้ไว้อาลัย รำลึกถึงผู้คนอันเป็นที่รัก และเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ
อ่านต่อ: https://bit.ly/3QV8sRv

ตุรกี: ข้อจำกัดที่เลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงในงานไพรด์จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก
17 พฤษภาคม 2567
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแนลเผยเนื่องในวันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัวเพศเดียวกัน หรือ IDAHOTB ว่า การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมงานไพรด์ในตุรกีเมื่อปีที่แล้วจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก
ก่อนเทศกาลไพรด์ งานวิจัยใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่าในปี 2566 ทางการตุรกีออกคำสั่งห้ามแบบครอบคลุมและข้อจำกัดที่เลือกปฏิบัติอื่นๆ เกี่ยวกับการเดินขบวนไพรด์ มีใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและโดยพลการ ซึ่งในบางกรณีอาจเข้าข่ายการทรมาน วาทกรรมต่อต้านผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจากบุคคลสำคัญในรัฐบาลเพิ่มอคติและทำให้กลุ่มต่อต้านผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้มแข็งขึ้น
ดินูชิกา ดิสสานายาเค รองผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรป แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในขณะเดือนไพรด์กำลังใกล้เข้ามา ข้อจำกัดที่เข้มงวด ความรุนแรงอย่างไม่ได้สัดส่วน และวาทกรรมอย่างเป็นทางการที่สร้างความเกลียดชังที่เราได้เห็นเมื่อปีที่แล้วจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก
“แต่ทางการควรประกันว่าการเดินขบวนไพรด์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในตุรกีจะดำเนินไปอย่างปลอดภัยและปราศจากการแทรกแซงและการข่มขู่เหมือนปีก่อนๆ”
จากเอกสารเผยแพร่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลDiscriminatory restrictions and abuse during Türkiye Prides ได้วิเคราะห์การตอบสนองของรัฐต่อการชุมนุมประท้วงโดยสบในช่วงเทศกาลไพรด์ปี 2566 (7 มิถุนายนถึง 9 กรกฎาคม) ทางการออกคำสั่งห้ามแบบครอบคลุมสำหรับการเดินขบวนและกิจกรรมสาธารณะต่างๆ และถึงแม้จะไม่มีคำสั่งห้ามอย่างเป็นทางการ แต่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายได้ขัดขวางการรวมตัวกันโดยสงบของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
มีการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและโดยพลการต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้มีผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการอย่างน้อย 224 คนทั่วประเทศ ผู้ที่ถูกควบคุมตัว ได้แก่ ทนายความ นักข่าว และบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมงานไพรด์ ในบางกรณี การใช้กำลังอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการทุบตีและเตะผู้ชุมนุม ถือเป็นการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี คำสั่งห้ามแบบครอบคลุม ข้อจำกัด และความรุนแรงส่งผลกระทบที่สร้างความหวาดกลัวในการขัดขวางไม่ให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงโดยสงบอื่นๆ
นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงใช้วาทกรรมที่เลือกปฏิบัติและตีตราต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยประธานาธิบดีเออร์โดอันได้กล่าวในการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ว่า “ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นพิษที่ฉีดเข้าไปในสถาบันครอบครัว” ในปี 2566 รัฐบาลเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของตุรกีเพื่อนิยามคำว่า “ครอบครัว” หมายถึง “การอยู่ร่วมกันของผู้ชายกับผู้หญิง”
“แม้จะมีข้อจำกัดและความรุนแรง แต่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและพันธมิตรทั่วตุรกีกำลังเตรียมที่จะเฉลิมฉลองไพรด์และเดินขบวนโดยสงบเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติ”
อ่านต่อ: https://bit.ly/3wM2nQn
การบังคับให้พลัดถิ่นครั้งใหญ่ในฉนวนกาซาเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับอิสราเอลในการคุ้มครองสิทธิในการเดินทางกลับถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์
15 พฤษภาคม 2567
การบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องพลัดถิ่นเกือบ 2 ล้านคนในปัจจุบัน และการทำลายล้างทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครองทำให้เกิดความสนใจไปที่ประวัติการขับไล่ชาวปาเลสไตน์โดยอิสราเอลและปฏิเสธที่จะเคารพสิทธิในการเดินทางกลับถิ่นฐานในช่วง 76 ปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเนื่องในวันนักบา ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการพลัดถิ่นของชาวปาเลสไตน์มากกว่า 800,000 คน หลังจากการสถาปนารัฐอิสราเอลในปี 2491
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 150,000 คนถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ในขณะที่อิสราเอลเพิ่มความเข้มข้นในปฏิบัติการภาคพื้นดินและทางอากาศในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้หลายพันชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง และขัดขวางการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่สำคัญ ผู้ที่หลบหนีส่วนใหญ่ต้องพลัดถิ่นมาหลายครั้งแล้ว เนื่องจากอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาอย่างไม่หยุดยั้งตลอดเวลา 7 เดือน
เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการอาวุโสด้านงานวิจัย การผลักดันเชิงนโยบาย และการรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ชาวปาเลสไตน์หลายชั่วอายุคน (ซึ่งยาวนานเท่ากับจำนวนปีของดินแดนที่ถูกยึดครอง) ต่างมีบาดแผลลึกในจิตใจจากการถูกขับไล่หลายครั้งและไม่มีโอกาสที่จะได้กลับบ้าน เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจอย่างยิ่งที่เหตุการณ์ในปี 2491 ซึ่งชาวปาเลสไตน์เรียกว่านักบา (หายนะ) เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งเมื่อชาวปาเลสไตน์จำนวนมากในฉนวนกาซาถูกบังคับให้ต้องหลบหนีออกจากบ้านของตนด้วยการเดินเท้าเพื่อค้นหาความปลอดภัยซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่กองทัพอิสราเอล และผู้ตั้งถิ่นฐานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐขับไล่ชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ออกจากบ้านของพวกเขา
ผลจากความขัดแย้งในปี 2490-2492 ชาวปาเลสไตน์ถูกบังคับให้ออกจากบ้านและถูกยึดที่ดิน พวกเขาถูกขับไล่และเนรเทศโดยพวกเขาหรือลูกหลานของพวกเขามองไม่เห็นโอกาสที่จะได้กลับบ้าน ชะตากรรมเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์กว่า 350,000 คนที่หลบหนีเนื่องจากสงครามในเดือนมิถุนายน 2510 และการยึดครองฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ของอิสราเอล รวมถึงเยรูซาเลมตะวันออก รายงานประจำปี 2565 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่าการเลือกปฏิบัติในการยึดที่ดินและทรัพย์สินของชาวปาเลสไตน์ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของตน รวมถึงสิทธิในการเดินทางกลับ และเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติของอิสราเอล
“ในวันนักบาครั้งนี้ ชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ตกอยู่ในอันตรายยิ่งกว่าที่เคย จากการขับไล่และตกอยู่ภายใต้การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบภายใต้การยึดครองที่โหดร้าย โดยชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซายังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และต่อสู้กับความอดอยาก นั่นเป็นเหตุผลว่าวันนี้จึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเพื่อเรียกร้องสิทธิในการเดินทางกลับของชาวปาเลสไตน์ และเพื่อเตือนให้โลกตระหนักว่าอิสราเอลได้ปฏิเสธสิทธิอันชอบธรรมของพวกเขา ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจนมานานกว่า 76 ปี”
อ่านต่อ: https://bit.ly/3yE2iyI
สหราชอาณาจักร/สหรัฐอเมริกา: การกลับขึ้นศาลในสหราชอาณาจักรก่อนถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังสหรัฐอเมริกาของจูเลียน อาสซานจ์สร้างความเสียหายให้กับเสรีภาพของสื่อทั่วโลก
15 พฤษภาคม 2567
ไซมอน โครว์เธอร์ ที่ปรึกษากฎหมาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีครั้งต่อไปของจูเลียน อาสซานจ์ที่ศาลสูงในวันที่ 20 พฤษภาคม เพื่อติดตามคดีในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผลการพิจารณาคดีจะเป็นตัวกำหนดว่าจูเลียน อาสซานจ์จะมีโอกาสโต้แย้งคดีของเขาต่อศาลสหราชอาณาจักรต่อไป หรือการอุทธรณ์ทั้งหมดในสหราชอาณาจักรของเขาจะสิ้นสุดลง ซึ่งนำไปสู่การส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือการยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป
“ในขณะที่ศาลนัดอีกครั้งเพื่อตัดสินชะตากรรมของจูเลียน อาสซานจ์ เราจะย้ำถึงผลสะท้อนมหาศาลที่เป็นเดิมพันหากเขาถูกส่งตัวข้ามแดนไปยังสหรัฐอเมริกาคือ ความเสี่ยงที่เขาจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและความเสียหายระยะยาวที่จะเกิดขึ้นกับเสรีภาพสื่อทั่วโลก”
อ่านต่อ: https://bit.ly/4bNKdga