แอมเนสตี้ส่งข้อเรียกร้องย้ำรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุขโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

2 พฤษภาคม 2557

Amnesty International Thailand

ประเทศไทย: วาระครบรอบการจับกุมนักกิจกรรม

และสัญญาณเตือนถึงสภาพที่เกิดความเสี่ยงต่อเสรีภาพในการแสดงออก

ในโอกาสครบรอบสามปีการจับกุมนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักโทษทางความคิดซึ่งถูกควบคุมตัวตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ร้ายแรงของไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเน้นย้ำข้อเรียกร้องอีกครั้งให้ปล่อยตัวเขาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
ทางหน่วยงานยังเรียกร้องทางการไทยให้คุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และให้สอบสวนอย่างเป็นอิสระและอย่างรอบด้านต่อกรณีการคุกคามและการทำร้ายบุคคล ซึ่งอาจตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตนอย่างสงบและสันติ

สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงาน และเป็นอดีตบรรณาธิการนิตยสาร ‘Voice of Taksin’ เขาอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คดีและโทษจำคุก 11 ปีจากการตีพิมพ์บทความสองชิ้นในนิตยสาร ซึ่งศาลมองว่าเป็นการหมิ่นพระเกียรติและเป็นการละเมิดต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของประเทศ

สมยศ พฤกษาเกษมสุขได้ถูกควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องและถูกปฏิเสธไม่ให้ได้ประกันตัว เช่นเดียวกับผู้ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคนอื่น ๆ ในไทย ศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวเขาประมาณ 15 ครั้งนับแต่ถูกจับกุม รวมทั้งการยื่นขอประกันตัวครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556

ในสมัยประชุมที่ 64 ระหว่างวันที่ 27-31 สิงหาคม 2555 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการแห่งสหประชาชาติ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ได้พิจารณากรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและสรุปว่า การควบคุมตัวเขาเป็นการกระทำโดยพลการและละเมิดต่อข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR) และข้อ19(2) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี ทางคณะทำงานยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา

โอกาสครบรอบการจับกุมตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุขในวันที่ 30 เมษายน 2554 เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการทำร้ายและการคุกคามต่อบุคคลซึ่งเคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพโดยทันทีต่อเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเหล่านี้

ในวันที่ 23 เมษายน 2547 นายกมล ดวงผาสุก หรือ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” กวีและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกยิงจนเสียชีวิตโดยมือปืนไม่ทราบชื่อ แม้ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสาเหตุการยิงเกิดจากอะไร แต่ที่ผ่านมาเขาทำการรณรงค์ต่อสาธารณะเพื่อให้มีการอนุญาตให้ประกันตัวผู้ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ   

ในอีกตัวอย่างหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มีบุคคลไม่ทราบชื่อยิงปืนและโยนระเบิดใส่ตัวบ้านของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเข้มข้น นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ซึ่งเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 และให้ปล่อยตัวนักโทษที่ต้องคดีดังกล่าว ก็ถูกทำร้ายร่างกายในเดือนกุมภาพันธ์ 2555

นับแต่ปี 2549 ทางการไทยได้นำกฎหมายมาตรา 112 มาบังคับใช้มากขึ้น เพื่อปราบปรามการแสดงความเห็นประท้วงอย่างสงบและสันติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ เนื่องจากละเมิดพันธกรณีของไทยต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าไทยเป็นรัฐภาคีต่อกติกา ICCPR ซึ่งจะต้องให้ความเคารพและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก มาตรา 112 มีเนื้อหาจำกัดสิทธิมากกว่าขอบเขตที่อนุญาตให้กระทำได้ตามกติกาฉบับนี้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทางการไทยได้เพิ่มการบังคับใช้และการออกกฎหมายที่อาจถูกใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก มากกว่าที่สามารถกระทำได้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ผ่านมามีการตรวจสอบควบคุมการแสดงความเห็นของสาธารณะอย่างมีสัดส่วนไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้น

พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรพ.ศ.2551 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ถูกใช้เพื่อสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์หลายพันแห่ง ควบคุมตัวบุคคลที่เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ฟ้องคดีอาญาต่อผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตกรณีที่มีผู้ใช้บริการโพสต์ข้อมูลบางอย่างที่ผิดกฎหมาย การหมิ่นประมาททั้งโดยข้อเขียนและวาจาเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามกฎหมาย แม้ที่ผ่านมาจะไม่มีการฟ้องร้องคดีต่อผู้แสดงความเห็นเช่นนี้ในทุกกรณี แต่อัตราโทษจำคุกตามกฎหมายเหล่านี้ก็ส่งผลคุกคามในทางอ้อม ทำให้เกิดสภาพที่นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของรัฐบาลตามกฎหมายระหว่างประเทศ