10 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับซาอุดีอาระเบีย

24 ตุลาคม 2561

ซาอุดีอาราเบียได้กลายเป็นที่สนใจของชาวโลกอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุฆาตกรรมนักข่าวจามาล คาช็อกกี โดยนายแอร์โดกัน ประธานาธิบดีของประเทศตรุกีได้กล่าวถึงการเสียชีวิตของนายจามาล คาช็อกกีในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในเมืองอิสตันบูลว่าเป็นการ “ฆาตกรรมอย่างป่าเถื่อน” แต่การเสียชีวิตของคาช็อกกีเป็นเพียงคดีล่าสุดในประวัติความรุนแรงที่ยาวเป็นหางว่าวของประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นว่าเล่นเช่นนี้

 

1. ความโหดเหี้ยมในสงครามเยเมน


กองกำลังผสมที่นำโดยซาอุดีอาราเบียเป็นสาเหตุสำคัญของความสูญเสียอย่างสาหัสในประเทศเยเมนตลอดสามปีครึ่ง จากการสังหารพลเรือนนับพันไม่เว้นกระทั่งเด็กด้วยการโจมตีที่พักอาศัย โรงเรียน ไปจนถึงโรงพยาบาล โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ได้รวบรวมหลักฐานการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอาชญากรรมสงคราม แต่กระนั้น ประเทศมากมายรวมถึงอังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศสยังคงเสนอขายอาวุธให้ซาอุดีอาราเบีย


2. การคุกคามอย่างไร้มนุษยธรรมต่อนักรณรงค์โดยสันติ นักข่าวและนักวิชาการ


ตั้งแต่มกุฎราชกุมารโมฮัมมัด บิน ซาลมานขึ้นมามีอำนาจ นักรณรงค์หลายคนถูกจับกุมหรือตัดสินจำคุกอย่างยาวนานเพียงเพราะแสดงออกหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างสันติ ทางการได้เพ่งเล็งกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงใช้กฎหมายปราบปรามการก่อการร้ายและกฎหมายทางไซเบอร์เพื่อกดขี่การทำกิจกรรมที่เปิดโปงหรือกล่าวถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน


3. การจับกุมนักปกป้องสิทธิสตรี


ช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิสตรีจำนวนมากถูกจับกุมหลังการเพ่งเล็งกลุ่มนักรณรงค์โดยรัฐบาล Loujain al-Hathloul, Iman al-Nafjan และ Aziza al-Yousefล้วนถูกกักขังโดยไม่มีข้อหาตั้งแต่พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังถูกจับกุม ทางรัฐบาลได้ใส่ร้ายผู้หญิงทั้งสามผ่านสื่อว่าเป็นผู้ทรยศ และทั้งสามอาจต้องขึ้นศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีก่อการร้ายและจะต้องโทษอย่างยาวนาน


4. การประหารชีวิต

ซาอุดีอาราเบียเป็นประเทศที่มีโทษประหารชีวิตต่อปีเป็นอันดับต้นๆของโลก หลายๆ ครั้งด้วยการตัดศีรษะในที่สาธารณะ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนลถือว่าโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิการมาชีวิต และหลักฐานทั่วโลกมากมายแสดงให้เห็นว่าการประหารชีวิตไม่ส่งผลต่ออาชญากรรม แต่กระนั้น ทางซาอุดีอาระเบียยังคงโทษประหารชีวิตต่อไป โดยในปีนี้ ทางซาอุดีอาระเบียได้ประหารชีวิตนักโทษไปแล้ว 108 คน กว่าครึ่งมาจากคดียาเสพติด


5. การลงโทษที่โหดร้ายและลดทอนความเป็นมนุษย์


ซาอุดีอาระเบียยังคงสั่งเฆี่ยนนักโทษอย่างต่อเนื่อง และมักจะเป็นคดีที่ไม่เป็นธรรม ล่าสุดนาย Raif Badawi ถูกเฆี่ยน 1000 ครั้งและจำคุก 10 ปีเพราะเขียนบล็อค นอกจากนี้การลงโทษตัดอวัยวะก็เป็นคำตัดสินของศาลในหลายๆคดีด้วย


6. การทรมาณนักโทษเป็นกิจวัตร


อดีตนักโทษ ทนายความฝ่ายจำเลย และผู้คนอีกมากเคยรายงานกับทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ว่าเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายจะทรมานและปฏิบัติต่อนักโทษอย่างเลวร้ายเป็นเรื่องปกติ และผู้ที่กระทำดังกล่าวไม่เคยถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด


7. ระบบการกดขี่ผู้หญิง


ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงยังคงถูกบังคับและจำกัดเสรีภาพอย่างมากโดยระบบกฎหมาย รวมถึงอยู่ใต้อำนาจของฝ่ายชายทั้งในการแต่งงาน หย่าร้าง สิทธิดูแลบุตร มรดกและด้านอื่นๆอีกมาก ภายใต้ระบบผู้ปกครอง ผู้หญิงไม่สามารถตัดสินใจเรื่องใดๆ ได้เอง โดยจะต้องมีญาติฝ่ายชายเป็นผู้จัดการทุกอย่าง


8. การคุกคามศาสนิกชนอื่นๆ

ศาสนิกชนนิกายชีอะถูกจำกัดโดยกฎหมายไม่ให้เข้าถึงตำแหน่งงานและบริการหลายๆอย่างของรัฐบาล นักรณรงค์สิทธิชาวชีอะถูกตัดสินประหารชีวิตหรือจำคุกเป็นจำนวนมากหลังจากประท้วงรัฐบาลในช่วงปี 2011-2012


9. ‘อะไรที่เกิดในประเทศ ต้องคงอยู่ในประเทศ’


เป็นที่รู้กันว่าหลายๆ ครั้งที่รัฐบาลจะคุกคามนักรณรงค์และครอบครัวที่ติดต่อกับองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล นักการฑูตและนักข่าวต่างชาติ


10. คดีฆาตกรรมจามาล คาช็อกกี


สืบเนื่องจากคดีฆาตกรรมนายจามาล คาช็อกกี ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนลได้เรียกร้องต่อทางสหประชาชาติให้ตั้งทีมสอบสวนอิสระเพื่อตรวจสอบความต้องสงสัยถึงการทรมาน การประหารชีวิตโดยมิชอบ รวมไปถึงคดีอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง