ทำไมชาวโรฮิงญาถึงต้องอพยพออกจากเมียนมา?

3 มิถุนายน 2558

Amnesty International

ภาพถ่ายจาก: Getty Images

การที่มีผู้ลี้ภัยชาวโรงฮิงญานับพันคนลอยเรืออยู่ในทะเลอันดามัน และอ่าวเบงกอลในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขณะนี้ ส่งผลให้เกิดการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติโดย ซึ่งมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มต้นมาจากประเทศพม่า ที่ซึ่งชาวโรฮิงญาถูกกดขี่และถูกเลือกปฏิบัติโดยรัฐบาลมานับสิบปี

ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญานับหมื่นคนได้พยายามหลบหนีไปยังต่างประเทศโดยการอพยพทางเรือ เพื่อหนีจากการถูกกดขี่โดยรัฐบาลพม่า

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ประเมินสถานการณ์ว่าสาเหตุที่ชาวโรฮิงญานับหมื่นคนต้องเสี่ยงชีวิต และหลบหนีออกมาจากประเทศที่พวกเขาควรเรียกว่า “บ้าน” นั้น เป็นเพราะการถูกกดขี่โดยรัฐบาลและสถานการณ์เลวร้ายด้านสิทธิมนุษยชน 

 

การกดขี่โดยรัฐบาล

ในประเทศพม่าเชื่อว่ามีชาวโรฮิงญาที่ถูกรัฐบาลกดขี่ และไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนนับล้านคน โดยพวกเขาไม่ถูกนับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศพม่า และตามหลักกฎหมายพลเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่ออกเมื่อปี 2525 ที่ปฏิเสธไม่ให้พวกเขาได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองของประเทศ ส่งผลให้พวกเขาต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติไปโดยปริยาย ซึ่งนั่นหมายความว่าชาวโรฮิงญานับล้านคนในพม่าต้องถูกจำกัดสิทธิในการได้เรียนหนังสือ การทำงาน การเดินทาง การแต่งงาน การนับถือศาสนาของตนเอง รวมทั้งการเข้าถึงสวัสดิการด้านสาธารณสุขต่างๆ  ทั้งนี้สาเหตุที่ทางการพม่าปฏิเสธการมีอยู่ของชาวโรฮิงญาในประเทศของตนเพราะทางการเชื่อว่าชาวโรฮิงญาคือ “ชาวเบงกาลี” (Bengalis) หรือกลุ่มคนที่อพยพมาจากประเทศบังกลาเทศนั่นเอง  นอกจากนั้นทางการพม่ายังจำกัดการเดินทางไปยังรัฐยะไข่ ยิ่งทำให้ให้พวกเขาไม่ได้รับอิสรภาพ และทำให้บุคคลภายนอก (เช่นพวกเรา) ไม่สามารถรับรู้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อย่างแท้จริงได้

ในขณะที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้รับคำชมเชยจากการปฏิรูปประเทศหลังจากที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2554 แต่ชาวโรฮิงญากลับไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการปฏิรูปครั้งนั้นเลย ตรงกันข้ามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันกลับยิ่งทำให้ชาวโรฮิงญาถูกกีดกันออกจากการได้เป็นพลเมืองพม่ามากขึ้นด้วยซ้ำ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา  ผู้ประท้วงชาวพุทธในพม่าได้กดดันประธานาธิบดีให้เพิกถอนบัตรประชาชนชั่วคราว หรือที่เรียกว่า “บัตรขาว” จากชาวโรฮิงญา ซึ่งถ้าชาวโรฮิงญาสูญเสียบัตรนี้ไปก็จะเท่ากับว่าพวกเขาไม่มีเอกสารในการแสดงตัวตน และอาจทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ 

เมื่อเดือนตุลาคมปี 2557 รัฐบาลพม่าได้ประกาศเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการรัฐยะไข่ โดยหากแผนการนี้ถูกบังคับใช้ การเลือกปฏิบัติและการกีดกันชาวโรฮิงญาจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องหลบหนีออกนอกประเทศหลังจากที่มีการประกาศแผนการนี้ ซึ่งแผนการดังกล่าวทางการพม่าไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และไม่ได้ปรึกษาชุมชนที่ได้รับผลกระทบก่อนที่จะมีการจัดทำ ทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นว่าแผนการนี้อาจนำไปสู่การกดขี่ชาวโรฮิงญาที่มากกว่าเดิม

เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2557 หนึ่งวันก่อนที่จะมีการสำรวจสำมะโนประชากรในพม่า (ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2526) รัฐบาลได้กลับคำพูดที่จะระบุตัวตนของชาวโรฮิงญาในการสำรวจสำมะโนประชากรในครั้งนี้ โดยประกาศว่าชาวโรฮิงญาจะถูกระบุว่าเป็น “ชาวเบงกาลี” ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะไม่นับว่ามีชาวโรฮิงญาในประเทศเลย ทำให้ชาวโรฮิงญาไม่ถูกนับว่าเป็นประชากรจากการสำรวจสำมะโนประชากรในครั้งนั้น

 

