แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้สถานการณ์การทรมานทั่วโลกยังวิกฤต

13 พฤษภาคม 2557

Amnesty International Thailand

แถลงการณ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

13 พฤษภาคม 2557

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล: การทรมาน: วิกฤตระดับโลกจากการเปิดเผยข้อมูลในการรณรงค์ครั้งใหม่

  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายใน 141 ประเทศในช่วงห้าปีที่ผ่านมา 
  • เป็นการสำรวจระดับโลกครั้งใหม่ ครอบคลุมประชาชน  21,000 คนใน  21 ประเทศ จากทุกทวีป ซึ่งเผยให้เห็นว่าคนในประเทศเหล่านี้ยังคงกลัวการทรมาน
  • เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ให้ข้อมูลระบุว่ากลัวการทรมานหากต้องถูกควบคุมตัว
  • กว่า 80% ต้องการให้มีกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อคุ้มครองไม่ให้บุคคลถูกทรมาน 
  • กว่าหนึ่งในสามเชื่อว่ามีความชอบธรรมที่จะทำการทรมานในบางกรณี

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวหาว่ารัฐบาลทั่วโลกต่างทรยศต่อพันธกิจที่จะขจัดการทรมาน แม้ว่าสามทศวรรษผ่านไปหลังจากมีการรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2527 จึงนับเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก

“รัฐบาลทั่วโลกตีสองหน้าเกี่ยวกับปัญหาการทรมาน โดยแม้จะมีการกำหนดข้อห้ามตามกฎหมาย แต่ก็มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการทรมานขึ้น” ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว ในการเปิดตัวการรณรงค์ระดับโลกล่าสุดเพื่อยุติการทรมานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

“การทรมานไม่เพียงยังเกิดขึ้นและดำรงอยู่ แต่ได้ขยายตัวไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ในขณะที่รัฐบาลได้อ้างความมั่นคงในประเทศเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทรมาน เป็นเหตุให้ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในการทำงานยุติการทรมานในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเริ่มถูกทำลายไป”

นับตั้งแต่ปี 2527 รัฐ 155 แห่งได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ และทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ทำการศึกษาสถานการณ์ใน 142 ประเทศเหล่านี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่ามีอย่างน้อย 79 ประเทศที่ยังทำการทรมานอยู่ในปี 2557 ถือเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ มีรัฐภาคีสหประชาชาติอีก 32 แห่งยังไม่รับรองอนุสัญญาฉบับนี้ แม้ว่าความตกลงทางกฎหมายเพื่อยุติการทรมานในระดับโลกจะมีผลบังคับใช้ต่อรัฐเหล่านี้เช่นกัน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในอย่างน้อย 141 ประเทศจากทุกภูมิภาคทั่วโลกในช่วงห้าปีที่ผ่านมา  จากสภาพการทรมานที่เกิดขึ้นเป็นความลับ เป็นเหตุให้เราไม่สามารถเสนอตัวเลขที่แท้จริงของประเทศที่ยังคงใช้การทรมานอยู่ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวน่าจะสูงกว่าตัวเลขที่เรานำเสนอ

ในบางประเทศ การทรมานเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ ส่วนในประเทศอื่น ๆ มีข้อมูลว่ามีการใช้การทรมานเป็นครั้งคราวและเป็นกรณียกเว้น แต่เราเห็นว่า การทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายที่เกิดขึ้นแม้เพียงครั้งเดียว ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้อย่างสิ้นเชิง

การรณรงค์เพื่อยุติการทรมานเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการเผยแพร่เอกสารฉบับใหม่ “การทรมานในปี 2557 – 30 ปีของคำสัญญาที่ว่างเปล่า”  ซึ่งให้ภาพรวมเกี่ยวกับการทรมานในโลกทุกวันนี้

เอกสารฉบับนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเทคนิคการทรมานประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่การให้อยู่ในท่าที่ไม่สบายและการบังคับให้อดนอน ไปจนถึงการช็อตไฟฟ้าที่อวัยวะเพศ โดยผู้ถูกกระทำมีทั้งผู้ต้องสงสัยในคดีอาญา ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง นักกิจกรรมที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล คู่แข่งทางการเมืองและอื่น ๆ

ส่วนหนึ่งของการรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ให้ทางหน่วยงาน Globescan สำรวจทัศนคติของคนทั่วโลกเกี่ยวกับการทรมาน เป็นที่น่าตกใจว่าจากผลการสำรวจพบว่า เกือบครึ่งหนึ่ง (44%) ของผู้ให้ข้อมูลจาก 21 ประเทศจากทุกทวีปในโลก กลัวว่าตนเองมีความเสี่ยงจะถูกทรมานถ้าถูกควบคุมตัวในประเทศของตน

คนส่วนใหญ่ (82%) เชื่อว่าควรมีกฎหมายต่อต้านการทรมานที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี กว่าหนึ่งในสาม (36%) ยังเห็นว่าการทรมานอาจนำมาใช้ได้ในบางพฤติการณ์

“ผลจากการสำรวจความเห็นระดับโลกครั้งใหม่นี้นับว่าน่าประหลาดใจ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ที่เราสำรวจมีความหวาดกลัวและคิดว่าตนเองเสี่ยงที่จะถูกทรมาน คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อต่อต้านการทรมาน แม้ว่ากว่าหนึ่งในสามยังคิดว่าการทรมานอาจนำมาใช้ได้ในบางพฤติการณ์ โดยภาพรวมแล้วเราจะเห็นการสนับสนุนของประชาชนทั่วโลกต่อมาตรการป้องกันการทรมาน”  แคโรไลน์ โฮล์ม (Caroline Holme) จาก Directorat GlobeScan

การใช้มาตรการต่าง ๆ อย่างเช่น การกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศ การเปิดโอกาสให้หน่วยงานอิสระสามารถตรวจสอบสถานควบคุมตัวได้ และการบันทึกวีดิโอในระหว่างการสอบปากคำ ล้วนส่งผลให้มีการทรมานลดน้อยลงในประเทศต่าง ๆ ที่พยายามปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานอย่างจริงจัง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลนำกลไกคุ้มครองมาใช้เพื่อป้องกันและลงโทษกรณีที่เกิดการทรมาน เช่น การจัดให้มีการตรวจร่างกายอย่างเหมาะสม การให้ผู้ถูกควบคุมตัวเข้าถึงทนายความได้โดยทันที การให้หน่วยงานอิสระตรวจสอบสถานควบคุมตัว การให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานอย่างเป็นอิสระและอย่างมีประสิทธิผล การฟ้องคดีต่อผู้ต้องสงสัย และการให้ความเยียวยาอย่างเหมาะสมต่อผู้เสียหาย

งานรณรงค์ต่อต้านการทรมานในระดับโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจะดำเนินต่อไป โดยจะเน้นในห้าประเทศซึ่งมีการทรมานอย่างแพร่หลาย และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในประเทศเหล่านี้ รายงานพร้อมข้อเสนอแนะจากแต่ละกรณีจะเป็นส่วนสำคัญของการรณรงค์ครั้งนี้

  • ในเม็กซิโก รัฐบาลอ้างว่าการทรมานเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ไม่ได้เกิดเป็นประจำ แต่ในทางปฏิบัติ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงทำการทรมานอย่างกว้างขวางและไม่ถูกลงโทษ มีเรียม โลเปซ บาร์กาซ (Miriam López Vargas) แม่ลูกสี่อายุ 31 ปีได้ถูกลักพาตัวจากบ้านเกิดที่เอนเซนาดาโดยทหารนอกเครื่องแบบสองนาย และถูกพาตัวไปค่ายทหาร เธอถูกควบคุมตัวที่นั่นเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ถูกข่มขืนสามครั้ง ถูกบังคับให้ขาดอากาศหายใจ และถูกช็อตด้วยไฟฟ้าเพื่อบังคับให้สารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดด้านยาเสพติด สามปีผ่านไป ยังไม่มีการนำตัวผู้ทำการทรมานมาลงโทษ
  • เหยื่อการทรมานในฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่มักไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการค้นพบคุกลับที่ตำรวจใช้เพื่อทรมานผู้ถูกควบคุมตัว “อย่างสนุกสนาน” มีรายงานว่าตำรวจจะหมุน “วงล้อการทรมาน” เพื่อเสี่ยงทายว่าควรจะทรมานผู้ต้องขังอย่างไรดี จากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนเป็นเหตุให้มีการสอบสวนภายในและมีการปลดเจ้าหน้าที่บางคนออกจากราชการ แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างรอบด้านและไม่ลำเอียง ทั้งนี้เพื่อฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง การทรมานที่เกิดจากตำรวจส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการรายงาน และเหยื่อการทรมานยังต้องยอมทุกข์ทนอยู่ในความเงียบ
  • ในโมร็อกโกและซาฮาราตะวันตก ทางการมักไม่สอบสวนเมื่อมีรายงานว่ามีการทรมาน ทางการสเปนได้ส่งตัวอาลี แอรัสส์ (Ali Aarrass) ผู้ร้ายข้ามแดนไปโมร็อกโก แม้มีความกลัวว่าเขาอาจถูกทรมานที่นั่น เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองมารับตัวเขาไปและนำไปควบคุมตัวในที่ลับ ซึ่งอาลีบอกว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ช็อตไฟฟ้าที่ถุงอัณฑะ ถูกตีที่อุ้งเท้า และถูกผูกเชือกที่ข้อมือและห้อยลงมาเป็นเวลานาน เขาบอกว่าเจ้าหน้าที่พยายามบังคับให้เขารับสารภาพว่ามีส่วนสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย อาลี แอรัสส์ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 12 ปี โดยมีหลักฐานเป็น “คำรับสารภาพ” ของเขา และทางการไม่เคยสอบสวนข้อร้องเรียนของเขาที่ว่ามีการทรมานเลย
  • ในไนจีเรีย เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารใช้การทรมานอย่างสม่ำเสมอ ตอนที่โมเสส อากาตูบา (Moses Akatugba) ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุม เขามีอายุเพียง 16 ปี โมเสสให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ซ้อมและยิงมือของเขา จากนั้นมีการส่งตัวไปให้กับตำรวจ ซึ่งได้เอาเชือกผูกแขนขาแขวนเขาไว้ที่โรงพักเป็นเวลาหลายชั่วโมง โมเสสบอกว่าเขาถูกทรมานเพื่อให้ลงชื่อใน “คำรับสารภาพ” ว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการสอบสวนตามข้อกล่าวหาที่ว่าเขารับสารภาพเนื่องจากถูกทรมานเลย ในเดือนพฤศจิกายน 2556 แปดปีหลังจากรอคอยคำตัดสิน ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตโมเสส
  • ในอุซเบกิสถาน การทรมานเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย แต่มีผู้ทำการทรมานเพียงไม่กี่คนที่ถูกนำตัวมาลงโทษ  ดิโลรม อับดูกาดีโรวา (Dilorom Abdukadirova) ต้องลี้ภัยเป็นเวลาห้าปีหลังจากเจ้าหน้าที่ยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งเธอได้เข้าร่วมชุมนุมด้วย เมื่อกลับมาอุเบกิสถาน เธอจึงถูกควบคุมตัวไว้ ถูกห้ามไม่ให้พบกับครอบครัว ถูกตั้งข้อหาว่าพยายามล้มล้างรัฐบาล ในระหว่างการไต่สวนคดี เธออยู่ในสภาพที่อ่อนแอมากพร้อมกับมีรอยแผลบนใบหน้า ครอบครัวเชื่อว่าเธอถูกทรมาน

“เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ขบวนการของเราได้เริ่มรณรงค์เพื่อให้มีการยุติการทรมานในระดับสากล และเป็นที่มาของอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติฉบับนี้ขึ้นมา ในปัจจุบันเรายังคงรณรงค์ระดับโลกเพื่อยุติการทรมาน และเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติตามคำสัญญาดังกล่าวให้ได้” ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) กล่าว 

ร่วมลงชื่อรณรงค์ยุติการทรมานกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่นี่

 

Global crisis on torture exposed by new worldwide campaign

 

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง: