แอมเนสตี้ออกแถลงการณ์ชี้การจับกุมผู้ชุมนุมสร้าง "บรรทัดฐานที่อันตราย" ย้ำให้กองทัพไทยต้องแสดงความระมัดระวัง

24 พฤษภาคม 2557

Amnesty International Thailand

เจ้าหน้าที่ทหารตรึงกำลังใกล้ผู้ชุมนุมในกรุงเทพมหานคร © Private

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ชี้การจับกุมผู้ชุมนุมสร้าง “บรรทัดฐานที่อันตราย” ย้ำกองทัพไทยต้องแสดงความระมัดระวัง โดยระบุว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ควรยกเลิกการกำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเข้มงวด หลังจากที่กองทัพเข้าสลายการชุมนุมประท้วงโดยสงบและมีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมถูกจับกุมอย่างน้อยสามราย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ออกมาเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวแกนนำทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่มีรายงานว่าถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย และต้องอนุญาตให้พวกเขาได้พบทนายความ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557  ประชาชนนับร้อยรวมตัวกันชุมนุมใจกลางกรุงเทพฯ เรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจการปกครองให้กับพลเรือน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าสลายการชุมนุมในตอนเย็น หลังจากที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง มีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมอย่างน้อยสามคนถูกจับกุม

ริชาร์ด เบนเนต ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบจะถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่อันตราย ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นจะต้องไม่ถูกลงโทษ กองทัพจำเป็นต้องแสดงความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการชุมนุมเรียกร้องให้คืนอำนาจการปกครองให้กับพลเรือนเข้มข้นขึ้น อีกทั้งการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กองทัพไทยได้ประกาศระงับการใช้รัฐธรรมนูญ ยกเว้นหมวดพระมหากษัตริย์ ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ห้ามการรายงานข่าว รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์กองทัพและการใช้กฎอัยการศึก

บุคคลสำคัญจำนวนมากกว่า 150 คน รวมถึงนักการเมืองแนวหน้าถูกห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ มีรายงานว่าบุคคลสำคัญนับสิบ รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกควบคุมตัวในระยะเวลาสองวันที่ผ่านมา และยังไม่ทราบว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน

 “เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งในการที่กองทัพเข้าควบคุมตัวแกนนำทางการเมืองหลายคน กองทัพต้องชี้แจงให้กระจ่างเกี่ยวกับข้อหาทางกฎหมายที่ใช้ในการจับกุมและระบุว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน เพราะไม่ควรมีใครต้องถูกควมคุมตัวเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสงบ หรือการเข้าร่วมกลุ่มการเมือง แกนนำทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวในขณะนี้สมควรที่จะได้รับการปล่อยตัว หรือ ตั้งข้อกล่าวหาตามความผิดอาญาตามที่มีการรับรองในระดับสากล และเข้ารับการพิจารณาคดีโดยศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ” ริชาร์ดกล่าว

กองทัพต้องออกคำสั่งอย่างชัดเจนต่อกำลังพลของตนว่าการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี จะต้องไม่ถูกนำมาใช้ และเจ้าหน้าที่คนใดก็ตามที่ต้องสงสัยว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวจะต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม