งานประชุมระดับโลกนำความมุ่งมั่นครั้งใหม่มาสู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

 

12 พฤศจิกายน 2561

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากทุกมุมโลกได้มารวมตัวกันในกรุงปารีสเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดนักปกป้องสิทธิมนุษย์ชน 2018 เพื่อร่วมกันวางแผนการดำเนินงานใหม่เพื่อปกป้องและสนับสนุนเหล่าผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนรอบโลก เนื่องในช่วงเวลาครบรอบ 20 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

 

หลังจากการหารือและเขียนแผนการพัฒนาให้ครอบคลุมปัญหาทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ รวมไปถึงปัญหาด้านสิทธิทางสิ่งแวดล้อม สิทธิผู้หญิง และการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก การประชุมกินเวลานานถึงสามวัน แบบแผนการดำเนินงานหลักๆเพื่อนำเสนอต่อสหประชาชาติก็เสร็จสมบูรณ์

 

ข้าหลวงใหญ่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นางมิเชล บาเชเล ได้ขึ้นกล่าวเปิดงานประชุมดังนี้ “สิ่งที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสอนพวกเรานั่นคือมนุษย์ทุกคนสามารถลุกขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของเราเองได้ ของผู้อื่นก็ได้ ในชุมชนของเราก็ได้ ทั้งในประเทศและที่อื่นๆในโลกก็ได้ เราทุกคนเปลี่ยนโลกได้”

 

การประชุมดังกล่าวได้พูดถึงการเรียกร้องต่อรัฐบาล บริษัท สถาบันการเงินนานาชาติ ผู้บริจาคและบุคคลอื่นๆให้มีส่วนร่วมในงานนี้ รวมถึงการรับแผนงานที่การประชุมครั้งนี้ทำขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระดับประเทศ เพื่อธำรงไว้ซึ่งปฏิญญาสากลที่สหประชาชาติได้ตกลงร่วมกันเพื่อปกป้องเหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกหมู่เหล่า ทั้งกลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มสิทธิสตรี ชาวพื้นเมือง และนักปกป้องจากกลุ่มที่ถูกกีดกันอื่นๆ

 

นายคูมี นายดู เลขาธิการใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ระบุว่า “ระดับความอันตรายที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกต้องเผชิญทุกวันนี้อยู่ในระดับวิกฤตอย่างมาก ทุกๆวันมีคนธรรมดาที่ถูกข่มขู่ ทรมาน กักขัง และสังหารเพราะสิ่งที่พวกเขาเป็น หรือต่อสู้เพื่อให้ได้มา นี่คือเวลาที่เราต้องลงมือแก้ไขการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย”

 

พิธีปิดงานประชุมถูกจัดขึ้นที่อาคารปาแลเดอชาโย ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงนามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้นเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ในงานนี้ได้มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 150 คนมารวมกันเพื่อตกลงดำเนินแผนงานร่วมกัน และรำลึกถึงบุรุษและสตรีทั่วโลกที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกอย่างไม่หยุดหย่อน

 

โดยในบรรดาผู้ร่วมงานดังกล่าว มีบุคคลชื่อดังอย่างเช่นอลิซ โมกเว เลขาธิการสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล(FIDH)และศูนย์สิทธิมนุษยชนบอตสวานา(Botswana Ditshwanelo) นายแมทธิว คารัวนา กาลิเซีย นักข่าวชาวมอลตาผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ที่ปัจจุบันเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับแม่ของเขา แดฟนี่ คารัวนา กาลิเซียที่ถูกลอบสังหารด้วยการวางระเบิด และอันนิเอลล์ ฟรังโก ผู้ยังคงเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับพี่สาวของเธอ มาริเอลล์ ฟรังโก ที่ถูกยิงตายหลังเมื่อ 7 เดือนที่แล้วหลังต่อสู้เพื่อคนชายขอบบราซิล

 

นางฮินา จิลานิ ประธานองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก(OMCT) ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งปากีสถาน และบุคคลแรกของโลกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติเพื่อสำรวจสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวในงานนี้ว่า “รัฐไม่เคยคิดจะให้ที่ยืนแก่พวกเรา เพราะการมีอยู่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคมจึงมีที่ยืน การได้มาเห็นพวกคุณทุกคนในวันนี้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน มันทำให้ฉันยังมีหวังต่อโลกนี้บ้าง ในแง่ของการเคลื่อนไหว เราไม่เคยเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลกอย่างเช่นวันนี้ แต่เราต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อภาครัฐ พวกคุณต้องกล้าปะทะกับปัญหาโดยตรงและพูดเพื่อนักปกป้องทุกคน เพราะสิทธิมนุษยชนไม่เคยได้มาฟรีๆ”

 

 

เนื้อหาเพิ่มเติม

 

The 1998 UN Declaration on Human Rights Defenders

= ปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

            มีชื่อเต็มว่า ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคม ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล ซึ่งได้ลงนามกันในปีพ.ศ.2541 แต่ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา หลายๆประเทศยังคงไม่สามารถทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในวันนั้น เพราะยังคงมีผู้คนมากมายที่ถูกคุกคามหลังเรียกร้องสิทธิของตนเอง ความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในความเสี่ยงในขณะที่การคอรัปชั่น การกีดกันและความไม่เท่าเทียม รวมไปถึงความสุดโต่งในคำสอนทางศาสนากำลังพุ่งสูงขึ้น ในปี 2017 ปีเดียวมีการสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไปถึง 312 คน ซึ่งเป็นสองเท่าของผู้เสียชีวิตเมื่อปี 2015 โดยแทบทุกคดีคนร้ายรอดตัวไป แผนการดำเนินงานในการประชุมครั้งนี้จึงถูกจัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น และหวังให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและอำนวยความสะดวกมากกว่านี้

 

The Human Rights Defenders World Summit 2018

= การประชุมสุดยอดนักปกป้องสิทธิมนุษย์ชน

            เป็นการประชุมที่รวบรวมนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 150 คนจากทุกมุมโลกเพื่อมาพูดคุย หารือ เชื่อมต่อและฝึกฝนทักษะใหม่ๆร่วมกันนานสามวัน นักกิจกรรมเหล่านี้ ผู้ล้วนแต่เป็นแนวหน้าในการดิ้นรนเพื่อความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการเมืองในประเทศของตน จะได้ใช้โอกาสนี้เพื่อทำความรู้จักซึ่งกันและกัน รวมไปถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งระดับประเทศและสากล ผู้นำรัฐบาลทั่วโลก สหประชาชาติ ผู้บริจาคและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง การประชุมสุดยอดนักปกป้องสิทธิมนุษย์ชนครั้งแรกถูกจัดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ปาแลเดอชาโย ซึ่งเป็นที่เดียวกับที่การประชุมปีนี้ทำพิธีปิดงาน

 

องค์กรที่ร่วมการประชุม

 

Amnesty International = องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล

            กลุ่มเคลื่อนไหวระดับโลกที่มีผู้มีส่วนร่วมถึงเจ็ดล้านคนรอบโลกที่ถือว่าทุกความอยุติธรรมเป็นเรื่องส่วนตัว พวกเรารณรงค์เพื่อโลกที่สิทธิมนุษยชนเข้าถึงได้โดยมนุษย์ทุกคน เราได้รับการสนับสนุนเงินทุนโดยสมาชิกและบุคคลทั่วไปเช่นคุณ เราเป็นเอกเทศน์จากทุกแนวคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือศาสนา

 

Association for Women’s Rights in Development = สมาคมเพื่อสิทธิสตรีในการพัฒนา

            องค์กรด้านสิทธิสตรีระดับโลกที่มีสมาชิกกว่า 5000 คนและสถาบันจากอีก 164 ประเทศ เราสนับสนุนนักสิทธิสตรีและการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศให้เป็นที่รุ่งเรืองและเป็นกำลังสำคัญในท้าทายระบอบสังคมที่กดขี่ทางเพศ เพื่อสร้างอนาคตที่เท่าเทียมของทุกเพศ

 

FIDH (International Federation for Human Rights) = สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล

            กลุ่มการรวมตัวของ 184 องค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนจาก 112 ประเทศทั่วโลก ก่อตั้งเมื่อปี 1922 ทางสหพันธ์ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกๆด้านที่ได้ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

 

Front Line Defenders = กลุ่มนักปกป้องแนวหน้า

            องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัย การปกป้อง และความเป็นอยู่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ด้วยการให้เงินทุน การฝึกฝนและสร้างขีดความสามารถในการปกป้องตัวเองทั้งทางกายภาพและดิจิตอล รวมถึงการรณรงค์เพื่อความเป็นที่ตระหนักถึงอันตรายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

 

International Service for Human Rights = องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิสฟอร์ฮิวแมนไรท์

            องค์กรอิสระสากลเพื่อปกป้องและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน โดยเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย องค์กรนี้จะสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เสริมความมั่นคงให้ระบบสิทธิมนุษยชน และเป็นผู้นำหรือประสานงานระหว่างองค์กรเพื่อนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน

 

OMCT = องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก

            กลุ่มสัมพันธมิตรแห่งองค์กรอิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่รวมตัวกันเพื่อต่อต้านการกักขังโดยมิชอบ การทรมาน การประหารชีวิตนอกกฎหมายหรือโดยพลการ การอุ้มหายและความรุนแรงทุกชนิด นอกจากนี้ทางองค์กรยังให้ความช่วยเหลือและปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย

ProtectDefenders.EU = โปรแกรมคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป

            ระบบที่ออกแบบมาเพื่อให้การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่อยู่ใต้ความเสี่ยงร้ายแรงรอบโลก โดยระบบดังกล่าวเกิดจากการร่วมงานของ 12 องค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป

 

Reporters Without Borders = องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน

            องค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไรที่มีฐานปฏิบัติการในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศษ โดยกลุ่มดังกล่าวมีเป้าหมายการดำเนินงานทางการเมืองเพื่อให้มีอิสระทางข้อมูลและเสรีภาพของสื่อ