ความรุนแรง

เมื่อปี 2555 ได้มีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตและพลัดถิ่นฐานจำนานมาก อีกทั้งอาคารบ้านเรือนและทรัพย์สินต่างได้รับความเสียหาย เหตุการณ์ความรุนแรงนั้นทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างชุมชนชาวพุทธและมุสลิมเรื่อยมา ส่งผลให้เกิดการโจมตีจากกลุ่มที่ต่อต้านชาวมุสลิมในอีกหลายเมืองทั่วประเทศในปี 2556 และ 2557

ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังไม่สามารถคุ้มครองประชาชนจากการถูกโจมตีได้ แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์นชั่นแนลกลับไม่ได้รับรายงานว่ามีการสืบสวนที่เป็นอิสระ หรือมีการนำตัวเจ้าหน้าที่รัฐมาลงโทษแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ทางการกลับคุมขังผู้นำชุมชนชาวโรฮิงญาเพียงเพราะเขาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้แอมเนสติ้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้รับรายงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการจับกุมคุมขังโดยพลการ การทรมาน การปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อชาวโรฮิงญาที่ถูกคุมขัง รวมทั้งการเสียชีวิตจากการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

 

การพลัดถิ่นฐาน

เหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2555 ส่งผลให้ประชาชนนับแสนคนต้องพลัดถิ่นฐาน ปัจจุบันมีประชาชนราว 139,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรงฮิงญา ที่ยังคงอยู่ในสถานะพลัดถิ่นฐานในรัฐยะไข่ โดยประชาชนที่พลัดถิ่นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และตามสถานที่พักพิงชั่วคราวต่างๆ ทั้งนี้ประชาชนที่พลัดถิ่นจำนวนมากนั้นไม่ได้รับอาหาร การดูแลด้านสาธารณสุข และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เพียงพอในการดำรงชีวิต

สาเหตุเพราะรัฐบาลจำกัดการเดินทางไปยังยะไข่ การที่ชุมชนชาวพุทธในยะไข่ไม่ชอบองค์กรเอ็นจีโอ รวมทั้งการที่พวกเขามีอคติต่อชาวโรฮิงญาและชาวมุสลิม ส่งผลให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนที่พลัดถิ่นต้องหยุดชะงัก ต่อมาในปี 2557 เจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การสหประชาชาติได้เข้าไปเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ และถึงกับพูดว่า “ความทุกข์ทรมานของประชาชนในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศนั้นร้ายแรงแบบที่ฉันไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน”

 

การแบ่งแยกและการไม่ยอมรับทางศาสนาที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศพม่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากการที่ประชาชนไม่ยอมรับศาสนาที่แตกต่างมากขึ้น และบ่อยครั้งมักเกิดจากชาวพุทธหัวรุนแรงที่มุ่งโจมตีชาวมุสลิม โดยทางการก็ล้มเหลวในการหามาตรการเพื่อรับมือกับการแบ่งแยก ความเกลียดชัง และความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม ทางการได้พยายามร่างกฎหมาย และนโยบายขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม 

หนึ่งในกฎหมายที่พูดถึงเพิ่งผ่านการลงมติไปเมื่อไม่นานมานี้ นั่นก็คือกฎหมายควบคุมประชากร ที่ระบุให้ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรเว้นระยะห่างการมีบุตรออกไป 36 เดือน ซึ่งกฎหมายนี้เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าทางการกลัวว่าชนกลุ่มน้อยจะมีลูกมากกว่าประชาชนที่เป็นชาวพุทธซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ กฎหมายใหม่นี้ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวโรฮิงญา เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาก็ได้ถูกจำกัดสิทธิให้มีลูกแค่ครอบครัวละไม่เกินสองคนมาแล้ว ดังนั้นกฎหมายนี้อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ กฎหมายนี้อาจกลายเป็นแม่แบบในการควบคุมประชากรของรัฐ และทำให้รัฐมีอำนาจในการบังคับประชาชนให้คุมกำเนิด ทำแท้ง หรือทำหมันได้ 

ทั้งนี้ กฎหมายอีกสามฉบับที่มีเป้าหมายในการ “คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา” กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในรัฐสภา ซึ่งกฎหมายนี้อาจทำให้ทางการมีอำนาจมากขึ้นในการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวโรฮิงญา

 

ไม่มีที่ไป

จากสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา ทำให้ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากประเทศพม่ามากขึ้น นับตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2555 ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ประมาณการว่าจะมีประชาชนมากกว่า 110,000 คน อพยพออกจากอ่าวเบง กอลโดยทางเรือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาและรวมไปถึงชาวบังกลาเทศด้วย โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมในปีนี้คาดว่ามีผู้อพยพราว 25,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่หลบหนีออกนอกประเทศผ่านชายแดนประเทศบังกลาเทศ เพราะพวกเขาต้องการมุ่งหน้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เช่น ประเทศไทยและมาเลเซีย ที่ซึ่งพวกเขามีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้นกว่าเดิม


Why are the Rohingya fleeing Myanmar?

           

เอกสารที่เกี่ยวข้อง: